ซุปเปอร์แพท
ปิยะพัชรี ศิลปี



เตรียมพร้อม ก่อนพาสัตว์เลี้ยงออกเดินทางท่องเที่ยว

วันนี้จะคุยกับคุณแฟนคลับเรื่อง น้องหมา น้องแมว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตครอบครัวของหลายๆคนเช่นดิฉัน คนรักสัตว์จะมีการดูแลสัตว์ มากน้อยขึ้นอยู่กับดีกรีของความเป็นอยู่ในแต่ละครอบครัว บางคนเลี้ยงสัตว์แบบตามมีตามเกิด ปล่อยปละละเลย เพราะทำตามกันมาตามความเคยชิน ให้ข้าวให้น้ำ ให้ที่พักอาศัย เหมือนเป็นส่วนหนึ่งในบ้าน แต่มีอีกหลายๆคนที่เลี้ยงแบบคนใกล้ชิด เป็นลูกเป็นหลาน เลี้ยงแบบเลี้ยงคน ดูแลเอาใจใส่ อาหารการกิน แต่งตัว ที่หลับที่นอน พูดคุยด้วยความรัก ไม่คิดว่าเค้าเป็นสัตว์สี่เท้า เลี้ยงแบบเลี้ยงลูกตัวเองก็ว่าได้ อิ..อิ.. ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่เข้าข่ายนี้ค่ะ

เวลาดิฉันไปท่องเที่ยวก็จะนำพาน้องหมาพันธ์ปอมเมอเรเนี่ยนที่เลี้ยงมาตั้งแต่ยังเล็กจน อายุ 10 ปี แล้ว (ซึ่งตัวเธอไม่เคยคิดว่าเธอเป็นน้องหมา ) ไปด้วยเกือบแทบทุกครั้ง ขึ้นเขาลงห้วย นั่งรถไฟ เครื่องบิน ล่องเรือสำราญไปมาหมดแล้ว เรามีความสุขมากมายด้วยกัน จากประสบการณ์ที่พาน้องหมาเที่ยว ด้วยการค้นคว้าว่าควรทำอย่างไรที่จะให้เกิดผลดีกับทริปของเรา ให้น้องหมาและตัวเรามีความสุขโดยไม่เป็นภาระยุ่งยาก จึงค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากสัตวแพทย์ นโยบายของการคมนาคม เว็บไซด์ของรัฐบาล บทความจากอิเนเตอร์เน็ท จนทำให้การเดินทางกับน้องหมาของดิฉันผ่านพ้นไปด้วยดี จึงขอนำบทความเข้าใจง่ายๆมาแบ่งปันคุณแฟนคลับที่เป็น Pet Lover อย่างดิฉันมาฝากก่อนคุณๆจะพาน้องๆออกเดินทาง

วิธีเตรียมความพร้อมพาสัตว์เลี้ยงไปเที่ยว เหล่าสาวก Pet Lover ที่อยากพาสัตว์เลี้ยงติดสอยห้อยตามไปเที่ยวด้วย ต้องมาดูเคล็ดลับเตรียมความพร้อมกันหน่อย

สำหรับคนที่มีสัตว์เลี้ยงแสนรักหากอยากเที่ยวต่างจังหวัดหรือเที่ยวไกลถึงต่างประเทศ แต่ก็สงสารสัตว์เลี้ยง กลัวว่าถ้าทิ้งเขาให้เฝ้าบ้านจะทำให้เขาเหงาเอาได้ หลายคนเลยตัดสินใจหิ้วเจ้าสี่ขาขนปุยทั้งน้องหมาหรือน้องแมวไปเที่ยวด้วยซะเลย แต่ก่อนจะออกเดินทางท่องโลกกว้างอย่างสุขใจ ลองมาดูวิธีเตรียมพร้อมก่อนพาเจ้าสี่ขาร่วมทริปเที่ยวกับเราอย่างปลอดภัยก่อนดีกว่าค่ะ

1. พาหนะของสัตว์เลี้ยงต้องปลอดภัย

พาหนะหรือที่เรียกว่า กรงหรือคอกใส่สัตว์เลี้ยงเพื่อให้หิ้วไปไหนมาไหนด้วยง่าย ๆ จำเป็นต้องถูกตรวจสอบก่อนว่ามีความแข็งแรง ทนทาน กันกระแทก และกว้างขวางพร้อมทั้งมีรูระบายอากาศให้สัตว์เลี้ยงด้วยหรือเปล่า แต่หากคุณต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน ควรตรวจสอบก่อนว่า ข้อกำหนดในการนำสัตว์เลี้ยงโดยสารไปด้วยนั้นมีอะไรบ้าง เช่น กรงบรรจุสัตว์เลี้ยงต้องถูกต้องตามข้อกำหนดของสายการบินทุกระเบียดนิ้ว เป็นต้น

