บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



ตามไปดูระบำรำฟ้อน

ตอน... สาวเครือฟ้า ละครร้องอมตะแห่งความเศร้า


ฉบับนี้ขอเล่าเรื่องการไปเที่ยวเมืองไทยเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยต่อนะคะ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (14 กันยายน 2555) ผู้เขียนฝ่าพายุและฝนที่ตกหนักออกจากที่พักไปตั้งแต่บ่ายสามโมง เพื่อจะไปชมละคร ณ โรงละครแห่งชาติที่จะแสดงในเวลาห้าโมงเย็น

ละครที่แสดงในวันนั้นแสดงโดยคณะครูและนักเรียนจากวิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ผู้เขียนได้รับความกรุณาจากอาจารย์บำรุง-วราพร พาทยกุล นำบัตรเข้าชมมาให้ ขอขอบคุณเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสรับชมศิลปะอันทรงคุณค่า หาดูได้ยากมากสมัยนี้ เพราะคงไม่ค่อยมีใครนำละครร้องแบบดั้งเดิมมาแสดงอีกแล้ว คนสมัยใหม่หันไปนิยมละครร้องแบบสมัยใหม่เรียกกันหรูว่าเดอะมิวสิคอล เป็นที่นิยมกันในหมู่คนกรุง ก็ไม่ว่ากันหรอกค่ะ แต่ผู้เขียนขอยอมเป็นฝ่ายหัวโบราณ นิยมของดั้งเดิมดีกว่านะคะ

ไม่ใช่ละครเรื่องนี้จะหาคนจัดแสดงยากเท่านั้น นักแสดงก็ยังหาชมได้ยาก ยากอย่างไรหรือคะ ท่านอาจจะตั้งคำถามอยู่ในใจ “วิทยาลัยนาฏศิลป์ นี่น่ะหรือหานักแสดงยาก”

อย่างนี้ค่ะ ในการแสดงรอบวันที่ 14 นั้น เป็นการนำเอาศิลปินรุ่นคุณครูที่เคยรับบทนำในเรื่องมาแสดงให้ชมควบคู่กับนักเรียน ดังนั้นในคืนวันศุกร์ที่ 14 เราจึงได้ชมฝีมือจากคณะครูที่เต็มไปด้วยลีลารำที่งดงามอ่อนช้อย และบทร้องที่ได้อารมณ์ตามจินตนาการของเรื่องราวเป็นอย่างยิ่ง

ขณะเดียวกันเราก็ได้ชมฝีมือเด็กรุ่นใหม่ ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชามาจากคุณครูผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายในวิทยาลัย นับเป็นเรื่องน่ายินดียิ่งที่เราจะมีผู้สืบทอดสายศิลปวัฒนธรรมระบำรำฟ้อนต่อไปในอนาคต ซึ่งเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวแสดงเอก เช่น สาวเครือฟ้าที่ใช้ผู้แสดงนักเรียนสามคน คุณครูหนี่งคน ก็แสดงกันได้ดีไม่นับความสวยที่ไล่เลี่ยกัน

เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ก็ต้องเขียนเชียร์และชมคุณครูท่านที่แสดงเป็นสาวเครือฟ้า ที่นอกจากจะมีใบหน้างดงามหวานสุดแล้วก็ยังรำได้สวยงามสมกับเป็นครูสอนนาฏศิลป์ ครูดุ๋ม-ฤดีชนก คชเสนี ส่วนพระเอกรับบทโดย ครูจุลชาติ อรัณยะนาค ก็ดูยังหล่อเหลาและเท่สมบทร้อยตรีพร้อม รวมทั้งผู้แสดงตัวเอกๆ อีกหลายท่านที่อาจจะเอ่ยนามไม่ครบในเนื้อที่นี้

