ซุปเปอร์แพท
ปิยะพัชรี ศิลปี



โรคข้อสะโพกเสื่อม ใน น้องหมา

วันนี้ พาน้องปุกปุยไปผ่าตัดเอาหัวกระดูกสะโพกออก โดยคุณหมอสัตวแพทย์ DR. Patricia Simmon ที่ Simmon Veterinary Surgical เมือง Sherman Oaks เพราะน้องเป็นโรคข้อกระดูกเสื่อมมาหลายปีแล้ว (สุนัขพันธ์ปอมเมอเรเนี่ยน ส่วนใหญ่ จะมีจุดอ่อนตรงโรคนี้กัน) หม่ามี้ Super Pat ตัวดีไม่ยอมพาไปให้หมอผ่าตัดแต่เนิ่นๆ เพราะสงสารกลัวน้องเจ็บ อีกทั้งน้องเป็นหมากระเป๋า จะถูกอุ้มและอยู่ในกระเป๋าตลอดเวลา จึงไม่ค่อยได้เดิน เหมือนหมาตัวอื่นๆ หลายๆคนแนะนำว่า น้องหมาตัวเล็ก ถ้าผ่าตัดดมยาสลบอาจไม่ฟื้น ทำให้กลัวจะเสียเธอไปจึงลังเลๆ ทั้งๆที่หมอก็แนะนำให้ผ่าตัด จึงทำให้อาการกระดูกสะโพกเสื่อมกำเริบ ถึงขนาดน้องใกล้เป็นอัมพาต ลุกเดินเหินไม่ค่อยจะได้ เพราะอาการแย่ลงทุกวัน ประจวบกับอายุเยอะ ปีนี้ เธออายุ 12 ปี แล้ว หม่ามี้ ทนเห็นเธอเดินไม่ค่อยได้ เจ็บปวดที่ใจจี๊ดๆ เลยฟันธง นัดหมอผ่าตัด เป็นไร เป็นกัน

ก่อนผ่าตัด พาน้องไปทำสปา ตัดผม ตัดเล็บ แคะหู สีฟัน สะอาดสะอ้าน เตรียมตัวผ่าตัดอย่างดี จะได้ดูแลง่าย หลังผ่าตัดออกมาแล้ว

นัดหมอวันพุธที่ 10 พฤษภาคม 8.00 โมงเช้า ปรากฎว่าเกิดการเข้าใจผิดกับทางคลีนิค กลายเป้นวันอังคารที่ 9 แทน ??? กำลังนอนสบายๆ ทางคลีนิคโทรมาว่า เตรียมห้องผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว อ้าวววเป็นงงงง ต้องรีบตาลีตาเหลือก พาน้องปุกปุย ไปหาหมอ เช็คอินตอน 9 โมงครึ่ง ดีนะ ที่น้องไม่ได้ทานอาหารหลังเที่ยงคืน หลังจากนั้นหมอให้ไปรับเมื่อตอน บ่าย 2.30 pm. หมอบอก การผ่าตัดทุกอย่างผ่านพ้นไปด้วยดี น้องปุกปุยมีสุขภาพดีมาก ตอนหมออุ้มออกมา น้องมองตาบ้องแบ๊ว พอเห็นหม่ามี้ เธอครวญครางอ้อนแม่ ทำให้หมอหัวเราะ เพราะน้องเพิ่งฟื้นจากสลบ แผลผ่าตัดนิดเดียว ยังชาอยู่ ยังไม่รู้สึกเจ็บหรอก หาว่าเธอขี้อ้อน คงจะฟ้องว่า หมอทำเธอเจ็บ

หมอให้ยามา 3 ชนิด 1..ยาแก้ปวด Tramadol 50mg. ทานทุก 24 ชั่วโมง ชนิดเดียวกับตอนหม่ามี้ผ่าสะโพกเมื่อ 4 ปีที่แล้ว 2..ยาลดไข้ แก้อักเสบ แก้ระบม Meloxicam 1.5mg ทานทุก 8 ชั่วโมง 3...ยาแก้อาการวิตกกังวล ตื่นตกใจ Trazadone 50mg ทานเมื่อมีอาการ

ขอให้น้องหายเร็วๆ หวังว่าอีกสักพักน้องคงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เดินคล่อง แต่ต้องดูสะโพกข้างขวาว่าจะอาละวาดป่ะ หาไม่ต้องผ่าตัดสะโพกอีกข้าง ช่างเลียนแบบ หม่ามี้ ที่ผ่าตัดเปลี่ยนสะโพกทั้ง 2 ข้างมาแล้ว ราคาค่าผ่าตัดวันนี้รวมทุกอย่าง $3,000 นับว่าราคายุติธรรม บริษัทประกันสุขภาพ Embrace ที่ประกันมา 7 ปีแล้ว จะจ่ายค่าผ่าตัดคืน ให้ 80%

บรรดา คุณๆที่เป็นทาส สุนัข แมว โปรดทราบ ถึงอาการ โรคข้อกระดูกสะโพกเสื่อม (Hip dysplasia) กันเป็นความรู้ คอยสังเกตุ เจ้านาย 4 ขา ของทุกคนกันให้ดี โรคนี้เป็นโรคที่พบได้ในสุนัขทุกสายพันธุ์ โดยโรคนี้เกิดจากความผิดปกติของการเจริญของข้อต่อบริเวณสะโพกซึ่งก่อให้เกิดการเสื่อมของข้อต่อตามมาได้ในอนาคต เมื่อสุนัขเริ่มมีปัญหาข้อสะโพกเสื่อมจะทำให้เขาเกิดการเจ็บปวดตามข้อต่อต่าง ๆ ในร่างกายจนส่งผลกระทบให้สุนัขมีอาการเดินผิดปกติ รวมถึงมีความสนใจในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ลดลง

เอ๊ะ! แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสุนัขของเราเริ่มมีอาการโรคข้อสะโพกเสื่อมหรือยัง? สิ่งที่เจ้าของน้องตูบหลาย ๆ ท่านควรทำคือสังเกตความผิดปกติสุนัข หากเขามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป เริ่มไม่อยากลุก ไม่อยากเดิน นอนเยอะเพราะไม่อยากเคลื่อนไหวร่างกาย ไม่อยากลงน้ำหนักที่ขา ไม่มีความสุขในการทานอาหาร หรืออาจมีอาการอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ร่วมด้วย หากสังเกตแล้วพบว่าน้องหมาของใครแสดงอาการดังที่กล่าวไป ก็ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการเบื้องต้น

วิธีการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อมในสุนัข

สำหรับวิธีการรักษาโรคข้อสะโพกเสื่อม น.สพ.บูรพงษ์ สุธีรัตน์ (หมอตั๋ง) สัตวแพทย์แผนกระบบกระดูกและข้อต่อโรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน ได้ให้คำแนะนำว่า วิธีการรักษามีทั้งวิธีที่ต้องผ่าตัดและแบบที่ไม่ต้องผ่าตัด การพิจารณาเลือกวิธีการรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค อายุ และสุขภาพของสุนัข ซึ่งจะมีการแบ่งลักษณะอาการร่วมกับการเอ็กซเรย์เพื่อวินิจฉัยว่าปัญหาเกิดจากส่วนไหน โดยวิธีรักษามี 2 วิธี ดังนี้

1.การกินยา: การรักษาด้วยวิธีนี้ สุนัขจะได้ยาลดปวด ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากอาการของเขาได้ หลังจากทานยาเจ้าของควรสังเกตว่าน้องหมาเดินได้ดีขึ้นไหม หรือทำกิจกรรมอื่นเป็นอย่างไร ถ้าเขาดีขึ้นอาจใช้วิธีอื่นร่วมประกอบในการรักษาด้วย เช่น ลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย ควบคุมปริมาณอาหารและน้ำหนักตัว ฯลฯ กล้ามเนื้อของเขาก็จะแข็งแรงขึ้นโดยที่หมอไม่ต้องผ่าตัด แต่หากสุนัขไม่อยากเดินเขาก็จะออกกำลังกายได้ไม่ค่อยดีนัก เจ้าของหลาย ๆ ท่านจึงอาจจะพาเจ้าตูบไปว่ายน้ำแทนได้ อาการต่าง ๆ ก็จะดีขึ้น ถ้าให้ยาควบคู่กับการออกกำลังกายแล้วดีขึ้น น้องหมามีการเคลื่อนไหวที่มากขึ้น พาเขาออกเดินเล่นได้บ้าง ก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด

2.การผ่าตัด: หากให้ยาแล้วไม่ดีขึ้นในสิบวันหรือสองอาทิตย์ การผ่าตัดจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ดูแล โดยจะมีวิธีผ่าตัด 2 แบบ คือ

