บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภัณฑ์



โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการความรู้เบื้องต้นดนตรีไทย ตอนที่ ๒

สองครูดนตรีผู้มาเยือน

ฉบับที่แล้ว ได้เขียนบันทึกถึงที่มาและที่ไปของโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการความรู้เบื้องต้นดนตรีไทย ที่สภาวัฒนธรรมไทยในสหรัฐอเมริกา แห่งเมืองฟรีมอนต์ ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ส่งครูชำนาญการดนตรีไทย จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ มาอบรมให้นักเรียนวัดพุทธานุสรณ์ และผู้สนใจทั่วไป โดยเริ่มการอบรมช่วงฤดูร้อน ระหว่างวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๕๙ ไปจนถึง ๒๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ ซึ่งได้เริ่มต้นและสิ้นสุดไปแล้วด้วยความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายทุกประการ ในการอบรมเทคนิคการเล่นเครื่องดนตรีไทยที่ผู้เข้าอบรมฝึกฝนอยู่ การดูแลและซ่อมบำรุงเครื่องดนตรีที่ผู้อบรมใช้ รวมทั้งได้ต่อเพลงใหม่ให้ผู้เข้าอบรมได้แสดงด้วย


ความพิเศษที่ไม่ธรรมดาของคุณครูทั้งสอง

ผู้ที่เป็นวิทยากรมาอบรมนั้น เป็นครูชำนาญการประจำอยู่วิทยาลัยนาฏศิลป์ ที่ทางวิทยาลัยนาฏศิลป์ได้ส่งมาให้สองท่าน คือ อาจารย์ ทรงยศ แก้วดี หัวหน้าภาควิชาดุริยางค์ไทย รับหน้าที่อบรมผู้สนใจปี่พาทย์ และโปงลาง อาจารย์ ชัยรัตน์ วีระชัย ครูชำนาญการ รับหน้าที่อบรมผู้สนใจเครื่องสายไทย ซึ่งอาจารย์ทั้งสองท่านได้ทำหน้าที่อย่างดีเลิศ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่การอบรมมีระยะเวลาอันสั้น และจำกัด แต่ท่านทั้งสองก็สามารถจัดให้ผู้เข้าอบรมได้แสดงเพลงถึงสองเพลงในงานวันแม่ ณ วัดพุทธานุสรณ์ จนเป็นที่ชื่นชมกับผู้ได้ชม และผู้ปกครองของนักเรียนตัวน้อยๆ ที่เข้าร่วมอบรมเป็นอย่างยิ่ง

มารู้จักครูทั้งสองท่านกันตามประวัติดังนี้นะคะ


อาจารย์ ทรงยศ แก้วดี หรือ ครูแมว”

ครูแมว เป็นหัวหน้าภาควิชาดุริยางค์ไทย ของวิทยาลัยนาฏศิลป์ สอนวิชาปี่พาทย์ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์มา ๒๗ ปี สอนตั้งแต่นักเรียนอายุสิบขวบ ไปจนถึงระดับปริญญาตรี สอนพิเศษปฏิบัติศิลป์เอก สอนโครงการยุวศิลปินในรัชกาลที่ ๒ ที่อัมพวา สมุทรสงคราม สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ เป็นองค์ประธานมูลนิธิ สอนโครงการอบรมนาฏศิลป์-ดนตรี ภาคฤดูร้อน ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม วิชาที่พิเศษจากประสบการณ์ อาทิ กลองยาว อังกะลุง และขับร้อง (โดยเฉพาะขับร้องนี้ พวกเราที่นี่ได้ยินและได้ฟังครูแมวร้องแบบไม่วางไมโครโฟนมาแล้ว..หลายคนแทบอยากขอเป็นลูกศิษย์ เลยล่ะค่ะ) ส่วนประสบการณ์ต่างประเทศที่ได้เดินทางไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมนั้น มีหลายครั้งหลายสถานที่ อาทิ จีน ฮ่องกง เกาหลี ลาว ญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศส เป็นต้น


อาจารย์ ชัยรัตน์ วีระชัย หรือ “ครูตึ๋ง”

ครูตึ๋ง เป็นครูชำนาญการกลุ่มสาระวิชาเครื่องสายไทย ภาควิชาดุริยางค์ไทย จำนวนปีที่สอน ๑๘ ปี สอนนักเรียนชั้นมัธยม ๑-๖ วิชาที่สามารถสอนร่วมจากที่สอนปัจจุบัน คือวิชาทฤษฏี วิชาพื้นฐานวิชาชีพ วิชาสังคีตนิยม (ไทย) และวิชาเครื่องดนตรีไทย เป็นครูพิเศษโรงเรียนพาทยกุลการดนตรีและนาฏศิลป์ ซึ่งสอนเยาวชนตั้งแต่อายุ ๔ ปีขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่

