บันทึกจากเบย์แอเรีย
เพ็ญวิภา โสภาภันฑ์



เที่ยวไทย ฤดูหนาว ๒๕๕๗ (ต่อ)
ละครเรื่อง อานุภาพแห่งความเสียสละ
แสดงโดยนักเรียนโรงเรียนพาทยกุล ตอนจบ

ขอรวบรัดเล่าเรื่องวันแสดงโดยไม่ต้องอารัมภบทนะคะ ต่อจากฉบับที่แล้ว เช้าของวันแสดงละคร ศุกร์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗ นักแสดงไปรวมตัวกันที่โรงละครแห่งชาติตั้งแต่เก้าโมงเช้า ผู้เขียน มีการจัดแถวและคิวการแสดงและซ้อมเสมือนจริงในการเข้าออกแต่ละฉาก นักแสดงน้องๆ และนักดนตรีเราต่างก็มีพี่เลี้ยงซึ่งเป็นครูและอาสาสมัครเพื่อนๆ ของครู ผู้เขียนเห็นแต่ละคนทำงานกันแบบทีมเวิร์กที่ดีมากๆ และเหนื่อยแทนไปด้วยสำหรับทีมที่ต้องดูแลนักแสดงตัวน้อยๆ จำนวนมาก ที่ต้องซักซ้อมกันหลายหนก็คือฟินาเล่ย์ที่ทุกคนจะต้องออกมาและพร้อมรับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะทรงเสด็จมาฉายพระรูปร่วมกับนักเรียนและนักแสดงทุกคน การจัดซ้อมคิวต่างๆ ผ่านพ้นไปด้วยดี ทำให้พวกเราเสร็จทันอาหารกลางวันและเตรียมพร้อมที่จะไปแต่งหน้าทำผมและแต่งตัว

ในการแต่งตัวนั้นก็ได้จัดโดยเป็นระเบียบที่ดี มีฝ่ายทำผมอยู่ด้านหนึ่ง ฝ่ายแต่งหน้าอยู่อีกด้าน และฝ่ายเสื้อผ้าอีกด้าน แต่ละฝ่ายมีหัวหน้ากลุ่มดูแลให้นักแสดงแต่งตัวตามรายการที่จะออกแสดง ใครเสร็จเรียบร้อยก็พักผ่อนนั่งคุยกันตามอัธยาศัย และช่วงนี้มีช่างภาพมืออาชีพมาถ่ายภาพกรุ๊ปและภาพเดี่ยวให้ตามที่นักแสดงได้ลงทะเบียนไว้ก่อนหน้านี้

ผู้เขียนรู้สึกทึ่งในความมีระเบียบของน้องๆ นักเรียนพาทยกุลที่ทุกคนรู้หน้าที่ ไม่เดินออกไปที่ไหน ไม่ไปที่เวที หากไม่มีการตามตัว มีหัวหน้ากลุ่มดูแลและนั่งอยู่กับนักแสดงตลอด น้องๆ ทีมงานนี้บางคนผู้เขียนก็รู้จักมาก่อนจากตอนน้องเขาไปแสดงที่ซานฟราน และก็ได้รู้จักน้องเพิ่มอีกหลายคน ล้วนแต่น่ารักและทำงานกันอย่างจริงจังค่ะ

อีกครึ่งชั่วโมงก่อนการแสดง ทีมงานก็มาตามตัวนักดนตรีที่จะบรรเลงเพลงโหมโรงมหาฤกษ์ที่จะแสดงเป็นฉากแรกไปเข้าฉาก ผู้เขียนเดินตามเด็กๆ ไปด้วยหัวใจตุ๋ม ตุ๋ม ต้อม ต้อม สุดจะประหม่าและตื่นเต้น แต่ก็คิดว่าเรามาไกลเกินถอยแล้ว อย่างไรก็จะต้องแสดงให้ดีที่สุด หากว่าจะมีการผิดพลาดก็คงจะแก้ไขไม่ได้เสียแล้ว


๑๖.๐๐ นาฬิกา

ฉากแรกเปิดขึ้นด้วยการแสดงของวงมหาดุริยางค์ไทย

เสียงฉิ่งเคาะจังหวะดังขึ้น “ฉิ่ง” นักดนตรีทุกคนถวายความเคารพ หยิบเครื่องดนตรี และแล้วเสียงเพลงโหมโรงสามัคคีชุมนุมก็ดังกระหึ่ม ผู้เขียนก้มหน้าก้มตาตีระนาด ด้วยความตั้งใจ มีบางช่วงตื่นเต้นตีไม่ทันแต่ก็ไม่ได้หยุดขยับมือให้ถูกทาง ...ไปรอด ..และเมื่อจบเพลง ฉิ่งขยับฉับฉับให้พวกเราก้มลงกราบถวายความเคารพอีกครั้ง ผู้เขียนใจตื้นตันเป็นอย่างยิ่งในตอนนั้น น้ำตาซึม.. ในที่สุดความฝันของนักดนตรีวัยดึกอย่างเรา ครั้งหนึ่งในชีวิต ก็ได้มีโอกาสแสดงต่อหน้าพระพักตร์เจ้าฟ้าที่เรารักและเทิดทูน พระองค์ท่านคือองค์อุปถัมภกของศิลปและวัฒนธรรมของชาติไทยจริงๆ