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก: การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกใหม่เพื่อทำให้การรับน้ำหนักและการใช้ขาของสุนัขกลับมาเป็นปกติ จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและช่วยให้น้องหมาเคลื่อนไหวหรือเดินได้สะดวกขึ้น ช่วยให้เขามีความมั่นคงในการใช้ขาทุกส่วน ส่วนใหญ่วิธีนี้จะเห็นผลภายใน 2-3 วัน หลังผ่าตัด น้องหมาจะเริ่มมีความสุขและกินข้าวเยอะขึ้น แต่ข้อเสียคือเจ้าของต้องดูแลเยอะหลังผ่าตัดในช่วงเดือนแรกและค่าใช้จ่ายสูง

ผ่าตัดหัวกระดูกออก: การผ่าตัดวิธีนี้อนุโลมให้สุนัขที่หนักน้อยกว่า 17 กิโลกรัมเท่านั้น เนื่องจากสุนัขต้องใช้กล้ามเนื้อสะโพกในการรับน้ำหนัก หากกล้ามเนื้อน้องหมาไม่แข็งแรงก็อาจจะเดินยากหรือเดินไม่ได้ หลังผ่าตัดจึงต้องพาน้องมาทำกายภาพเพื่อให้เขาใช้ขาได้เร็วที่สุด หากผ่าตัดวิธีนี้จะไม่สามารถบอกได้ว่าสุนัขจะใช้ขาเดินได้เมื่อไหร่ เพราะผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับการดูแลและการทำกายภาพบำบัด

การทำกายภาพบำบัดหลังการผ่าตัด: หลังจากรักษาด้วยการผ่าตัด ในช่วงเดือนแรกเจ้าของไม่ควรให้น้องหมาวิ่งหรือกระโดด อาจพาเขาเดินได้สั้น ๆ เมื่อกล้ามเนื้อทั้งหมดเริ่มมั่นคงจึงค่อยปล่อยให้เขาได้เดินหรือใช้ชีวิต อีกทั้งเจ้าของสุนัขควรมีการควบคุมน้ำหนักตัว ควบคุมปริมาณอาหาร และพาเขาออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เช่น ว่ายน้ำ เดินเล่น ฯลฯ “การกายภาพบำบัดเป็นสิ่งจำเป็นมากหลังจากผ่าตัดเอาหัวกระดูกออก มันคือการฟื้นฟู ไม่ว่าจะเป็นการว่ายน้ำ การนวด การอัลตร้าซาวด์ การใช้เลเซอร์ หรือการช็อตไฟฟ้าบริเวณกล้ามเนื้อ เพื่อเขากลับมาใช้ขาได้เร็วที่สุด”

การทำกายภาพบำบัดร่วมกับการออกกำลังกายจะช่วยสุนัขเคลื่อนไหวได้ตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกลุกนั่ง การกระตุ้นไฟฟ้า การนวดอัลตร้าซาวด์ หรือการเลเซอร์ลดความเจ็บปวด ข้อดีของการรักษาโดยการกายภาพบำบัด คือ เป็นวิธีที่มีผลข้างเคียงน้อย สามารถลดความเจ็บปวดได้ดี ทำให้สุนัขเวลาที่เราป่วยหรือไม่สบาย การผักผ่อนร่างกายถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สำหรับสุนัขเองก็เช่นกัน ผู้เลี้ยงจึงควรใส่ใจดูแล ให้ความรักกับน้องหมาเยอะ ๆ เพราะจะช่วยให้สุนัขมีกำลังใจและฟื้นตัวได้เร็วขึ้นหลังการผ่าตัด น้องหมาก็เหมือนเพื่อนสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัว เพราะฉะนั้นอย่าลืมศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในการดูแลเพื่อให้น้องหมาแข็งแรงอยู่กับเราไปได้อีกนานกันนะคะกลับมาเดินได้ดีอีกครั้งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

น้องปุกปุยเป็นลูกสาวคนหนึ่งที่รักมากที่สุด ต้องขอบคุณน้องที่ให้ความสุขมาตลอดที่เราอยู่ด้วยกัน น้องเจ็บเท่าไร หม่ามี้ย่อมเจ็บกว่าแน่นอน จะขอดูแลน้องตลอดไป ขอให้น้องหายเร็วๆ รักมากที่สุด

ด้วยรัก และ ห่วงใย จาก Super Pat (323)702-0788