ฉบับนี้ผู้เขียนได้เชิญ นายกสมาคมไทยแห่งแคลิฟอร์เนียภาคเหนือ คุณวัลลภ คชินทร มาเขียนบันทึกแทนนะคะ ด้วยเรื่องเกี่ยวกับ ทิศทางสมาคมไทยแห่งแคลิฟอร์เนียภาคเหนือ
ขอขอบคุณพี่ เพ็ญวิภา โสภาภัณฑ์ ที่ให้โอกาสผมมาคุยเรื่องสมาคมไทยและคณะกรรมการรวมถึงนโยบายหลักๆที่ตั้งไว้ในปีนี้ แม้ว่าพี่เพ็ญวิภาจะได้มาสัมภาษณ์พูดคุยกับผมและลงบันทึกไปในคอลัมน์นี้แล้วก็ตาม แต่หลังจากสมาคมฯ ภายใต้การนำของผมและคณะกรรมการได้จัดกิจกรรมครั้งแรกคืองาน พี.เอส.ไอเลิฟยู เนื่องในโอกาสวาเลนไทน์ไปและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ก็ได้มีผู้สนใจอยากจะเข้ามาร่วมกิจกรรมเพิ่มขึ้น ดังนั้นผมจึงได้รับการติดต่อจากเจ้าของคอลัมน์นี้ให้มาชี้แจง (อย่างไม่เป็นทางการ) ให้ได้ทราบถึงทิศทางของสมาคมไทยแห่งแคลิฟอร์เนียภาคเหนือเพิ่มเติม
ปี้นี้ผมได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกสมาคมไทยแห่งแคลิฟอร์เนียภาคเหนือ นับว่าเป็นหน้าที่อันทรงเกียรติ ที่ได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องชาวไทยในซานฟรานซิสโก เบย์แอเรีย ให้เข้ามาบริหารสมาคมฯ คือเข้ามารับใช้สังคมนั่นเอง
สมาคมไทยแห่งแคลิฟอร์เนียภาคเหนือมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน นับถึงปีนี้ก็เป็นปีที่ ๕๖ มีนายกสมาคมฯ มาแล้ว ๕๕ คน ปัจจุบันผมเป็นคนที่ ๕๖ อายุของสมาคมฯประมาณนี้ หลายคนมองว่าน่าจะเป็นปึกแผ่นมั่นคงกว่าเท่าที่เป็นอยู่นี้
แต่ละท่านที่เข้ามาเป็นนายกฯ มาจากหลายสาขาอาชีพ แต่ละท่านก็มีความมุ่งมั่นที่สร้างสรรค์พัฒนาสังคมและช่วยเหลือสังคมของเราให้มั่นคงเป็นปึกแผ่น สมาคมฯ ก็เป็นองค์กรๆ หนึ่ง เหมือนกับวัดไทยในอเมริกาทั่วไป ที่พวกเราควรภาคภูมิใจและให้เกียรติชื่นชมแต่ละท่านที่เป็นนายกฯ และเป็นกรรมการเข้ามาบริหาร เพราะทุกท่านที่เข้ามานั้นต่างก็เสียสละทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์จะมากหรือน้อยก็ตามอัตภาพที่จะทำได้ แต่รับรองได้ว่าทุกท่านมีจิตใจเป็นสาธารณะกุศล อยากจะช่วยเหลือสังคม
หลายๆ ท่านอยากจะเห็นผลงานของสมาคมฯ ที่เป็นรูปธรรมมากไปกว่าการจัดงานประจำอย่างเช่น กีฬาประเพณีระหว่างซานฟรานซิสโก-แอลเอ งานควีนบอลล์ และงานคิงส์บอล คืออยากเห็นกิจกรรมอื่นๆ ที่ช่วยเหลือและพัฒนาสังคมของเราให้สมกับเป็นองค์กรที่บำเพ็ญสาธารณะประโยชน์อย่างจริงจัง มิใช่มีแต่ชื่อ
