ไม่ขออารัมภบทมากมาย นำเสนอการไปเที่ยวไทยเมื่อปลายปีที่แล้วต่อจากเรื่องไปชมการแสดงละครเวทีเรื่อง “โหมโรง” เลยนะคะ วันนี้จะร่ายยาวเรื่องที่ได้ไปชมโขนที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการได้ชมอย่างจุใจยิ่ง เพราะได้ไปชมถึงสามเรื่อง ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดอารมณ์สุนทรีย์แตกต่างกัน ต่างอย่างไรอยากจะเปรียบเทียบความอิ่มเอมในการชมออกเป็น “สามรส” ดังนี้
รสที่ ๑ รสคลาสิค โขนพระราชทาน ชุดศึกอินทรชิต ตอน พรหมาศ
ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ซึ่งกว่าผู้เขียนจะได้บัตรเข้าชมการแสดงก็วิ่งฝุ่นตลบยกมือไหว้สิบทิศเพื่อหาบัตรเข้าชม ต้องขอบคุณ ครูตึ๋ง อ. ขัยรัตน์ วีระชัย จากวิทยาลัยนาฏศิลป์กรุงเทพพฯ ที่หามาให้ผู้เขียนกับน้องสาวได้เข้าชมในวันที่ ๑ ธันวาคม ซึ่งรอบประชาชนวันนั้นคนดูเต็มทุกที่นั่ง ข่าวว่าจองที่นั่งกันข้ามปีซึ่งก็นับเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจและเป็นที่ปลาบปลื้มของทุกคนที่ได้ไปชมโขนพระราชทานทุกครั้งที่พระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ที่มีพระราชประสงค์ที่จะฟื้นฟูโขน ศิลปะชั้นสูงของประเทศให้กลับคืนสู่ความนิยมของคนไทย
โขนตอนศึกพรหมาศของมูลนิธีส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระบรมราชินีนาถ นี้ได้เคยนำมาแสดงเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ในปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ซึ่งเป็นครั้งแรกของโขนพระราชทาน (ข้อมูล จาก สูจิบัตร การแสดงโขนพระราชทาน ชุดศึกอินทรชิต ตอนพรหมาศ พ.ศ. ๒๕๕๘) ซึ่งบังเอิญผู้เขียนไปประเทศไทยช่วงนั้นก็เลยได้ไปดูกับเขาด้วย และจำได้ว่านำมาเขียนลงบันทึกให้กับหนังสือพิมพ์ไทยแอลเอด้วย และจากนั้นก็ติตตามไปดูอีกทุกครั้งในทุกปีที่กลับประเทศไทยด้วยความชื่นชอบ
ความงดงามและแตกต่างของโขนพระราชทานกับโขนที่ได้เคยชมจากที่อื่นนั้น เราท่านก็ทราบกันดีว่า ส่วนใหญ่ เป็นเพราะการจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนแบบใหม่ ทั้งศิราภรณ์ และพันตราภร์ การแต่งหน้า และฉากอันวิจิตรตระการตารวมทั้งการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาประกอบการแสดง ทำให้เพิ่มความสนุกสนานตื่นตาตื่นใจกับผู้ชม
โขนตอนพรหมาศในปี ๒๕๕๘ นี้เทคนิคของฉากได้เพิ่มขึ้นในหลายๆ รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นบัลลังก์ ของมังกรกัณฐ์ หลานของทศกัณฐ์ ซึ่งประดิษฐ์ให้พนักเก้าอี้เป็นรูปมังกรทองม้วนหางพาดเป็นลายที่สวยงามยิ่ง หลานชายผู้เขียนมารำพึงรำพันให้ฟังว่า ทั้งเรื่องเขาชอบฉากนี้มากที่สุด ชอบเก้าอี้ว่านายช่างทำออกมาเลิศสุดๆ เขาอยากจะถ่ายรูปเก้าอี้นี้เก็บไว้ ติดที่ไม่สามารถจับภาพได้เพราะเขาห้ามถ่าย
