บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์
เบญจรงคสันนิบาต

สวัสดีครับแฟนานุแฟนที่รัก บันทึกจากเบย์แอเรียฉบับนี้ ผมได้รับเกียรติจากพี่แมว “เพ็ญวิภา” ให้เป็นผู้บันทึกแทน เนื่องในโอกาสพิเศษและเทศกาลบุญสำคัญ ยังจะไม่บอกว่าสำคัญอย่างไร หลวมเนื้อหลวมตัวอ่านกันแล้วก็จะแจ่มแจ้งชัดเจน สาระในเนื้อหา หรรษาในอารมณ์ ตามสไตล์ของผู้เขียน

ปะหน้าเจ้าเพื่อนรักเพื่อนใคร่คนหนึ่ง เจ้าหมอนี่พูดจาดีมีหลักการและธรรมะธรรโมเป็นหนึ่ง มันถามผมว่า “เอ็งรู้ไหมว่าวันศุกร์นี้มีเหตุการณ์สำคัญอย่างไร” ผมตอบว่า “ถามอะไรโง่ๆ ใครๆ เขาปิดกันให้แซด” ผมตอบแบบเล่นลิ้นปลิ้นสำนวนกวนโอ๊ย “อย่ามัวเล่นลิ้น เอ็งตอบมาให้เข้าเรื่องหน่อย” “วาเลนไทน์เดย์ แจ่มไหมเพื่อน” ผมตอบอย่างมั่นใจ “แจ่มแล้ว แต่ยังไม่แจ้งและตรงประเด็นเว้ย” แล้วมันก็เฉลยต่อ “วันศุกร์ที่ 14 กุมภาฯ ปีนี้เป็นปีพิเศษ มีเหตุการณ์สำคัญมาบรรจบกัน เรียกว่า..เบญจรงค์สันนิบาต” “เฮ้ย ..หยุดๆ นี่เอ็งจะพูดถึงวัน..มาฆบูชา ใช่ไหม ? ข้าเคยได้ยินแต่ว่า..จาตุรคงสันนิบาต เอ็งนี่ถ้าจะเพี้ยนไปแล้ว เอามาจากไหนวะ เบญจรงคสันนิบาต” “ไม่เพี้ยน ข้ายังมีสติสะตังดี เอ็งยังไม่แจ่ม ฉะนั้นอย่าแจม ฟังให้จบก่อน” แล้วเจ้าเพื่อนผู้แก่หลักการก็สาธยายว่า..

“ที่เอ็งตอบว่า..วันมาฆบูชา จาตุรงคสันนิบาต นั้นถูกต้องแล้ว แสดงว่าเอ็งยังจำวิชาพุทธประวัติที่เคยเล่าเรียนมาได้ แต่ปีนี้มีเหตุการณ์พิเศษ พิเศษอย่างไร วันมาฆบูชา มีเหตุการณ์อัศจรรย์เวียนมาบรรจบกัน ๔ อย่างคือ.. ๑.วันพระจันทร์เต็มดวงในเดือนมาฆะคือเดือนสาม ๒. มีพระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูปมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ๓. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูปล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖ ๔. พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา นี้เรียกว่าจาตุรงคสันนิบาต คือการประชุมพร้อมกันด้วยองค์สี่ แต่ปีนี้บวกเอา..วันวาเลนไทน์ เข้ามาอีกหนึ่งวัน จึงเรียกว่า..เบญจรงคสันนิบาต” “ไม่ถูกไม่ควรอย่างยิ่ง เอ็งเอาสิ่งสำคัญทางพระพุทธศาสนาไปรวมกับวันวาเลนไทน์ได้อย่างไร” ผมค้านหัวชนกำแพง “ได้สิ.. วันมาฆบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงโอวาทปาติโมกข์ คือ การละชั่ว ทำความดี และทำใจให้สะอาดบริสุทธ์ และ Saint Valentine เทพเจ้าแห่งความรัก ไม่ใช่ความบ้าๆ บอๆ เข้าหอล่อกามา แต่เป็นความรักที่ยิ่งใหญ่ เป็นความรักที่ไม่มีพรมแดน ไม่เห็นแก่ตัว ท่านสอนให้คนรักกัน กล้าทำในสิ่งที่ดีงามจนตัวตาย ความรักถ้าไม่เจือปนด้วยกิเลสตัญหา ก็เป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นธรรมะ ฉะนั้น ข้าจึงเอา จาตุรงคสันนิบาต มารวมกับ วันวาเลนไทน์ เพราะเวียนมาตรงกันในวันที่ ๑๔ กุมภาฯ พอดิบพอดี นานปีจะมีจะมีสักครั้ง จึงขอเรียกว่า เบญจรงคสันนิบาต ให้ประเทืองปัญญาหน่อยเพื่อนเอ๋ย แจ่มหรือยัง ?” “สาธุๆ อนุโมทามิ” ผมได้ดวงตาเห็นธรรม เห็นด้วยกับมัน

