บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภัณฑ์



เที่ยวเมืองไทย ๒๕๕๘ ชมโขนสามรส สามศรัทธา ตอน ๓ พระลักษณ์ต้องหอกกบิลพัท

เรื่องการไปชมโขนที่กรุงเทพฯ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ มาถึงตอนสุดท้ายแล้วนะคะ สองตอนแรกของโขนสามรส เรื่องแรก โขนพระราชทาน ชุดศึกอินทรชิต ตอนพรหมาศ ซึ่งผู้เขียนเปรียบเป็น “รสคลาสสิค” เรื่องที่สอง โขนชุด ศรทะนง โดย ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินอาวุโส และนักแสดงของสถาบันบันฑิตพัฒนศิลป์ กรมศิลปากร ที่เปรียบเสมือน “รสดั้งเดิม” คราวนี้ก็มาถึงเรื่องสุดท้าย เป็นโขนที่แสดงโดยศิลปินและคณะครูชำนาญการจากกองการสังคีต กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นโขนที่จัดในรูปแบบพิเศษ หาดูได้ยาก แสดงครั้งนี้ก็คงไม่แสดงไปอีกนาน เพราะเป็นโขน “สรรสร้าง” เฉพาะกาล ที่แสดง ณ วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร เขตบางกอกน้อย กทม. เป็นการสรรหาจากคณะสงฆ์วัดสุวรรณาราม มาให้ชาวบ้านดู ในโอกาสพิเศษ นั่นก็คือฉลองวันตากสินมหาราช

ผู้เขียนคิดอยู่นานว่า..เอ๊ะ...จะให้ชื่อรสชาติในการชมครั้งนี้ว่ากระไรดี เพื่อนสนิทคนหนึ่งพูดติดตลกว่าให้ชื่อว่า รสพระทำ” ซิ พระเป็นคนให้จัดแสดง..ฮ่ะ ฮ่ะ ถ้าให้ชื่ออย่างนี้จริงๆ คงโดนนินทา..เรื่องของพระสงฆ์องค์เจ้าปัจจุบันก็ยุ่งเป็นเสือ เอ๊ย..ยุงตีกัน อยู่แล้ว ขืนเขียนยังงั้น พระคุณเจ้าที่เคารพของอิฉันจะโดนยุงกัดไปด้วยหรือเปล่า อย่ากระนั้นเลย เอารสอื่นดีกว่า..เป็นว่า รสโบราณ แล้วกัน

เป็น “รสโบราณ” เพราะว่าโขนที่แสดงที่วัดสุวรรณารามไปเมื่อค่ำคืนของวันศุกร์ที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๘ นั้น เป็นการแสดงเพื่อสืบสานตำนานโขน ตอนพระลักษณ์ต้องหอกกบิลพัท ในพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเป็นฉบับที่โบราณนานมาแล้ว และไม่ค่อยมีใครนำมาแสดง ข่าวเล่ากันว่าชุดนี้ คนแสดงเป็นพระลักษณ์ต้องมีความสามารถในการร่ายรำสูงจึงจะรับบทนี้ได้

ก่อนที่จะเล่าเรื่องการแสดงชุดนี้ ก็ขออารัมภบทนิดหน่อยถึงว่าทำไมวัดสุวรรณารามจึงจัดโขนเรื่องนี้ และจัดงานฉลองวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช


วัดสุวรรณาราม บางกอกน้อย กับความเกี่ยวข้องกับพระเจ้าตากสินมหาราช

วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่ในเขต บางกอกน้อย กทม. เดิมวัดนี้ชื่อ วัดทอง มีมาแต่ครั้งอยุธยา อยู่ริมน้ำเจ้าพระยาเก่า ซึ่งกลายเป็นคลองบางกอกน้อยในปัจจุบัน พระอุโบสถได้รับการบูรณะแต่ครั้งรัชกาลที่๑ พระประธานเป็นพระสมัยสุโขทัย นามว่า พระศาสดา สิ่งที่ขึ้นชื่อของวัดนี้อยู่ที่ในโบถส์ มีจิตรกรรมอันล้ำค่าของชาติอยู่ที่นี่ นั่นคือผลงานจิตรกรรมของครูคงแป๊ะและลูกศิษย์ ส่วนผนังขวา เป็นผลงานจิตรกรรมของครูทองอยู่และลูกศิษย์ ซึ่งเขียนขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในด้านที่เกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช นั้น สมัยที่พระองค์ครองราชย์นั้นคราวพม่ายกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก พระเจ้าตากสินมหาราชจะยกกองทัพไปช่วย จึงโปรดให้ถามเชลยศึกพม่าที่จับมาได้จากค่ายบางแก้ว ว่าจะสมัครไปช่วยรบพม่าด้วยหรือไม่ แต่เชลยศึกพม่าตอบปฏิเสธ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตเลขา เล่มที่ ๒ บันทึกถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า

