บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



เที่ยวไทย ฤดูหนาว ๒๕๕๗ (ต่อ)
ตอน ไปชมการแสดงละครเรื่อง อานุภาพแห่งความเสียสละ
แสดงโดยนักเรียนโรงเรียนพาทยกุล (๒)

ฉบับนี้จะมาเล่าสู่กันฟังต่อจากฉบับที่แล้ว ในเรื่องที่ได้ไปชมการแสดงละครเรื่อง “อานุภาพแห่งความเสียสละ” เมื่อ วันศุกร์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ณ โรงละครแห่งชาติ จัดแสดงโดย โรงเรียนพาทยกุลการดนตรีและนาฏศิลป์ ซึ่งได้นำบทประพันธ์ ของ ฯพณฯ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ เรื่อง “อานุภาพ แห่งความเสียสละ” มาสร้างสรรค์เป็นการแสดงละครปลุกใจรักชาติในรูปแบบใหม่ เป็นการปรับปรุงเป็นบทการเล่าเรื่องประกอบการแสดงโดย ดร. บำรุง พาทยกุล และอำนวยการแสดงโดย นางสาว ขจิตธรรม พาทยกุล ซึ่งผู้เขียนก็ได้เกริ่นนำถึงความเป็นมาในการจัดละครเรื่องนี้ของโรงเรียนพาทยกุลไปในฉบับที่แล้ว

ฉบับนี้คงจะเล่าถึงเรื่องราวความประทับใจและการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ส่วนตัว เป็นบันทึกแบบไม่เป็นทางการจากการที่ได้พบเห็นในวันซ้อมใหญ่ และอยากจะนำภาพในวันงานมาให้ได้ชมกันมากๆ

ก่อนอื่นผู้เขียนขอบันทึกถึงผู้ประพันธ์บทละครเรื่องนี้ คือ ฯพณฯ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ พอเป็นสังเขปนะคะ ด้วยความเคารพและด้วยความระลึกถึง เนื่องจากผู้เขียนเป็นนักอ่าน หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “เป็นแฟนคลับ” งานเขียนของท่านแทบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นบทละครอานุภาพต่างๆ หรือบทละครเรื่อง เลือดสุพรรณ เจ้าหญิงแสนหวี หรือแม้กระทั่งนวนิยายเรื่อง “กุหลาบเมาะลำเลิง” ก็อ่านไม่รู้กี่ครั้งค่ะ ผู้เขียนชื่นชมท่านที่ท่านช่างมีความสามารถในการใช้คำพูดปลุกใจให้รักชาติได้จับใจเหลือเกิน

“ต้นไม้แห่งความรักชาติจะปลูกขึ้นในหัวใจของคนไทยทุกดวง”

เป็นคำพูดที่ ฯพณฯ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ได้ร้อยเรียงขึ้นเพื่อต้องการให้ประชาชน คนไทยเกิดความรักชาติบ้านเมือง รักประเทศไทยของเรา ซึ่งได้ปลุกใจคนไทยมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

ฯพณฯ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ (ผู้ประพันธ์)

หลวงวิจิตรวาทการ เกิดที่จังหวัดอุทัยธานี เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๑ เริ่ีม

ชีวิตราชการที่กระทรวงต่างประเทศ ได้ก้าวหน้าในหน้าที่ราชการอย่างรวดเร็วจนได้ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูต ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้ย้ายมารับตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากรเป็นคนแรก ท่านเป็นที่รู้จักดีในฐานะผู้แต่งละคร และเพลงปลุกใจรักชาติ ได้สร้างผลงานละครเรื่องใหญ่ไว้ ๒๕ เรื่อง และได้แต่งเพลงประมาณ ๑๘๐ เพลง ซึ่งยังเป็นที่รู้จักกันจนทุกวันนี้

ในระหว่างดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ได้ตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ ซึ่งเจริญเติบโตเป็นโรงเรียนนาฏศิลป์ และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ในปัจจุบัน และได้เป็นประธานก่อสร้างโรงละครแห่งชาติ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ สำหรับผลงานด้านการประพันธ์ ได้เขียนหนังสือที่เป็นวิชาการ บทความและแสดงปาฐกถาเป็นจำนวนมาก เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยต่างๆ จนได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ละครและเพลง “ปลุกใจรักชาติ” ของท่าน ยังคงก้องกังวาน เรียกร้องให้คนไทยทุกคนเข้มแข็ง สามัคคี เสียสละ เพื่อนำความร่วมเย็นมาสู่แผ่นดินไทยสืบต่อไปชั่วกาลนาน

(จากหนังสือสูจิบัตรละครเรื่อง “อานุภาพแห่งความเสียสละ” แสดงโดยศิลปินและนักเรียนโรงเรียนพาทยกุลการดนตรีและนาฏศิลป์)

