บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



ร่วมงานออกพรรษา ตักบาตรน้ำผึ้งของชาวไทย-รามัญ

อาทิตย์ที่ผ่านมา ผู้เขียนกับน้องสาวและหลานๆ ตะลอนทัวร์ไปตามคำเชิญของอาจารย์ที่ผู้เขียนเคารพท่านหนึ่งเพื่อไปร่วมงานทำบุญ ตักบาตรน้ำผึ้ง ประเพณีมอญในเทศกาลเดือนสิบ ณ สมาคมไทยรามัญ บางกระดี่ เขตบางขุนเทียน

ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง เป็นอย่างไรจะขอกล่าวถึงในช่วงต่อไป แต่ตอนนี้ขอกล่าวถึงอาจารย์ที่เชิญเราไปร่วมทำบุญในครั้งนี้ ท่านมีนามว่า พิสัณฑ์ ปลัดสิงห์ เป็นชาวไทยเชื้อสายมอญที่มีส่วนสำคัญในการให้คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติมอญและชุมชนมอญในประเทศไทย เพื่อผู้เขียนจะได้นำไปประกอบงานเขียนนวนิยายเรื่อง “จนกว่าฟ้าจะมีหงส์” เมื่อห้าปีที่ผ่านมาซึ่งสำนักพิมพ์ดอกหญ้า (โดยความกรุณาของ คุณณรงศักดิ์ ตันติพินิจวงศ์) สนับสนุนพิมพ์จำหน่ายให้

แม้ว่างานเขียนหนังสือจะจบสิ้นไปแล้วหลายปีแต่ผู้เขียนก็ยังติดต่อกับอาจารย์ทุกครั้งที่กลับไปเยี่ยมประเทศไทย และทุกครั้งที่มีงานบุญประเพณีใดๆ อาจารย์ก็จะชวนให้ไปร่วมซึ่งบางครั้งผู้เขียนก็ไปร่วมได้บางครั้งก็ไม่ได้ คุณพิสัณฑ์เป็นหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมมอญ และทางด้านการเมืองท่านก็มีบทบาทสำคัญจนได้รับการเชิญไปงานวันชาติของมอญที่รัฐมอญในสหภาพเมียนมาร์ทุกปี

ในด้านงานเขียนท่านเขียนหนังสือเรื่อง “คนมอญ” และเรื่อง “มอญว้งกะ” ได้รับความนิยมและขายดิบขายดีทั้งสองเล่ม เขียนบทความลงนิตยสารศิลปวัฒนธรรมบ่อยครั้ง เคยเป็นบรรณาธิการสำนักข่าวสารมอญซึ่งระยะหลังได้สลายตัวไป (เพราะขาดปัจจัยด้านทุนรอน ปัจจุบันเป็นคอลัมนิสต์ประจำของวารสารเสียงรามัญ อีกความสามารถท่านเคยเป็นอดีตตากล้องภาพยนตร์ไทย

คุณพิสัณฑ์จึงเป็นอาจารย์ผู้ที่ผู้เขียนสามารถยกหูโทรศัพท์ไปขอคำแนะนำได้ตลอดเวลา ก็ขอกราบขอบพระคุณอาจารย์ไว้ ณ ที่นี้ด้วย แถมท้ายว่าผู้เขียนกำลัง (พยายามอย่างสุดความสามารถ) ที่จะเข็นนวนิยายตอนสองของ จนกว่าฟ้าจะมีหงส์ ออกมา โดยพยายามมาเกือบสองปีแล้วล่ะค่ะ แต่ว่าทุกจินตนาการทุกบทเขียนช่างยากเย็นเสียจริง อาจจะเป็นเพราะตั้งใจมากเกินควรที่จะนำเรื่องราวศิลปวัฒนธรรมที่มีจริงในประวัติศาสตร์มาเขียนจึงมิกล้าที่จะผิดพลาดแม้แต่น้อย บรรดาแฟนคลับของ “ลิลิตดา” คงต้องร้องเพลง “รอ” ไปอีกนานล่ะค่ะ โอด...