“มันไม่ภักดีแก่เราโดยแท้ ยังนับถือเจ้านายมันอยู่ เราจะยกไปทำสงครามผู้คนอยู่รักษาบ้านเมืองน้อย พวกมันมากจะแหกคุกออกไปทำแก่จลาจลข้างหลัง จะเอาไว้มิได้” จึงดำรัสให้เอาไปประหารชีวิตเสีย ณ วัดทองคลองบางกอกน้อยทั้งสิ้น”


กิจกรรมฟื้นฟูและอนุรักษ์ประเพณีของวัดในปัจจุบัน

เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน คือพระราชปริยัติเวที ท่านเข้ามารับตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖ นั้น ท่านเป็นพระนักพัฒนาที่ไม่เคยหยุด นอกจากท่านจะบูรณะวัดอย่างต่อเนื่องแล้ว ท่านยังจัดกิจกรรมเพื่อสืบสานขนบธรรมเนียมปฏิบัติทั้งด้านศาสนาและประเพณี และวัฒนธรรมในแถบบางกอกน้อย ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องศรัทธาความเชื่อถือของชาวบ้านเกี่ยวกับพระเจ้าตากสินนั้นท่านได้ร่วมกับอุบาสกอุบาสิกาของวัด สร้างพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยมีทั้งอนุสาวรีย์รูปหล่อที่เชิญมาจากประเทศจีน และที่หล่อใหม่ ณ วัดสุวรรณาราม ซึ่งสถานที่ตั้งจะอยู่หน้าพระอุโบสถ ตัวอนุสาวรีย์หันหน้าสู่คลองบางกอกน้อย


โขนกลางน้ำ (กลางคลองบางกอกน้อย)

เอาละค่ะ คราวนี้ท่านผู้อ่านก็คงเข้าใจว่าทำไมที่วัดนี้จึงเฉลิมฉลองวันตากสินมหาราชที่ทางราชการระบุให้เป็นวันที่ ๒๘ ธันวาคม ของทุกปี ปีนี้ท่านเจ้าอาวาสนำโขนในพระนิพนธ์ของพระองค์ท่านมาแสดงเพื่อรำลึกถึงพระปรีชาสามารถด้านอักษรศาสตร์ของพระองค์ที่น้อยคนนักจะรู้จัก

ไม่เพียงแต่จะนำพระนิพนธ์ของพระองค์ท่านมาให้ได้ชื่นชม ในวันนั้นนักแสดงก็อยู่ในระดับศิลปินทั้งสิ้น นำโดย ดร. ไพโรจน์ ทองคำสุก ราชบัณฑิตโขน กรมศิลปากร เป็นผู้ควบคุมการแสดงและเรียบเรียงบทจากพระนิพนธ์เดิมของพระเจ้าตากสินมหาราช โดยจัดพิเศษไม่เคยมีที่ใดทำมาก่อนนั่นก็คือ จัดเวทีอยู่กลางน้ำ คือคลองบางกอกน้อยหน้าท่าน้ำวัดสุวรรณารามนั่นเอง

ผู้เขียนไม่มีวันพลาดสิ่งดีๆ เช่นนี้ รีบไปแต่ช่วงห้าโมงเย็น เกรงจะไม่มีที่นั่ง ซึ่งก็เป็นไปตามคาด เพราะหากไปช้ากว่านี้จะต้องไปยืนชมแน่ๆ ทางวัดจัดเก้าอี้ให้นั่งชมบนทางเท้าที่อยู่ติดกับท่าเรือ และเมื่อได้เวลาโพล้เพล้ เสียงดนตรีปี่พาทย์เสียงตะโพนเสียงกลองก็เริ่มบรรเลง บรรยากาศเริ่มคึกคัก ผู้คนที่ไม่มีที่นั่งรวมทั้งลูกเด็กเล็กแดงก็เลยถือโอกาสจับจองบันไดที่ลาดลงไปที่คลองเป็นที่น่าเสียวไส้แต่ก็กลายเป็นที่นั่งที่เห็นการแสดงใกล้ชิดสุด

