ซุปเปอร์แพท
ปิยะพัชรี ศิลปี



Spring Forward, Fall Back ปรับเวลาในอเมริกา

อาจเขียนบทความนี้ช้าไปสักนิด แต่ยังนับได้ว่าอาจเป็นประโยชน์ให้คุณผู้อ่านได้บ้างไม่มากก็น้อย – เราเพิ่งฉลองวันฮอลโลวีนกันไป เมื่อวันเสาร์ที่ 31 ตุลาคมแต่ปีนี้ไม่คึกคักเท่าที่ควร การเดินขบวนพาเหรดหลายแห่งต้องถูกยกเลิก การจัดงานตามสถานที่ต่างๆก็ไม่มีที่จัด เพราะเป็นช่วงกักเก็บตัวไม่แพร่และรับเชื้อโรคร้ายแรงจากโควิด พอคืนวันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน 2563 เป็นวัน Daylight Saving Time ที่ทุกคนต้องปรับเวลานาฬิกาช้าลง 1 ชั่วโมงตอน ตี 2 ตามที่สื่อต่างๆเค้าประกาศกันแล้ว หาไม่คุณจะไปก่อนเวลาคนอื่น 1 ชั่วโมงเป็นแน่ มาถึงเหตุผลว่า ทำไมต้องปรับเวลา Daylight Saving Time กันด้วย มาอ่านไว้เป็นความรู้กันค่ะ

ในประเทศอเมริกาที่กว้างใหญ่ นอกจากจะแบ่งเป็นหลาย Time Zone ให้สับสนกันแล้ว ยังมีการใช้ระบบการปรับเวลา (Daylight Saving Time หรือ DST) ปีละ 2 ครั้งอีกด้วย

การปรับเวลา (Daylight Saving Time หรือ DST) คืออะไร?

ในวันอาทิตย์ เวลา 2:00 AM 2 วันต่อปี เพื่อปรับเวลาในเวลาตีสอง โดยปรับไปข้างหน้า 1 ชั่วโมงในฤดูใบไม้ผลิ (Spring Forward) และปรับย้อนกลับ 1 ชั่วโมงในช่วงฤดูใบไม้ร่วง (Fall Back) มีเพียงรัฐ Arizona (ยกเว้น Navajo), Hawaii, American Samoa, Guam, the Northern Mariana Islands, Puerto Rico และ the United States Virgin Islands ที่ไม่มีการปรับเวลา DST

ทำไมต้องปรับเวลา?

เพราะว่าในประเทศที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ และไม่ได้อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรป และบางประเทศในแอฟริกา ไม่ได้รับแสงแดดตลอดทั้งปี ทำให้ช่วงฤดูร้อนจะรู้สึกพระอาทิตย์ขึ้นเร็ว และตกช้า มีเวลาระหว่างวันที่ยาวนานกว่าฤดูหนาวที่เช้าแล้วยังรู้สึกมืดอยู่ และพระอาทิตย์ตกดินเร็ว การปรับเวลาเพิ่มขึ้น และลดลงนี้จึงช่วยประหยัดพลังงาน และช่วยในการดำรงชีวิตประจำวัน

ตัวอย่างเช่น

• สมมุติในฤดูร้อน พระอาทิตย์ขึ้น 5:00 AM ก่อนปรับเวลาผู้คนตื่นนอนเวลา 6:00 AM แต่หลังปรับเวลาไปข้างหน้า 1 ชม. เวลานอนจึงหายไป 1 ชั่วโมง ผู้คนต้องตื่นเร็วขึ้น (เสมือนตื่น 5:00 AM) ทำให้มีเวลาทำกิจกรรมระหว่างวันมากขึ้น

• ในฤดูหนาว พระอาทิตย์ขึ้น 7:00 AM เด็กนักเรียนต้องมายืนรอรถโรงเรียนตั้งแต่ 6:30 AM ฟ้ายังมืดอยู่เลย แถมอากาศก็หนาว ดังนั้นการปรับเวลาย้อนหลังไป 1 ชั่วโมง ทำให้ผู้คนมีเวลานอนมากขึ้น (เสมือนออกมารอรถตอน 7:30 AM ซึ่งพระอาทิตย์ขึ้นแล้ว)

ใครคือผู้คิดค้นแนวคิดการปรับเวลานี้?

ในปีค.ศ.1905 William Willett ชาวอังกฤษได้เสนอแนวคิดให้ปรับนาฬิกาไปข้างหน้า 80 นาที ในระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนตุลาคม เพื่อให้ทุกคนได้ใช้เวลากับแสงแดดในฤดูร้อนมากขึ้น แต่เขาก็เสียชีวิตลงก่อนที่จะได้เห็นความฝันของเขาเป็นจริง สิบปีต่อมา วันที่ 30 เมษายน 1916 ประเทศเยอรมันเป็นประเทศแรกที่ประกาศใช้ระบบปรับเวลานี้ ตามมาด้วยประเทศอังกฤษในอีก 2 อาทิตย์ถัดมา

ทำไมต้องปรับเวลาตอนตีสองวันอาทิตย์?

เพราะเวลา 2:00 AM คือช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังนอนหลับ หากปรับตอนเช้าวันจันทร์ ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นสัปดาห์ อาจจะเกิดความโกลาหล และทำให้ไปทำงาน หรือไปโรงเรียนสายได้

ทั้งนี้เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ และนาฬิกาดิจิตอล จะปรับเวลาให้โดยอัตโนมัติ แต่ถ้าหากเป็นนาฬิกาอะนาล็อค เจ้าของนาฬิกาก็ไม่จำเป็นต้องตื่นมาปรับเวลาตอนตีสอง แต่ให้ปรับไว้ตั้งแต่ก่อนเข้านอนเลย หรือบางคนจะชอบปรับตอนเที่ยงคืน ทีนี้ก็เข้านอนได้อย่างสบายใจไม่ต้องกลัวตื่นผิดเวลา (เครดิต Au Pair Nice in USA)


คนอเมริกันคัดค้านมากขึ้นเรื่องการปรับเลื่อนเข็มนาฬิกาปีละสองครั้ง

The clock tower at the Trump International Hotel at daybreak in Washington, March 9, 2018. This weekend marks the switch to daylight saving time when this and most for the rest of the clocks in the U.S. will need to be set forward an hour.


ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อเมริกาเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตเหนือเส้นศูนย์สูตร และทุกปีเมื่อย่างเข้าฤดูใบไม้ผลิ ซีกโลกด้านเหนือก็จะเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ใกล้กว่า เป็นผลให้ซีกโลกนี้ได้รับแสงจากดวงอาทิตย์ยาวนานกว่าในแต่ละวัน เมื่อเทียบกับช่วงฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว

จากความเป็นไปตามธรรมชาติที่ดำเนินมาหลายล้านปีแล้วนี้ เมื่อปี 2509 รัฐสภาสหรัฐได้ออกกฎหมายฉบับหนึ่งชื่อ Uniform Time Act of 1966 กำหนดให้มีการปรับเข็มนาฬิกาในช่วงย่างเข้าฤดูใบไม้ผลิ เพื่อให้มีจำนวนชั่วโมงของการรับแสงสว่างมากขึ้นในตอนกลางวัน และสอดคล้องกับภาวะธรรมชาติ

โดยคนอเมริกันในเกือบทุกรัฐมีหน้าที่ต้องเลื่อนเข็มนาฬิกาให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมงในตอนต้นปี คือช่วงฤดูใบไม้ผลิ และปรับเลื่อนให้ช้าลง 1 ชั่วโมงในช่วงปลายปีเมื่อย่างเข้าฤดูหนาว

การปรับเวลาของเข็มนาฬิกาเพื่อใช้ประโยชน์จากแสงของดวงอาทิตย์ในช่วงกลางวันเพื่อช่วยประหยัดพลังงานที่ว่านี้ มีผลต่อเวลาในสหรัฐเท่านั้นไม่ได้เปลี่ยนเวลามาตรฐาน Greenwich หรือเวลา UTC แต่อย่างใด

ในขณะนี้แม้จะมีการปฏิบัติดังกล่าวมานานหลายสิบปีแล้วก็ตาม แต่ก็มีเสียงคัดค้านแนวทางปฏิบัติเรื่องการปรับเลื่อนเข็มนาฬิกาปีละสองครั้ง โดยมีเสียงเรียกร้องให้ไม่ต้องปรับเข็มนาฬิกาและใช้เวลามาตรฐานเดียวกันตลอดทั้งปี

ผู้ที่คัดค้านบางส่วนชี้ว่า การเลื่อนเข็มนาฬิกาให้เร็วขึ้นในช่วงต้นปีก่อนเข้าฤดูใบไม้ผลิ สร้างปัญหาให้กับเด็กนักเรียนมัธยมที่ต้องออกไปยืนท่ามกลางความหนาวเพื่อรอรถโรงเรียนในช่วงที่เวลาธรรมชาติยังมืดอยู่ แต่เวลาตามเข็มนาฬิกานั้นเช้าแล้ว

นอกจากนั้นยังมีการอ้างสถิติทางการแพทย์และสุขภาพด้วยว่า อัตราการเกิดหัวใจวายมักจะสูงขึ้นราว 10% ในช่วงสองสามวันแรกของการปรับเข็มนาฬิกาให้เร็วขึ้นในตอนต้นปี รวมทั้งยังมีความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพราะคนทำงานต้องออกไปขับรถบนถนนเร็วขึ้น 1 ชั่วโมงตามเข็มนาฬิกาแม้ว่าแสงสว่างโดยรอบยังไม่เพียงพอ

ในขณะนี้ยังไม่มีสิ่งบ่งชี้ใดๆ ว่ารัฐสภาสหรัฐจะออกกฎหมายแก้ไขกฎหมายเดิมเรื่องนี้ เพราะการปรับเข็มนาฬิกาปีละสองครั้งนี้มีเหตุผลสำคัญเรื่องการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการมีแสงสว่างในช่วงระหว่างวันมากขึ้น

แต่สำหรับผู้นำสหรัฐเอง ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ทวีตความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน โดยระบุว่าตนนั้นเห็นด้วยเรื่องการไม่ต้องปรับเข็มนาฬิกากลับไปมาตลอดทั้งปี

พอจะทราบถึงที่มาที่ไปของการปรับเวลา กันบ้างแล้วนะคะ จะได้มีสิ่งใหม่เพิ่มในวงสนทนาของคุณคราวหน้า (ขอบคุณข้อมูลจากอินเตอร์เน็ท) ด้วยรักและปรารถนาดีจาก Super Pat (323)702-0788