บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



ไปร่วมงาน “เพียงเกษียณ ดร.สุดารัตน์ ชาญเลขา”

รองอธิการบดี ม. ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

สำหรับผู้รับราชการในประเทศไทยในวันที่ 30 กันยายน ถือเป็นวันเกษียณอายุราชการสำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีในปีนั้น กฎระเบียบนี้อาจจะดูไม่แฟร์นักในประเทศสหรัฐด้วยเหตุว่าคนอายุหกสิบปีมิได้หมายความว่าจะทำงานไม่ได้ ตรงกันข้ามสำหรับคนอเมริกันแล้วถือว่ายิ่งมีประสบการณ์ในการทำงานโดยเฉพาะมีความรอบคอบมีการตัดสินใจที่จะบริหารงานได้ยิ่งกว่าด้วยซ้ำ

ด้วยเหตุนี้เมื่อได้ข่าว ดร. สุดารัตน์ ชาญเลขา หรือ “ครูเอี๊ยด” ผู้ที่ชาวซานฟราน เบิรกเล่ย์และเบย์แอเรีย รู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่งนั้นจะเกษียณราชการในปีนี้ก็ให้แสนเสียดายอายุราชการของอาจารย์ยิ่งนักรวมทั้งไม่ได้คาดคิดแม้แต่น้อยว่าอาจารย์จะอายุถึงหกสิบแล้ว อดรำพึงกับตัวเองไม่ได้ว่าจะเป็นไปได้อย่างไร อาจารย์ยังคล่องแคล่ว ยังสดใสสดสวย อยู่เลย สิ่งที่มาพร้อมๆ กับความแปลกใจก็คือความเสียดาย เสียดายความรู้ความสามารถและความคิดที่สร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลาของอาจารย์

ดังนั้นเมื่อคณะครูอาสาสอนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทย ของมหาวิทยาลัยบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่กรุงเทพฯ ทุกรุ่นของพร้อมใจกันจัดงานมุทิตาจิตให้ครูเอี๊ยดที่สำนักศิลปะและวัฒนธรรมเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา ผู้เขียนจึงมิรั้งรอที่จะไปร่วมงาน และดีใจที่ได้ไปร่วมงานเพราะนอกจากจะได้พบกับคณะครูอาสาที่มาประจำการอยู่วัดมงคลฯ เบิร์กเล่ย์ รุ่นก่อนๆ แล้ว ยังได้พบคณาจารย์ที่คุ้นเคยหลายท่านรวมทั้ง ดร.เพลินใจ กุนทีกาญจน์ ผู้ที่ตอนนี้ไปทำหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษสอนอยู่ที่ ม.บ้านสมเด็จฯ ที่ประเทศไทยด้วยบรรยากาศในค่ำคืนนั้นเต็มไปด้วยความอบอุ่น มีทั้งการแสดงนาฏศิลป์ และดนตรี ทั้งลูกไทยและลูกทุ่งพร้อมหางเครื่องจากบรรดาศิษย์ รวมทั้งอาหารแบบโต๊ะจีนก็เอร็ดอร่อยมาก

รายการที่น่าสนใจมากๆ ก็คือรายการเสวนากับครูเอี๊ยดโดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ ดร.เพลินใจ กุนทีกาญจน์ ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมไทยวัดมงคลรัตนาราม เบิร์กเล่ย์ และ ผศ. พิษณุ บางเขียว ผอ.สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ม.บ้านสมเด็จฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยได้คุยให้เราได้ฟังถึงการเกิดขึ้นของโครงการสอนภาษาและวัฒนธรรมไทยในอเมริกา ณ วัดมงคลรัตนาราม เมืองเบิร์กเล่ย์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ว่ามีที่มาและที่ไปอย่างไร ทำให้ได้ทราบว่ากว่าโครงการจะประสบความสำเร็จมาเป็นเวลาเกือบยี่สิบกว่าปีนี้ คณะผู้ริเริ่มได้ประสบพบกับความยากลำบากเพียงไรในการที่จะนำครูอาสามาจากมหาวิทยาลัยบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เอ้า...เรื่องเป็นอย่างไรอ่านกันประดับความรู้เพื่อความซาบซึ้งกันหน่อยค่ะ

