บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



ครูชนินทร์ พรหมเลข ทายาทผู้บุกเบิก บ้าน “รักดนตรีไทย” อ.เมือง ยะลา

เพื่อมิให้เสียเวลาผู้อ่านและเนื้อที่ขอเริ่ม People’s profile ของคนไทยในเบย์แอเรียต่อจากฉบับที่แล้วเลยนะคะ พบกับครูอาสาประจำปีโครงการสอนภาษาและวัฒนธรรมไทยในอเมริกาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำวัดพุทธานุสรณ์ เมืองฟรีมอนต์ กันเลยค่ะ

พบ ครูนะโม ชนินทร์ พรหมเลข ครูดนตรีแผนกเครื่องสายที่วันนี้มาตอบคำถามแบบเปิดใจสะออน สะออนแปลว่าอ่านแล้ว “เริด” ค่าาา..

อยากให้ครูเล่าถึงครอบครัวสักนิดหน่อยค่ะ

เป็นคนจังหวัดยะลาครับ มีพี่น้องสองคนเป็นบุตรคนแรกครับ คุณพ่อชื่อ นายธนรัช พรหมเลข คุณแม่ นาง พิมพ์ลภัส พรหมเลข น้องชายชื่อ นายชานน พรหมเลข คุณพ่อเป็นผู้ตรวจราชการเขตการศึกษา 2 ของจังหวัดยะลาครับพึ่งเกษียณจากการเป็นครูเมื่อเดือนตุลาคม 2554 ที่ผ่านมาครับ ตอนนี้เปิดสอนดนตรีไทยอยู่ที่บ้านครับ

(เรื่องที่ครอบครัวครูนะโมเปิดสอนดนตรีที่บ้านนี้ มีเรื่องเล่าน่าสนใจขยายความตอนท้ายบทค่ะ โปรดติดตามอ่านให้จบนะคะ)

การศึกษาล่ะคะ

ผมเรียนจบชั้นอนุบาลหลายโรงเรียนครับคือ ร.ร. บ้านรามัน อ.รามัน จากจังหวัดยะลา และ ร.ร. รังสีอนุสรณ์ จากจังหวัดยะลา ประถมจากจากโรงเรียนวัดรังสิตาวาส อ.รามัน จังหวัดยะลา จาก ร.ร. นิบงชนูปถัมภ์ จังหวัดยะลา

เรียน วิทยาลัยนาฏศิลป์ จังหวัด พัทลุง ชั้น ม.1 - ม.4 เครื่องมือเอกจะเข้

จบชั้น ม.6 ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เครื่องมือเอกจะเข้

เรียนจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย สาขาครู เอกปฏิบัติดนตรี เครื่องมือเอกจะเข้ ชั้นปริญญาตรี

เพราะอะไร หรือมีแรงจูงใจอย่างไร จึงสนใจเลือกที่จะเรียนในสาขานี้หรือคะ

เอาจริงๆ ก็คงเพราะคุณพ่อครับ ผมในตอนแรกๆ ไม่ได้คิดจะเป็นนักดนตรีหรอกครับ ในชั้นป.3 ผมชอบวาดรูปมาก อาทิตย์นึงคุณพ่อต้องซื้อสมุดให้วาดเล่มหนาๆ อาทิตย์ละเล่ม วาดจนคุณครูต้องบอกทางครอบครัวว่า ผมมีพรสวรรค์ด้านวาดรูปแน่ๆ ในช่วงนั้นผมชอบอ่านการ์ตูนมากๆ เคยคิดอยู่ว่าอยากเป็นนักเขียนการ์ตูนด้วยครับ และผมเก็บเงินซื้อหนังสือเยอะมากจนแม่ต้องพาไปร้านเช่าการ์ตูน แต่เพราะอานิสงฆ์นี้ทำให้ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก (มิน่าในเฟสบุ๊กของครูนะโมจึงมีแต่ภาพการ์ตูนและคำคมมั่ง คติสอนใจมั่งโพสต์เป็นสเตตัสอยู่บ่อยๆ)

พอผมขึ้นป.4 คุณพ่อเห็นผมว่างครับ เพราะผมไม่ชอบไปเรียนพิเศษ พ่อแม่พูดเมื่อไหร่ก็จะพยายามไม่อยู่ไกล้ ที่โรงเรียนมีชมรมดนตรีไทยครับ ครูจะสอนตอนเย็นๆ คุณพ่อเค้ารู้จักกันครับ เอาผมไปฝาก ไปลองดู ตอนนั้นผมเลือกเรียนขลุ่ย เพราะเห็นเล็กๆ คงง่ายดี แต่เอาเข้าจริงผมไม่เรียนหรอกครับ นั่งเล่นกับเพื่อน เค้ารวมวงก็มั่วๆ กับเค้าไป กลับบ้านคุณพ่อก็ถามว่าชอบไหม ผมก็บอกว่าชอบอยู่แล้วก็ได้เล่นกับเพื่อนๆ และมีอยู่วันหนึ่ง ครูทดสอบทีละคนครับ ครูรู้ครับว่าผมไม่ค่อยเรียน พอถึงคิวผม ผมเป่าได้ทันทีครับ ก็เพราะได้ยินทุกวัน ได้ยินบ่อยจะเป่าได้ก็ไม่แปลกหรอกครับ ก็เพราะเหตุนี้แหละครับ ครูตกใจมากว่าทำไมเด็กคนนี้ไม่เรียนแล้วทำได้

พอคุณพ่อมารับครูก็รายงานให้ฟังทันทีและบอกคุณพ่อทันทีเลยว่า “ลูกคุณพ่อเป็นอัจฉริยะด้านดนตรีแน่ๆ สนับสนุนเค้าเลยครับ” พอผมขึ้นชั้น ม.1 ก็โดนส่ง ไปเรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ จังหวัดพัทลุง แบบงงๆ ครับ คุณพ่อแน่นำให้ผมเรียนจะเข้ คุณพ่อบอกว่ามีคนเล่นเป็นน้อย ผมก็คิดว่าก็ดี เพราะช่วงหลังผมเป็นหวัดบ่อย เล่นขลุ่ยเนี่ยลำบากมาก แล้วช่วงมัธยม 2 ผมได้เจออาจารย์ อัศเนตร รัตนะ ท่านเล่นจะเข้เก่งมากๆ ท่านมาจากจังหวัดสงขลา แล้วท่านมาเที่ยวที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ครับ และผมไปรอเรียนด้วยแต่ท่านไม่ยอมรับเป็นศิษย์ครับ ท่านบอกว่า “เรียนหน่ะ เรียนได้ แต่ถ้าเรียนแล้วไม่เก่งกว่าผม ผมจะไม่รับคุณเป็นศิษย์” ทำให้ผมมีไฟมากครับ ซ้อมเอาๆ และผมเอาจริงเอาจังมาก เดินทางไปเรียนเสาร์-อาทิตย์ ที่สงขลา ได้เจอเพื่อนๆ อาจารย์ เพื่อนรุ่นเดียวกันที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ทำให้เรียนดนตรีสนุกมากครับ

เล่าประสบการในด้านการสอนให้ฟังบ้างซิคะ

- ที่บ้านผมเปิดสอนดนตรีไทยครับชื่อบ้าน “รักษ์ดนตรีไทย” อยู่ จังหวัดยะลา ผมสอนตั้งอยู่ชั้น ม.3 หน่ะครับ จะสอนจะเข้ พ่อกับแม่ จะสอนขิม ซอ น้องชายก็จะสอนระนาดกับทุ้มครับ

- ผมฝึกสอนจริงจังที่โรงเรียนสาธิตจุฬาฝ่ายมัธยมเทอมแรกครับ สอนขับร้องเพลงไทย และสอนดนตรีไทยในช่วงเย็นของทุกวันครับ

- ฝึกสอนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในเทอมสองครับ สอนระนาดเอก แต่ช่วยติวสอบเรื่องโน้ตเพลงไทยเพื่อสอบเข้ามหาลัย และต่อเพลงในนักเรียนช่วงเย็นๆ ครับ

ประสบการด้านการแสดงล่ะคะ

- ประกวดชนะเลิศขลุ่ยไทย ในชั้นประถม 6 ที่จังหวัดยะลา

- เล่นงานต่างๆ สมัยเรียนวิทยาลัยนาฏศิลป์พัทลุง 4 ปีครับ งานแสดงเยอะมากครับส่วนมากจะออกแสดงจะเข้ และช่วยรำ

