ดร.การุณ รุจนเวชช์
ดร.การุณ รุจนเวชช์



Self Introduction

ภาษาอังกฤษ ต่างจากภาษาไทยทุกด้าน ทั้งภาษาเขียน เสียงคำ สำเนียงประโยค ตลอดจนความนึกคิดที่มีวัฒนธรรมประเพณีกำกับ จึงเป็นการยากสำหรับคนไทย แต่ใช่ว่าจะศึกษาหาความชำนาญไม่ได้

เมื่อผู้เขียนอายุ ๑๕ ปี มีหมอสอนศาสนา (missionary) American มาสอนศาสนาใกล้บ้าน ด้วยความต้องการที่จะฝึกภาษาอังกฤษให้คล่อง เพราะใจรักและฝักใฝ่ (quest for knowledge) จึงไปเข้าเรียน มีสมุดพกไปหนึ่งเล่ม เพื่อจดทุกอย่างที่ต้องการเพิ่มทักษะ คำศัพท์ (vocabulary) พร้อมคำแปล (translation) การออกเสียงทุกคำ (pronunciation) การออกเสียงหนักเบา (stress patterns) และสำเนียง (intonation patterns) ของทุกประโยต ให้ถูกต้อง ประโยคที่พูดเองผิด แก้ไขจดจำที่ถูกจากการพูดแก้ของเขา นำมาฝึกฝนทุกวัน จนคล่องขึ้นทุกปี

๓ ปีต่อมา เป็นเวลาที่ต้องเลือก ใจหนึ่งต้องการเดินตามรอยเท้าบิดา (follow my father’s footsteps) เรียนหมอ อีกใจฝักใฝ่ในภาษาอังกฤษ วันไปสมัครเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีทางเดินสองทาง ทางซ้ายไปสมัครเรียนแผนกวิทยาศาสตร์ ทางขวาอักษรศาสตร์ แล้วเท้าก็ก้าวไปทางขวา จนเรียนจบในสองปีต่อมา

ระดับต่อไปคือการเลือกมหาวิทยาลัย โดยไม่ลังเล เลือกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เพิ่งเปิดใหม่ เป็นศิษย์ปี ๒๕๐๗ คณะมนุษย์ศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ รองภาษาฝรั่งเศส

แม้พ่อจะไม่เคยมีวาจาว่าพอใจ แต่การที่ท่านสนับสนุน ผมและดร.ชวนชื่น ให้ไปเรียนต่อทีอเมริกา จนถึงปริญญาเอก โดยไม่ต้องทำงาน เป็นความซาบซึ้งยิ่งนัก แต่ด้วยความกตัญญู รู้ว่าพ่อต้องเหนื่อย ดร.ชวนชื่น จึงได้สมัครขอทุนการศึกษา ซึ่งได้ในสองปีสุดท้าย และผมได้ทำงานเป็นผู้ช่วยพ่อครัวในโรงแรมใหญ่ในเมือง หาเลี้ยงตนเอง เราทั้งสองหมั่นเพียรเรียนจนจบ ผมเรียนวิชา ภาษาศาสตร์ (Linguistics) ได้เกียรตินิยม ดร.ชวนชื่น เรียน การบริหารการศึกษา (School Administration)

อาจเป็นโชคชะตา (destiny) ให้ต้องอยู่ในประเทศนี้ต่อไป เพราะ UCLA ได้ให้ผมมาเป็นอาจารย์พิเศษ (Visiting Scholar) สอนนโยบายการสอนภาษาอังกฤษในเอเชีย (English Policy in Asia) ๑ ปี ต่อมา California State University, Long Beach เปิดรับสมัครอาจารย์สอนวิชา Writing ผมไปสมัคร ก็ได้รับทันที หัวหน้าแผนกวิชาภาษาอังกฤษชมว่าผมพูดภาษาอังกฤษเหมือนคนอเมริกัน

“เรียนภาษาอังกฤษ” ในบทความนี้จัดขึ้นให้เหมาะกับความรู้ระดับอุดมศึกษา หาก เห็นว่าง่ายไปก็ข้ามไปบทอื่น

The fruits of your labors หรือผลของการฝึกฝนในวัย ๑๕ เป็นฐานที่มั่นคง สร้างชีวิตมาจนเกษียณ เป็นอุทาหรณ์แก่เด็กหนุ่มสาวทุกคน ให้หมั่นศึกษาวิชาที่ตนชอบและสันทัด ผลดีรอสนอง