ผู้เขียนยังปักหลักบันทึกอยู่ที่กรุงเทพมหานครนะคะ เดือนนี้เดือนกันยายนฝนยังชุ่มฉ่ำ จากที่เมื่อเดินทางมาถึงใหม่ๆ ออกจะปริวิตกในเรื่องการออกจากบ้านไปไหนต่อไหน กลัวจะเปียกปอนจนวัยที่ค่อนข้างสูงจะทำให้เราเจ็บไข้ได้ป่วยโดยง่าย แต่พอไปผจญภัยเมื่ออาทิตย์แรกที่มาถึง คือไปชมมหกรรมดนตรีที่ได้เขียนถึงไปเมื่อสองฉบับก่อนหน้านี้ ที่เล่าว่า ออกจากโรงละครแห่งชาติผู้เขียนก็ฝ่าฝนจนเสื้อผ้าเปียกโชก ทว่าสิ่งที่เกรงไว้กลับไม่ได้เกิดขึ้น แปลว่าเปียกฝนไม่ได้ทำให้เราเจ็บไข้ได้ขนาดนั้น ก็เลยเริ่มจะชินกับฝนตกฟ้าร้องในประเทศไทย ออกไปไหนมาไหนมีเพียงร่มหนึ่งคันกับใจที่พร้อมจะเที่ยว แค่นี้ก็พอแล้ว
อ้อ..อีกสิ่งที่จำเป็นต้องพกพา..คือต้อง “มีตัง” (แปลว่ามีเงินน่ะค่ะ) เพราะผู้เขียนอาศัยแท็กซี่เป็นส่วนมาก แท็กซี่มิใช่ถูกๆ ขนาดว่าใช้รถไฟฟ้าไปเกินครึ่งทาง ลงจากสถานีรถไฟฟ้าก็ต้องใช้บริการแท็กซี่เข้าบ้าน พูดถึงรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งเมื่อทริปก่อนหน้านี้บริการถึงสถานีอ่อนนุชบัดนี้ไปถึงแบริ่งแล้ว ผู้เขียนใช้บริการจากตากสินไปถึงอุดมสุขก็หมดไปห้าสิบห้าบาทแล้ว ค่าแท็กซี่เข้าไปในซอยประวิทและเพื่อนในอุดมสุขอีกสี่สิบเจ็ดบาท เรียกว่าออกจากบ้านไปกลับก็เกือบสองร้อยต่อวัน ไม่นับช่วงที่ต้องใช้ทางด่วนซึ่งเก็บค่าใช้บริการอีกสี่สิบห้าบาท บ่นไปอย่างนั้นเองล่ะค่ะ ถ้าอยู่บ้านก็คงไม่เสียเงิน คุณสามีสั่งสอนเช่นนั้น
แต่เรื่องอะไรจะเชื่อมาเที่ยวทั้งทีใครจะนั่งอยู่บ้าน โดยเฉพาะพักนี้มีรายการที่ผู้เขียนชื่นชอบหลายรายการ ล่าสุดก็คือการแสดงโขนของกรมศิลป์ (พูดแบบชาวบ้าน แท้จริงแล้วจัดโดยสำนักงานสังคีต กรมศิลปากรค่ะ) เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมา การแสดงโขนตอน ศึกสุริยาภพ อำนวยการแสดงโดย คุณปกรณ์ พรพิสุทธิ ขวัญใจบรรดาผู้ชื่นชอบละครกรมศิลป์ (รวมทั้งผู้เขียนด้วย) กำกับการแสดงโดย ครูโต้ง-คมสัณฐ หัวเมืองลาด ศิลปินกรมศิลป์ผู้มีอัธยาศัยน่ารักสุดๆ (เป็นครูที่ผู้เขียนโทรถามเรื่องระบำรำฟ้อนด้วยความสนิทใจได้ทุกเวลา)
และคณะครูอีกหลายท่านที่ร่วมช่วยกำกับการแสดง อาทิ คุณครูสมรัตน์ ทองแท้ คุณครูมนตรี แหล่งสนาม คุณครูสมรักษ์ นาคปลื้ม คุณครูศตวรรษ พลับประสิทธิ คุณครูเลียว คงกำเนิด คุณครูศิริพงษ์ ทวีทรัพย์ เป็นต้น ร่วมอำนวยการฝึกซ้อมโดย คุณครูราฆพ โพธิเวส ศิลปินแห่งชาติ คุณครูรัจนา พวงประยงค์ ศิลปินแห่งชาติ คุณครูเรณู จีนเจริญ คุณครูพงษ์พิศ จารุจินดา คุณครูวันทนีย์ ม่วงบุญ และ คุณครูชวลิต สุนทรานนท์ เป็นต้น เห็นรายชื่อคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิก็ทราบแล้วว่า การแสดงครั้งนี้ย่อมไม่ธรรมดาและก็ไม่ธรรมดาจริงๆ ด้วยค่ะ