ขอขอบคุณ อาจารย์ บำรุง พาทยกุล ที่ให้โอกาสนี้่กับ “พี่แมว” ไม่มีวันลืมจริงๆ


การแสดงรำถวายพระพร

ลำดับต่อไป เป็นการแสดงรำพาทยกุลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณซึ่งเป็นการรำถวายพระพร สมเด็จพระเทพรัตนฯ ราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ตามด้วยละครปลุกใจรักชาติ เรื่อง “อานุภาพแห่งความเสียสละ” ซึ่งในการแสดงละครนั้น มีระบำประกอบด้วย ๕ ชุด ได้แก่ รำชุมนุมเผ่าไทย รำไทยผูกมิตร ระบำลิงน้อยและผองเพื่อน ระบำนกสามหมู่ และการแสดงชุดญีบา โดยมีผู้ดำเนินรายการคือ อาจารย์ ฤดีชนก คชเสนี และ นายณัฏฐ์ธวัช น้อยนิตย์

เรื่องย่อของ “อานุภาพแห่งความเสียสละ”

ฉากเปิดด้วยการฉายสไลด์และบรรยายเรื่องราว โดย ดร.ศุภชัย จันทร์สุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดง (นาฏศิลป์) พ.ศ. ๒๕๔๘ นำผู้ชมสู่เมืองเชียงแสนหลวง ริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่เริ่มด้วยระบำชุมนุมเผ่าไทย และเมื่อรำจบนักแสดงชุดนี้ก็พากันมาสนทนานำเข้าสู่ประวัติศาสตร์ไทยสมัยพ่อขุนเม็งราย เป็นการเกริ่นเริ่มละครอย่างน่าสนใจยิ่ง

เรื่องราวมีดังนี้...พ่อขุนเม็งราย แห่งเมืองเชียงราย ได้ประชุมปรึกษาราชการกับขุนฟ้า ขุนพัน และข้าราชการจำนวนหนึ่ง ถึงเรื่องที่พระองค์พยายามที่จะรวบรวมเขตแคว้นแดนไทย สร้างอาณาจักรไทยให้เป็นปึกแผ่นดั่งที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ได้สร้างอาณาจักรสุโขทัยให้มีหลักฐานมั่นคง แล้วพ่อขุนรามคำแหงก็ได้ครอบครองบ้านเมืองจนรุ่งเรืองสืบต่อมา พ่อขุนเม็งรายต้องการให้อาณาจักรสุโขทัยกับลานนาเป็นมิตรกัน เวลานั้นมีแต่หริภุญชัยที่ไม่ยอมรวมกับลานนา ด้วยเหตุว่าพญาญีบาผู้ครองหริภุญชัยยังไม่ยอม จึงให้ขุนฟ้าและขุนพันไปทำงานนี้ให้สำเร็จโดยไม่ต้องมีการรบให้เสียเลือดเนื้อ

ขุนฟ้าได้ไปฝากตัวกับพญาญีบา และได้พบจามรีสาวในวังหลวงและตกหลุมรักนาง จนเกือบจะละหน้าที่ ขุนพันเตือนสติขุนฟ้ามิให้รักผู้หญิงมากกว่าหน้าที่ราชการที่ได้รับมอบหมายมา ขุนฟ้ายอมเสียสละความรักของตนเพื่อหน้าที่ ในที่สุดพ่อขุนเม็งรายก็สามารถรวมเมืองหริภุญชัยมาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรลานนาโดยไม่เสียเลือดเนื้อ


ไฮไลท์ของการแสดงในวันนั้น

ในตัวบทของละครวันนั้นมิได้มีผู้แสดงมากนัก แต่ตัวละครแต่ละคนได้บทเจรจาสำคัญที่มีเนื้อหากินใจ ในวาจาเกี่ยวกับความเสียสละเพื่อชาติ ในความรักที่ไม่เห็นแก่ตนเอง ทุกคนทำงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ในที่สุดขุนฟ้าก็ได้ทำหน้าที่สำเร็จและยังได้ปรับความเข้าใจกับคนรัก เรียกว่าจบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งทุกประการ