เป็นครูสอนโครงการยุวศิลปินในรัชกาลที่ ๒ ที่อัมพวา สมุทรสงคราม สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ เป็นองค์ประธานมูลนิธิ สามารถบรรเลงและสอนเครื่องดนตรี วงเครื่องสายไทยและวงพื้นเมืองได้ทุกเครื่องมือ ส่วนประสบการณ์ต่างประเทศที่ได้ เดินทางไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมนั้ น อาทิ ญี่ปุ่น จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ลาว และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

อ่านประสบการณ์การสอนของทั้งสองท่านแล้ว ก็คงไม่มีใครสงสัยว่าทำไมการอบรมในช่วงระยะเวลาสั้นๆ จึงสำเร็จไปอย่างดียิ่ง แม้ว่าจะยังไม่ลงตัวนักกับการจัดเวลาอบรมและจำนวนนักเรียนที่มีทั้งหมด ๓๕ คน ซึ่งในจำนวนนี้มีทั้งนักเรียนตัวน้อยๆ และผู้ใหญ่ ซึ่งผู้ใหญ่ต้องสอนหลังเวลาทำงานแล้ว ส่วนนักเรียนก็ต้องบ่ายไปแล้ว หลังวิชาภาษาไทยในภาคฤดูร้อน ซึ่งมีคณะครูอาสาจากโครงการของครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอนอยู่ และที่ท้าทายยิ่งก็คือ นักเรียนในแต่ละชั้นเรียนเครื่องดนตรีต่างกัน สอนคละกัน

ทว่าปัญหาเหล่านี้ครูๆ สามารถปรับสอนได้ในอาทิตย์แรก ..สมกับคำว่า “ครูชำนาญการ” เป็นอย่างยิ่ง และปัญหาเหล่านี้คณะผู้จัดก็ขอน้อมรับไว้แก้ไขหากว่าจะมีโครงการต่อเนื่องกันอีกในโอกาสหน้า ....


ความประทับใจจากคุณครูทั้งสองต่อโครงการและนักเรียน


ครูแมว ทรงยศ

“เด็กๆ ที่นี่มีความจำที่ไว และเป็นเลิศ ต่อเพลงให้ท่อนใดก็จำได้ และให้ความสนใจกับบทเรียน เด็กบางคนเพิ่งจับไม้ระนาดเป็นครั้งแรกก็ทำได้ ตีได้ถูกคู่ ดังนั้้นจึงไม่ลังเลเลยที่จะนำพวกเขาออกแสดงภายในเวลาสองอาทิตย์ที่ฝึก


ครูตึ๋ง ชัยรัตน์

“นักเรียนที่มาเรียนแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มเด็กและกลุ่มผู้ใหญ่ กลุ่มเด็กจะมีลักษณะที่มั่นใจในตนเอง แต่สามารถปฏิบัติตามคำสอนได้อย่างดียิ่ง และมีความพยายามมาก สามารถปฏิบัติการบรรเลงลูกที่มีทักษะสูงๆ เช่น การตีลูกขยี้ได้ด้วยความพยายาม ซึ่งน่าชื่นชมมากและดีใจว่าเด็กไทยที่เติบโตในอเมริกา มีความสามารถในการบรรเลงและตั้ง ใจมาก ไม่ต่างจากเด็กนักเรียนสายอาชีพดนตรีในประเทศไทยเลย

ส่วนกลุ่มผู้ใหญ่จะมีความน่ารัก มีความพยายามมากกว่าเด็กๆ ต้องแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือมือโปรฯ ต่อเพลงและบรรเลงได้ทันทีด้วยความตั้งใจ กลุ่มสองตั้งใจกว่าเพราะด้วยอาชีพและวัยแล้วไม่มีเวลาที่จะซ้อมแต่พยายามตั้งใจบรรเลงให้ได้อย่างที่ครูสอน น่าชื่นใจมากๆ กล่าวได้เต็มปากว่า พรสวรรค์ก็สู้แรงพรแสวงและความพยายามของพวกผู้ ใหญ่กลุ่มนี้ไม่ได้เลย มาเรียนเพราะใจรักแม้ว่าจะต้องใช้ความพยายามมากกว่เด็กๆ เป็ นอย่างมาก


