ซุปเปอร์แพท
ปิยะพัชรี ศิลปี



สูงวัยอย่างมีสง่า ควรทำอย่างไร

สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่านแฟนคลับทุกท่าน วันนี้ขอแนะนำตัวคอลัมน์น้องใหม่ของนสพ.ไทยแอลเอ "ซุปเปอร์พัช วาไรตี้" Super Pat Variety โดยดิฉัน ปิยะพัชรี ศิลปี หรือ Super Pat เจ้าเก่าจาก นสพ.เสรีชัย ได้ย้ายมาพบกับคุณๆผู้อ่านแฟนคลับในบ้านใหม่ฉบับนี้นะคะ เราจะพบกันทุกวันเสาร์ ด้วยบทความที่มีสาระเต็มไปด้วยความสุขสนุกสนาน หากคุณผู้อ่านมีคำแนะนำดีๆมีคำติชมอย่างไร โปรดแจ้งให้ทราบจะเป็นประโยชน์ต่อท่านเองและดิฉันผู้เขียนเป็นอย่างมากค่ะ

ฉบับนี้เรามาเริ่มพูดคุยกันถึงเรื่อง "แก่อย่างมีสง่า ควรทำอย่างไร" กันเป็นน้ำจิ้มอร่อยสมองกันเถอะนะคะ

ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่รวมอยู่ในกลุ่มสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวแล้ว ทำให้จำเป็นต้องศึกษาหาความรู้เพื่อรับมือกับชีวิตอย่างมีคุณภาพด้วยการอ่านเยอะๆ ฟังเยอะๆ เรียนรู้ทุกครั้งที่มีโอกาส ทำให้เราฉลาดทันคน มีหู ตา กว้างไกล ดังคำเปรียบเปรยที่ว่าไว้ไม่มีใครแก่เกินเรียน

ทำอย่างไรจึงจะอยู่อย่างไม่ลำบากทั้งใจและกาย

หากไม่อยากลำบากใจ ต้องทำตัว เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ หมายถึง ปิดหู ปิดตา เสียบ้าง

ส่วนไม่อยากลำบากกายโดยเฉพาะตอนสูงวัยต้องวางแผนอนาคตให้ตัวเองอย่างไร

การที่เป็นคนรักการอ่านทำให้ไปเจอบทความดีๆจากข้อเขียนของ ชลลดา อิงศรีสว่าง

เรื่อง รวยก่อนแก่ หรือแก่ก่อนรวย ยังเป็นปัญหาที่ขบไม่แตกเมื่อประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวในอีกไม่นานนี้ ธนาคารโลกระบุว่า ในไทยมีผู้สูงวัยอายุ 65 ปีขึ้นไปมีจำนวนกว่า 10% หรือมากกว่า 7 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นถึง 17 ล้านคน ภายในปี 2583 ซึ่งมากกว่า 1 ใน 4ของประชากรไทยทั้งหมด เมื่อรวมกับประเทศจีนแล้วประเทศไทยจะมีสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และคาดว่าจะมีสัดส่วนมากเป็นลำดับแรกของภูมิภาคภายในปี 2583การย้ำเตือนบ่อยๆ ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็เพื่อที่จะให้คนไทยเตรียมพร้อมที่จะแก่อย่างสง่า มีเงินออมไว้ใช้ยามชราโดยไม่เดือดร้อน ไม่ใช่กลายเป็นสูงวัยแต่ไม่รวยลองคิดดูว่าถ้าวันนี้เราเป็นผู้สูงอายุที่ไม่ต้องดูแลใครและไม่มีใครมาดูแลเรา เราจะต้องใช้เงินเดือนละเท่าไรถึงจะ “พออยู่ได้”

จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ครั้งล่าสุดในปี 2557 ซึ่งอาจเป็นข้อมูลที่ล้าสมัยไปหน่อย แต่ก็พอจะบอกได้ว่าฐานะการเงินของผู้สูงอายุไทยเป็นอย่างไร ผลสำรวจระบุออกมาว่าผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ “เดือดร้อนทางการเงิน”มากนัก เพราะ 62% บอกว่ามีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย และอีก 1.9% บอกว่ามีเกินพอ เบื้องหลังความเพียงพอส่วนใหญ่น่าจะเป็นเพราะลูกหลานช่วยกันดูแล เพราะ 36.7% ของผู้สูงอายุมีรายได้จากลูกหลาน และอีก 33.9% มาจากการทำงาน แต่ถ้าเราเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกไม่มีหลาน แถมยังไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใครและไม่ได้ทำงานแล้ว เราจะยังเป็นผู้สูงอายุที่มี “รายได้เพียงพออยู่ได้หรือไม่”

ภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เคยทำการวิจัยจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าครัวเรือนที่มีสมาชิกคนเดียว และมีอายุ 55 ปีขึ้นไป หรือจะเรียก “สูงวัยไร้ญาติ” มีตั้งแต่ยากจนไปจนถึงร่ำรวย แต่เมื่อหาค่าเฉลี่ยออกมาแล้ว ผลที่ได้คือถ้าอายุ 55-59 ปี จะใช้จ่ายกันต่ำที่สุดเดือนละ 5,679 บาท (ไม่รวมค่ารักษาพยาบาล เพราะใช้สวัสดิการของรัฐ หรือมีประกันสุขภาพ) ส่วนใช้จ่ายสูงสุดจะอยู่ที่เดือนละ21,541 บาท ซึ่งกลุ่มนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะยังทำงานได้หากเกษียณอายุ 60 ปี

เมื่อขยับขึ้นมาเป็นกลุ่ม “สูงวัยอย่างเต็มตัว” อายุ 60-64 ปี กลุ่มนี้จะมีค่าใช้จ่ายเดือนละ 4,374 บาท ดูจะไม่สูงมาก แต่วัยนี้ส่วนใหญ่จะไม่ได้ทำงานประจำแล้ว รายได้จึงไม่สูงและรายจ่ายก็ไม่สูงเช่นกันเมื่ออายุขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ เงินที่เคยพอใช้อาจจะกลายเป็นไม่พอใช้ เพราะรายได้ที่เคยเก็บออมไว้เมื่อทำงานเริ่มไม่เพียงพอที่จะดำรงชีวิต เนื่องจากโดนเงินเฟ้อเล่นงานทำให้ระดับราคาสินค้าปรับฐานสูงขึ้นไปเรื่อยๆถ้าอยากจะใช้ชีวิตสบายๆ ในบั้นปลายชีวิต นักการเงินระบุว่า ในแต่ละเดือนเราควรมีเงินไว้ใช้จ่ายประมาณ 70% ของที่เราเคยใช้ในช่วงก่อนเกษียณ หลังจากเดาจำนวนเงินที่ต้องใช้ในแต่ละเดือนแล้ว ก็ค่อยมาคิดว่าจะมีอายุยืนยาวกันกี่ปี

แต่คำที่เค้าแนะนำมาท้ายสุด ผู้สูงวัยที่อยากอยู่อย่างมีคุณภาพ ควรมีกลุ่มมีเพื่อน ไม่โดดเดี่ยว มีกิจกรรมต่างๆให้ทำ

ออกกำลังกาย เต้นรำ ร้องเพลง เดินทางท่องเที่ยวเปิดหูเปิดตา เข้าวัด เข้าโบสถ์ เข้ามัสยิด อย่างใดอย่างหนึ่งที่เหมาะสมกับศักยภาพของตัวเอง

วันนี้เขียนบทความให้อ่านกันแค่นี้ก่อนนะคะเพราะเนื้อที่มีจำกัด เนื่องด้วยมีรูปประกอบมาให้ดูเพลินตาเพลินใจกันด้วย