มีเรื่องเล่าถึงการห้ามถ่ายภาพขณะมีการแสดงนี้ว่า เจ้าหน้าที่โรงละครเข้มงวดมาก ทันทีที่มีการยกกล้องขึ้น แสงเลเซอร์ก็จะกราดไปที่ผู้บันทึกภาพหรือวิดีโอนั้นทันที ช่างทันสมัยเสียจริงๆ แต่ไม่ต้องห่วง ผู้เขียนนำมาลงให้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์ไทยแอลเอได้เห็นกันจะจะ ไม่ได้ไปแอบบันทึกภาพมานะคะ ไปขอภาพมาจากคุณครูในวิทยาลัยนาฏศิลป์เลย ของแท้ชมกันเลยค่ะ
ที่แตกต่างของการแสดงคราวนี้กับพรหมาศครั้งแรกก็เป็นเทคนิคการใช้เครื่องกลที่ตัวช้างศึกเอราวัณในแบบที่แตกต่างจากคราวแรก ช้างเอราวัณที่ส่ายคอได้และเมื่อโดนหนุมานเหาะขึ้นไปหักคอช้างก็มีเทคนิคที่เพิ่มให้ผู้ชมได้ตื่นเต้นเร้าใจ เป็นอีกสีสันของการได้ชมโขนพระราชทาน
สำหรับผู้เขียนในฐานะที่เป็นผู้สนใจดนตรีไทยเดิม ก็จะชอบมากๆ ที่จะดูฝ่ายบรรเลงดนตรีสด ซึ่งอลังการอย่างยิ่งโดยที่ทั้งสองฟากฝั่งจะมีนักร้องนักดนตรีกันเต็มพื้นที่ ส่งเพลงกันให้บรรเลงจากฝั่งโน้นฝั่งนี้ ฝีมือแต่ละท่านอยู่ในระดับศิลปินทั้งนั้น รวมถึงการนำผู้พากษ์โขนออกมาพากษ์กันสดๆ ดูแล้วให้ทึ่งในความสามารถของทุกท่าน ส่วนในการแสดงรำนั้น ฉากแรก เป็นการแสดงเบิกโรง รำปะเลง อันเป็นการรำที่สวยงามอ่อนช้อย และไม่ได้นำมาให้ชมกันบ่อยนักเพราะเป็นการนำกระบวนท่ารำที่สืบทอดมาจากละครหลวงในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มายังคณะละครวังสวนกุหลาบ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมหลวงนครราชสีมา จนถึงกรมศิลปากรและสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์
การแสดงรำในโขนที่เป็นไฮไลท์สำหรับผู้เขียนอีกตอนหนึ่งที่งดงามและพูดถึงกันมากถึงความงดงามและความสามารถของนักแสดง นั่นก็การรำ “ฉุยฉายอินทรชิตแปลง” ที่อินทรชิตแปลงกายเป็นพระอินทร์ ประทับใจฝืมือรำมากๆ ค่ะ ผู้แสดงในวันนั้นไม่ทราบว่าเป็นท่านใด (เพราะแต่ละรอบก็คงใช้นักแสดงที่ไม่ซ้ำกัน) รำได้สง่างามจริงๆ ค่ะ
และส่วนที่ทำให้โขนพระราชทานแตกต่างไปจากโขนที่แสดงทั่วไป ก็คือการที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ท่านให้โอกาสนักเรียนนักศึกษาผู้ใฝ่ใจในการแสดงโขนจากทั่วประเทศ ได้มาแสดงฝีมือเข้ารับการคัดเลือกแสดงด้วย เป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งล้นต่อนักแสดงหน้าใหม่เป็นอย่างยิ่ง
ทุกอย่างที่ลงตัวนี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ เป็นรสขาติของคลาสิคอลไทยแดนซ์ แน่แท้จริงยิ่ง..
ค่ะ...คงไม่ต้องบรรยายไปมากกว่านี้ว่าทำไมผู้เขียนจึงได้ชื่นชอบ และปรารถนาจะไปชมโขนพระราชทานให้ได้ทุกปี หากสังขารและทุนยังพอมีที่จะเดินทางไปประเทศไทยในช่วงปลายปี ทุกปี..ทุกปี...
และหากมีโอกาสอีก ก็จะนำมาเล่าสู่กันฟังอีก ทุกครั้ง ทุกครั้ง แม้ว่าจะห่างจากวันเวลาที่ไปชมมาเป็นสองสามเดือนแล้วก็ตาม ถือว่ายังไม่ช้าเกินไปสำหรับแฟนคลับกลุ่มเล็กๆ นะคะ สำหรับวันนี้ขอจบโขนรสที่ ๑ ไปก่อน พบกันใหม่ในรสที่ ๒ โอกาสหน้าค่ะ