ฉบับที่แล้วผู้เขียนได้บันทึกการไปชมโขนพระราชทานของ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เป็นเรื่อง ชุดศึกอินทรชิต ตอนพรหมาส และตั้งชื่อรสชาติของการชมโขนว่าเป็น “รสคลาสิค” ฉบับนี้จะเล่าถึงที่ได้ไปชมโขนอีกเรื่องและอีกรูปแบบนั่นคือ โขน ชุด ศรทะนง และขอตั้งชื่อรสนี้ว่าเป็น “รสออริจินอล หรือ รสดั้งเดิม” เนื่องจากเป็นโขนที่แสดงโดยศิลปินและครูบาอาจารย์ด้านโขนของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์และกรมศิลปากร ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๘
โขน ศรทะนง ที่ผู้เขียนไปชมมานี้เป็นหนึ่งในฉากการแสดง ศิลป์-พัฒน์เฉลิมรัตนราชศิลปิน เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมรกุมารี เนื่องในวโรกาสมหามงคลที่พระองค์ท่านทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๘ จัดโดย สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์และกรมศิลปาการ กระทรวงวัฒนธรรม
การแสดง ศิลป์-พัฒน์เฉลิมรัตนราชศิลปิน นี้จัดแสดงสองรอบ รอบแรกเรียกว่ารอบ “ซ้อมใหญ่” เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมก่อนวันแสดงจริง คือวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๘ และวันแสดงจริงคือวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นวันที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร
ผู้เขียนพร้อมน้องๆ และเพื่อนๆ เลือกไปชมในวันซ้อมใหญ่ เพราะวันที่ ๒๔ นั้นบัตรจองเต็มหมดแล้ว แม้วันที่ผู้เขียนไปชม บัตรก็จำหน่ายหมดแล้วเช่นกัน เกือบพลาด... ในวันที่เราไปชมนั้นก็เป็นการแสดงเสมือนวันจริงทุกประการ เพียงแต่ไม่ได้เฝ้าเสด็จสมเด็จพระเทพฯ และไม่ได้ดูพระองค์ท่านทรงระนาดเอกประกอบการแสดงโขนชุด ศรทะนง นี้ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมากเลยค่ะ
อย่างที่เกริ่นข้างต้นว่า การแสดงโขน และทุกชุดในวันนั้นเป็นการแสดงของศิลปินและครูบาอาจารย์ด้านนาฏศิลป์และดนตรีไทย ทุกท่านเป็นที่รู้จักเป็นที่เคารพของผู้ที่ชื่นชอบละครของกรมศิลป์กันทั้งนั้น ดังนั้นวันซ้อมใหญ่จริงเป็นเสมือนวันชุมนุมของคนรักศิลปะการละครดั้งเดิมของไทย ผู้เขียนเห็นและพบครูหลายๆ ท่านจากนาฏศิลป์สัมพันธ์ จากพาทยกุล และจากตำหนักปลายเนิน เป็นต้น ล้วนแล้วแต่ระดับครูๆ ทั้งนั้น เดินทักทายกัน ถ่ายภาพร่วมกัน และถ่ายภาพกับซุ้มที่จัดให้ถ่ายภาพกัน เป็นที่สนุกสนานน่ารักในแบบคนอาวุโสที่ได้มาพบ มาชมสิ่งที่ตนรัก นอกจากรุ่นอาวุโสแล้วรุ่นนักเรียนก็ยังมากันอีกมากมาย เห็นแล้วก็อดดีใจ และมั่นใจว่า ศิลปวัฒนธรรม นาฏศิลป์ และดนตรีไทย วรรณคดีไทย คงจะยังอยู่สืบต่อไปกาลนาน
เอาละค่ะ เล่าบรรยากาศนอกงานแล้ว ก็มาถึงการแสดงบ้าง มีให้แฟนพันธุ์แท้ได้ชมทั้งอรรถรสทางดนตรีและระบำรำฟ้อน ไปถึงโขนอันงดงาม เริ่มจากรำถวายพระพร โดยสถาบันบันฑิตพัฒศิลป์ สวยงามอ่อนช้อย ต่อด้วยการบรรเลงวงมหาดุริยางค์ เพลงเทพสมภพ (เถา) และจบด้วยเดี่ยวกราวใน
ขอบรรยายเพิ่มเติมถึงเดี่ยวกราวในนิดหนึ่งนะคะ เพราะเป็นเพลงที่ผู้เขียนชอบมาก และฟังแล้วปีติมาก มากที่สุดค่ะ การบรรเลงเริ่มด้วยการเดี่ยวกราวใน ในจังหวะสองชั้น เริ่มจากระนาดเอกบรรเลงขึ้นต้น ต่อด้วยกลุ่มเครื่องสาย และปี่พาทย์บรรเลงรับต่อในอัตราจังหวะชั้นเดียว ทราบมาว่าเป็นการปรับปรุงวิธีบรรเลงเพลงนี้ ภายใต้แนวคิดของ ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ อธิการบดีสถาบันบันฑิตพัฒนศิลป์ ...บอกตามตรงว่าผู้เขียนยกย่องจริงๆ ค่ะ ไพเราะด้วย เร้าใจด้วย...ดีไปหมดค่ะ..