2. ติดป้ายชื่อกันหลงหาย

เมื่อออกนอกสถานที่ เจ้าสี่ขาของเราจะคึกคักเป็นพิเศษ ซึ่งอาจทำให้เจ้าของกับสัตว์เลี้ยงพลัดหลงกันได้ ดังนั้นเพื่อความรอบคอบ ควรติดป้ายชื่อสัตว์เลี้ยงที่บอกรายละเอียดเกี่ยวกับเจ้าของ ทั้งชื่อ ที่อยู่ เบอร์ติดต่อ และอีเมลเอาไว้ให้เรียบร้อย เผื่อสัตว์เลี้ยงพลัดหลงกับคุณเข้า ผู้ที่พบเห็นผ้ายชื่อที่ห้อยคอสัตว์เลี้ยงอยู่ จะได้นำสัตว์เลี้ยงของคุณมาส่งคืน

3. เพิ่มมาตการความปลอดภัยระหว่างทางด้วยสายรัดเข็มขัด

สำหรับคนที่พาสัตว์เลี้ยงขึ้นรถไปไหนมาไหนด้วยกันตลอด อาจจะต้องหาเบาะนั่งในรถสำหรับสัตว์เลี้ยง หรือสายรัดเข็มขัดสำหรับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะมาใช้สักหน่อย ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองและของสัตว์เลี้ยงเองด้วย เพราะระหว่างทางที่เรากำลังขับรถอยู่อาจมีบางช่วงที่ต้องเบรกอย่างแรง สัตว์เลี้ยงอาจทรงตัวไม่อยู่ เคลื่อนไปกระแทกกับส่วนของรถหรือตกเบาะเอาได้ หรือในกรณีที่คุณกำลังขับรถอย่างระวัง แต่เจ้าสี่ขาจอมซนมาพัวพันปีนป่าย ก็อาจนำไปสู่อุบัติเหตุได้เช่นกัน

4. ขวดน้ำหมาแมว สิ่งที่ขาดไม่ได้

ในระหว่างวันน้องหมาและน้องเหมียวของเราต้องการน้ำไม่ต่างจากคนเลยนะคะ ฉะนั้นเมื่อจะหอบหิ้วเขาเดินทางไปเที่ยวกับเราด้วย อย่าลืมขวดน้ำสำหรับน้องหมาน้องแมวเด็ดขาด เติมน้ำสะอาดไปให้เต็มด้วยก็ดีค่ะ เมื่อน้องหมาน้องแมวหิวน้ำเมื่อไรจะได้เลียกินน้ำได้เลยทันที ไม่ต้องกลัวน้ำจะหกเลอะรถด้วย

5. กล่องยาสามัญสำหรับสัตว์เลี้ยง

ยาสามัญสำหรับสัตว์เลี้ยงเป็นอะไรที่ขาดไม่ได้เช่นกัน และต่อให้คุณไม่คาดคิดและไม่อยากให้น้องหมา น้องแมวเจ็บป่วยระหว่างทริปเลย แต่ยังไงก็ควรเตรียมยาสามัญสำหรับเจ้าสี่ขาติดไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นยาใส่แผล คอตตอนบัด ยาทาแก้ฟกช้ำ แมลงสัตว์กัดต่อย หรือยาถอนพิษต่าง ๆ ก็ควรนำติดไปด้วย เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินจะรักษาเขาในเบื้องต้นได้ทันที

6. ของเล่นของเจ้าสี่ขาจอมซน

ครั้นจะปล่อยให้สัตว์เลี้ยงเดินเล่นหรือนั่งเฉย ๆ เจ้าสี่ขาคงเบื่อหน่ายแย่เลยเนอะ ฉะนั้นก่อนจะออกเดินทางอย่าลืมตรวจสอบด้วยว่า ได้หยิบของเล่นของน้องหมาน้องแมวติดกระเป๋ามาด้วยหรือเปล่า แล้วในระหว่างเดินทางจะหยิบของเล่นออกมาเล่นกับเขาด้วยก็คงเพลินดีทั้งคนทั้งหมาแมวเลยล่ะค่ะ

