บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



ไปชมมหกรรมดนตรีไทย “หนึ่งทศวรรตครูทองดี ศรีแผ่นดิน”

ตามประสาคนรักนาฏศิลป์และดนตรีไทย ผู้เขียนมาถึงกรุงเทพฯได้เพียงสามวันได้ยินข่าวว่าจะมีงานมหกรรมดนตรีไทยที่โรงละครแห่งชาติเป็นการแสดงดนตรีเพื่อรำลึก 100 ปีชาตกาลคุณครูทองดี สุจริตกุล จัดโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนจิตลดา ศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และคณะศิษย์คุณครูทองดี สุจริตกุล

เพียงทราบว่าจะมีการบรรเลงวงเครื่องสายปี่ชวา และวงเครื่องสายผสมซอสามสาย กับบรรเลงจะเข้หมู่ 100 ตัว ผู้เขียนก็หูผึ่งไม่รอช้ารีบเสาะแสวงหาบัตรเข้าชมอย่างเร่งรีบ เพราะเมื่อเดินทางไปถึงกรุงเทพฯ ก็เป็นวันพุธแล้ว การแสดงจะมีวันเสาร์ โชคดีที่ อาจารย์ตึ๋ง-ชัยรัตน์ วีระชัย และ อาจารย์บำรุง พาทยกุล จากวิทยาลัยนาฏศิลป์ กรุณาหาบัตรให้ไปชมจนได้ ก็ขอบพระคุณอาจารย์ทั้งสองท่านมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

ผู้เขียน กับ ทิฟฟานี่ เชลตัน เยาวชนไทยอเมริกันเด็กที่เกิดและเติบโตเรียนดนตรีไทยมาจากวัดพุทธานุสรณ์ แต่ตอนนี้มาทำงานเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเอแบค นัดพบกันหน้าโต๊ะจองบัตรในโรงละครแห่งชาติ โดยเวลาการแสดงจะเริ่ม 13.00 นาฬิกา เราไปถึงก่อนเวลานับชั่วโมงเพราะเกรงจะพลาดการแสดง ซึ่งก็คงมีผู้คิดเช่นเดียวกันจำนวนมาก เพราะว่าโรงละครแห่งชาติบ่ายนั้นเต็มไปด้วยผู้คน มีทั้งนักเรียนมัธยม นักศึกษาและประชาชน เป็นที่น่าชื่นใจที่ได้เห็นคนรุ่นใหม่และคนไทยยังให้ความสนใจมาชมดนตรีไทย โดยเฉพาะด้านเครื่องสายไทย ปลื้มใจแทนบรรดาคุณครูดนตรีไทยและคุณครูทองดีเป็นอย่างยิ่ง

ก่อนที่จะนำท่านผู้อ่านไปชมบรรยากาศการแสดง ก็ขอแนะนำคุณครูทองดี สำหรับผู้ที่อาจจะไม่รู้จักท่าน โดยขอสรุปย่อๆ มาจากที่ได้ฟังวิทยากรสามสี่ท่านที่บรรยายให้ฟังในวันนั้น ได้แก่ ศ.นพ. พูนพิศ อมาตยกุล อาจารย์เฉลิม ม่วงแพรศรี ศาสตราภิชานปกรณ์ รอดช้างเผือก ที่ดำเนินรายการโดย รศ. ดร.ขำคม พรประสิทธิ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจากหนังสือที่ระลึกในวันงาน


ความว่า

ครูทองดี สุจริตกุล เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2455 ที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี บิดามารดามีอาชีพทำสวน กำพร้ามารดา ตั้งแต่อายุได้ 9 ปี เมื่อมารดาถึงแก่กรรมแล้ว ครูทองดีได้เข้ามาอยู่ในอุปถัมภ์ของพระสุจริตสุดา พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 10 ปี ได้หัดเครื่องสายมาพร้อมๆ กับนักดนตรีหญิงของพระสุจริตสุดา โดยเริ่มทำหน้าที่เป็นผู้ตีโทนรำมะนา ประจำวงเครื่องสาย ครูทองดีมีโอกาสได้เรียนหนังสือ เรียนทำดอกไม้ เย็บปักถักร้อยและทำผม ได้เป็นช่างทำผมให้พระสุจริตสุดาด้วย ด้านดนตรีไทยได้เรียนกับหลวงว่องจะเข้รับ (โต กมลวาทิน) พระสรรเพลงสรวง (บัว กมลวาทิน) เรียนซออู้กับครูชุ่ม กมลวาทิน ต่อมาได้เป็นผู้เล่นจะเข้ ประจำวง โดยมี ครูชุ่ม กมลวาทิน พระสรรเพลงสรวง (บัว กมลวาทิน) และ พระประณีตวรศัพท์ (เขียน จักรวาทิน) เป็นครูผู้ฝึกสอน