- แสดงดนตรี งานอบรมดนตรีไทยในมหาวิทยาลัยทักษิณ เพลงชุดฉิ่งตรัง

- เล่นงานถวายมือที่ต่างๆ ที่ ม.เกษตร ม.มศว

- เล่นดนตรีเครื่องสายประชันที่ ม.บูรพา

- เล่นงานดนตรี จุฬาวาทิต ของ จุฬาฯ มหาวิทยาลัย

- ช่วยเล่นการแสดงผลงานศิลปะดีเด่นที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ

- ร่วมงานครุศาสตร์คอนเสิร์ต

อยากขอให้ยกตัวอย่างการแสดงหรือผลงานที่ภาคภูมิใจที่สุด

- งานครุศาสตร์คอนเสิร์ต ตอนที่ผมเรียนอยู่ชั้นปี 5 ครับ ตอนนั้นผมฝึกสอนหนักมากครับ แล้วต้องมาช่วยเล่นคอนเสิร์ต ทำให้แทบไม่ได้หลับนอนเลยครับ แต่ก็ผ่านมาได้ครับ

ครูมาสอนอยู่จะครบหนึ่งปีแล้ว คิดอย่างไรกับงานอาสาครั้งนี้

ที่จริงก็ผิดคาดหลายอย่างนะครับ ตอนที่ผมฝึกสอนเค้าจะเน้นเครื่องแต่งกายให้สุภาพ และงานเอกสารมากๆ ผมนึกว่าเด็กอาจจะสอนยากมากๆ เนื่องด้วยเรื่องภาษาและวัฒนธรรม ผมคิดว่าสนุกนะครับ เหนื่อยบ้างสนุกบ้าง และการมาที่นี่ทำให้ผมรู้สึกโตขึ้นด้วยครับ เพราะการใช้ชีวิตที่ไทย กับต่างแดนเนี่ยต่างกันมากจริงๆ

สิ่งใดที่คิดว่ายากที่สุดในการมาสอนครั้งนี้

ผมไม่เคยสอนที่ไหนแล้วใช้ภาษากายมากขนาดนั้นนี้ครับ ก่อนมาที่นี่ส่วนมากผมจะใช้เอกสารสอน พูด ให้โน้ตเพลง ปฏิบัติทันทีครับ และเรื่องการแสดงเด็กๆ ครับ ปกติผมจะซีเรียสการแสดงมากๆ ไม่ยอมปล่อยลูกศิษย์ง่ายๆ เลยต้องปรับความเข้าใจและมาตรฐานอะไรๆ หลายอย่างครับ และต้องเตือนตัวเองเสมอๆ ว่านักเรียนไม่ได้เรียนดนตรีเหมือนเรา ต้องดูการพัฒนาตั้งแต่แรกเริ่มของเขาเป็นหลักครับ

หากจะให้ทำการปรับปรุงบทเรียน ครูคิดว่าจะเน้นส่วนไหนดีคะ

ผมคิดว่าบทเรียนของครูทุกรุ่นดีอยู่แล้วครับ คิดว่าครูทุกคนสามารถประเมินนักเรียนและให้บทเรียนตามความเหมาะสมของนักเรียนได้ แต่สิ่งที่อยากให้เน้นมากคือเรื่องแรงจูงใจครับ ต้องทำอย่างไรให้นักเรียนรักและชอบดนตรี เมื่อนักเรียนรักและชอบดนตรี การฝึกซ้อม การเล่น ความสนใจ ความกระตือรืนร้นจะตามมาครับ

หากมีโอกาสพบครูที่จะอาสามาปีต่อไป ครูมีข้อแนะนำอะไรที่อยากจะเน้นรุ่นน้องบ้างหรือไม่อย่างไรคะ

