บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



วิวาห์หวาน

ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญของสาวสวย อรัญญรัตน์ สำราญสุข และหนุ่มหล่อ ชลิต สังสนา ที่วัดพุทธานุสรณ์ ฟรีมอนต์ เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา และถือว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้มีโอกาสร่วมงานประเพณีเช่นนี้ จึงไม่ยอมลุกจากที่ไปไหนเลยในระหว่างพิธีด้วยความสนใจตลอดเวลาเกือบสองชั่้วโมง ซึ่งก็จบลงด้วยความประทับใจในประเพณีมงคลนี้เป็นอย่างยิ่ง

ก่อนที่จะบรรยายความตามหัวข้อบทเขียน “วิวาห์หวาน” ว่าหวานอย่างไรนั้น มาคุยเป็นทางการเพื่อความรู้รอบตัว (สำหรับผู้ที่ไม่เคยทราบประเพณีนี้มาก่อน) กันพอเป็นสังเขปดังนี้นะคะ

พิธีบายศรีสู่ขวัญเป็นพิธีที่สำคัญของชาวอีสานเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับขวัญและจิตใจ เพื่อให้เกิดขวัญและกำลังใจที่ดีขึ้น ซื่งเป็นการมอบความปรารถนาดีและดลบันดาลให้ผู้รับการทำพิธี ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องมีความสุขความเจริญและจิตใจสงบสุข การสู่ขวัญจะช่วยให้เกิดสิริมงคล ชีวิตอยู่ด้วยความราบรื่น จิตใจเข้มแข็ง โชคดียิ่งขึ้น ปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดี หายจากสรรพเคราะห์ทั้งปวง

ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวของเราเป็นคนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งคู่ ดังนั้นผู้หลักผู้ใหญ่ของทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจึงเห็นควรจะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญขึ้นเพื่อนำโชคชัยและสิริมงคลมาให้ เอ้า..ทีนี้มาเล่าสู่กันฟังเรื่องของบ่าวสาวก่อนจะมาเป็นวิวาห์หวานนี้ รับรองอ่านแล้วท่านอาจจะคิดว่าน่าจะเป็นนิยายรักโรแมนติกแบบที่ “ลิลิตดา”นักเขียนที่อยู่ในใจดิฉันคงจะเขียนเลยล่ะค่ะ


บุพเพยังสรรค์ประสบให้ได้พบกัน

ชีวิตรักของทั้งคู่ ทำให้นึกถึงเพลง บุพเพสันนิวาส ตรงท่อนนี้เลยล่ะค่ะ

“ขอบน้ำขวางหน้า ขอบฟ้าขวางกั้น บุพเพยังสรรค์ประสบ ให้ได้พบสบรักกันได้ ห่างกันแค่ไหน... เขาสูงบังกั้นไว้ รักจึงได้บูชา...”


ท้าวความก่อนประสบพบรัก

เจ้าสาว ครูอุ้ย-อรัญญรัตน์ (ศิลปกรรมศาสตร์บัณฑิต-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เป็นอดีตครูอาสามาสอนนาฏศิลป์ที่วัดพุทธานุสรณ์ เมืองฟรีมอนต์ แคลิฟอร์เนีย ในโครงการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี ค.ศ. ๒๐๑๐-๒๐๑๑ โดยในช่วงปลายปีการสอนก่อนหมดวาระจะต้องเดินทางกลับไทย เธอได้พบกับ บุ๊ค-ชลิต สังสนา ในงานแสดงการกุศลงานหนึ่ง และมีโอกาสสนทนาปราศัยจนเกิดความสนิทสนมคุ้นเคยกัน แต่ทั้งคู่ก็ระมัดระวังตัวไม่ให้การคบหาสมาคมกันนั้นเป็นที่ครหาเนื่องจากครูอุ้ยต้องการวางตัวให้ถูกต้องกับหน้าที่ของการเป็นคุณครูของเด็กๆ

จนกระทั่งหมดวาระการสอนและเดินทางกลับไปเมืองไทยแล้ว ความสัมพันธ์ของครูอุ้ยและบุ๊คจึงเปิดเผยให้เพื่อนๆ ญาติพี่น้องและผู้ปกครองเด็กๆ ได้ทราบกัน ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย


ครูอุ้ยเริ่มให้ความสนใจบุ๊คตอนไหนหรือคะ

“ไม่แน่ใจนะคะว่าเกิดขึ้นตอนไหน แต่ที่เป็นส่วนสำคัญให้เราพูดคุยกันด้วยความเข้าใจนั้นเกิดจากเวลาเราซ้อมดนตรีด้วยกัน เราสื่อสารกันเป็นภาษาอีสาน จึงทำให้รู้สึกผูกพันและสนิทกันอย่างรวดเร็วค่ะ มีความประทับใจที่เขาเป็นผู้นำ ดูแลครอบครัวและรักครอบครัวมาก ที่สำคัญคือเขาเป็นคนที่สนใจในทุกรายละเอียด รอบคอบมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตามค่ะ”


