บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



บันทึกทางไกล ฤดูหนาว พ.ศ. ๒๕๕๗

ตอนที่ ๑ ไปชมนาฏศิลป์ชั้นสูง “โขนพระราชทาน”

เนื่องในเทศกาลคริสมาสต์และขึ้นปีใหม่ ๒๕๕๘ ขออำนวยอวยพรให้ผู้อ่านทุกท่านจงประสบสุข ประสบความสมหวัง ประสบความสำเร็จ ปราศจากทุกข์ โศก โรคภัย แวดล้อมด้วยกัลยาณมิตรและสิ่งดีๆ ตลอดปีและตลอดไปนะคะ

บันทึกจากเบย์แอเรียฉบับนี้ เป็นบันทึกการท่องเที่ยวทางไกลในช่วงฤดูหนาวของดิฉัน ท่องไกลไปถึงกรุงเทพฯ และสหภาพ “เมียนม่าร” ซึ่งดิฉันจะได้บันทึกให้อ่านโดยละเอียดภายหลังค่ะ

ในส่วนของกรุงเทพฯ นั้น ว่าไปแล้วผู้อ่านก็คงไม่ได้อยากอ่านเท่าไร เพราะว่าก็ไปกันมาแล้วดิฉันจึงขอนำเสนอในส่วนที่ผู้อ่านไม่คุ้นเคยในการไปมาหาสู่สถานที่เหล่านั้นหรือได้พบประสบเหตุการณ์ที่นานทีจะมีให้ชม โดยจะขอนำเรื่องที่ดิฉันชื่นชอบมาเล่าเป็นลำดับแรก นั่นก็คือการได้ไปชมการแสดงโขนพระราชทาน ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ชุด ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ ซึ่งดำเนินเรื่องตามบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ซึ่งแสดงไปเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ถึงวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๗

สามปีที่ผ่านมาดิฉันโชคดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสชมโขนพระราชทานทั้งสามปี เพราะว่าจะเป็นช่วงที่ได้กลับไปเยี่ยมเยียนบ้านเกิด ซึ่งทันทีที่ถึงประเทศไทย ดิฉันก็จะรีบติดต่อหาบัตรไปชมให้จงได้ หากไม่รีบจะหาบัตรชมได้ยาก เนื่องจากการแสดงทุกครั้งจะมีผู้ชมเข้าชมกันเนืองแน่น ก็ต้องขอขอบคุณ อาจารย์นันทา น้อยนิตย์ หนึ่งในคณะครูผู้ฝึกสอนจากวิทยาลัยนาฏศิลป์

เมื่้อได้บัตรมาสองใบก็ได้ชวนน้องสาวไปดูเป็นเพื่อน เราออกจากบ้านที่บางนาเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอสจากสถานีอุดมสุขไปลงที่สถานีอโศกและพากันจูงมือกันไปต่อรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่ว่าจูงมือกันไปก็เพราะน้องสาวดิฉันจนป่านนี้ก็เพิ่งจะกล้าลงรถไฟฟ้าใต้ดิน น้องบอกมีเพื่อนๆ อีกหลายคนไม่ค่อยกล้าจะลงใต้ดินกันเท่าไร สาเหตุใดก็คงไม่ยากจะเดาใช่ไหมคะ และที่เล่ามาให้ฟังถึงการเดินทางไปศูนย์วัฒนธรรมด้วยบริการรถขนส่งมวลชนก็เพื่อว่าผู้อ่านบางท่านในอเมริกาสนใจจะใช้บริการนี้ก็จะได้ทราบว่า แม้ว่าจะมีป้ายบอกของรถไฟฟ้าใต้ดินว่า เราสามารถลงที่ สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ก็จริงอยู่

แต่ในความเป็นจริงนั้น เมื่อลงสถานีแล้วยังต้องเดินอีกไกล (มาก) คือออกมาถึงถนนใหญ่ให้เลี้ยวซ้ายเดินตรงแหนวไปประมาณเกือบสิบนาที ผ่านร้านอาหารริมทาง (ขายข้าวเหนียวไก่ย่าง) ที่คงจะเป็นที่นิยมเพราะว่าที่เดินบนถนนแทบจะไม่มี ผ่านร้านนี้ไปนิดหนึ่งทางจะบังคับให้เลี้ยวขวา เลี้ยวไปสักสองร้อยเมตรก็จะเห็นป้าย “กรมส่งเสริมวัฒนธรรม” อยู่อีกฝั่ง ตอนนี้เตรียมตัว “ข้ามถนน ด้วยความระมัดระวัง” เพราะว่ารถที่ผ่านคุณมาทางซ้ายมือจะแล่นแบบไม่หยุดเพราะไม่มีป้ายให้เขาหยุด เราก็ต้องใช้ความสามารถส่วนตัวที่จะหาทางข้ามไปอีกฝั่งให้ได้ มิฉะนั้นคุณจะไปไม่ถึงศูนย์วัฒนธรรมฯ แต่มีข้อสังเกตุว่าคุณคงจะไม่ต้องข้ามคนเดียว เพราะกว่าจะมีจังหวะให้ข้ามก็จะมีคนมาสมทบจำนวนหลายคนแล้วเวลานั้น...เล่ามาเนี่ยเพราะว่าไปดูการแสดงศูนย์ฯ นี้จนจำทางไปได้ และจำต้องใช้บริการรถใต้ดินเนื่องจากคุณจะหาแท๊กซี่พาไปยากและยิ่งยากเป็นสามเท่าเวลาคุณจะหาแท๊กซี่กลับ เพราะว่าจะไม่ค่อยมีรถ “ว่าง” ผ่านมาให้เห็นง่ายๆ