บันทึกวันซ้อมใหญ่

ณ โรงละครแห่งชาติ ในช่วงเย็นของวันพฤหัสบดี ที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗ นักแสดงรวมตัวกันพร้อมซ้อม ในวันนั้นผู้เขียนมีความกังวลใจมาก เพราะว่าจะเป็นครั้งแรกที่จะได้ซ้อมกับนักดนตรีวงมหาดุริยางค์ไทยในเพลงโหมโรงสามัคคีชุมนุมเป็นครั้งแรก (ดังกล่าวไว้ฉบับที่แล้วว่าผู้เขียนซ้อมระนาดเพลงโหมโรงสามัคคีชุมนุมอยู่ที่แคลิฟอร์เนีย) และเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย ได้ไปซ้อมตัวต่อตัวกับคุณครูตั้ว ทศพร เกิดออมทรัพย์ ที่โรงเรียนพาทยกุล แต่แล้วความกังวลก็ค่อยๆ คลายไปบ้าง ไปเมื่อทีมงานน้องๆ มาดูแลเป็นอย่างดี มีการจัดระเบียบในการเข้าฉากและมีพี่เลี้ยงให้ซักถามตลอด และก็ได้ไปรู้จักกับน้องรุ่นผู้ใหญ่สองสามคนที่จะแสดงเพลงนี้ด้วย ก็เลยรู้สึกดีขึ้น และเมื่อถึงเวลาซ้อมบนเวที ได้คุณครูตึ๋ง ชัยรัตน์ วีระชัย มาให้กำลังใจเพิ่ม และกำลังใจเพิ่มมาอีกหนึ่งโหลเมื่ออาจารย์บำรุง พาทยกุล มาทักทายและให้คำแนะนำ รวมทั้งครูแด๋ม วราพร พาทยกุล น้องเฟิน มาดาพร น้อยนิตย์ น้องหนึ่ง นิตย์รดี ชยุตม์นิพนธ์ ที่ดูแลป้าแมวอย่างดียิ่งค่ะ

หลังจากซ้อมวงมหาดุริยางค์ครั้งแรกจบ ก็มานั่งชมฉากอื่นๆ ดูบ้างทำให้มีโอกาสสำรวจผู้คนในโรงละคร ได้เห็นผู้คนมากมายทั้งคณะครูอาจารย์โรงเรียนพาทยกุล ที่รู้จักบ้างไม่รู้จักบ้าง และแล้วสายตาผู้เขียนก็ไปสะดุดอยู่ที่อาจารย์ท่านหนึ่ง ไอดอลของผู้เขียนสมัยดูละครเรื่องนี้ตอนอยู่มัธยมเลยล่ะค่ะ ท่านคือ “จามรี” ในสมัยนั้น อาจารย์รัตติยะ วิกสิกพงศ์ ซึ่งในวันนั้นท่านก็ยังงามอยู่มิรู้เปลี่ยน ได้เห็น ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ ผู้ที่ผู้เขียนชื่นชมในฝีมือรำของท่านมานานแล้ว ได้เห็นตัวจริงของอาจารย์ บรูซ แกสตัน จากวงฟองน้ำที่ผู้เขียนสะสมเพลงจากวงนี้ไว้เกือบทุกเพลง และอีกหลายๆ ท่านที่อยู่ในวงการนาฏศิลป์ และดนตรีไทย เรียกว่าเป็นอาหารตาอันสุขใจ ทำให้ความเหนื่อยล้าที่เพิ่งเดินทางไกลมาเพื่อร่วมงานและชมละครคลายไปเป็นโข นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสได้เจอครูระนาดที่สนิทยิ่งคือ ครูเอ๊ะ ฉัตรชัย พึ่งทองคำ ซึ่งมาทำหน้าที่ฝ่ายเทคนิค ดูแลเรื่องแสงเสียง และก็ได้กำลังใจเพิ่มจากครูเอ๊ะอีกเพียบ ทำให้ค่อยกล้าและหายกังวลที่จะร่วมบรรเลงดนตรีกับวงมหาดุริยางค์ในคืนต่อมาอีกด้วย

สรุปบรรยากาศในวันซ้อม เต็มไปด้วยมิตรไมตรีจากน้องๆ ที่ทำหน้าที่คุมคิวและดูแลนักเรียน โดยเฉพาะจาก น๊อต ศิวนาถ ครุฑบุญยง ซึ่งคุ้นเคยกันตอนเธอไปแสดงที่อเมริกากับคณะ ดูแลป้าแมวอย่างดี ขอบคุณค่ะ และแม้ว่าจะได้มีโอกาสทักทายกับ น้องดิว ขจิตธรรม พาทยกุลได้เพียงชั่วครู่ เพราะน้องเขาต้องดูแลกำกับการแสดง แต่ก็ดีใจที่ได้เจอกัน และขอชื่นชมการทำหน้าที่ผู้กำกับการแสดง รวมทั้งออกาไนซ์งานได้อย่างดีเยี่ยมค่ะ

ขอยกไปเล่าต่อฉบับหน้าค่ะ

และแล้วเนื้อที่ก็หมดลง ทั้งๆ ที่ยังมีสิ่งดีๆ จะเล่าถึงอีกมากมาย ก็ไม่อยากเร่งรัดเขียนนะคะ อยากให้อ่านกันสบายๆ ค่อยๆ เขียนให้ท่านค่อยๆ อ่าน อยากจะให้เนื้อที่กับภาพ (ซึ่งมีอีกมายมาย) ก็ขอจบตรงวันซ้อมใหญ่ ฉบับหน้าอ่านตอนสุดท้าย คือวันแสดงจริงค่ะ


สวัสดีนะคะ