ดร.การุณ รุจนเวชช์
ดร.การุณ รุจนเวชช์



ตอนทื่ ๑๐ เพลง

“ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก”พระราชนิพนธ์แปลในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า รัชกาลที่ ๖ จากบทละคร The Merchant of Venice โดย Sir William Shakespeare

อัจฉรา กรรณสูต เพื่อนร่วมคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี ๒๕๐๗ ชวนเพื่อนๆ ไปสนุกกับการร้องเพลง คาราโอเกะ ที่เป็นที่นิยมของชาวไทย

คาราโอเกะ เริ่มในประเทศญี่ปุ่นในปี ๑๙๗๐ ที่ร้าน อุตะโคเอะ คิซซา ซึ่งหมายถึง “ ร้านกาแฟร้องเพลง” ที่ลูกค้าจะร้องเพลงไปกับดนตรีที่บรรเลงให้ เพราะวิสัยคนส่วนมาก ชอบร้องเพลง จึงเป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วโลก รวมทั้งในสหรัฐอเมริกา แต่ที่ประเทศไทย ต้องปิดกิจการนี้ไปเพราะโควิดระบาด

แต่กระนั้น ความสนุกกับการร้องเพลง และความต้องการที่จะสนองความต้องการของนักร้องสมัครเล่น จึงมีห้องคาราโอเกะส่วนตัวที่จำกัดจำนวนคนเพียง ๖ คน แต่สำหรับ อัจฉรา ที่คุ้นเคยกับเจ้าของห้องคาราโอเกะ เธอจึงได้รับการยินยอมให้นำเพื่อนอีก ๗ คนมาสนุกสนานกัน

อี๊ด หรือ อัจฉรา นอกจากเป็น “ดาว” ของมหาวิทยาลัยในปีนั้น เธอยังมีพรสวรรค์ทางด้านการร้อง และการแสดง สมัยศึกษาอยู่ เป็นหัวหน้าแผนกบันเทิง นำผมเข้าร่วมงานอยู่หลายครั้ง และเมื่อสำเร็จการศึกษา เธอได้เข้าทำงานที่สถานีโทรทัศน์ ซึ่งพระพรหมอาจลิขิตไว้แล้ว ให้เธอได้มาพบรักกับคุณชาติเชื้อ กรรณสูต อดีตผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง ๗

เพลง เป็นดังพรที่สวรรค์บันดาลให้มนุษย์ ใช้ผ่อนคลาย ความเครียด วิตกกังวล อาการเจ็บปวด ทั้งยังสร้างความมั่นใจ ให้กล้าแสดงออก

เมื่อผมไปลอกต้อกระจก หมอเปิดเพลงคลาสสิค Viola Concerto ของ Bach เพียงเบาๆ ก็ช่วยทำให้ผมคลายความกังวลไปได้ โดยปกติผมนิยมฟัง เพลงคลาสสิค อยู่ทุกยาม ในที่ทำงาน ขณะขับรถ ออกกำลังกาย

เพลงแทนคำพูด ดังคำพังเพยว่า Where words fail, music speaks.