ห่างเหินจากการบันทึกช่วงที่ไปเที่ยวเมืองไทยเมื่อปลายปี พ.ศ. 2566 ผู้เขียนเพิ่งเดินทางกลับมาถึง เบย์แอเรียเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ แต่มัวแต่ป่วยเป็นหวัดเสียหลายวันก็เลยเพิ่งจะมีโอกาสมาเขียนช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าจะไม่ได้มาเขียนคอลัมน์ด้วยตัวเอง แต่ก็มีเพื่อนรักสมัยเรียนมัธยมมาช่วยต่อเติมงานเขียนให้ โดยเธอผู้นี้ “แสงประภัสสร” มีฝีไม้ลายมือกวีนิพนธ์ได้ไพเราะ และมีแง่มุมของคำสอนจากพุทธศาสนาประพันธ์มาให้ได้อ่านกัน และก็จะขอให้เธอช่วยมาเขียนให้ทุกเดือนนะคะ
ทริปปีที่แล้ว ได้เล่ามานิดหน่อยตอนได้เดินทางเรือล่องแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยเรือด่วนไปสังสรรค์กับเพื่อนๆนักเรียนมัธยมที่สวนสุนันทา และสังสรรค์เพื่อนนิเทศศาสตร์จุฬารุ่นหนึ่งมาบ้างแล้ว วันนี้จะบันทึกเรื่องไปชมการแสดงโขนค่ะ ซึ่งเวลาไปเมืองไทยของผู้เขียนแทบจะทุกครั้งไม่เคยพลาดก็คือการไปชมโขนสมเด็จฯ ของ มูลนิธีศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ปีนี้แสดงตอน กุมภกรรณทดน้ำ การแสดงมีไปตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน ถึง วันที่ 5 ธันวาคม 2566 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
เป็นที่น่ายินดีและภูมิใจอย่างยิ่งที่คนไทยให้ความสนใจสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมด้านโขนกันอย่างเหลือล้น ทุกรอบการแสดงบัตรเต็มทุกที่นั่ง บัตรจำหน่ายหมดตั้งแต่ก่อนการแสดงเริ่มลงโรง ผู้เขียนเองฝากคุณครูท่านหนึ่งจองให้ตั้งแต่ก่อนเดินทางไปและแทบจะทันทีที่เขาเปิดจำหน่าย ขนาดยอมจ่ายราคาแพงก็ได้มาเพียงสองใบเท่านั้น ของดีคนก็บอกกันต่อๆ ไปเช่นนี้ไม่ต้องประชาสัมพันธ์อะไรให้มาก ชื่นชมมากเลยค่ะ
ขออนุญาตลอกข้อความจากสูจิบัตรตอนหนึ่งซึ่งผู้เขียนเห็นว่ามีความสำคัญ และทำให้เห็นภาพรวมว่าทำไมการแสดงทุกครั้งจึงได้รับความสนใจและนิยมชื่นชมจากประชาชนคนไทยเสมอมา ดังนี้
“แม้การจัดการแสดงโขนของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ แต่ละครั้งไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้ง่าย และมีค่าใช้จ่ายสูง แต่อุดมการณ์ที่คณะกรรมการและผู้มีส่วนร่วมดำเนินงานทุกคนทุกฝ่าย ต่างเชิดชูไว้เป็นหลักชัยแห่งการทุ่มเทสรรพกำลัง คือ พระราชปรารภของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระราชทานไว้สำหรับการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมว่า “ขาดทุนของฉันคือกำไรของแผ่นดิน” “โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ” ศิลปวัฒนธรรมล้ำค่าที่สืบทอดมาแต่บรรพชน จึงได้จัดการแสดงอีกครั้งหนึ่งและแสดงถึง ความเป็นอารยะแห่งชาติไทยสืบไปไม่มีวันเสื่อมสูญ”
การแสดงโขนในตอนนี้ ผู้จัดได้นำการออกศึกของกุมภกรรณในครั้งที่สามและที่สี่ ซึ่งเป็นศึกสุดท้ายของกุมภกรรณ มาแสดง โดยมีจุดประสงค์ให้เห็นถึงความรักสามัคคี ความผูกพันของพี่น้องวงศ์ญาติที่ไม่อาจตัดขาดกันได้ ประกอบกับการให้อภัยไม่จองเวรให้เป็นบาปกรรมสืบต่อกัน ซึ่งคุณธรรมเหล่านี้เป็นหลักคิดที่ควรคงอยู่เป็นแบบอย่างอันดีงามสืบไปในสังคมปัจจุบัน
ทุกฉากอลังการงานสร้าง ตั้งแต่กระบวนการร่ายรำ ความงดงามของเครื่องแต่งกาย วงดนตรีไทยสองวงที่ร่วมบรรเลง งานพากย์จากผู้เชี่ยวชาญ ความเป็นมืออาชีพของนักแสดงและผู้มีส่วนจัด ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ผู้เขียนขอสดุดี ขอเป็นกำลังใจ ขอเทิดทูน ขอศิลปโขนจงอยู่คู่ชาติไทยตลอดกาล
และหวังว่าปีหน้าผู้เขียนจะมีแรงเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปชมที่ประเทศไทยได้อีกสักครั้ง…ค่ะ
ชมภาพที่ถ่ายมาจากสูจิบัตรนะคะ เพราะเขาไม่ให้บันทึกเวลาการแสดง
พบกันใหม่กับงานเขียนตอนเที่ยวเมืองไทยปี 2566 ฉบับต่อไปนะคะ