ครับท่าน.. ท่านที่เข้ามาเป็นนายกสมาคมฯและคณะกรรมการแต่สมัย และตัวผมด้วยต่างก็บรรจุความฝัน (Dream Team) มาอย่างเต็มอัตรา ชูธงนโยบายและวาดฝันทิศทางสมาคมฯ ไว้อย่างหรู แต่การที่จะเดินทางฝ่าฟันทำฝันให้เป็นจริงนั้นมิได้ง่ายอย่างคิด มีองค์ประกอบหลายอย่างที่เราทำไม่ได้ ทั้งที่ตั้งใจอยากจะทำ ผมจะขอยกตัวอย่างสักสอง-สามอย่างเท่าที่คิดได้ในเวลานี้
ปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยเท่าที่มองเห็นเป็นรูปธรรมคือ สถานที่ บุคคลากร และการเงิน
ประการแรก : เราไม่มีสถานที่ตั้งของสมาคมฯ อย่างถาวร ไม่เหมือนสถานที่ของวัด (อ้างวัดอีกแล้ว) คงมิใช่เฉพาะแต่สมาคมไทยแคลิฟอร์เนียภาคเหนืออย่างเดียว แต่น่าจะรวมโดยทั่วไป ถ้าที่อื่นมีก็ถือว่าเป็นความโชคดีที่ได้เปรียบตรงนี้ การนัดหมายประชุมกรรมการแต่ละครั้งเราต้องอาศัยวัด และปีไหนผู้ที่เป็นนายกฯ มีร้านอาหาร หรือมีเพื่อนฝูงที่มีร้านอาหารอยู่ในเมืองใกล้กับชุมชนส่วนรวม ก็เป็นความสะดวกสบายประการหนึ่ง และถ้าหากมีการจัดงานในโอกาสต่างๆ เราต้องเช่าสถานที่ ฉะนั้นไม่ต้องกล่าวถึงกิจกรรมอื่นที่วางแผนไว้และอยากทำให้เป็นจริง อย่างผมก็คิดว่าอยากจะทำกิจกรรมเพื่อเยาวชนและเพื่อผู้สูงวัย แต่เมื่อคำนวณถึงค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งก็ไม่สามารถที่จะทำได้
ประการที่สอง : บุคคลากรของเราต่างเป็นอาสาสมัคร มีจิตอาสา แต่ละคนไม่มีอัตราค่าจ้างตอบแทน บางครั้งสมาคมฯ ก็ได้รับความร่วมมือในการประชุม ในการจัดงานจากคณะกรรมการอย่างอบอุ่น แต่บางครั้งก็มีน้อยมาก แล้วแต่เวลาของแต่ละท่านจะอำนวย เพราะต่างก็ต่างมีธุรกิจหน้าที่การงานและเรื่องครอบครัว เราก็ไม่ว่ากันฉะนั้นท่านที่เสียสละได้ จึงเป็นเรื่องที่ควรขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง
ประการที่สาม : เรื่องการเงิน เรื่องนี้สำคัญมาก หากมีเงินแล้วก็เหมือนแก้วสารพัดนึก จะทำการสิ่งใดก็สำเร็จสมประสงค์ สมาคมฯ มีรายได้จากอะไร ในกฎระเบียบของสมาคมฯ ให้เชิญบุคคลภายนอกที่เป็นคนไทยเข้ามาเป็นสมาชิก ค่าสมาชิกบำรุงสมาคมฯ คนละ $5.00/ปี กฎระเบียบเป็นอย่างนี้ แต่การปฏิบัติให้เกิดผลยังทำไม่ได้ จะต้องรณรงค์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง และเราต้องมีสมาชิกจำนวนเท่าไร ? ก็อยากจะได้มากๆ ก็มีคำถามว่า สมาชิกแต่ละท่านจะได้สวัสดิการหรือประโยชน์อะไรจากสมาคมฯ บ้าง จะตอบอย่างไร ? สมาคมฯ ไม่เหมือนวัดครับ วัดเป็นสถาบันที่มีคุณค่าต่อจิตใจของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นวัดพุทธ วัดคริสต์ วัดฮินดู คนทำบุญกับวัดเพราะหวังผลบุญกุศล หวังความสุขกายสบายใจ ถ้าสมาคมฯ ต้องการให้คนเข้ามาสนับสนุนด้วยการบริจาคหรือด้วยการเป็นสมาชิกก็แล้ว สมาคมฯ จะต้องให้คำตอบกับสังคมได้ว่าเขาจะได้อะไรตอบแทน การที่สมาคมฯ จะมีรายได้เข้ามาเพื่อเสริมสร้างกิจกรรม เราก็ต้องลงทุนจัดงาน บางครั้งก็ประสบความสำเร็จได้เงินเป็นก้อน บางครั้งก็แค่พอรอดตัวไม่ขาดทุน และบางครั้งการจัดงานก็มีวัตถุประสงค์ที่จะนำรายได้ไปบริจาคกับองค์กรการกุศลในเมืองไทย เช่นกรณีสึนามิ หรืออุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เราก็ไม่มีเงินเข้ามาบำรุงสมาคมฯ แต่ทุกคนก็ความปีติอิ่มอกอิ่มใจที่บำเพ็ญสาธารณะกุศล
และยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่าง ผมคิดว่า..ถ้ามีสามประการนี้พร้อมเพรียง เรื่องอื่นๆ เราก็สามารถที่จะขับเคลื่อนไปอย่างราบรื่น และก็จะค่อยดีขึ้นเรื่อยๆ เหมือนอย่างสถาบันหลักคือ วัดไทยของเรา
ในเทอมนี้คือ ๒ ปีที่ผมเป็นนายกฯ ผมได้เลือกสรรคณะกรรมการ ซึ่งเป็นเด็กไทยที่เกิดและเติบโตในสังคมเบย์แอเรีย เพราะผมเล็งเห็นในอนาคตเขาจะเป็นกำลังสำคัญในสังคมของเรา เด็กทุกคนต่างเรียนจบมีงานทำและมีความพร้อมที่จะทำงานรับใช้สังคม ถ้าเราให้โอกาสพวกเขาเข้ามาช่วยเหลือเป็นที่ปรึกษาและหาทุนให้ เราก็จะมีคนรุ่นใหม่มาสืบสานวัฒนธรรมประเพณีให้คู่ไปกับสังคมไทยของเรา ขอให้ทุกท่านช่วยให้กำลังใจและช่วยสนับสนุนเด็กรุ่นใหม่ด้วย
ก่อนจบบทความนี้ ผมขอขอบพระคุณท่านอดีตนายกสมาคมฯ สองท่าน คือ คุณธนู ชัยชนะ เจ้าของร้านยัวร์เพลส และตุ๊กตุ๊กไทย เมืองเบิร์กเล่ย์ และ คุณยุทธนา สิทธิประเวศ เจ้าของร้านมิเลี่ยนไทยเรสตัวรอง ซานฟรานซิสโก ที่เป็นกำลังสำคัญจัดงานและจัดกล่องขอรับบริจาคเงินช่วยผู้ประสบอุทกภัยที่เมืองไทย โดยมอบเงินรายได้ในนามสมาคมไทยแห่งแคลิฟอร์เนียภาคเหนือ และเงินบริจาคสบทบจากสมาคมไทยฯ (จำนวน $400.00) แด่สภากาชาดไทย รวมเป็นเงินไทยจำนวน 312,369.00 บาท (สามแสนหนึ่งหมื่นสองพันสามร้อยหกสิบเก้าบาทถ้วน)
อยากจะบอกว่า..ถึงแม้สมาคมฯ เราจะเดินทางไปไม่ถึงฝั่งดังฝันใฝ่ แต่การได้จัดงานช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากในโอกาสต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่ควรจะภาคภูมิใจ และก็ไม่ควรที่จะหยุดไว้เพียงแค่นี้ ควรช่วยกันทำดีต่อๆ ไป ผมหวังว่าคงได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากทุกท่าน ขอขอบคุณครับ
วัลลภ คชินทร