การกำเนิดวันมาฆบูชา หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ๙ เดือน ประทับอยู่ที่ป่าเวฬุวัน (ป่าไผ่) แขวงเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ต่อมาได้สร้างเป็น วัดเวฬุวนาราม ได้มีเหตุการณ์สำคัญดังกล่าวคือ

๑. วันพระจันทร์เต็มดวงในเดือนมาฆะคือเดือนสาม

๒. มีพระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูปมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย

๓. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูปล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖

๔. พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากระพุทธเจ้า เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา

หากท่านได้ศึกษาพุทธประวัติมาบ้างก็จะทราบดีว่า เรื่องที่เราคิดว่าเป็นเรื่องอัศจรรย์นั้น ก็เป็นเรื่องราวธรรมดาๆ นี่เอง เกิดขึ้นได้มิใช่เป็นเรื่องเหลือเชื่อ ศึกษาพุทธประวัติแล้วมาทำการวิเคราะห์ดูก็จะเห็นจริง วันเพ็ญเดือนสาม มาฆฤกษ์ตามคติพราหมณ์จะทำการบูชาลัทธิของตนในวันที่ฤกษ์งามยามดีอย่างนี้ และพระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูปนี้ แยกเป็นพระโมคคัลลานะและสัทธิวิหาริกจำนวน ๒๕๐ รูป และเป็นฤาษีนักบวชชฎิลสามพี่น้อง นามว่า อุรุเวลากัสสปะ นทีกัสสปะ คยากัสสปะ และบริวารที่เคยบูชาไฟ ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าแล้วละทิ้งลัทธิเดิมของตนเพราะเห็นว่าไม่มีแก่นสาร และขอบวชในพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ทั้ง ๑,๒๕๐ รูป เคยเป็นฤาษี บูชาไฟ บูชาเทพเจ้า ในวันพระจันทร์เต็มดวง เมื่อถึงวันนี้แทนที่จะบูชาตามลัทธิเดิมของตน แต่มารำลึกถึงพระพุทธองค์ผู้ให้ดวงตาเห็นธรรม และทราบว่าพระองค์ประทับปลีกวิเวกอยูที่ป่าเวฬุวัน จึงพร้อมใจกันกันเดินทางมาโดยมิได้นัดหมาย และพระสงฆ์ทั้งหมดนั้นล้วนแต่บรรลุเป็นพระอรหันต์ ได้อภิญญา ๖ อยากจะกล่าวถึงอภิญญา ๖ แต่เนื้อที่จำกัด ผู้ใคร่ใฝ่รู้ โปรดค้นคว้าศึกษาได้ใน google, Wikipedia

และพระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูปนั้นได้รับการบวชจากพระพุทธเจ้าโดยตรงเรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา คือเป็นผู้ดับกิเลสได้โดยสิ้นเชิง รู้ว่าชาติภพสิ้นแล้ว การเวียนตายเกิดในวัฏสสงสารไม่มีแล้ว พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ธรรมอันเราตรัสดีแล้ว จงเป็นภิกษุมาเถิด” เท่านั้นแหละครับ ภาวะแห่งความเป็นพระภิกษุก็บังเกิดขึ้นทันที ไม่ต้องมีพิธีรีตอง เพราะทุกท่านได้ดวงตาเห็น และจากนั้นก็ไม่มีการบวชแบบ เอหิภิกขุ อีกเลย ทรงยกเลิกและให้สงฆ์เป็นใหญ่ในการให้การอุปสมบทกุลบุตรสืบมา

ท่านตรองดูแล้วคิดกันอย่างไร ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้อย่างธรรมดาๆ ไม่ใช่เรื่องตู่ขึ้นมาอย่างเหลือเชื่อ และเมื่อมีพระอรหันต์ขีณาสพมาพร้อมกันอย่างนี้ พระองค์จึงได้ทรงประทานโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นหลักธรรมคำสอนเป็นหัวใจพุทธศาสนา เพื่อเป็นคู่มือให้พระสงฆ์เหล่าออกไปประกาศสัจจธรรมต่อชาวโลกผู้มืดบอด ประดุจบัวสี่เหล่า ผมคงต้องอ้างคัมภีร์เพื่อเหตุผลที่หนักแน่น

โอวาทปาฏิโมกข์ สรุปได้เป็นสามส่วน คือ หลักการ ๓ อุดมการณ์ ๔ และวิธีการ ๖

หลักการ ๓ อันเป็นหัวใจสำคัญเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาโดยย่อ ได้แก่

๑. การไม่ทำบาปทั้งปวง (สัพพปาปัสส อกรณัง)

๒. การทำกุศลให้ถึงพร้อม (กุสลสูปสัมปทา)

๓. การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ (สจิตตปริโยทปณัง)

