ตอนที่ 1 ที่มาที่ไปของโปรเจ็คท์ และวันเดินทาง
ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีที่เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ไทยแอลเอได้กลับมาผงาดในโลกไซเบอร์ใหม่อย่างเต็มภาคภูมิด้วยรูปแบบที่น่าเข้าไปเยี่ยมชม ด้วยภาพสีคมชัดและมีลูกเล่นไฮเทคน่าสนใจ ทำเอางานเขียนของพวกเราดูโดดเด่นไปด้วยสมกับที่รอคอย และคอยตอบคำถามบรรดาแฟนๆ ว่าเว็บไซต์ไทยแอลเอหายไปไหน ขอบคุณ ขอบคุณกองบรรณาธิการและเว็บมาสเตอร์ที่ตั้งใจทำเว็บไซต์ออกมาสมใจรอค่ะ
สำหรับบทเขียนฉบับนี้ ขอบันทึกเล่าสู่กันฟังเรื่องราวที่ดิฉันไปร่วมกิจกรรมงานเผยแพร่นาฏศิลป์ และดนตรีไทยที่มหาวิทยาลัย Willamette ณ เมือง Salem เมืองหลวงของมลรัฐ Oregon เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา โดยงานแสดงมีไปเมื่อคืนวันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2555 และได้รับความสำเร็จอย่างดียิ่งมีนักศึกษาและคนทั่วไปในเมืองเซเล็มมาชมกันจำนวนมาก ทำให้ทั้งนักแสดงและผู้ติดตามรู้สึกภาคภูมิใจที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำหน้าที่อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยในต่างแดนครั้งนี้มากๆ
ขอเล่าย้อนไปยังเหตุและผลที่เราได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า มีที่มาที่ไปอย่างไรบ้างโดยสังเขปนะคะ เรื่องของเรื่องก็มีอยู่ว่าเมื่อปีที่แล้วช่วงฤดูร้อนและช่วงคริสต์มาส ดิฉันได้มีโอกาสได้ต้อนรับ Professor Pamela Moro จากมหาวิทยาลัย Willamette, Salem , Oregon ที่รู้จักกันเมื่อสมัยอาจารย์มาเป็นโฆษกให้กับคณะนักแสดงจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ในงาน Drum Festival เมื่อปี ค.ศ. 2007และจากนั้นดิฉันกับอาจารย์พาเมล่าก็ติดต่อกันตลอด ปีที่แล้วอาจารย์ได้ทุนวิจัยมาเขียนเรื่องดนตรีไทยในซานฟรานซิสโกและเบย์แอเรีย ดิฉันจึงได้แนะนำให้อาจารย์ไปพูดคุยกับคณะครูอาสาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ที่ศูนย์วัฒนธรรมไทยวัดมงคลรัตนารามเบิร์กเล่ย์ และวัดพุทธานุสรณ์ฟรีมอนต์ และได้ลงเรื่องสัมภาษณ์ประวัติอาจารย์ในไทยแอลเอนี้ด้วย วันหนึ่งดิฉันได้คุยกับอาจารย์ถึงความเป็นไปได้ที่จะนำดนตรีไทยไปแสดงที่มหาวิทยาลัยของอาจารย์