ที่ผู้เขียนชอบก็คือฉากที่ขุนฟ้ากับจามรีนัดพบกัน ทั้งคู่สร้างมโนภาพแห่งความฝันร่วมกัน โดยจามรีฝันถึงเวลาที่จะได้สร้างชีวิตเหมือนนกที่สร้างรัง แล้วก็มีนกตัวเล็กๆ ออกมาแสดงรำ ซึ่งพอฟังเพลงแล้วก็รู้สึกชื่นชมท่านผู้ประพันธ์ว่าท่านช่างเปรียบเทียบธรรมชาติของนกทั้งสามหมู่นี้มาเป็นคติสอนใจได้ดีจริงๆ นกกระจาบ สร้างรัง นกพิราบ บินไปไหนก็ตามจะกลับถิ่นเสมอ นกแขกเต้าขยันอยู่กับเหย้า ดูแลรักลูกเป็นอย่างดี

ถามว่าทำไมชอบเพลงนกสามหมู่ ...เพราะแม่ผู้เขียนชอบร้องเพลงนี้ให้ฟังและยกคตินี้มาสอนเราด้วย (ผู้แต่งทำนองเพลงคือ อาจารย์มนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ สาขาดนตรีไทย พ.ศ. ๒๕๒๘)

นอกจากนี้ยังมีคำพูดปลุกใจให้รักชาติอยู่มากมายในการแสดง ดูแล้วซาบซึ้ง เลือดรักชาติเดือดพล่านอีกครั้ง ยกตัวอย่างค่ะ เช่นตอนเปิดฉากแรกที่มีเสียงประกอบภาพว่า

“ต้นไม้แห่งความรักชาติจะปลูกขึ้นในหัวใจคนไทยทุกคน” และตอนขุนพันเตือนขุนฟ้า ว่า

“เรื่องรักเป็นเรื่องธรรมดา ขออย่างเดียว อย่ารักผู้หญิงมากไปกว่าหน้าที่ราชการ” (อันนี้น้องนักแสดงเป็นขุนพัน เน้นเสียงและแสดงท่าได้ดีมากเลยค่ะ)

ในส่วนของระบำสลับฉากนั้น ระบำชุมนุมเผ่าไทย เป็นระบำที่สร้างสรรค์แสดงถึงอัจฉริยะของท่านผู้ประพันธ์ในด้านประวัติศาสตร์ไทยและสากลเป็นอย่างยิ่ง นอกจากจะให้เนื้อหาแล้วความไพเราะของทำนองเพลง ก็ยังเต็มไปด้วยความสวยงามของท่ารำ ไม่แปลกใจเลยว่าระบำชุดนี้จะเป็นที่นิยมในทุกสมัย ขนาดปัจจุบันต่อให้โลกเปลี่ยนไปเท่าใด ระบำชุดนี้เมื่อมีผู้นำมาแสดงก็ยังเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมเสมอ และแถมท้ายว่าผู้ขียนคิดว่าสิ่งที่มาเพิ่มเสน่ห์ให้กับ “ละครคุณหลวงวิจิตร” แทบทุกเรื่อง ก็คือการนำวงดนตรีดุริยางค์สากลมาบรรเลงเพลงไทยประกอบการแสดง ซึ่งผู้เขียนมองว่าทำให้ทำนองเพลงไทยเดิมมีความหนักแน่นเร้าใจ เหมาะกับการปลุกใจให้ฮึกเหิมไปกับการแสดงด้วย


ฉากสุดท้าย

ละครปิดฉากลงตรงที่ ขุนฟ้าแสดงโดย คุณตั๊ก นภัสกร มิตรธีรโรจน์ และจามรีแสดงโดย เฟิน มาดาพร น้อยนิตย์ ยืนคู่กันและพูดพร้อมกันว่า

“เราจะเป็นเพื่อนชีวิตกันที่ไม่มีวันแยกจากกัน ให้เราได้มีโอกาสสร้างชีวิตด้วยกันบนพื้นฐานของทัศนคติที่ดีงาม เหมือนหนึ่งว่าหัวใจสองดวงมาเต้นอยู่ในทรวงอกเดียวกัน”


จบลงด้วยเพลง “พุทธบูชา”

