บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



พบกับวงดนตรีไทยศูนย์วัฒนธรรม
เบิร์กเล่ย์(2)

ฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้แนะนำวงดนตรีปี่พาทย์ของศูนย์วัฒนธรรมไทยเบิร์กเล่ย และแนะนำครูอาสาประจำปีของวัดไปแล้ว คือ ครูต้าร์-ณัฐวุฒิ นันทหน่อ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเอกของวงในปีนี้ เนื่องจากเป็นครูประจำปี หากแต่วงดนตรีของวัดมิใช่มีครูประจำการแต่เพียงคนเดียวที่ประจำวงดนตรีนี้ ยังมี “ครูผู้ช่วย” อีกหลายท่านที่อยู่ในวงปี่พาทย์ที่ช่วยกันสอนที่ศูนย์ฯ และจะร่วมบรรเลงสดให้กับละครเวทีเรื่อง “นางเสือง” ในเดือนตุลาคมนี้

คำว่า “ครูผู้ช่วย” ไม่ได้แปลว่าเป็นตัวรอง แต่เป็นผู้ที่เคยรับบทบาทตัวเอกมาแล้วในอดีต แปลง่ายๆ..เคยเป็นครูอาสาประจำปีกันมาแล้วจากโครงการครูอาสาของ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ไม่ว่าจะเป็น ครูหนุ่ย-สมประสงค์ เล่ากิมพงศ์สวัสดิ์ ครูท็อป-บุญญรักษ์ มันมา ที่มาช่วยเสริมทัพให้งานดนตรีเดินหน้าก็ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญที่ดิฉันอยากแนะนำให้ได้ครบทุกคน แต่บางครั้งก็ทำไม่ได้ครบตามที่ตั้งใจด้วยเนื้อที่อันจำกัด

ฉบับนี้ขอแนะนำครอบครัวครูตุ้ย-ศุภโชค พงศ์ธนานน์ พร้อมภรรยาคือครูเล็ก-วลัยพิศ และน้องตอง-อติกันต์ บุตรชายคนเดียว ทั้งสามต่างก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยงานของศูนย์ฯ เช่นกัน

ครูตุ้ย-ศุภโชค พงศ์ธนานนนท์ ค่ะ ครูตุ้ยจบจากคณะครุศาสตร์เอกดนตรีศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เครื่องมือเอกคือเครื่องเป่า แต่ครูตุ้ยสามารถเล่นเครื่องดนตรีชนิดอื่นๆ ได้เพราะได้เรียนดนตรีตั้งแต่เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จากบ้านดนตรีของครูกาหลง พึ่งทองคำ (ศิลปินแห่งชาติสาขาดรุยางคศิลป์ปี พ.ศ. 2549) ซึ่งถือว่าครูกาหลงเป็นครูดนตรีท่านแรกของครูตุ้ย

ในปี พ.ศ. 2538-2539 ครูตุ้ยได้รับเลือกให้มาเป็นครูอาสา 1ปี เป็นครูอาสารุ่นแรกของม.บ้านสมเด็จฯ มาประจำวัดมงคลเบิร์กเล่ย์ เมื่อครบกำหนดได้กลับไปสอนที่ รร. ราชินีบนอยู่สองปีการศึกษา เมื่อมีครอบครัวก็ได้กลับมาที่ศูนย์เบิร์กเล่ย์ และช่วยสอนอยู่ที่ศูนย์ฯ อยู่ประมาณ 7-8 ปี ก็เดินทางกลับประเทศไทย ตอนนั้นบุตรชายอายุได้ 5 ขวบ ไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนที่ รร.วัดราชบพิธ, รร. เปรมประชาวัฒนา, รร.วัดซองพลู, รร. วัดสุทัศน์ฯ ฯลฯ ช่วงนี้เป็นสมาชิกวงชีวานุภาพที่เป็นวงดนตรีไทยประกอบพิธีการ เช่น ไหว้ครู, บวงสรวง, ฯลฯ บันทึก CD เพลงหน้าพาทย์ 100 เพลง (มากสุดเท่าที่เคยปรากฏ) เพื่อทูลเกล้าถวายฯ พอปี 2011 ก็กลับมาด้วยต้องการให้บุตรชายได้มาเรียนต่อที่สหรัฐ จึงได้กลับมาช่วยสอนที่ศูนย์วัฒนธรรมอีกครั้งพร้อมภรรยาและบุตรชาย

น้องตอง-อติกันต์ นั้นเริ่มเรียนดนตรีไทยตั้งแต่อยู่ชั้นประถม 1 และการที่ได้ติดตามไปด้วยเวลาพ่อกับแม่สอนหรือไปออกงานทำให้เขาซึมซับความรักในดนตรีไทยจนอยู่ในสายเลือด และสนใจที่จะฝึกฝนท้กษะในด้านนี้ตลอดเวลา สำหรับงานละครเวที นางเสือง ในเดือนตุลาฯ นี้น้องตองรับบทเป็นนักแสดงนอกเหนือจากเล่นดนตรีด้วย

