บันทึกจากเบย์แอเรีย
ผอ.นสพ.เพ็ญวิภา โสภาภัณฑ์
มาฆะปูรณมีบูชา(วันมาฆะบูชา, จาตุรงคสันนิบาต) วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗

ประพันธ์โดย“แสงประภัสสร”

มาฆะปูรณมีบูชา(วันมาฆะบูชา, จาตุรงคสันนิบาต) วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗

รการวิปุลลาฉันท์ ๓๒

๑..กาละเวียนวันมาฆะบูชา
บรรลุขึ้นสิบห้าศศินแสง
เวฬุวันฯวัดที่ประทับแจง
อัศจรรย์สี่อย่างอุบัติสรรค์

๒..ภิกขุหนึ่งพันสองและห้าสิบ
เฝ้าพระพุทธฯมาลิบมินัดกัน
เอหิภิกฯล้วนที่ผนวชนั้น
องค์พระพุทธฯสุดเทิด ธ บวชให้

๓..สงฆ์อร์หันต์เยี่ยมยิ่งลุญาณหก
คงอภิญญาปรกพลังไว
ตรงกะเพ็ญเดือนสาม ฤา สี่ได้
ทรงประทานหลักใหญ่พระศาส์นา

๔..ปาฏิโมกข์โอวาทแสดงหลัก
พุทธพจน์บ่งรักษ์สิทั่วหล้า
หนึ่ง "วิรัติบาปท้น" สติหา
คิดมิผิดแผกศีลสราญรมย์

๕..สอง "กระทำดีพร้อม" ฉลาดเชิด
กายหทัยเลอเลิศกุศลสม
ตรึกประพฤติดีเด่นนิกรชม
ชั่วถลำซ้ำทุกข์ทุรนยาก

๖..สาม" กระทำจิตใสสะอาดล้ำ"
ตัดกิเลสพร่ำฟันขจัดซาก
จงเจริญรอบรู้สมาธิ์มาก
ปัญญะเกิดแล้วมรรคลุสล้าง

๗..ธรรมจะช่วยจิตใสฉลาดยิ่ง
ทุกขะเห็นรู้จริงละรานขว้าง
ใจมิยึดติดสิ่งซิต้องวาง
ตัดกิเลสทั้งปวงมะลานไส

๘..ปาฏิโมกข์โอวาทอุดมการณ์
ต้องประพฤตหกงานแนะขานไข
ขันติอดกลั้นสิ่งมิพอใจ
ควรวิรัติเบียนทุกข์หทัยกาย

๙..มุ่งพระนิพพานยิ่งเพราะกำจัด
วัฏฏะหยุดเกิดตัดสะบั้นหมาย
มรรคะองค์แปดช่วยและทำลาย
มวลกิเลสหมดสิ้นลุนิพพาน

๑๐..ใจสงบจากโลภะ,โกรธ,หลง
กายะ,วาจาคงทวีชาญ
นี้จะเป็นหลักของพระสงฆ์ศานต์
ญาติโยมตั้งใจผจญตาม

๑๑..ปาฏิโมกข์โอวาทวิธีการ
ธรรมะทูตแผ่งานขยายถาม
แนวเผดียงเหมือนกันและงดงาม
หกวิธีถูกต้องเหมาะพอควร

๑๒..หนึ่ง,มิโจมตีใคร ฤ กล่าวร้าย
หมิ่นเยาะความเชื่อหลายผะผันผวน
สอง,มิแพร่ศาสน์โดยริขู่รวน
ใช้พลังบังคับจะจำยอม

๑๓..สาม,ผจงตนให้สิเลื่อมใส
ยึดระเบียบบังคับวินัยพร้อม
สี่,บริโภคให้ประหยัดออม
เสพเหมาะพอเพียงแล้มิล้นหลาก

๑๔..ห้า,สถิตย์นั่งนอนสงบเงียบ
ห่างคณาฝึกเฉียบขยันมาก
หก,สมาธิ์ของสงฆ์เจาะเพียรพาก
เร่งวิปัสส์นาฝึกแนะกันหนา

๑๕..มาฆะฯยังเป็นวันพระพุทธฯราน
ปลงอะยุสังขารมินานลา
เดือนกำหนดหกขึ้นเจาะสิบห้า
ทรงลิขันธ์นิพพานลุแปดสิบ

๑๖..เพียงริเวียนเทียนบุญญะไม่พอ
ชาวประชาไม่ท้อสมาธิ์ลิบ
ใจสกาวพร้อมปัญญะเกิดกริบ
บรรลุนิพพานเลิศสิแน่นอน ฯ|ะ