ประมาณเดือนธันวาคมปลายปีที่แล้ว อาจารย์ก็ส่งข่าวดีมาว่ามหาวิทยาลัยสนใจให้ไปแสดงคอนเสิร์ต โดยศูนย์ศึกษาอาเซี่ยน (The Center of Asian Studies ) ของมหาวิทยาลัย จะเป็นเจ้าภาพและออกค่าใช้จ่ายให้ไปแสดงในฤดูใบไม้ผลิช่วงเดือนมีนาคม เพียงแต่ทางมหาวิทยาลัยมีทุนจำกัด จึงขอคณะครูไปได้เพียงสี่คน และได้ตัดสินใจเชิญคณะครูจากวัดพุทธานุสรณ์สี่คนที่อาจารย์ได้สัมภาษณ์ เนื่องจากคณะครูจากศูนย์วัฒนธรรมวัดมงคลฯ รุ่นที่อาจารย์ได้สัมภาษณ์นั้นได้หมดวาระทำงานและเดินทางกลับประเทศไทยไปแล้ว เมื่อทุนจำกัดคนก็เลยโดนจำกัดไปด้วย ดิฉันและเพื่อนๆ รุ่นอาวุโสที่เรียนดนตรีไทยอยู่มาคุยกันว่าเพียงครูสี่คนไปแสดงงานใหญ่ของมหาวิทยาลัยเช่นนี้จะดูโหรงเหรงและทำให้การเผยแพร่ไม่เต็มที่เท่าที่ควร พวกเราจึงตกลงกันว่าเราจะติดตามคณะครูไปและออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางและอาหารการกินกันเอง ซึ่งก็ต้องขอบคุณเพื่อนๆ ทุกๆ คนที่มีใจเสียสละเพื่อธำรงศิลปวัฒนธรรมของชาติไว้ในครั้งนี้
ตกลงกันได้เช่นนั้น เราก็ได้วางแผนงานกันว่านอกเหนือจากแสดงดนตรีแล้วเราจะแสดงนาฏศิลป์ด้วย แม้เราจะมีคุณครูสอนนาฏศิลป์เพียงคนเดียวคือ ครูลูกตาล-ณวรรณ์ศา รักชาติ แต่เราโชคดีที่คุณครูดนตรีที่สอนเครื่องสาย ครูเอ็ม-พลังสฤษฎ์ สามารถรำละครได้ด้วย ดังนั้นครูจึงตัดสินใจจะนำโขนตอน พระรามตามกวาง ไปแสดง เป็นอันลงตัว พวกกลุ่ม ส.ว. สูงวัยที่ติดตามไปร่วมแสดงดนตรีประกอบทำให้ดูเป็นวงที่ (เกือบจะ) ครบเครื่องเรื่องดนตรีไปพอประมาณ ก็ขอถือโอกาสประกาศชื่อเพื่อนฝูงที่เสียสละเวลาและทุนทรัพย์ไปร่วมแสดงในวันนั้นด้วย ดังนี้ จินตนา กาญจนะมาระกุล ขลุ่ย กาญจนา บุญสม ซอด้วง กิ่งกาญจน์ สมิตามร เกียว กรับ สุวัฒนา วรรณรักษ์ ร้องเพลง ทิม ทรารักษ์ กลอง และ ดิฉัน ตีระนาด ส่วนครูทั้งสี่คนได้แก่ ครูกิฟ-ลอยฟ้า สัมบุณณานนท์ ครูเอ็ม-พลังสฤษ์ ครูเอ๊ะ-ฉัตรชัย พึ่งทองคำ
เราออกเดินทางกันตั้งแต่วันจันทร์ที่ 12 March โดยอาจารย์พาเมล่าบอกเราว่าอากาศช่วงนั้นจะดี มีฝนตกเล็กน้อย ขับรถไม่ต้องห่วงไม่มีหิมะที่ซาเล็มแน่นอนเพราะไม่เคยมีฤดูนี้ ที่ไหนได้ ก่อนเดินทางหนึ่งวันเราเช็คดูอากาศ ปรากฏว่ามีรายงานหิมะตก เอาละซิ ดิฉันเริ่มเป็นห่วงการเดินทาง ฝากเพื่อนที่อาสาขับรถไปให้ คือ ศุภาพร ศิรินพวงศากร ให้ช่วยกันตระเตรียมโซ่ไว้ใส่ล้อรถหากมีหิมะบนถนน