กลับมาเล่าถึงงานบุญตักบาตรน้ำผึ้งต่อดีกว่านะคะเขามีความเป็นมาและปฏิบัติกันอย่างไร

การถวายน้ำผึ้งให้กับพระภิกษุสงฆ์นั้น เกิดจากศรัทธาในพุทธศาสนาของชาวมอญที่มีความเคารพศรัทธาในเรื่องราวตามตำนานเกี่ยวกับพระสีวลี สืบเนื่องมาจากสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าเสด็จประทับที่ป่าเลไลย์มีช้างและลิงคอยอุปัฏจาก โดยการนำเอาอ้อยและน้ำผึ้งคอยถวายเพื่อให้พระองค์ได้เสวยประทังชีวิต ต่อมาจึงทรงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุสามเณรรับน้ำผึ้งและอ้อยมาบริโภคเป็นยาได้ จึงถือว่าน้ำผึ้งเป็นโอสถที่มีคุณค่ายิ่งมาตั้งแต่สมัยโบราณ แม้ในปัจจุบันเองก็เป็นที่ยอมรับแล้วว่าน้ำผึ้งมีวิตามินที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ในสมัยโบราณน้ำผึ้งมีคุณประโยชน์มาก

ภาคปฏิบัติค่ะ เมื่อถึงวันขึ้นสิบห้าค่ำเดือนสิบ ชาวมอญและชาวไทยเชื้อสายมอญก็จะจัดงานบุญโดยนำข้าวสวย ข้าวสาร อาหารต่างๆ มาถวายพระและที่ขาดไม่ได้ก็คือน้ำผึ้งบริสุทธิ์ที่นำมาเพิ่มในการใส่บาตร โดยจะมีบาตรเพิ่มมาไว้ใส่น้ำผึ้งแยกจากภาชนะอื่นไม่รวมกับกับอาหารอย่างอื่น ผู้เขียนและน้องสาวและหลานได้รับคำแนะนำให้เทน้ำผึ้งจากขวดที่หลานเขยตระเตรียมมาลงไปในบาตรที่เรียงรายตามจำนวนพระภิกษุที่รับนิมนต์มา (ดูภาพประกอบจินตนาการไปด้วยนะคะ หลานเขยผู้เขียนนำน้ำผึ้งมาจากไร่ที่คุณพ่อคุณแม่ของเขาทำเองที่จังหวัดกาญจนบุรีมาใส่บาตรครั้งนี้ ก็เลยยิ่งอิ่มบุญกันจากที่เรามีโอกาสใส่น้ำผึ้งบริสุทธิ์ลงในบาตรในเช้าวันนั้นด้วย

วันนี้นอกจะได้อิ่มอกอิ่มใจกับบุญแล้วยังอิ่มใจที่ได้พบพี่น้องชาวไทยเชื้อสายมอญหลายคน ที่บอกผู้เขียนว่าเขาได้อ่านนวนิยายของผู้เขียนเรื่องจนกว่าฟ้าฯ ด้วย ทำให้มีกำลังใจที่จะสร้างสรรค์งานต่อไปค่ะ

“ตังกูน”...ขอบคุณด้วยใจจริงค่ะ

ก่อนจะอำลากันในวันนี้ก็ฝากถึงผู้อ่านที่เป็นคนไทยเชื้อสายมอญที่อยู่ในอเมริกานะคะ ทราบมาว่ามีวัดมอญอยู่ที่ลอสแอนเจลิสด้วยค่ะ หากท่านใดสนใจจะรับข่าวสารเกี่ยวกับกิจกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของชุมชนมอญในเมืองไทย ท่านจะเป็นสมาชิกวารสารเสียงรามัญของชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ ได้โดยติดต่อสำนักงานที่ email นี้ค่ะ Voiceofmon2009@yahoo.com หรือเขียนไปถึงกองบก.ได้ที่ที่อยู่นี้

83/17 ซ.ข้างวัดตรีทศเทพ ถ. ประชาธิปไตย แขวงบ้านพานถม กทม. 10200

ค่ะ..ฉบับนี้ชมภาพวันกิจกรรมตักบาตรน้ำผึ้ง.....พบกันใหม่ฉบับหน้าค่ะ