แสงประภัสสร

1 กุมภาพันธ์ 2567



วันมาฆะบูชา คือวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ หรือเดือน ๔ (ถ้าเป็นปีอธิกมาส) หรือวันจาตุรงคสันนิบาต การชุมนุมมีเหตุอัศจรรย์ ๔ ประการ (๑) เป็นวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ (๒)พระสงฆ์สาวก ๑,๒๕๐รูป เดินทางจากที่ต่างๆมาเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมาย (๓) ทั้งหมดเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา ที่พระพุทธเจ้าบวชให้ (๔) ภิกษุทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ ทรงอภิญญา ๖

ศศิน=พระจันทร์

เวฬุวันฯ=วัดเวฬุวนาราม

เอหิภิกขุฯ=เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือพระสงฆ์ที่ได้รับการบวชจากพระพุทธเจ้า

อรหันต์=พระอริยบุคคลชั้นสูงสุด ละสังโยชน์ได้ครบ ๑๐ ลุนิพพาน พ้นจากวัฏฏสงสารไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก

อภิญญา ๖=ความรู้ยิ่งในพุทธศาสนามี ๖ อย่าง (๑) อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้(๒) ทิพโสต หูทิพย์ (๓) เจโตขปริยญาณ ญาณรู้จักกำหนดใจผู้อื่น (๔) ปุพเพนิวาสานุสติญาณ การระลึกชาติ ได้ (๕) ทิพจักขุ ตาทิพย์ (๖) อาสวักขยาญาณ ญาณรู้จักทำอาสวะ(กิเลสที่หมักหมมในสันดาน)ให้สิ้นไป

พระศาส์นา=พระศาสนา

วาทะปาฏิฯ=โอวาทปาฏิโมกข์ เป็นนโยบายหลักการเผยแพร่พุทธศาสนา สร้างความเข้าใจ และวิธีการให้แก่คนทั่วไป

พุทธพจน์=คำที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนทั้งที่เป็นร้อยกรอง(ซึ่งเรียกว่าคาถา เช่น สัพพะปาปัสสะ อะกะระนัง การไม่ทำบาปทั้งปวง) และร้อยแก้ว

รักษ์=รักษา

วิรัติ=งดเว้น,เลิก

วิรัติบาปผอง=ละบาปทั้งปวง สัพพะ ปาปัสสะ อะกะระนัง

กระทำดีพร้อม=กุสะลัสสูปะสัมปทา

นิกร=หมู่คน.

ทุรน=เดือดร้อน

ทำจิตใจให้ผ่องใส=สะจิตตะปะริโยทะปะนัง

พร่ำ=ร่ำไป,ซ้ำๆ

สมาธิ์=สมาธิ

ปัญญะ=ปัญญา

มรรค=ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หรือหมดปัญหาต่างๆโดยสิ้นเชิงมี องคประกอบ ๘ ประการ ได้แก่ เห็นชอบ,ดำริชอบ,เจรจาชอบ,กระทำชอบ,เลี้ยงชีวิตชอบ,พยายามชอบ,ระลึกชอบ,ตั้งจิตมั่นชอบ

สล้าง=อยู่สูงเด่น

ราน=ตัด

สิ,ซิ=เน้นความของคำที่อยู่หน้า เช่น ไปสิ มาซิ

กิเลส= สิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ใจเศร้าหมอง ได้แก่ โลภ โกรธ หลง

มลาน=ตาย,เหี่ยวแห้ง,เศร้าหมอง

พระนิพพาน=การดับสนิทแห่งกิเลสแห่งกองทุกข์ใช้กับพระอรหันต์

วัฏฏฯ=วัฏฏสงสาร คือ การเวียนไป,รอบแห่งการเวียนว่ายตายเกิด

สุ=ดี

ศานติ์=สงบ

เผดียง=บอกกล่าว

ผันผวน=กลับไปกลับมา

ศาสน์=ศาสนา

รวน=ทำกิริยาชวนทะเลาะ

ผจง=ตั้งใจทำให้ดี

ขนบ=แบบอย่าง,ระเบียบ

คณา=ฝูงชน

วิปัสส์นา=วิปัสสนา

ราน=ตัด

กุสินาฯ=เมืองกุสินารา สถานที่ปรินิพพาน

ของพระพุทธเจ้า

วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ =จะเป็นวันปรินิพพาน ท่านปลงอายุสังขารอีก ๓ เดือนต่อจากนี้

ปรินิพพาน=การตายของพระพุทธเจ้า,การดับสนิท ไม่กลับมาเกิดอีก

บุญญะ=บุญญา

สกาว=ขาว,สะอาด,หมดจด