คุณเพลินเล่าว่า สืบจากทางโรงเรียนวันอาทิตย์วัดมงคลฯ มีผู้ปกครองพานักเรียนมาเรียนมากมายไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยหรือนาฏศิลป์ดนตรีจนครูอาสาจากท้องถิ่นมีไม่พอรองรับ จึงได้เริ่มประสานงานกับครูเอี๊ยดซึ่งเคยเป็นครูอาสาไปสอนภาษาไทย และดนตรีไทยที่วัดมงคลฯ เบิร์กเล่ย์ มาก่อน คุณเพลินได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อเสนอโครงการต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดยมีครูเอี๊ยดเป็นที่ปรึกษาถึงความเป็นไปได้ที่จะนำโครงการครูอาสาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ไปทำการสอนภาษาไทยและศิลปวัฒนธรรมไทยที่วัดมงคลฯ เบิร์กเล่ย์

สองคนสองแรงใหญ่ร่วมกันร่างโครงการเรียนการสอน ทั้งสองท่านเล่าว่าเรียกว่าปรึกษาทำงานกันทั้งวันทั้งคืนจนเรียบร้อยเสนอโครงการให้กับมหาวิทยาลัยจนผ่านการอนุมัติ ขั้นตอนสุดโหดที่สุดก็คือการเข้าไปกระทรวงศึกษาธิการเพื่อขอให้เซ็นอนุมัติซึ่งต้องผ่านขั้นตอนที่ยุ่งยากมาก และไม่ได้รับความร่วมมือเท่าไรเพราะยังเป็นโครงการที่ใหม่สำหรับกระทรวงฯ อยู่มาก ครูเอี๊ยดและครูเพลินเล่าว่าวันนั้นยกมือไหว้ทุกคนที่ผ่านหน้าไม่เว้นแม่บ้านประจำกระทรวง

และด้วยความวิริยะอุตสาหะ ความมุ่งมั่น ในที่สุดโครงการก็แจ้งเกิดได้เมื่อปี พ.ศ. 2537 และต่อมาได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดียิ่งจากอธิการบดี ดร.สุพล วุฒิเสน ตลอดเวลาเกือบยี่สิบปีมาแล้ว ความที่ครูทั้งสองทำงานร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกันมานานนับยี่สิบกว่าปี ครูเอี๊ยดและครูเพลินจึงมีความรักให้กันเสมือนญาติสนิทชิดเชื้อ ซึ่งผู้เขียนเชื่อแน่ว่าจะแนบแน่นเช่นนี้ตลอดไป เชื่อได้ว่าครูเอี๊ยดก็คงจะอยู่ดูแลเป็นที่ปรึกษาคู่ใจครูเพลินตลอดไปไม่ว่าครูจะเกษียณไปในวันนี้ ศูนย์วัฒนธรรมไทย เบิร์กเล่ย์ คงจะไม่มีวันยอมให้ครูเอี๊ยดเกษียณไปจากตรงนี้แน่นอน เพราะว่าครูเอี๊ยดไม่เพียงแต่จะเป็นผู้บุกเบิกโครงการแต่ครูยังให้ความรักและเอาใจใส่ครูทุกรุ่น เป็นทั้งพี่เลี้ยง เป็นที่ปรึกษา ขณะที่เมื่อมีปัญหาใดๆ ที่คณะกรรมการศูนย์ฯ ประสบเกี่ยวกับครูอาสาไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ ทุกเรื่องครูเอี๊ยดจะได้สดับรับฟังและเข้ามาประสานเพื่อแก้ไขปัญหาทุกครั้ง

มิใช่เพียงแต่โครงการสอนภาษาและวัฒนธรรมไทยเท่านั้นที่อาจารย์มีส่วนช่วยบุกเบิก แต่อาจารย์ยังมีส่วนผลักดันโครงการ จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาแก่ประชาชนชาวไทยในต่างประเทศ ของ ม. ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่มีการเรียนการสอน ณ วัดมงคลรัตนาราม เบิร์กเล่ย์ และวัดป่าธรรมชาติ เมืองลาพวนเต้ แคลิฟอร์เนีย จนมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีไปแล้วสิบกว่าคน และปัจจุบันมีนักเรียนที่กำลังศึกษาระดับปริญญาโทที่เกือบจะเรียนจบการศึกษาในปีนี้ คุณเพลินกล่าวในช่วงหนึ่งของเสวนาบนเวทีว่า