และที่น่าชมเชยก็คือ นักเรียนที่รับบทตลกขำขันในช่วงแห่ขันหมากนั้นแสดงได้ดีมากมีไหวพริบ ซึ่งการแสดงของกรมศิลป์นี้ดูเหมือนจะเป็นธรรมเนียมที่จะต้องมีตัวตลกมาสอดแทรก ที่เห็นๆ อยู่รุ่นครูมีแสดงให้ชมบ่อยๆ ในการแสดงของสำนักการสังคีต ไม่เคยชมรุ่นนักเรียนแสดงมาก่อน ขอบอกเลยค่ะว่าเด็กๆ เหล่านี้มีอนาคตที่จะไปได้ไกลได้ ให้กำลังใจนะคะ

คราวนี้ก็มาถึงข้อมูลเกี่ยวกับละครร้องนะคะ เกิดมาจากที่ใดในพิภพ ทำไมมาเป็นละครร้องแบบไทยๆ ผู้เขียนขอสรุปพอเป็นสังเขปมาจากโฆษก (ในคืนนั้นโฆษกเป็นสาวน้อยสวยและพูดได้ดีมากค่ะ)


ที่มาของละครร้อง

ละครร้องเป็นละครอีกประเภทหนึ่งที่ปรับปรุงขึ้นตามความนิยม เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงคิดริเริ่มขึ้น ลักษณะและวิธีการแสดงนั้น ดำเนินเรื่องด้วยการร้องและใช้ท่าสามัญชนประกอบการร้องเป็นสื่อให้ผู้ดูเข้าใจความหมายได้ บทร้องมีทั้งบทกิริยา บทคำนึงและบทที่เป็นคำพูด การร้องนั้นถ้าเป็นบทที่เป็นคำพูดโต้ตอบตัวละครร้องเอง แต่ถ้าบทที่เป็นกิริยาหรือบทคำนึงต้นเสียงและลูกคู่ซึ่งอยู่ในโรงเป็นผู้ร้อง แม่บทที่ตัวละครร้องก็จะร้องเฉพาะที่เป็นถ้อยคำเท่านั้น ที่เป็นเสียงอื่นลูกคู่เป็นผู้ร้องรับแทน เปลี่ยนฉากตามท้องเรื่อง ดนตรีใช้วงปี่พาทย์บรรเลง แต่เดิมผู้แสดงเป็นหญิงล้วน (ในคืนวันแสดงนั้นใช้ชายจริงหญิงแท้แสดงค่ะ)

ละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้า บทพระนิพนธ์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปปพระพันธ์พงศ์ กรมศิลปากรได้เคยนำมาจัดแสดงเมื่อปีพุทธศักราช 2522 ด้วยเหตุที่ละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้าห่างหายไปจากเวทีมาเป็นเวลานาน วิทยาลัยนาฏศิลป์จึงเห็นควรจะมีการถ่ายทอดให้กับรุ่นปัจจุบัน เพื่อเป็นการสืบสานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในส่วนของการแสดงละครร้องแบบกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ให้คงอยู่สืบไป จึงได้นำมาแสดงขึ้นใหม่ในพุทธศักราช 2555 นี้

นับเป็นบุญตาของผู้เขียนเสียจริงๆ ที่มาเมืองไทยทันเวลาได้ชมการแสดงครั้งนี้

การแสดงที่ทั้งคณะครูและนักเรียนในคืนนั้นจบลงด้วยฉากเศร้าแสนเศร้า เมื่อสาวเครือฟ้าตัดสินใจจบชีวิตลงเมื่อทราบว่าร้อยตรีพร้อมผู้เป็นสามีไปมีรักใหม่ เป็นฉากที่เราได้ชมฝีมือแสดงของคุณครูที่เคยรับบทนี้มาแล้ว ครูดุ๋ม-ฤดีชนก ที่ทำให้ผู้ชมอินไปด้วยกับลีลาอาลัยและสุดเศร้าของสาวเครือฟ้า แม้จะเศร้าแต่ก็สอดแทรกด้วยคำสอนสำหรับสาวๆ ที่ด่วนปลงใจไปกับชายที่รู้จักกันไม่นาน

