บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



เที่ยวเมืองไทยปี พ.ศ. 2555
ตอน ตะลอนโรงพยาบาล (1)

ห้าเดือนเต็มที่ดิฉันไปใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงเทพมหานคร โดยจุดมุ่งหมายสำคัญคือใช้เวลาอยู่กับคุณแม่ที่อายุเก้าสิบสี่ปีเต็มในเดือนนี้ โดยที่คุณแม่ดิฉันป่วยกระเสาะกระแสะ แปลว่าเดี๋ยวก็ดีเดี๋ยวก็ไม่สบาย ในห้าเดือนที่ผ่านมาท่านเข้าโรงพยาบาลถึงสี่ครั้งด้วยกัน เรียกว่าเกือบจะทุกเดือนทีเดียว ทำให้ดิฉันต้องพาท่านเข้าๆออกๆโรงพยาบาลจนได้เรียนรู้ระบบและเรื่องราวที่คนแก่บ้านเราต้องเผชิญมามากมาย และบางเรื่องก็อยากจะนำมาเล่าสู่กันฟัง โดยที่เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ได้เล่าไปถึงเรื่องการเสาะแสวงหาคนมาดูแลผู้สูงอายุจากศูนย์เอกชน

ในวันนี้จะเล่าเรื่องการนำผู้ป่วยสูงอายุไปพบแพทย์ที่แผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลรัฐ ขั้นตอนวุ่นวายน่าเบื่อ น่าสลดอย่างไรบ้าง เชิญอ่านเป็นข้อมูลจากอีกหนึ่งมุมมองนะคะ ว่ามีอะไรที่พึงระวังและเตรียมตัวไว้บ้าง ซึ่งหากจะเขียนก็เขียนกันได้เป็นซี่รี่ส์แต่จะไม่เขียนให้ถึงกับยาวเหยียดแบบซี่รี่ส์เกาหลี แหม..ก็เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยมันไม่ใช่เรื่องสนุกแต่ประการใดนี่คะ

ปฐมบทแห่งการเจ็บไข้ของคุณแม่

“คุณแม่เข้าโรงพยาบาลทำไม”

เป็นคำถามที่โดนถามบ่อยที่สุด แหม..ก็แม่ดิฉันน่ะ เดือนนี้อายุปาเข้าไปเก้าสิบสี่ปีเต็มแล้ว หัวใจก็เริ่มจะถดถอย ทำอะไรนิดหน่อยก็เหนื่อย หัวใจ อุปกรณ์ขับเคลื่อนชีวิตก็เริ่มชำรุด เนี่ย..เป็นคำตอบภาษาชาวบ้านๆ เข้าใจไม่ยากประการฉะนี้ค่ะ หากอยากทราบภาษาแพทย์ท่านหาอ่านไม่ยากถ้าท่านเป็นนักท่องเน็ต เข้าไปในเว็บไซต์ของโรงพยาบาลรัฐบางเว็บ หรือโรงพยาบาลเอกชน (ทุกโรงพยาบาล) มีคำอธิบายโรคภัยไข้เจ็บให้อ่านมากมายค่ะ

คุณแม่ดิฉันเริ่มมีความดันโลหิตสูงเมื่ออายุปลายๆ แปดสิบ และปัจจุบันอยู่ในสภาวะหัวใจโต คุณหมอบอกเราว่า ณ วันนี้ หัวใจคุณแม่ทำงานได้เพียงสามสิบห้าเปอร์เซ็นต์ แต่เชื่อไหมคะ ท่านยังเคลื่อนไหวร่างกายได้ดี ยกเว้นเรื่องเดินไกลๆ สู้ไม่ไหวแล้ว สนใจแต่อ่านหนังสือดูโทรทัศน์ และประดิษฐ์ดอกไม้ซึ่งเป็นงานที่ท่านรัก (นำตัวอย่างงานฝีมือประดิษฐ์ของท่านมาให้ชมประกอบหนึ่งภาพค่ะ) ยังทำได้สวยงามอยู่ พร้อมๆ กับความจำเรื่องเก่าๆ ทุกเรื่องของลูกๆ หลานๆ ยังแจ๋ว

ดังนั้น หากหัวใจทำงานได้เพียงสามสิบห้าเปอร์เซ็นต์ ถามว่า ท่านอยู่ได้อย่างไร พวกเราลงความเห็น (กันเอง) ว่า “ได้ยาดี” ค่ะ..ได้ยาดีสองประการคือ

ข้อหนึ่ง เป็นความสามารถของทีมแพทย์ที่สั่งยาดีๆ ให้ท่าน และข้อสอง ได้ความอบอุ่นจากลูกๆ หลานๆ และสิ่งแวดล้อมที่ดีในบ้าน ยกความดีให้หลานชาย และหลานสาว ที่ยืนยันแบบว่าเป็นกระต่ายขาเดียวว่า ไม่ต้องการให้เราพาคุณยายไปพักฟื้นที่เนอสซิ่งโฮม เกรงว่าคุณยายจะทรุดฮวบลงไปต่อหน้าต่อตา แต่การให้คุณแม่อยู่ที่บ้านก็เป็นเรื่องไม่ง่ายนักเพราะเราหาคนมาดูแลที่บ้านยากมาก ซึ่งดิฉันก็เคยเล่าสู่กันฟังมาในคอลัมน์นี้เมื่อเดือนตุลาคมไปซีรี่ส์หนึ่งแล้ว

การพาคุณแม่ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลที่จะเล่าให้ฟังนี้มาจากประสบการณ์ดิฉันเท่านั้นนะคะ บางท่านอาจจะได้พบเห็นแตกต่างกันไปบ้าง ขึ้นอยู่กับว่าท่านไปรับบริการที่ใด อ้อ..ดิฉันขอสงวนนามโรงพยาบาลที่ไปใช้บริการนะคะ แหะ แหะ กลัวโดนน่ะค่ะ แต่รับรองว่าเป็นเรื่องจริงมิใช่ความคิด ...