7. กระบะทรายอันเล็กสำหรับเดินทาง

กระบะทรายอันเล็กกะทัดรัดเป็นอุปกรณ์ที่ควรมีติดรถไว้ด้วย เพราะหากระหว่างทางน้องแมวเกิดอยากเข้าห้องน้ำขึ้นมา จะได้นั่งขับถ่ายได้อย่างสบายใจ รวมทั้งคุณเองก็ไม่ต้องกลัวรถจะเปรอะเปื้อน หรือกลัวน้องแมวจะกระโจนหนีหายไปในระหว่างที่พาเขาลงไปขับถ่ายข้างทาง แต่ทั้งนี้ควรตั้งวางกระบะทรายให้รัดกุม ไม่ขยับเขยื้อนไปไหนได้โดยง่ายด้วยนะคะ หรือจะใช้วิธีเททรายแมวลงไปเล็กน้อยเพื่อกันทรายกระฉอกก็ได้

ส่วนน้องหมาเจ้าของอาจจะต้องจับสังเกตเองว่าเขาจะอยากขับถ่ายตอนไหน แล้วจึงค่อยจอดรถข้างทางเพื่อให้เขาทำธุระส่วนตัว หรือหากคุณแน่ใจว่าฝึกน้องหมาเรื่องขับถ่ายให้เป็นเวลามาดีอยู่แล้ว ก็คอยเช็กเวลาพาเขาไปเข้าห้องน้ำให้ดี ๆ ล่ะ

8. เสริมเบาะรองนั่งให้น้องหมา

น้องหมาของบางบ้านอาจจะเป็นพันธุ์ใหญ่ ไม่สามารถนั่งในตระกร้าหรือเบาะนั่งสำหรับสัตว์เลี้ยงได้ จึงจำเป็นต้องนั่งบนเบาะรถยนต์เหมือนเรา ๆ ซึ่งในกรณีนี้คุณควรหาซื้อเบาะรองนั่งแบบเปลือย ๆ ลักษณะคล้ายผ้าคลุมเบาะกันเปื้อนมาวางให้เขานั่งไปพลาง ๆ ก่อน เป็นการป้องกันคราบเปื้อนและขนสัตว์ติดเบาะรถยนต์ได้อีกทาง

9. ฝังไมโครชิพให้สัตว์เลี้ยง

การฝังไมโครชิพเข้าไปภายใต้ผิวหนังของสัตว์ก็เพื่อระบุข้อมูลของสัตว์ตัวนั้น ๆ รวมทั้งเอาไว้สืบค้นเมื่อเกิดกรณีสุนัขหายด้วย โดยไมโครชิพจะมีรหัสเป็นตัวเลขอยู่ด้วยกัน 15 หลัก ตามมาตรฐานสากลโลก รหัส 3 ตัวแรกจะเป็นรหัสประเทศที่สัตว์อยู่ ส่วนรหัสอีก 12 ตัวที่เหลือจะเป็นรหัสข้อมูลที่ไม่ซ้ำกัน เพื่อให้บ่งชี้ที่มาที่ไปของสัตว์ได้โดยง่าย

ทั้งนี้การฝังไมโครชิพลงไปในผิวหนังสัตว์จะไม่ก่อให้เกิดอัตรายกับสัตว์เลี้ยงแม้สักนิดค่ะ แต่ในไมโครชิพจะอัดแน่นไปด้วยข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ตั้งแต่ชนิดของสัตว์ พันธุ์ สี/ลักษณะ อายุ เพศ ตำหนิ รวมทั้งข้อมูลอื่น ๆ ในกรณีที่สัตว์ถูกขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง และนอกจากนี้ก็ยังมีข้อมูลเจ้าของทั้งชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และช่องทางติดต่ออื่น ๆ พร้อมกับมีชื่อสถานพยาบาลและหน่วยงานผู้ฝังไมโครชิพลงไปในตัวสัตว์เลี้ยงด้วยนะคะ โดยค่าใช้จ่ายในการฝังไมโครชิพสัตว์เลี้ยงต่อตัวที่อเมริกานี้มีบางแห่งทำให้ฟรี และที่เมืองไทยจะตกอยู่ที่ประมาณ 600 บาทเท่านั้น

เตรียมตัวทั้งคนและสัตว์เลี้ยงให้พร้อมร่วมทริปเที่ยวไปกับเราด้วยวิธีง่าย ๆ แค่นี้ ก็ได้ไปเที่ยวด้วยกันอย่างสุขใจและปลอดภัยแล้วค่ะ ลองพาน้องหมาน้องแมวไปเที่ยวด้วยกัน จะพบความสุขมากมายเลยค่ะขอขอบคุณบทความจากกระปุกดอ็ทคอม มา ณ.ที่นี้ด้วย

ด้วยรักและปรารถนาดีจาก Super Pat (323)702-0788