ท่องไปในซานฟรานฯ
นายรุงรัง



กินน้อยตายยาก กินมากตายเร็ว

หรือหากพูดถึงเรื่องการ "อดอาหาร" ในมุมมองของ "เอนไซม์" การอดอาหารคือกระบวนการประหยัดเอนไซม์ในการย่อยอาหาร และทำให้เมตาบอลิกเอนไซม์ซึ่งหน้าที่ในการฟื้นฟูร่างกาย ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และสร้างภูมิต้านทานนั้น ไม่ต้องมาช่วยย่อยอาหารในช่วงระหว่างการอดอาหาร เมตาบอลิกเอนไซม์จึงหันมาฟื้นฟูร่างกาย ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอได้มากขึ้น

ในการอดอาหารมีศัพท์ที่ใช้กันอยู่ 2 คำ คือ การอดอาหารแบบการควบคุมปริมาณแคลอรี่ (Calorie restriction) กับอีกคำหนึ่งทีเรียกว่า การอดอาหารแบบไม่มีการย่อยอาหารเป็นช่วงเวลา (Intermittent Fasting) ซึ่งมีงานวิจัยที่น่าสนใจหลายชิ้นที่คิดว่าผู้อ่านจะได้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีคุณค่าเหล่านี้

พ.ศ. 2477 Mary Crowell และ คลิฟ แมคเคย์ Clive MacCay แห่งมหาวิทยาลัย คอร์เนลล์ มลรัฐนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้สังเกตว่า กลุ่มหนูตัวอย่างที่มีการอดอาหารโดยให้เลี้ยงอาหารด้วยการควบคุมลดปริมาณแคลอรี่ในสารอาหารอย่างต่อเนื่อง ผลปรากฏว่าหนูที่ควบคุมลดปริมาณแคลอรี่นั้นมีอายุยืนกว่าหนูที่กินตามปรกติเกือบ 2 เท่าตัว

พ.ศ. 2529 Weindruch ได้รายงานการอดอาหารแบบควบคุมปริมาณแคลอรี่ในหนูนอกจากจะพบว่าสามารถเพิ่มอายุขัยตามสัดส่วนในการควบคุมอาหารของหนูแล้ว ยังพบว่าหนูที่อดอาหารแบบควบคุมปริมาณแคลอรี่ยังมีรูปลักษณ์ที่อ่อนวัยกว่าหนูที่กินตามปรกติอีกด้วย

พ.ศ. 2531 ภาควิชาสูตินารีเวชวิทยา ศูนย์การแพทย์แห่งโรงพยาบาล Mount Sinai มหานครชิคาโก มลรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้นำหนูทดลองมา 48 ตัว แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 24 ตัว กลุ่มแรกให้อดอาหารแบบวันเว้นวัน อีกกลุ่มหนึ่งให้กินอาหารทุกๆวัน จากนั้นได้มีการฉีดเซลล์มะเร็งเต้านมให้กับหนูทุกตัว เมื่อผ่านไป 10 วันพบว่า หนูที่อดอาหารตายไป 12 ตัว (คิดเป็นอัตราการรอดใน 10 วัน ร้อยละ 50) ในขณะที่หนูที่ไม่ได้อดอาหารตายไปถึง 21 ตัว (คิดเป็นอัตราการรอดใน 10 วัน เพียงร้อยละ 12.5)

แต่งานวิจัยที่หลายคนเฝ้ารอนั้นคือการทดลองในลิง เพราะถือว่าลิงมีความใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด และต้องติดตามผลระยะเวลายาวนานที่สุด นั่นก็คือการทดลองของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน มลรัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ได้ทดลองในกลุ่มลิงวอก (Rhesus monkeys) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 โดยแบ่งเป็นลิงที่กินอาหารปกติ 9 ตัว และ อีก 11 ตัว ควบคุมและให้อดอาหาร โดยให้อาหารน้อยกว่าลิงอีกกลุ่มหนึ่ง 30% และการทดลองดังกล่าวได้ใช้เวลาติดตามผลนานถึง 23 ปี จึงได้ออกรายงานเมื่อ ปี พ.ศ. 2552 ว่าการอดอาหาร พบว่าลิงที่มีการอดอาหารมีอายุยืนกว่าลิงที่กินอาหารตามปกติ

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555 สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institute for Health) ได้ออกรายงานความเห็นที่ไม่สอดคล้องว่าการอดอาหารทำให้ลิงอายุยืน แต่ก็มีการศึกษาที่ตรงกันกับรายงานของมหาวิทยาลัยวิสคอนซินว่า โรคที่เกิดขึ้นตามวัย อันได้แก่ โรคเบาหวาน โรคข้ออักเสบ โรคลำไส้โป่งพอง และ โรคหลอดเลือด พบว่าลิงวอกที่กินอาหารปกติจะเป็นโรคเหล่านี้ก่อนลิงที่มีการอดอาหาร อย่างไรก็ตามทางสถาบันสุขภาพแห่งชาติให้ข้อสังเกตุนี้ว่ายังไม่ถึงขั้นเห็นผลทางสถิติชัดเจนอย่างมีนัยสำคัญ แต่นักวิจัยของสถาบันสุขภาพแห่งชาติพบว่าลิงที่มีการอดอาหารนั้นสามารถลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

เรื่องการอดอาหารจึงเป็นเรื่องที่ยังต้องมีรายละเอียดอีกมากในตอนต่อๆไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอดอย่างไร นานแค่ไหน และแบบใดจะเหมาะกับมนุษย์มากที่สุด