เวทีนั้นตั้งหันหน้าสู่อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน สมกับความประสงค์ที่จะเทิดทูนผลงานของพระองค์ท่าน ดังที่ผู้เขียนเกริ่นไว้ว่าเราไม่ค่อยจะได้ทราบว่าพระองค์ท่านมีพระปรีชาสามารถทางด้านอักษรศาสตร์ด้วย จึงทำให้ผู้เขียนต้องเข้าไปค้นหาข้อมูลเพื่อจะได้ทำให้การชมโขนครบสูตรในอรรถรสและความบันเทิงใจ จึงได้ทราบว่าพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง รามเกียรติ์ไว้ ๔ ตอน คือ ตอนพระมงกุฏประลองศร ตอนหนุมานเกี้ยวนางวาริน ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ ตอนทศกัณฑ์ตั้งพิธีทรายกรด บทละครที่ ดร.ไพโรจน์นำมาเรียบเรียงแสดงในคืนนั้นมาจากตอนทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด โดยให้ชื่อการแสดงตอนนี้ว่า พระลักษณ์ต้องหอกกบิลพัท


เรื่องราวที่พระลักษณ์ต้องหอกกบิลพัท

การแสดงตอนนี้เป็นเรื่องราวต่อจากท้าวมาลีวราชว่าความ เรื่องมีว่า “ทศกัณฐ์มีความแค้นเทวดาที่เป็นพยานให้แก่พระราม จึงทำพิธีปลุกเสกหอกกบิลพัทที่เชิงเขาพระสุเมรุ และทำพิธีเผารูปเทวดา พระอิศวรจึงมีเทวบัญชาให้เทพบุตรพาลีมาทำลายพิธี ทศกัณฐ์พุ่งหอกกบิลพัทหมายสังหารพิเภก พิเภกหลบไปอนยู่หลังพระลักษณ์ พระลักษณ์ต้องหอกกบิลพัทสลบไป พิเภกทูลพระรามให้หายามาแก้ไขพร้อมแม่หินบดยาที่เมืองบาดาล และลูกหินบดยาที่ทศกัณฐ์หนุนนอน พระรามให้หนุมานไปหายาพร้อมแม่หินและลูกหิน หนุมานเข้าเมืองลงกาเพื่อไปนำลูกหินบดยามา และผูกผมทศกัณฐ์กับผมนางมณโฑไว้ด้วยกัน พระฤาษีโคบุตรต้องมาช่วยแก้ผมให้”

(ขอบคุณข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต)

จบด้วยความประทับใจ

โขนชุดนี้นอกจากจะหาชมยาก ฝีมือนักแสดงรุ่นศิลปิน นักดนตรีรุ่นอาวุโสและชำนาญการ และไม่มีที่ใดที่จะนำโขนมาแสดงกลางน้ำต่อหน้าอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราชเช่นนี้มาก่อน ผู้เขียนถือโอกาสไปพบปะทำความรู้จักกับอาจารย์และนักแสดง แต่ละคนก็พากันบอกว่าไม่เคยไปรำกลางน้ำมาก่อน แปลกและสนุกดี เวลาคลื่นลมพัดเวทีโยกไปมา ทำให้ยกเท้ารำลำบากแต่ก็ “ท้าทายและยินดีที่ได้รับเชิญมาแสดง”

ผู้เขียนออกจากวัดสุวรรณารามยามดึกด้วยความรู้สึกอิ่มเอิบใจในโขน รส สูตรโบราณ นี้มากมาย นอกจากได้ชมชุดที่ไม่ค่อยมีผู้นำมาแสดงได้เกริ่นแล้วว่าคนแสดงเป็นพระลักษณ์ต้องมีความสามารถในการร่ายรำบทนี้แล้ว ยังได้ปลื้มปีติที่ได้เรียนรู้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงฟื้นฟูวรรณคดีในสมัยท่านด้วย และบทพระราชนิพนธ์ก็แฝงไว้ด้วยคุณธรรมหลายประการ

เรียกว่า ประทับใจมิมีวันลืม โขนกลางน้ำ ตอนพระลักษณ์ต้องหอกกบิลพัท ที่วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๘

สิ่งดีๆ มีให้ดูเสมอที่วัดสุวรรณาราม บางกอกน้อยนี้..สนใจไปเยี่ยมเยียนวัดได้นะคะ อยู่ในซอยจรัญสนิทวงศ์ ๓๒ ตรงข้ามกับบางขุนนนท์ ค่ะ