“บอกคุณครูอาสาทุกรุ่นว่ากลับเมืองไทยอย่าลืมนำของไปฝากครูเอี๊ยดด้วย เพราะไม่มีครูเอี๊ยดก็คงไม่มีโครงการนี้” ครูเอี๊ยดตอบว่า

“ไม่ต้องการสิ่งของใดๆ จากครูอาสา การประพฤติตนที่ดีเป็นครูที่ดี เป็นของขวัญเดียวที่ครูอยากได้”

ซาบซึ้งใจจริงๆ ค่ะ ผู้เขียนอยากให้โครงการหลายๆ โครงการที่เป็นอยู่ขณะนี้ในอเมริกา มีผู้ดูแลที่เอาใจใส่เช่น ดร.เพลินใจ และ ดร.สุดารัตน์ ตั้งแต่ก้าวแรกที่คณะครูเหยียบเท้าสู่สหรัฐอเมริกา จนกลับไปถึงประเทศไทย

จริงๆ แล้วหากจะเขียนถึงครูเอี๊ยดหน้ากระดาษแค่นี้หาเพียงพอไม่ ด้วยเนื้อที่จำกัดและด้วยคำที่จั่วหัวงานเกษียณว่า “เพียงเกษียณ” แสดงว่าเรายังไม่ยอมให้ท่านเลิกทำงาน ทราบมาว่าจริงๆ แล้วท่านยังทำหน้าที่อาจารย์พิเศษอยู่นะคะ อยู่ที่ใดอย่างไรเมื่อมีโอกาส ผู้เขียนจะมาเขียนถึงท่านอีกนะคะ


ประวัติและผลงานของ ดร. สุดารัตน์ ชาญเลขา

ชื่อ – สกุล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุดารัตน์ ชาญเลขา
ตำแหน่งหน้าที่ในปัจจุบัน รองอธิการบดี

1. ตำแหน่งทางบริหาร คือ รองอธิการบดี

2. ตำแหน่งทางวิชาการ คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์

3. ประสบการณ์ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา 34 ปี


ข้อมูลด้านวิชาการ

วุฒิการศึกษา ปริญญาตรี คุณวุฒิการศึกษาบัณฑิต (กศบ. เกียรตินิยมอันดับ 2) เอกดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สำเร็จการศึกษา พ.ศ. 2520 ปริญญาโท คุณวุฒิ ครุศาสตรมหาบัณฑิต วิชาเอกอุดมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำเร็จการศึกษา พ.ศ. 2534 ปริญญาเอก คุณวุฒิครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (คด.) วิชาเอกอุดมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำเร็จการศึกษา พ.ศ. 2545

เกียรติประวัติ ผลงานที่ภาคภูมิใจ การเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม

เป็นผู้ริเริ่มสร้างวงดนตรีไทยในเบย์แอเรีย สหรัฐอเมริกา จนเกิดการพัฒนาโครงการจัดการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ เป็นเวลา 20 ปีมาแล้ว

ได้รับรางวัลนักบริหารดีเด่นแห่งปี ประจำปี 2555 สาขาทำคุณประโยชน์ต่อประเทศด้านการศึกษา รับโล่เกียรติยศ ของ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายกรับรางวัล เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 ได้รับเชิญเข้ารับประทานรางวัลธรรมภิบาล “สิงห์ทอง” รางวัลนักบริหารนักพัฒนาองค์กร ในวันที่ 3 ตุลาคม 2555 ณ กรมประชาสัมพันธ์


ฉบับนี้ชมภาพจากงาน เพียงเกษียณมุทิตาจิต โดยสำนักศิลป์ฯ และชมรมครูอาสาฯ ในต่างแดน มบส.

พบกันใหม่ฉบับหน้าค่ะ