จากนั้นก็มาถึงการแสดงนาฏศิลป์สร้างสรรค์ ประกอบด้วยชุดเฉลิมขวัญ ๖๐ พระชันษามหาจักรีสิรินธร ซึ่งชุดนี้ผู้เขียนชอบมากๆ คือระบำแพะ ซึ่งเป็นระบำที่สร้างสรรค์ขึ้นมาตามปีนักษัตรที่พระราชสมภพ น่ารักและน่าชมที่ผู้ประดิษฐ์สามารถนำกริยาของแพะมาใส่เป็นท่ารำได้ลงตัว เป็นอีกชุดที่ชอบมากค่ะ..และชุดเทวาอัปสรบวรสุทธาวาส เป็นการสร้างสรรค์ท่ารำและชุดแต่งกายที่ผู้ประดิษฐ์ได้แนวคิดมาจากภาพจิตรกรรมบนบานประตู บนอุโบสถวังหน้า ซึ่งก็สวยงามชดช้อยอีกชุดหนึ่งค่ะ
และการแสดงสุดท้าย คือ โขน ชุด ศรทะนง ที่ผู้แสดง ผู้บรรเลง และผู้ขับร้องประกอบด้วยศิลปินแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญ ศิลปินอาวุโส ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นที่รู้จักกันดีในวงการ อาทิ ครูประสิทธิ ครูสมศักดิ์ ทัดติ ผศ.ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ คุณประกร พรพิสุทธิ์ ครูทัศนี ขุนทอง ครูวัฒนา โกศินานนท์ ร่วมด้วยครู อาจารย์ นักศึกษาของสถาบันบันฑิตพัฒนศิลป์ และศิลปินจากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร รวมจำนวนกว่า ๔๒๐ คน อำนวยการสร้างโดย ดร.สิริชัยชาญ ฟักจำรูญ อธิการบดีสถาบันบันฑิตพัฒนศิลป์
นักแสดงมากมายเช่นนี้ ย่อมการันตีประหนึ่งชมเพชรงามล้ำค่าด้วยฝีมือครูบาอาจารย์ ซึ่งบางท่านแม้อายุจะสูงวัยแล้ว ทว่ากระบวนท่ารำหาได้ลดลงไม่ ดูแล้วเป็นบุญตายิ่งนัก ตัวละครตัวเอกๆ เช่น พระราม พระลักษณ์ ทศกัณฐ์ หนุมาน นั้นใช้ศิลปินแสดงหลายท่าน และเป็นกำไรชีวิตของผู้เขียนอีกครั้งที่โชคดี ไปอยู่ในกรุงเทพฯ ในช่วงนี้พอดี โอกาสที่จะได้ชมการแสดงรวมของศิลปินระดับประเทศเช่นนี้คงไม่เกิดขึ้นง่ายๆ นัก เสียดายอยู่แต่ที่ไม่มีโอกาสไปดูรอบเสด็จพระราชดำเนิน ที่พระองค์ท่านทรงระนาดเอกประกอบการแสดงโขน แต่แค่ได้ชมข่าวจากพระราชสำนักก็แสนจะปลื้มปีติอในมหากรุณาธิคุณต่อนาฏศิลป์และดนตรีไทยเป็นล้นพ้น
นอกจากจะได้ชมของดีหาดูได้ยากครั้งนี้แล้ว ผู้ที่ซื้อบัตรเข้าไปชมก็ยังจะได้บุญกุศลทั่วหน้า เนื่องจากรายได้จากการแสดงโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนสร้างอาคารศูนย์รักษาพยาบาลรวมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ๑๕๐ ปี โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย จังหวัดชลบุรี อีกด้วย
เมื่อการแสดงจบ ผู้เขียนและเพื่อนพ้องน้องพี่ต่างก็ออกมาจากโรงละครแห่งชาติด้วยความอิ่มเอมใจ เราเห็นผู้ชมทุกวัยพากันจับกลุ่มทักทายกันด้วยความสุข รอยยิ้มของผู้คนในวันนั้นทำให้ผู้เขียนแน่ใจว่าจะส่งกระแสจิตไปยังกรมศิลปากรดลใจจัดการแสดงอย่างนี้อีกต่อไป
กาลเวลาไม่สามารถทำลายศรัทธาที่เรามีต่อโขนอันเป็นศิลปะชั้นสูงของชาติที่มีมานับร้อยๆ ปี ศรัทธานี้จะมีต่อไปได้ก็อยู่ทีผู้มีหน้าที่สืบสานอนุรักษ์ศิลปะของชาติ นั่นก็คือกระทรวงวัฒนธรรม ขอท่านจงทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด ...นะคะ
ก็ขอจบบันทึกตอนไปชมโขนรสดั้งเดิมแต่เพียงนี้ ฉบับต่อไปจะเสนอการไปชมโขนในรสสุดท้าย...รสอะไร โปรดติดตามค่ะ
(ขอบคุณข้อมูลและภาพจากสูจิบัตรงาน ศิลป์-พัฒน์เฉลิมรัตราชศิลปิน ณ โรงละครแห่งชาติ ๒๓-๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘)