ซุปเปอร์แพท
ปิยะพัชรี ศิลปี



แอลเอ โดนคลื่นความร้อนกระทบหนัก...

ร้อน..ร้อน..ร้อน..ร้อนกันมั้ยคะ

วันที่เขียนบทความนี้ คือวันที่ 5 กันยายน September 5, ตรงกับวันหยุด แรงงาน ของประเทศอเมริกา อากาศร้อนม๊าก ซึ่งยังอยู่ในช่วงปลายฤดูร้อน เริ่มเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ปีนี้ทางรัฐแคลิฟอร์เนียภาคใต้ ที่เราอาศัยอยู่แถบเมือง แอลเอ และใกล้เคียง ถูกลมร้อนปลายฤดูโถม ให้มีอุณหภูมิความร้อนสูงขึ้นถึง 100 กว่าองศาฟาเรไฮท์ จากอากาศปกติทั่วๆไปจะอยู่ที่ 70 – 80 องศาเท่านั้น

รัฐบาลได้ออกมาเตือนประชาชนให้ระวังสุขภาพ เกี่ยวกับความเจ็บป่วยที่มีผลมาจากความร้อน เช่น ไข้ขึ้น โรคแพ้แดด โรคตะคริวแดด โรคเพลียแดด ฯลฯ ซึ่งอาจเป้นอันตรายต่อชีวิตได้ อีกทั้งยังส่งผลกระทบถึงระบบพลังงาน ไฟฟ้า ที่มีโอกาสใช้มากขึ้นกว่าปกติ

อุณหภูมิสูง ตั้งแต่ 104 - 122 ๐F ในแต่ละปีผู้คนทั่วโลกจำนวนหลายหมื่นคนที่เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับความร้อน (Heat-related illness) หรือจากการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเพิ่มของอุณหภูมิที่สูงขึ้นสู่ระดับที่ร้อนจัดอย่างฉับพลันได้ ทำให้คนเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตจากการนี้ได้ นอกจากนี้เรายังพบอีกว่าในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อน ประชาชนใช้พลังงานในอัตราสูงขึ้นมาก เนื่องจากต้องใช้เครื่องปรับอากาศเพื่อช่วยทำความเย็น ส่งผลให้บางพื้นที่ประสบกับปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า และทำให้เกิดผลกระทบอื่น ๆ อย่างต่อเนื่องตามมา

นอกจากคลื่นความร้อนจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของมนุษย์แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ รวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย โดยผลพวงจากการที่อากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้นทำให้สัตว์เจ็บป่วยหรือล้มตายเช่นเดียวกับมนุษย์ ส่วนพืชก็ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดี และถ้าพื้นที่มีสภาพแห้งแล้งและอุณหภูมิสูงมากอย่างต่อเนื่อง พืชก็อาจตายไต้ในที่สุด ในหลายพื้นที่มีรายงานว่า คลื่นความร้อนได้ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายในปริมาณมาก รวมถึงมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ อันอาจนำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนอาหารของมนุษย์ได้ นอกจากนี้ ความแห้งแล้งและอากาศที่ร้อนจัดของคลื่นความร้อนยังเป็นปัจจัยทำให้เกิดไฟป่าได้โดยง่าย และอาจเกิดขึ้นได้อย่างรุนแรง จนสร้างความเสียหายทั้งต่อสิ่งแวดล้อม ชีวิตและทรัพย์สิน จากผลกระทบทั้งหมดที่กล่าวมา จึงเห็นได้ว่าปรากฎการณ์คลื่นความร้อนได้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมมูลค่ามหาศาล

การดูแลตัวเพื่อหลีกเลี่ยงภัยคลื่นความร้อน ทำได้โดยพยายามอยู่ในที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ใช้กำลังมากกลางแดดที่ร้อนจัด ดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอไม่ปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสวมใส่เสื้อผ้าหลวม ๆ เพื่อให้ร่างกายระบายเหงื่อได้ดีหากมีอาการโรคตะคริวแดด (Heat cramp) ซึ่งแสดงอาการปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่บริเวณหน้าท้องและขา อุณหภูมิร่างกายจะเปลี่ยน เหงื่อจะออกมาก ร่างกายจะกระหายน้ำและหัวใจเต้นเร็ว ควรบรรเทาอาการโดยรีบเข้าที่ร่ม และดื่มน้ำและเกลือแร่ หรือหากเป็นโรคเพลียแดด (Heat exhaustion) ซึ่งมีอาการ อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด ความดันต่ำ และอุณหภูมิของร่างกายอาจเพิ่มสูงได้ ถ้าผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง ควรปฐมพยาบาลโดยให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในที่เย็นสบาย ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ให้ดื่มน้ำและเกลือแร่ แต่ในกรณีคนไข้ที่มีอาการรุนแรงต้องนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

ในกรณีเกิดโรคลมแดด (Heat stroke) ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลางที่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นกว่า 105 ๐F ผู้ป่วยจะต้องหยุดทำกิจกรรมต่าง ๆ ทันที และควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยด่วน เนื่องจากอาการอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตโรคลมแดดมีอาการเบื้องตันคล้ายกับโรคเพลียแดด แต่อาจมีอาการรุนแรงเพิ่มเติม เช่น ไม่มีเหงื่อออก หัวใจเต้นผิดจังหวะ หายใจเร็ว เพ้อ ซักไตล้มเหลว มีการตายของเซลล์ตับรวมถึงมีการบวมของปอดจากการคั่งของของเหลว ช็อค หมดสติ และเกิดการล้มเหลวในการทำงานของอวัยวะต่าง ๆการปฐมพยาบาลผู้ป่วยเบื้องต้นสามารถทำได้โดยรีบนำผู้ป่วยเข้าที่ร่มให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้างเพื่อให้เลือดหมุนเวียนไปเลี้ยงสมองได้ และใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตามตัวโดยเฉพาะตามข้อพับต่าง ๆ ร่วมกับการใช้พัดลมเป้า เพื่อช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกายให้เร็วที่สุด

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ที่ https://magazine.ipst.ac.th/

ฝากรูป คลายลมร้อนมาให้ดู เย็นๆใจ

ด้วยรักและปรารถนาดี จาก Super Pat (323)702-0788