นับเป็นนักดนตรีของวงเครื่องสาย คณะนารีศรีสุมิตร มาแต่ดั้งเดิม เคยเดี่ยวจะเข้ถวายหน้าพระที่นั่งและเคยอัดแผ่นเสียงพระราชนิพนธ์ใน พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับคณะนารีศรีสุมิตร ครูทองดี สมรสกับ นายเอนก สุจริตกุล ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องชั้นเดียวกันกับพระสุจริตสุดา พ.ศ.2498 เริ่มเป็นครูสอนในวิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร ทำหน้าที่สอนจะเข้ ครูได้รับเลือกให้เป็นผู้บรรเลงจะเข้ในวงเครื่องสายไม่ว่าจะเป็นการแสดงที่โรงละครแห่งชาติ งานพิธีในวัง งานต้องรับแขกบ้านแขกเมือง บรรเลงออกอากาศสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ วิทยุศึกษา ฯลฯ เคยเดินทางไปเผยแพรดนตรีไทยที่ประเทศพม่า ลาว จีน และ ญี่ปุ่น เป็นต้น (ครูทองดี ถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้เก้าสิบห้าปีสามเดือน)

(ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือที่ระลึกที่คณะผู้จัดนำมาแจกให้โดยมิคิดราคาแต่อย่างใด นับเป็นการทำงานเพื่อคุณครูโดยแท้จริง) ประวัติและคุณความดีของคุณครูทองดีนั้น ด้วยเนื้อที่อันจำกัดผู้เขียนมิสามารถนำมาลงได้หมด ณ ที่นี้ในโอกาสนี้นะคะ


บรรยากาศการแสดง

สำหรับการแสดงนั้นมีทั้งความรู้และความบันเทิง เริ่มจากรายการแรกคือเสวนา จากวิทยากรทั้งสามท่านที่เอ่ยนามข้างบน เป็นการเสวนาย้อนรอยวงเสาวมาศ ที่มีประวัติและผลงานของคุณครูในฐานะนักดนตรีในวงนารีศรีสุมิตรของพระสุจริตสุดา พระสนมเอกในรัชกาลที่ 6 การก่อตั้งวงเสาวมาศ เกร็ดที่น่าสนใจ และทั้งเรื่องสนุกๆ เกี่ยวกับคุณครูล้วนที่น่าสนใจยิ่ง ทำให้ผู้เขียนซึ่งไม่คุ้นเคยกับคุณครูท่านนี้มาเลย เกิดความรักและเคารพท่านขึ้นมาทันที เป็นความรู้สึกเช่นนั้นจริงๆ ค่ะ

ส่วนบรรยากาศในการแสดงนั้น แน่นอนล่ะค่ะว่ามีแต่สิ่งดีๆ ที่หาฟังได้ยากมาให้ชมกันอิ่มใจทุกการแสดงอาทิ การบรรเลงวงมโหรีเครื่องหก การบรรเลงวงมโหรีเครื่องใหญ่ การบรรเลงวงเครื่องสายปีชวา การบรรเลงเครื่องสายผสมออร์แกน เป็นต้น โดยเฉพาะในเพลงชุดสุดท้ายคือ การบรรเลงจะเข้หมู่ร้อยตัวด้วยเพลงจีนขิมใหญ่ เพลงลาวแพน

ภาพของนักแสดงที่พิธีกรท่านบอกว่าเป็นศิษย์เป็นลูกและหลานของศิษย์เต็มเวที เป็นภาพประทับใจที่คงจะหาชมกันไม่ได้อีกง่ายๆ สุดบรรยายสุดไพเราะ เป็นการแสดงที่ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่าหากคุณครูได้สัมผัสถึงก็คงจะปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง ก็แม้แต่ผู้เขียนที่ไม่มีความรู้มากมายเกี่ยวกับเครื่องดนตรีจะเข้ฟังแล้วก็ยังปลื้มปรีดาไปกับนักแสดงทุกคนด้วย

แม้ว่าวันนั้นออกมาจากโรงละครฝนตกหนัก หารถกลับบ้านไม่ได้ ร่มก็เอาไม่อยู่เปียกปอนเหมือนน้องหมาตกน้ำปีนขึ้นรถเมล์และรถไฟฟ้า ก็ไม่ขอบ่น ถือว่าได้ชมของดี กลับบ้านวันนั้นด้วยความรู้สึกอิ่มเอิบในรสดนตรีไทย เครื่องสายไทย ขอบคุณนักแสดงทุกท่านที่นำมาให้ได้ชมกัน เห็นนักแสดงและผู้เข้าไปชมการแสดงในวันนั้น บอกได้คำเดียวค่ะ ว่า “ดนตรีไทยจะยังคงอยู่คู่ประเทศไปอีกนาน”

ชมประมวลภาพจากงานค่ะ ผู้เขียนได้มาด้วยความยากลำบากเพราะว่าเขาห้ามบันทึกภาพในระหว่างแสดง ก็เลยไม่กล้าแต่เห็นคนบันทึกกันหลายคนอยู่ ขอบคุณ อาจารย์ชัยรัตน์ วีระชัย และจากเฟสบุ๊กของคุณ Roj Uasloong สำหรับบางภาพค่ะ

แม้เราจะเล่นดนตรีไม่เป็น หากการที่เราช่วยกันเชียร์ ช่วยกันเขียน ช่วยกันบอกต่อ ชักชวนให้ไปชม ก็ถือว่าอย่างน้อยเราก็มีส่วนอนุรักษ์วัฒนธรรมด้านดนตรีไทยให้คงอยู่ ค่ะ..ก็ขอลาจากไปก่อนในฉบับนี้ สวัสดีค่ะ