อยากจะแนะนำเรื่องความมั่นใจในตัวเองครับ ให้คิดว่าเราเก่งเพราะเรียนจบมาแล้ว และคิดว่าทุกคนเคยมีประสบการณ์การสอนหรือการแสดง ให้มั่นใจว่าเราสามารถสอนได้ ทำได้ ถ้าเราพยายามแล้วนักเรียนทำไม่ได้ ก็ลองหาวิธีแบบใหม่ดูครับ งานแสดงก็พยายามทำให้ดีที่สุดครับ ไม่จำเป็นต้องไปเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ เพราะคนเราไม่เหมือนกัน ประสบการณ์ต่างกัน ความชอบต่างกัน อาจจะเรียนรู้มาไม่เหมือนกันด้วยซ้ำ และเมื่อมีปัญหากันสิ่งที่ดีที่สุดคือ การให้เกียรติกันครับ เคารพความคิดซึ่งกันและกัน พอเราทำทุกอย่างเต็มที่แล้วสิ่งดีๆ ก็จะมาเองครับ


เรื่องน่าสนใจท้ายบทเกี่ยวกับบ้านดนตรีของครูนะโมที่ยะลา

เป็นครั้งแรกที่ดิฉันได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับการสอนดนตรีไทยในยะลา ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เสี่ยงต่อความไม่สงบนี้ เราได้ยินเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่แต่ละวัน ทว่ากลับมีผู้ที่กล้าเปิดสอนดนตรีไทยในพื้นที่นี้ “บ้านรักดนตรีไทย” ของคุณพ่อครูนะโม เปิดสอนมานับสิบปี เริ่มจากนักเรียนสามสิบกว่าคน ปัจจุบันเหลือเพียงหกคน

“แม้ว่าเราจะมีเด็กๆ ที่รักเรียนดนตรีไทยอยู่จำนวนมาก แต่การที่เขาจะต้องเดินทางมาเรียนและเสี่ยงภัยอันตรายที่อาจจะถึงชีวิตได้ ทำให้ผู้ปกครองหลายคนไม่กล้านำบุตรหลานมาเรียน นักเรียนของเราส่วนใหญ่เป็นพุทธครับ แต่ระยะหลังคุณพ่อผมเริ่มโครงการนำนักเรียนจากทุกศาสนามาสอน ได้รับความสนใจพอสมควรครับ ผมหวังว่าสักวันหนึ่งเมื่อสถานการณ์สงบลงเราคงจะมีนักเรียนเพิ่มขึ้นนะครับ”

เวลาเราซ้อมดนตรีซึ่งคงจะมีเสียงดัง เรื่องนี้เป็นปัญหากับการเรียนการสอนที่บ้านหรือไม่คะ

ไม่มีนะครับ คนที่อยู่ใกล้เคียงก็ไม่มีใครถือว่าเป็นเรื่องรบกวนนะครับ

ครูคิดว่าจะกลับไปช่วยคุณพ่อสืบสานดนตรีต่อที่ยะลาหรือไม่คะ

ผมจะกลับไปช่วยสร้างบทเรียนดนตรีให้เป็นมาตรฐานครับ เพราะที่ผ่านๆ มาเราสอนกันแบบพื้นบ้าน นี่เป็นอีกสาเหตุที่ผมเลือกเรียนครุศาสตร์ครับ

และสักวันหนึ่งเมื่อพื้นที่จังหวัดยะลาสงบร่มเย็นปราศจากการอยู่ด้วยความกลัวแล้ว เสียงเพลงไทยจะขับกล่อมเป็นทิพยดนตรีโน้มน้าวให้ผู้คนมีความสุข เกิดความสุนทรีในชีวิต ขอบุญกุศลในการที่ครอบครัวของครูนะโม ชนินทร์ พรหมเลข ที่ได้ตั้งใจสืบสานทะนุบำรุงดนตรีไทยให้คงอยู่จงดลบันดาลให้ครอบครัวพบกับความสำเร็จ ปลอดภัยอันตรายทั้งปวงนะคะ

ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์
ฤาอุบายมุ่งร้ายฉมังนัก มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี
และดวงใจย่อมดำสกปรก ราวนรกชนเช่นกล่าวมานี้
ไม่ควรไว้ใจในโลกนี้ เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ


(บทพระราชนิพนธ์แปล ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) จากต้นฉบับของวิลเลี่ยม เช็คสเปียร์ )
ขอความสุขจงมีแด่ผู้อ่านทุกท่านค่ะ.....สวัสดีค่ะ