ดิฉันได้ถามครูตุ้ยว่า การที่ครูมีประสบการณ์สอนดนตรีไทยมาหลายโรงเรียนทั้งประเทศไทยและที่นี่ ครูคิดว่านักเรียนที่เมืองไทยหรือที่อเมริกานี้สอนง่ายกว่ากันคะ เพราะเหตุใด ครูมีกุศโลบายอย่างไรที่จะให้นักเรียนรักและสนใจเรียนดนตรีไทย

ครูตอบว่า ความยากง่ายคงพอๆ กันครับ ขึ้นอยู่ที่ตัวเด็กมีความสนใจมากน้อยแค่ไหน

คราวนี้มารู้จักครูเล็ก-วลัยพิศ พงศ์ธนานนท์ เรียนจบจากคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เอกสาขาคีตศิลป์ เครื่องดนตรีไทยที่มีความชำนาญเป็นพิเศษคือซออู้ เวลาวงดนตรีไทยของศูนย์ฯ ไปออกงานทีไรเราก็จะได้ยินเสียงไพเราะหวานเจื้อยแจ้วจากครูเล็กแทบทุกครั้ง

ร้องเพลงเพราะเช่นนี้หัดมาจากที่ใด และทำไมถึงชอบร้องเพลงคะ

ชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เล็กๆ เลยเหมือนมันอยู่ในสายเลือดนะค่ะเพราะคุณพ่อเป็นนายหนังตะลุง และสอนให้ดิฉันร้องหนังตะลุง คิดว่าคุณพ่อคงเห็นแววในการร้องเพลงก็เลยให้เรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลป์พัทลุง เอกคีตศิลป์ (ขับร้องเพลงไทยเดิม) โดยครูคนแรกที่สอนเพลงไทยเดิมให้คืออาจารย์ นุจิรา นาข้าวเบา และมาต่อยอดที่สถาบันราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยาโดยมี ครูเอี๊ยด (อาจาร์ยสุดารัตน์ ชาญเลขา) เป็นผู้สอน

และที่ลืมไม่ได้ก็คือครูเลื่อน สุนทรวาทิน ซึ่งเป็นครูพิเศษมาสอนให้ด้วยซึ่งนับว่าดิฉันโชคดีมากๆ ที่ได้เรียนกับครูที่เก่งๆ และมากล้นด้วยฝีมือทั้งนั้นเลยจนถึงวันนี้ดิฉันยังไม่เคยลืมพวกท่านเลยค่ะ และตอนเรียนได้มีโอกาสออกงานร้องเพลงไทยเดิมหลายงาน ร่วมร้องเพลงลูกทุ่ง เพลงสุนทราภรณ์ให้กับวงดนตรีสากลของม.บ้านสมเด็จฯ อีกด้วย และเมื่อจบมาทำงานที่โรงเรียนเปรมประชาวัฒนาดิฉันก็ยังได้เป็นนักร้องประจำโรงเรียนเมื่ิื่อเวลามีงานสำคัญๆ ก็จะได้รับเกียรติจากผู้อำนวยการให้ร้องเพลงทุกงานเลยค่ะ

ขอถามว่าระหว่างร้องเพลงไทยเดิมกับเพลงสากล ชอบอย่างใดมากกว่ากันเพราะอะไรคะ

ชอบร้องเพลงไทยเดิมมากกว่าค่ะ เพราะเป็นสิ่งที่ยากและต้องใช้ความสามารถเยอะมันท้าทายดีค่ะ ซึ่งน้อยคนที่อยากจะร้องและหาคนเรียนยากต้องใช้ความอดทนในการฝึกร้องสูงค่ะ

ถ้าหากจะให้ครูเล็กสร้างเด็กที่เกิดและเติบโตในอเมริกาขึ้นมาสักคนเพื่อให้ร้องเพลงไทยเดิมได้ เด็กคนนั้นจะต้องมีคุณลักษณะอย่างไรดีคะ และตอนนี้พบหรือยังคะ เด็กที่มีแววเช่นนั้น

นักเรียนที่จะร้องเพลงไทยเดิมได้จะต้องมีความตั้งใจและพยายามเป็นอย่างมาก เพราะเพลงไทยเดิมจะยากและเอื้อนเยอะ แต่ถ้าจะให้สอนเด็กที่อเมริกานี้ที่วัดมงคลรัตนารามก็พอจะมีแววอยู่สองคนนะค่ะ คือน้องป่าน น้องน้ำฝน เพราะดูแล้วเค้าจะชอบร้องเพลง และมีพรสวรรค์ในเรื่องของการขับร้องอยู่พอสมควรค่ะ