เพราะว่าตลอดการแสดงสองชั่วโมงกว่าๆ ในวันนั้น เต็มไปด้วยความวิจิตรตระการตายิ่ง ทุกฉากและทุกตัวละคร แสดงถึงการเดินทัพอย่างยิ่งใหญ่ไม่ว่าจะเป็นทัพฝ่ายวานรหรือทัพฝ่ายยักษ์ ที่ยกนักแสดงของแต่ละทัพมาเต็มเวที ด้วยเพลงและท่ารำที่ไม่น่าเบื่อเลย เพราะว่าเพลงที่นำมาประกอบการยกทัพโดยเฉพาะทัพฝ่ายวานรนั้นเป็นเพลงสนุกสนานจริงๆ ทำให้ดูแล้วคึกคักไปกับกองทัพด้วย นับเป็นโขนที่ไม่ยืดยาดน่าเบื่ออย่างที่ใครๆ ชอบคิดกัน
“ศึกสุริยาภพ” นี้ เป็นโขนตอนที่ผู้เขียนไม่คุ้นเคยเท่าไรเลย ซึ่งก็ทำให้ผู้เขียนตั้งอกตั้งเป็นพิเศษที่จะศึกษาว่าโขนตอนนี้มีความเป็นมาอย่างไร ใครคือ “สุริยาภพ” ใครออกมาทำศึกกับสุริยาภพ เมื่อได้ไปชมจึงได้ความรู้เพิ่มเติมและขอนำความเป็นมาของโขนตอนนี้มาเล่าสู่กันฟังสำหรับผู้ที่สนใจมาดังนี้ค่ะ
ศึกสุริยาภพนี้ เริ่มด้วยฉากที่ท้าวจักรวรรดิ เจ้าเมืองมลิวัน สหายของทศกัณฐ์ ทราบข่าวว่าพระพรตและพระสัตรุด สองพระอนุชาของพระราม เข้าตีเมืองลังกา กำลังกรีธาพลมาประชิดติดเมืองมลิวัน ยังความโกรธแค้นให้ท้าวจักรวรรดิเป็นอันมาก จึงมีพระราชบัญชาให้สุริยาภพโอรสองค์โต (เอาล่ะค่ะ ได้ความแล้วว่า สุริยาภพ เป็นลูกของท้าวจักรวรรดิเพื่อนของท้าวทศกัณฐ์) ออกไปทำสงครามปราบปรามทัพมนุษย์และวานร
พระพรตมีพระราชบัญชาให้พระสัตรุดน้องชายยกพลออกไปสู้รบสุริยาภพ ซึ่งสุริยาภพยักษ์ตนนี้มีของดีค่ะ ท่านมีหอกเมฆพัทเป็นอาวุธสามารถปลุกเสกและสามารถพุ่งหอกเมฆพัทถูกอกพระสัตรุตจนล้มสลบไปได้ พระพรตทราบข่าวพระอนุชาจึงเสด็จมายังสนามรบและทรงกันแสงไห้ด้วยความเสียพระทัย ทว่าพิเภกกราบทูลให้ทราบว่า มีวิธีแก้พิษจากหอกนี้ได้โดยให้รีบไปขอพระราชทานไม้จันทน์แดงจากพระราม ณ กรุงอโยธยา มูลโคอุศุภราชจากเขาไกรลาส แม่หินบดยาที่พระพรหม ณ พรหมโลก และลูกหินบดยาจากท้าวกาลนาค ณ เมืองบาดาล นำมาผสมทำสรรพยา
นิลพัทรับหน้าที่ไปหาสิ่งที่ต้องการมาถวายจนได้ครบ พิเภกก็ผสมสรรพยาชโลมทาทั่วพระอุระของพระสัตรุดแล้วถอนหอกออกได้ พระสัตรุดก็กลับฟื้นขึ้น เป็นอันว่าจบฉากลงด้วยดี เป็นบทที่เรียบเรียงขึ้นมาใหม่ของ คุณจรัญ พูลลาภ บรรจุเพลงโดย คุณสมชาย ทับพร และตรวจแก้ไขโดย คุณชวลิต สุนทรานนท์
นักแสดงตัวเอกมาจากสำนักการสังคีตหากจะเอ่ยนามทุกท่านก็คงจะมีที่ไม่พอแน่ เฉพาะตัวเอก (คือชื่อเรื่อง) สุริยาภพนี้ก็มีผู้แสดงถึงสามท่าน ลงชื่อไว้ ณ ที่นี้ฐานะมีชื่ออยู่บนไตเติ้ล คือ คุณกฤษกร สืบสายพรหม คุณอนุชา สุมามาลย์ คุณสิทธิ สุทธิรักษ์ พระพรต โดย คุณปรัชญา ชัยเทศ คุณวัลลภ พรพิสุทธิ์ พระสัตรุด โดย คุณเอก อรุณพันธ์ และ คุณภีระเมศร์ ทิพย์ประชาบาล ส่วนเหล่าทัพวานรและยักษ์เป็นนักเรียนจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ร่วมแสดงค่ะ
แม้การแสดงจะมีเพียงสามฉาก แต่ก็ได้ชมสิ่งที่ชื่นชอบสมความตั้งใจที่จะมาเที่ยวไทยเชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยในปีนี้ ก็ขอชวนเชิญผู้อ่านติดตามเรื่องราวของการท่องเที่ยวประเทศไทยของผู้เขียนในมุมมองที่แตกต่างไปจากหลายๆ ท่านต่อไปเรื่อยๆ นะคะ รับรองมีมาเล่าสู่กันฟังอีกหลายตอน หลายฉบับล่ะค่ะ
สำหรับวันนี้ก็ขอลาไปก่อน สวัสดีค่ะ