ทั้งสามข้อนี้อาจอนุมานเข้ากับ ศีล สมาธิ และปัญญา

อุดมการณ์ ๔ ของพระพุทธศาสนา อันมีลักษณะที่แตกต่างจากศาสนาอื่น ได้แก่

๑. ความอดทนอดกลั้น เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ

๒. การมุ่งให้ถึงพระนิพพานเป็นเป้าหมายหลักของผู้ออกบวช มิใช่สิ่งอื่นนอกจากพระนิพพาน

๓. พระภิกษุและบรรพชิตไม่พึงทำผู้อื่นให้ลำบากด้วยการทำความทุกข์กายหรือทุกข์ทางใจไม่ว่าจะในกรณี ใดๆ

๔. พระภิกษุตลอดจนบรรพชิตต้องขอแก่ทายกด้วยอาการที่ไม่เบียดเบียน ( คือการไม่เอ่ยปากเซ้าซี้ขอ และไม่ใช้ปัจจัยสี่อย่างฟุ่มเฟือย)

วิธีการ ๖ ที่ธรรมทูตผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาถือเป็นกลยุทธ์ เพื่อเป็นไปในแนวทางเดียวกันและถูกต้องเป็นธรรม ได้แก่

๑. การไม่กล่าวร้าย

๒. การไม่ทำร้าย

๓. ความสำรวมในปาติโมกข์ (รักษาความประพฤติให้น่าเลื่อมใส)

๔. ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร (เสพปัจจัยสี่อย่างรู้ประมาณพอเพียง)

๕. ที่นั่งนอนอันสงัด (สันโดษไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ)

๖. ความเพียรในอธิจิต (พัฒนาจิตใจเสมอมิใช่ว่าเอาแต่สอน แต่ตนเองไม่กระทำตามที่สอน)

วันนี้จึงเป็น วันแห่งความรักของพระพุทธศาสนา โดยถือว่าเหตุการณ์สำคัญที่เหล่าพระสาวกทั้ง ๑,๒๕๐ รูป ได้กลับมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยความรักในพระพุทธองค์หลังจากได้ออกไปเผยแพร่พระศาสนาโดยมิได้นัดหมายดังกล่าว เป็นสิ่งที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวทีอันบริสุทธิ์ จึงสมควรที่เหล่าพุทธบริษัทจะแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีโดยการน้อมนำ หลักการ ๓ อุดมการณ์ ๔ วิธีการ ๖ มาปฏิบัติใช้ต่อชีวิตตนเองเป็นประจำทุกวัน เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาและพระเมตตาคุณอันหาที่สุดมิได้แห่งองค์สมเด็จพระ ผู้มีพระภาคเจ้า

หากพิจารณาให้ถ่องแท้จะเห็นว่า หลักการ ๓ อุดมการณ์ ๔ และวิธีการ ๖ นั้น สามารถนำมาใช้ได้กับคนทุกเพศทุกวัย ทุกสาขาอาชีพอย่างงดงามบริบูรณ์

นี้คือสาระสำคัญในวันมาฆบูชา อย่าลืมนะครับ ละชั่ว ทำความดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ทำไม่ได้ตลอดไป ทำได้สักวันหนึ่งยังดีนะครับ เช้าไปวัดทำบุญตักบาตร บ่ายฟังเทศน์ฟังธรรม ค่ำๆ ไปเวียนเทียนและปีนี้เป็นปีพิเศษที่ผมเล่นสำนวน “เบญจรงคสันนิบาต” เพราะรวมเอาวาเลนไทน์เข้ามาด้วย ท่านผู้รู้อย่าถือสาว่าผมนอกบาลีนะครับ สิ่งใดที่ดีมีประโยชน์ ไม่ขัดต่อคำสอนของพระพุทธศาสนา เราเอามาประยุกต์ทำให้เกิดความสำคัญ เพิ่มเติมความรักในหมู่ชนด้วยกัน ความรักจะทำให้สังคมน่าอยู่ ขอพระบารมีธรรมของพระพุทธองค์จงบันดาลให้คนไทยที่ทะเลาะขัดแย้งกัน ให้มีความรักความเมตตาต่อกัน เพื่อความสุขและสันติภาพอันยั่งยืน

เมื่อวันสำคัญทางพุทธศาสนา และวันสำคัญที่ชาวโลกนิยม ได้เวียนมาบรรจบครบเป็นวันเดียวกันอย่างนี้ หายากนะครับ ผมอยากจะฝากเรื่องดีๆ อย่างนี้ไปที่ประเทศไทย ลุงกำนันสุเทพหยุดประท้วงสักวัน พาม็อบไปร่วมกับรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ เวียนเทียนที่วัดหรือที่พุทธมณฑล เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ขอให้แสงพระธรรม กำจัดโมหะที่มืดบอด บารมีธรรมและบุญกุศลครั้งนี้จะช่วยให้สถานการณ์บ้านเราดีขึ้นนะครับ

Happy Magapucha and Valentine’s Day สวัสดีครับ


ผู้เฒ่าหัวใจสะออน