ยิ่งสัมภาษณ์ไปก็ยิ่งเห็นว่าวงดนตรีของศูนย์วัฒนธรรมเบิร์กเล่ย์นี้มีบุคคลากรเพรียบพร้อมด้วยความสามารถ และก็ยังไม่หยุดยั้งในการค้นหาเครื่องดนตรีชนิดใหม่ๆ มาให้ชุมชนไทยได้รับความบันเทิงอยู่เรื่อยๆ วงดนตรีล่าสุดที่ทางศูนย์ฯรวบรวมนักดนตรีมาได้คือวง สะล้อ ซอ ซึง ที่เริ่มเมื่อปีที่แล้ว โดย ครูอ้อย-สุนทรีย์ เรืองโรจน์ เป็นผู้ริเริ่มสอน และทางศูนย์ฯ ได้นักดนตรีทั้งฝึกใหม่และที่มีประสบการณ์มาร่วม ที่เป็นรุ่นผู้ใหญ่ที่เป็นที่รู้จักกันในสังคมไทยในเบย์แอเรียเป็นอย่างดี อาทิ คุณแป้ม กาญจนา บุญสม คุณนา จินตนา กาญจนะมาระกุล และรุ่นกลาง เช่น คุณเทนนิส ไอยศรา และคุณนก ธนธัตน์ เป็นต้น เพียงปีเดียววงนี้ก็เติบใหญ่ ไปแสดงงานใดก็ได้รับแต่คำชม เป็นของแปลกและใหม่ที่ชุมชนไทยในแคลิฟอร์เนียภาคเหนือไม่ค่อยได้สัมผัสกันนัก

นักดนตรีบางท่านที่มาร่วมวงคิดเห็นอย่างไรกับวงดนตรีสะล้อ ซอ ซึง ที่เป็นสัญญลักษณ์ของดนตรีพื้นเมืองทางภาคเหนือนี้ ลองมาอ่านดูนะคะ

คุณแป้ม-กาญจนา บุญสม ดิฉันเป็นคนทางเหนือ ที่เกิดและเติบโตมากับบ้านดนตรี ได้ยินเสียงดนตรีมาตั้งแต่เล็กๆ ซึมซับอยู่ในสายเลือด ชอบเล่นซอ และเมื่อทางคุณเพลินใจคิดจะตั้งวงดนตรีทางเหนือนี้ขึ้นมา ก็ได้มาชวนให้ร่วมเล่นก็ให้ดีใจและรับปากทันทีเพราะชอบและยังไม่เคยเรียน จึงได้เลือกเรียนซึง เพื่อจะได้เป็นประสบการณ์ใหม่ ที่เมื่อก่อนเคยเล่นแต่ซอและจะเข้ พอได้เรียนซึงก็ติดใจ เพลงทางเหนือทุกเพลงเพราะทำให้คิดถึงบ้านมากค่ะ ก็ขอขอบคุณคุณเพลินที่ให้โอกาสได้เผยแพร่เพลงของภาคเหนือค่ะ

คุณนา-จินตนา กาญจนะมาระกุล เล่นเครื่องดนตรีประเภทซึงค่ะ ชอบทำนองเพลงทางเหนือมากค่ะ มีความรู้สึกว่าเข้ากับบรรยากาศทางเหนือ คือชาวเหนือมีวิถีชีวิตที่ไปเรื่อยๆ แต่มีเสน่ห์อยู่ในตัว

คุณนก-ธนธัต นกเล่นสะล้อเล็ก กับซึงเล็ก แรกๆ ไม่ได้ตั้งใจจะหัดเล่นแต่ทางวงเขาขาดคนก็เลยชวนแกมบังคับให้เล่น เป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่หัดเล่นในชีวิต เริ่มชอบและก็สนใจหัดเรื่อยมา คิดว่าการเรียนนั้นแตกต่างจากวงมโหรีและวงปี่พาทย์อยู่ค่อนข้างมาก วงดนตรีเหนือต้องมีความคุ้นเคยกับเพลงทางเหนือมากถึงจะเล่นได้หวานแบบพื้นเมืองแทัๆ คือต้องมีทักษะแบบคนเมือง เรื่องการฝึกหัดคิดว่าคงเหมือนกันกับเครื่องดนตรีอื่นคือต้องอดทนและอุตสาหะเพื่อให้เกิดความชำนาญและเรียนรู้เทคนิคต่างๆ ของเครื่องดนตรีแต่ละชิ้น

ส่วน ดร. เพลินใจ กุนทีกาญจน์ ผ.อ.ศูนย์วัฒนธรรมนั้น เล่าว่าสาเหตุที่อยากจะลองตั้งวงสะล้อ ซอ ซึง ขึ้นมาก็เพราะรู้สึกจับใจในความอ่อนหวานของเสียงดนตรีทางเหนือ กอร์ปกับคิดจะจัดแสดงวงดนตรีที่รวมทั้งสี่ภาค เรามีโปงลาง ปี่พาทย์และมโหรีแล้ว ขาดแต่ทางเหนือ พอดีปีที่แล้วทางศูนย์ฯ ได้ครูที่มีความรู้ทางเครื่องดนตรีสะล้อ ซอ และซึง จึงได้จัดตั้งขึ้น และดีใจที่ได้รับคำชมเมื่อวงได้ออกแสดง

จะไพเราะ หวาน และสวยงามอย่างไร ไปชมกันให้ได้นะคะ ในงานละครเวที เรื่องนางเสือง ในวันอาทิตย์ ที่ 13 ตุลาคม ศกนี้ สำหรับอาทิตย์นี้ลาไปก่อนนะคะ...สวัสดีค่ะ