และแน่นอนว่าสิ่งที่คุณครูทั้งสองประทับใจที่สุดนั้นก็คือการได้รับการต้อนรับอบอุ่นจากทุกคนที่นี่ ทำให้รู้สึกเสมือนเป็นหนึ่งในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นที่วัดพุทธานุสรณ์ หรือชุมชนไทยในเบย์แอเรียก็ให้การต้อนรับคณะครูดียิ่ง จึงฝากขอบคุณทุกท่านมา ณ ที่นี้ด้วย


ความประทับใจจากคณะผู้จัดและนักเรียนต่อครูทั้งสองท่าน

นอกเหนือไปจากคำขอบคุณในการเสียสละเวลามาของอาจารย์ทั้งสองแล้ว ความประทับใจยังมีอีกหลายประการ อาทิ การวางตัวที่ติดดิน กินอยู่เรียบง่าย เป็นกันเองกับนักเรียนและพวกเรา สำหรับครูแมวนั้น ตอนแรกพวกเราก็ออกจะเกร็งๆ อยู่ไม่น้อยที่จะต้องเรียนและทำงานกับระดับหัวหน้าภาคและครูชำนาญการระดับนี้ ที่ไหนได้อาจารย์มีอารมณ์สนุก สนาน ในที่สุดอาจารย์ก็เป็นที่รักของนักเรียนและผู้ปกครองทุกคน แม้จะเป็นเวลาอันจำกัน แต่พวกเราก็ได้รับวิชาความรู้กันอย่างเต็มอิ่ม เป็นหัวหน้าภาคที่รักเด็ก เต็มใจสอนแม้เด็กที่ไม่มีความรู้ดนตรีมาก่อน ตัดสินใจรวดเร็วที่จะปรับการเรียนการสอนทันท่วงทีเมื่อเห็นฝีมือเด็ก (เป็น “แมวมอง” สมชือเล่น) ความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของครูแมวให้กับโครงการนี้ที่ขอบันทึกไว้ คือการที่ครูเสียสละ เดินทางมาสอนช่วงที่จะต้องเข้ารับพระราชทานปริญญาโท เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จึงมิได้อยู่เข้ารับพระราชทานปริญญากับบัณฑิตอื่น

ส่วนครูตึ๋งนั้น มีนักเรียนที่เป็นส.ว.มาเรียนมากกว่าเด็กเล็กๆ ด้วยมารยาทและความใจดีทำให้ครูตึ๋งมีแม่ยกที่พากันน้ำตาซึมเมื่อครูต้องเดินทางกลับไปทีเดียว เรื่องที่น่าเห็นใจสำหรับครูตึ๋งนั้นอยู่ที่ครูน่าจะหัวหมุนกว่าเพื่อน เพราะว่าต้องหมุนตัวรอบห้องเรียนเนื่องจากนักเรียนเครื่องสายนั้นทุกคลาสเครื่องดนตรี แตกต่างกันหมด ดังนั้นการที่เราเห็นครูหมุนยาดมมาดมตลอด โปรดเข้าใจ ฮา ฮา..

ท้ายสุดก็ขอจบลงด้วยคำว่า “ดีใจ” ที่ได้มีการนำร่องโครงการนี้ขึ้นมา เป็นการนำความรู้จากสถาบันอันลือชื่อทางดนตรีไทย มาสู่วัดพุทธานุสรณ์และสังคมไทยในเบย์แอเรีย “ขอบคุณ” คณะกรรมการและสมาชิกสภาวัฒนธรรมไทยฯ ฟรีมอนต์ ที่ช่วยงานกันขันแข็ง กรรมการบริหารวัดพุทธานุสรณ์ และกรรมการโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดพุทธานุสรณ์ พระคุณเจ้าทุกรูปของวัดพุทธานุสรณ์ ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ใจดีทุกๆ ท่านที่ได้พาครูทั้่งสองออกทัศนศึกษา และอุปถัมภ์อาหารการกินให้คุณครูอิ่มหนำสำราญทุกมื้อ..

หากเป็นไปได้เราคงได้เห็นโครงการในรูปแบบแลกเปลี่ยนความรู้ จากประเทศไทยสู่สหรัฐอเมริกาจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม อีกนะคะ

ชมภาพกิจกรรมของทั้งสองอาจารย์ ในช่วงปฏิบัติการโครงการอบรม และงานเลี้ยงส่งคุณครูทั้งสอง ที่เราต้องกล่าวอำลา ลาที มิใช่ลาก่อน จากกันด้วยมิตรภาพที่ดี ขอบคุณทุกฝ่ายจริงๆ