เอาล่ะค่ะ ข้ามถนนมาได้ก็เดินเลียบถนนใหญ่ไปทางซ้ายมือพักหนึ่งก็จะเห็นทางเข้าซึ่งเป็นทางเข้าจอดรถและดูเหมือนจะก่อสร้างอยู่ (สามปีที่แล้วก็ดูเหมือนอย่างนี้ คือคงสร้างไปเรื่อยๆ) ทีนี้คุณก็จะเข้ามาถึงทางไปหอประชุมใหญ่

สิ่งแรกที่ได้สัมผัสเมื่อไปถึงตึกใหญ่ของศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยก็คือผู้ชมที่ยืนรอนั่งรอกันเต็ม มีทั้งนักเรียนผู้ใหญ่ ลูกเด็กเล็กแดง ซึ่งเห็นแล้วให้ดีใจที่ศิลปะโขนยังเป็นที่นิยมของคนไทยจริงๆ และได้เห็นกับตาแล้วว่าทำไมบัตรจึงขายได้เต็มทุกรอบ

นอกเรื่องอีกสักนิดก่อนจะไปเล่าถึงการแสดงว่าได้มีวิวัฒนาการบางอย่างเกิดขึ้น นั่นก็คือมีอาหารขายด้านนอกโรงละครมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ ร้านข้าวแกงเพิ่มขึ้น เมื่อก่อนดิฉันเห็นมีอยู่ร้านสองร้านข้างหอประชุม นอกจากร้านอาหารเล็กๆ เพิ่มขึ้นแล้วยังมีรถเข็นทันสมัยของเอสแอนด์พีมาจอดขายอยู่ตรงโต๊ะด้านนอกระหว่างโรงละครกับโรงแต่งตัวของคณะแสดงอีกด้วย อันนี้ก็ทำให้รู้สึกว่า เออ... ในที่สุดก็มีอาหารให้เลือกเพิ่มขึ้นเสียที ความที่เราไม่รู้สู้อุตส่าห์ซื้อแซนวิชติดไปจากสถานีรถไฟฟ้าอโศก ปีหน้าฟ้าใหม่คงไม่แบกไปอีก

เมื่อการแสดงใกล้จะเริ่ม ดิฉันและน้องก็เดินขึ้นบันไดไปยังโรงละคร และก็เป็นธรรมเนียมของผู้มาชมโขน นั้นก็คือการหาซื้อของที่ระลึกติดไม้ติดมือกลับบ้าน ดิฉันได้เสื้อเชิร์ตมีปั๊มลาย นาคบาศ เพียงอย่างเดียวปีนี้ และอีกธรรมเนียมก็คือ ถ่ายภาพกับฉากที่เขาจัดให้หน้าโรงละคร ปีนี้นอกจากฉากที่มีคำว่านาคบาศแล้ว ยังมีหุ่นปั้นพระนารายณ์ทรงสุบรรณที่วิจิตรงดงามที่ผู้มาชมโขนครั้งนี้นิยมไปบันทึกภาพกันไม่ขาดสาย ซึ่งผู้เขียนจะไม่มีวันละโอกาสอันดีเช่นนี้แน่นอนค่ะ


การแสดงโขน ชุดศึกอินทรชิต ตอนนาคบาศ

จับตอนทศกัณฐ์สั่งให้วิรุญมุข หลานปู่ออกไปขัดตาทัพแทนอินทรชิตซึ่งกำลังทำพิธีชุบศรนาคบาศอยู่ในโพรงไม้โรทันบนเขาอากาศ (อินทรชิตเดิมชื่อ รณพักตร์) เป็นโอรสของทศกัณฐ์ที่เกิดจากนางมณโฑ วิรุญมุขยกทัพมาดังสนั่นได้ยินไปถึงพลับพลาพระราม พิเภกทูลแนะนำว่าตามตำราต้องให้หมีไปเข้าไปทำลายก่อนครบ ๗ วัน พระรามจึงสั่งให้พระลักษณ์ยกทัพออกไปรบกับวิรุญมุขก่อน และให้ชามพูวรราชแปลงเป็นหมีไปทำลายพิธี อินทรชิตเดิมชื่อ รณพักตร์ เป็นโอรสของทศกัณฐ์ที่เกิดจากนางมณโฑ