จบลงด้วยเสียงปรบมือกึกก้องโรงละครที่มีผู้เข้าชมเต็มโรงละคร ขอแสดงความยินดีกับนักแสดงทุกท่านที่ฝากความประทับใจไว้ให้กับผู้ชม สมกับความตั้งใจที่จะนำละครร้องมาให้ความสุขกับผู้ชม (รุ่นรักวัฒนธรรม) อีกครั้ง

และเนื่องจากละครนี้เป็นละครร้อง วงดนตรีและนักร้องคืออีกหัวใจสำคัญของการนำเสนอ ผู้เขียนนั่งดูหน้าตาของกลุ่มนักร้องและนักดนตรีก็เดาได้ไม่ยากว่าเป็นคณะนักเรียน ซึ่งนักร้องร้องได้ดียิ่ง ทั้งที่เป็นฝ่ายร้องรับและร้องบนเวทีแสดง (ภูมิใจแทนคุณครูผู้สอนทุกท่านนะคะ) และวงดนตรีที่คราวนี้นอกจากจะเป็นวงปี่พาทย์แล้วยังเพิ่มวงสะล้อ ซอ ซึง เพื่อให้สมบรรยากาศทางภาคเหนือครบถ้วนกระบวนการแสดง พิเศษในรอบนี้ได้มีโอกาสชม อาจารย์ปกรณ์ พรพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักการสังคีต และ ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดง (พ.ศ. 2548) มาร้องเพลงให้ฟังก่อนแสดงอีกด้วย สุดยอดทุกฉากค่ะ

ด้วยเนื้อที่ที่จำกัด ขอลงชื่อคณะครูนักเรียนที่แสดงเป็นตัวเอกมา ณ ที่นี้เท่าที่จะลงได้นะคะ ขาดท่านผู้ใดไปบ้างก็ต้องกราบขออภัยด้วยค่ะ และชมภาพที่ผู้เขียน แอบบันทึกบ้าง แอบลอกมาจากเฟสบุ๊กของอาจารย์ฤดีชนก บ้างด้วยความเคารพค่ะ

ร้อยตรีพร้อม-อาจารย์จุลชาติ อรัณยะนาค สาวเครือฟ้า-นางฤดีชนก คชเสนี (ครูดุ๋ม) สาวเครือฟ้าคนแรก นางสาวอภิรดี วงศ์ศรีจันทร์ สาวเครือฟ้า นางสาวอาภัสรา นกออก และผู้แสดงประกอบ อาทิ นางสาวพิมพิกา มหามาตย์ นางวรางคณา วรรณปะเก นางนันทา น้อยนิตย์ นายภรณุวัฒน์ ทองโปร่ง ว่าที่ร้อยตรี วชิรพงศ์ ยนตรกิจ นางสาวอรอุทัย นิลนาม อาจารย์พิกุล วักกะแย้ม นายไตรภพ สุนทรหุต นางสาวขวัญฟ้า ศิวิจารย์ เป็นต้น

อำนวยการฝึกซ้อมการแสดง/การบรรเลง อ.นิตยา จารมรมาน อ.นพรัตน์ หวังในธรรม อ. สนอง คงหิรัญ อ.เรวดี สายาคม อ. อัจฉรา สุภาไชยกิจ อ. สมพิศ ธรรมศิริ อ. ไพฑูรย์ เข้มแข็ง อ. นิรมล ตระกาลผล อ. พิชญ์ญา สินธุ์แก้ว อ. สุรพงศ์ บัวหลวง อ. สุจิตต์ ชูวงษ์ อ. ลำยอง โสวัตร อ. ทรงยศ แก้วดี

พบกันใหม่โอกาสหน้านะคะ สวัสดีค่ะ