แล้วบุ๊คละคะ ประทับใจครูอุ้ยตรงไหน

“ตรงที่เขาเป็นคนน่ารัก เป็นคนดูแลเอาใจใส่ทุกคนและรักครอบครัวครับ”

ครูอุ้ย เป็นบุตรสาวคนเดียวของคุณพ่อ อภินันท์ และคุณแม่ กมลรัตน์ สำราญสุข ส่วนบุ๊ค เป็นบุตรชายคนโตของคุณพ่อ ประเสริฐ และคุณแม่ ทัศนีย์ สังสนา มีน้องสาวหนึ่งคน บุ๊คมาอยู่แคลิฟอร์เนียตั้งแต่อายุ ๑๓ ปี

ทราบมาว่าครูอุ้ยกับบุ๊คเป็นคนจังหวัดเดียวกันใช่ไหมคะ รู้สึกอย่างไรที่ไปๆ มาๆ ก็ได้มาพบเนื้อคู่จากถิ่นเดียวกันที่เมืองไทยถึงอเมริกานี้

“ใช่ค่ะ เราสองคนมาจากจังหวัดยโสธรเหมือนกัน หนูอยู่อำเภอป่าติ้ว ส่วนพี่บุ๊คอยู่อำเภอคำเขื่อนแก้ว บ้านเราอยู่ห่างกันไม่กี่ไมล์ค่ะ ครั้งแรกที่ทราบว่าพี่เขาอยู่ไม่ไกลจากบ้านเรา หนูรู้สึกประทับใจทันทีค่ะ เนื่องจากพ่อหนูเคยพูดไว้ว่าคนบ้านเดียวกับเราจะเข้าใจวัฒนธรรมเรา ก็รู้สึกดีใจอย่างบอกไม่ถูกค่ะ ยิ่งมาภายหลังทราบว่าคุณน้าของพี่บุ๊คเป็นเพื่อนกับคุณน้าของเราก็เลยอุ่นใจเพราะเชื่อว่าพ่อกับแม่ของหนูจะไม่เป็นห่วงที่เราคบกัน เพราะพอเล่าไปถึงพี่บุ๊ค ทุกคนที่รู้จักกับครอบครัวของพี่เขาก็พูดตรงกันว่าพี่เขาเป็นคนดีไว้ใจได้ แม่กับพ่อจึงวางใจค่ะ”

ตรงนี้แหละค่ะที่ดิฉันว่าเป็นเหมือนนิยายรักโรแมนติก หนุ่มจากหมู่บ้านเดียวกันเดินทางไปเรียนที่อเมริกา สาวเจ้ามีดวงชีพจรลงเท้า ลุยอเมริกาเพื่อไปสอนหนังสือ จนได้ประสบพบกันจนกามเทพแผลงศร “รัก” เข้าจนได้

ครั้นจะให้ได้พบกันตอนอยู่ไทย เรื่องก็คงไม่สนุกน่าติดตาม ครูอุ้ยก็คงบอก พี่บุ๊คขา..พี่ก็ งั้นๆ แหละ..ส่วนบุ๊คก็อาจจะต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากหน่อย เพราะน้องเขา “สวยหวาน” ต้องตาหนุ่มๆ มากมาย ไม่ใช่แต่สวยนะ ครูอุ้ยมีความสามารถในการระบำรำฟ้อนสวยงามระดับ “ตัวเอก” เลยล่ะค่ะ

เขียนเล่นล้อเลียนกันบ้างไม่เป็นไร เด็กๆ เขาไม่ถือสาดิฉันหรอกค่ะ เพราะว่าดิฉันกับครูอุ้ยสนิทสนมนับญาติกันได้ เธอเป็นครูสอนนาฏศิลป์ให้กับหลานสาวสองคนของดิฉัน และเราทำงานนาฏศิลป์ร่วมกันเกือบทั้งปีที่ครูอุ้ยมาประจำการอยู่

จึงมีความดีใจที่ได้รับเชิญไปร่วมเป็นสักขีพยานความรักของทั้งสองคนในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และขอจบบทเขียนนี้ด้วยพร ขอให้ทั้งสองจงครองรักกันยืนยงตลอดไป และช่วยกันสร้างครอบครัวให้มั่นคงเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยที่ดีต่อไป

ชีวิตที่เริ่มด้วยความเห็นอกเห็นใจกันนานปี ลงเอยด้วยวิวาห์หวาน จากการจดทะเบียนสมรสที่ซิตี้ฮอลของซานฟราน มาถึงงานพิธีบายศรีสู่ขวัญที่วัดพุทธานุสรณ์ และจบลงที่งานบายศรีสู่ขวัญแบบอีสานเต็มรูปแบบที่บ้านเกิดในวันที่ ๑๑ พ.ค. นี้ และเลี้ยงฉลองในเย็นวันที่ ๑๘ พ.ค. ศกนี้

ประสบความสุขในชีวิตสมรสตลอดไปนะคะ อุ้ยและบุ๊ค