ออกจากฟรีมอนต์ผ่าน Sacramento ใช้ไฮเวย์สาย 5 ไปโอเรกอน เมื่อไปถึงเมือง Weed ชายแดนก่อนถึงโอเรกอน เราก็ได้เห็นหิมะปกคลุมข้างทางและบนยอดของภูเขาเขาเลื่องชื่อ Mt. Shasta เราหยุดรับประทานอาหารกลางวันกันที่นี่ ซึ่งมีร้านอาหารอยู่ไม่กี่แห่งเราเลือกร้านบาบีคิวที่พอจะดูดีหน่อย ลงจากรถก็วิ่งกันหน้าตั้งเพราะว่าอากาศหนาวเย็นและลมแรงมากๆ ไม่มีใครอยากจะแวะทัศนศึกษาหรือถ่ายรูปกันอีกเลยเพราะเกรงว่าจะเจอหิมะและเป็นอุปสรรคในการเดินทาง เราต้องการไปให้ถึงโอเรกอนก่อนค่ำเนื่องจากผู้ขับก็ไม่เคยขับไปรัฐนี้มาก่อน ใช้เวลาประมาณแปดชั่วโมงกว่าๆ เราก็ถึงเมืองซาเล็ม ฝนตกหนักไปตลอดทาง และเมื่อเราถึงเมืองซาเล็ม เมืองหลวงของรัฐโอเรกอน หิมะก็โปรยปรายต้อนรับเรา สองข้างทางปกคลุมด้วยน้ำแข็งขาวโพลน ดิฉันรู้สึกสดชื่นแม้จะหนาวแต่ก็รู้สึกดีมากๆ อยากเห็นธรรมชาติสีเขียวชอุ่มคลุมด้วยสีขาว สวยงาม สงบเช่นนี้บ้างในแคลิฟอร์เนีย
คิดไปถึงที่อาจารย์พาเมล่าที่บอกเล่าไปว่า ไม่มีหิมะที่เซเล็มหรอกในฤดูนี้ ทำให้ดิฉันยิ่งมั่นใจว่าโลกเรานี้เปลี่ยนแปลงจริงๆ ด้วย ที่นักวิทยาศาสตร์ออกมาพูดเรื่องโลกเราเข้าสู่สภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามฤดูกาลนั้นไม่ค่อยได้ใส่ใจเท่าไร คราวนี้เชื่อล่ะค่ะ
ฉบับนี้ชมภาพวิวข้างทางระหว่างพวกเราเดินทางจากแคลิฟอร์เนียไปถึงโอเรกอน ภาพยอดเขาของ Mt. Shasta ปกคลุมด้วยหิมะและหมอกควันที่อยู่เหนือยอดนั้นประหนึ่งมีควันไฟสีเทาพวยพุ่ง ตามตำราบอกว่าภูเขาลูกนี้เป็นภูเขาไฟมาก่อน ในหนังสือพิมพ์ภาพนี้อาจจะดูไม่ชัดและงดงามเท่าใด แต่หากได้คลิกไปอ่านในเว็บไซต์คงจะเห็นชัดเจนกว่านี้ นอกจากนี้ก็ได้ลงภาพพวกเราที่โรงแรมในเมืองเซเล็ม อาจารย์พาเมล่ามาต้อนรับ และภาพเมื่อคณะไปเยี่ยมนมัสการพระอาจารย์มนตรีที่วัดพุทธออเรกอนในเมือง Turner ในวันที่เราไปเยี่ยมนั้นฝนตกหนัก บริเวณวัดซึ่งอยู่บนเนินเขามีหิมะปกคลุมสนามหญ้าและหลังคาโบสถ์ วันนั้นลมแรงและหนาวมากๆ
ฉบับหน้าดิฉันจะมานำบันทึกเรื่องราวของวันแห่งความภูมิใจของการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในมหาวิทยาลัย คือวันพุธที่ 14 มีนาคม 55 พร้อมรูปมาให้ได้อ่านและได้ชมกันค่ะ