แน่นอนว่าการพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลรัฐย่อมจะแตกต่างสุดขั้วกับโรงพยาบาลเอกชน และแน่นอนว่าสนนราคาบริการย่อมแตกต่างกันสุดขั้วเช่นกัน เรื่องเล่าต่อไปนี้ เหตุเกิด ที่โรงพยาบาลรัฐเขาล่ะค่ะ เอกสารเตรียมให้พร้อมนะคะ มิฉะนั้นเจ้าหน้าที่เธอ (หรือเขา) จะแว๊กใส่เราประหนึ่งเราเป็นลูกไล่เขานั่นเลย

เอกสารและความพร้อมในการ “รอ”

เตรียมนำใบนัดพบแพทย์ บัตรประจำตัวผู้ป่วย บัตรประจำตัวประชาชน บัตรประกันสังคม (ถ้ามี) ไปให้พร้อม คุณแม่ดิฉันต้องไปแผนกอายุรกรรม เมื่อไปถึงนำใบนัดให้เจ้าหน้าที่ แจ้งเขาว่าผู้ป่วยต้องการรถเข็น เขาก็จะนำมาให้ค่ะ ไม่มีปัญหา บริการค่อนข้างใช้ได้ นำใบนัดแพทย์ จากนั้นก็ไปกดบัตรคิว (เหมือนเวลาไปธนาคารน่ะค่ะ)

จากนี้ก็คือการรอที่น่าเบื่อหน่ายที่สุดเพราะโรงพยาบาลรัฐก็จะเหมือนกัน ที่นั่งมีน้อย ห้องนั่งรอก็คับแคบ นึก ภาพผู้สูงอายุที่นั่งแออัดเรียงรายกันซิคะ แต่ละคนนั่งกันอย่างซังกะตาย บางคนรอนานมากๆ พอไปไถ่ถาม ก็จะโดนโวยกลับ ด้วยคำตอบว่า เพราะว่าคิวมันยาวววว.. คนไข้แยะๆๆๆ แพทย์ไม่พออออ.. ว่าแล้วก็รอต่อไป จากเจ็ดโมงเช้า ไปจนได้เวลารับประทานอาหารกลางวัน ก็ยังไม่ถึงคิว เจ้าหน้าที่มาส่งเสียงแจ้งว่าให้ทุกคนไปหาอาหารกินก่อนค่อยกลับมา

กรณีของคุณแม่เรารู้อยู่แล้วว่าต้องเป็นเช่นนี้ เพราะว่าแพทย์เจ้าของไข้ของคุณแม่ท่านเข้าตรวจหลังบ่ายโมง รู้ทั้งรู้แต่ก็ต้องไปแต่เช้า (ก่อนเจ็ดโมงเช้า) เพราะว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามระเบียบของร.พ.(รัฐ) ทุกคนเท่าเทียมคือต้องไปกดบัตรคิว ยิ่งไปกดสายกว่าจะได้พบคงสี่โมงเย็นเป็นแน่แท้ และกว่าจะได้พบแพทย์ท่านนี้ก็เกือบบ่ายสองโมงเช่นทุกครั้ง เมื่อได้พบก็ใช่ว่าจะมีโอกาสซักถามแพทย์ถึงคำถามที่ค้างคาใจได้นานนะคะ มีคิวรอจากเราอีก ดังนั้นเจ้าหน้าที่จะมาเร่งแพทย์และเรา นี่แหละค่ะ เจ้าหน้าที่เป็นผู้คุมการตรวจแทนแพทย์ซะอีก เฮ้อ..มาแต่เช้าพบแพทย์ไม่ถึงยี่สิบนาที

เฮ้อ ! หนที่สอง..หลังพบแพทย์ก็ไปอีกตึก โน่น..ไปนั่งรอยาอีกเป็นชั่วโมง ได้ยาก็ไปจ่ายเงิน ซึ่งโชคดีที่คุณแม่เป็นข้าราชการสามารถเบิกได้เกือบหมด และเรื่องการเบิกจ่ายนี้เป็นระบบที่คงต้องขอชมเชยเพราะว่าเดี๋ยวนี้ผ่านกรมบัญชีกลางหมด ไม่ต้องจ่ายก่อนและนำใบไปเบิกที่หน่วยงานที่คุณแม่เคยรับราชการ

นี่แหละค่ะ ตัวอย่างเรียกน้ำย่อยของผู้สูงอายุในอเมริกาที่สนใจจะไปใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทย หากท่านจะใช้โรงพยาบาลรัฐ ก็เตรียมไว้เลยค่ะ

เตรียม สภาวะ “อดทนเป็นเลิศ” เพราะนี่คือคุณสมบัติที่ท่านจะต้องมี

คราวต่อไปจะเล่าถึงการใช้บริการโรงพยาบาลรัฐในฐานะผู้ป่วยใน คือเมื่อแพทย์แอตมิตให้คุณแม่เข้าโรงพยาบาล ขั้นตอนและบริการมีอย่างไรบ้าง ซึ่งดิฉันคิดว่าน่าจะมีข้อมูลและเหตุการณ์ที่บางท่านอาจจะไม่ทราบมาก่อน เชื่อว่าจะให้ประโยชน์ในบางแง่มุมกับผู้อ่านได้บ้างค่ะ


ฉบับนี้ขออำลาไปก่อนค่ะ
รายงาน January 19, 2013