(ซึ่งฉากตรงวิรุญมุขเดินทัพนั้น ดิฉันอดไม่ได้ที่จะชื่นชมฝีมือรำของผู้แสดงเป็นวิรุญมุขฉากตรวจพล ในวันนั้น (ดิฉันไปชมรอบเช้าของวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๗) แสดงออกถึงลีลาของกุมารยักษ์ที่ฮึกเหิมได้อย่างน่าดู และน่าสนุกไปด้วย จะเป็นผู้ใดแสดงก็ตามถือว่าสมกับที่ได้รับเลือกให้แสดงบทนี้มาก)

ฉากต่อมาชามพูวรราชที่แปลงร่างเป็นหมีก็ตรงไปที่โพรงไม้โรทันที่อินทรชิตกำลังทำพิธีอยู่ ร่างแปลงของชามพูวรราชก็เข้าทำลายหักไม้โรทันจนโค่นลง สามารถทำลายพิธีชุบศรนาคบาตรของอินทรชิตได้ อินทรชิตโกรธจึงออกรบทันที

(ฉากนี้ได้เห็นการใช้เทคนิคฉากที่มีพญานาคเลื้อยไปมาได้ และต้นไม้โรทันซึ่งเป็นชื่อต้นไม้ใหญ่ เป็นที่ที่พวกนาคและสัตว์มีพิษมาคายพิษลงในบ่อหน้าต้นไม้ อินทรชิตเข้าไปประกอบพิธีชุบศรในโพรงไม้)

ฉากที่สี่ เป็นฉากในสนามรบ วิรุญมุขขี่ม้าออกมารบ พอเห็นทัพของพระลักษณ์ ก็ร่ายเวทให้หายตัวไปพร้อมม้า แล้วเข้าไล่ทำร้ายพลวานร พระลักษณ์ได้ยินแต่เสียงควบม้า ไม่เห็นตัววิรุญมุข พิเภกจึงแนะนำให้แผลงศรพาลจันทร์เป็นตาข่ายเพชรไปรัดวิรุญมุขไว้ได้ หนุมานเข้าไปแกะตาข่ายออกแล้วพามาเฝ้าพระลักษณ์ พระลักษณ์สั่งให้สุครีพสอบสวนวิรุญมุข เมื่อได้ความแล้วเห็นว่าวิรุญมุขยังเด็กจึงสั่งลงโทษเพียงให้พาไปเฆี่ยน สักหน้า แล้วปล่อยตัวไป

(ฉากนี้ไฮไลท์อยู่ที่การพากย์ตัววิรุญมุขเจรจากับตัวตลกทั้งหลาย ปล่อยมุขกันสนุกสนานขำขันอย่างเต็มที่ มีทั้งมุขตลกจากเรื่องมีทั้งแขวะการเมือง ซึ่งนักแสดงตีบทฮาแตกจริงๆ ขอบอก..สุดท้าย ทำเอาวิรุญมุขซึ่งตอนแรกเข้าสนามรบด้วยอารมณ์คึกคะนอง ถึงกับกลายเป็นกุมารร้องไห้ และจบลงด้วยการกลับไปหาปู่ทศกัณฑ์ด้วยความอับอายเพราะโดนสักและเฆี่ยนตี)

เรื่องราวตอนจบจะเป็นอย่างไร โปรดติดตาม เหลืออีกฉากเดียวค่ะ ดิฉันไม่อยากรวบรัดในการเขียน เพราะจะทำให้งานเขียนของดิฉันไม่สมบูรณ์ตามต้ังใจ ซึ่งเรื่องแบบนี้นักเขียนแต่ละคนก็จะมีลีลาส่วนตัวนะคะ

ชมภาพบางภาพประกอบไปก่อนนะคะ ซึ่งเวลาแสดงเขาห้ามบันทึกภาพเด็ดขาดนะคะ เชื่อหรือไม่ว่าเจ้าหน้าที่เขาดูอยู่ หากใครยกกล้องขึ้น ชะแว้ป โน่น..มาทันที แสงจากไฟฉายของเจ้าหน้าที่ค่าาา ใครโดนฉายไฟอับอายไปหลายรายแล้ว ดังนั้นภาพประกอบที่เห็นอยู่นี้ มาจากสูจิบัตรค่ะ


พบกันใหม่โอกาสหน้า ขอให้ทุกท่านสุขสันต์ในเทศกาลคริสมาสต์นี้นะคะ