เสียงปรบมือกึกก้อง งดงามสวยงามทุกกระบวนการสร้างสรรค์ ค่ะ

ยิ่งเขียนก็คงจะยิ่งม้วนให้จบยากขึ้นทุกที เห็นจะต้องหยุดบรรยายเพราะหน้ากระดาษใกล้จะหมดโควต้า ขอมาลงตรงฟินาเล่ย์เลยนะคะ เมื่อละครฉากสุดท้ายจบลง พวกนักดนตรีนักแสดงทุกคนเตรียมพร้อมหลังเวที หัวหน้าทีมพาทุกคนเข้าแถวเรียงตามที่ได้ซักซ้อมไว้ในช่วงเช้า และเมื่อม่านปิดฉากสุดท้าย พวกเราก็เดินขึ้นเวทีและเข้าประจำที่นั่งเรียงตามที่ผู้กำกับสั่งไว้ เตรียมพร้อมเฝ้าทูลละอองพระบาท สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะเสด็จฯ ขึ้นบนเวทีเพื่อฉายพระรูปร่วมกับนักแสดง ซึ่งนั่นเป็นวินาทีที่ผู้เขียนรอคอย และแล้วนาทีนั้นก็มาถึง เมื่อพระองค์ท่านเสด็จฯ ขึ้นมาบนเวที นักแสดงทุกคนถวายความเคารพ ใต้ฝ่าละอองพระบาททอดพระเนตรมายังนักที่อยู่บนเวทีและแย้มพระสรวลก่อนที่จะประทับเก้าอี้ และเมื่อเราได้รับสัญญาณเราก็พร้อมโพสต์ท่า ผู้เขียนมิได้มองกล้องแต่มองไปที่สมเด็จพระเทพฯ ที่ทรงประทับเก้าอี้ แม้จะเห็นแต่เพียงด้านหลังของพระองค์ท่านก็ปลื้มใจแบบว่าอธิบายไม่ถูก สมเด็จพระเทพฯ ที่ผู้เขียนรักและเทิดทูน ท่านประทับอยู่ตรงหน้าเรานี้เอง.. “สุขใจ” เสียจริงๆ...ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

ณ เวลานั้นผู้เขียนก็ได้ยินแต่เสียงกดชัตเตอร์ เห็นแสงแฟลชวูบวาบสว่างทั่วเวที และสว่างไปถึงหัวใจผู้เขียน และเมื่อการฉายพระรูปเสร็จสิ้น พระองค์ทรงทักทายนักแสดงก่อนที่จะเสด็จฯ ลงจากเวทีและเสด็จพระราชดำเนินออกนอกโรงละคร ภาระหน้าที่ของทุกคนในที่นั้นก็เสร็จสิ้น ทุกคนเริ่มขยับตัวและทักทายกันเอง

บนเวทีมีแต่บรรยากาศชื่นมื่น ผู้ชมพากันวิ่งตรูขึ้นมาแสดงความยินดีและถ่ายภาพที่ระลึกกับนักแสดง นับเป็นความรู้สึกประทับใจสุดๆ นับเป็นความสำเร็จที่ได้รับเสียงปรบมือกึกก้อง น่าภูมิใจแทนคณะผู้จัดเป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียนไม่ได้อยู่บนเวทีนานเนื่องจากเกรงใจน้องสาวและน้องชายที่มานั่งรอหลังเวที ก็เลยเลี่ยงออกมาเปลี่ยนเสื้อผ้า ร่ำลาพร้อมกอดน้องนักดนตรีรุ่นผู้ใหญ่ที่ได้มาสนิทสนมกันช่วงแสดงไม่กี่วันแต่เสมือนผูกพันกันมานาน

ลาก่อนวันเวลาอันล้ำค่าที่ในประเทศไทยกับละครเรื่องอานุภาพแห่งความเสียสละ

ในที่สุดละครปลุกใจให้รักชาติ ละครพันทางตามแบบฉบับของ ฯพณฯ ท่าน พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ก็กลับมาผงาดบนเวทีละครอันทรงเกียรติของประเทศไทยอีกครั้ง ด้วยความสำเร็จอันน่าภาคภูมิใจแทนยิ่ง

ขอจบบันทึกถึงการไปชมละคร (และได้ร่วมเป็นส่วนเล็กๆ ในการแสดงดนตรีหนึ่งเพลง) เรื่อง อานุภาพแห่งความเสียสละ แต่เพียงเท่านี้ค่ะ หากว่าการเขียนมีผิดพลาดในด้านข้อมูลไปบ้าง (เพราะงานนี้มีมานานแล้ว แต่เพิ่งมีโอกาสเขียนถึง) รวมทั้งในการใช้ราชาศัพท์ก็ต้องขออภัยผู้รู้ไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

จะเป็นไปได้ไหมหนอ ที่ละครเรื่องนี้จะได้รับการสนับสนุนให้มาแสดงในสหรัฐอเมริกาแห่งนี้...ฝากเรื่องกับใครดีคะนี่..

พบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดีค่ะ