สวัสดีค่ะ ฉบับนี้ เอาประสบการณ์ จริงที่หลายๆคนคงเคยประสบมา และบังเอิ๊ญ บังเอิญ ดันมาเกิดกับตัวเองอย่างจัง จึงนำมาแบ่งปันกันไว้เป็นอุทาหรณ์ หาทางรับมือ ป้องกัน และ นำมาเผยแพร่เป็นความรู้ให้กับผู้อ่านทุกๆคน
พฤติกรรมใส่ร้ายป้ายสีคืออะไร? การใส่ร้ายป้ายสี คือ การกระทำที่จ้องทำลายผู้อื่นในทางร้ายด้วยใจอคติ โดยอาจแสดงผ่านการพูด การเขียน หรือการแสดงกิริยาต่างๆ โดยสิ่งที่พูดหรือเขียนหรือแสดงออกไปนั้นมักเป็นสิ่งทีบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง ใส่สีตีไข่ เพื่อทำให้ชื่อเสียงของคนอื่นเสียหาย บางกรณีอาจมุ่งหมายถึงให้พินาศวอดวายไปก็มี ย่ำยีคนอื่น ให้ตัวเองดูดี
พฤติกรรมของคนที่ชอบใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นคือ ชอบนินทาว่าร้าย ใส่ความ สร้างเรื่องราวต่างๆ ที่ไม่จริง เพื่อทำลายชื่อเสียงของคนอื่นด้วยความสะใจของตนเอง โดยทำทั้งต่อหน้าและลับหลัง บางคนไม่ได้ใส่ร้ายคนอื่นเพียงแค่คำพูด แต่อาจลามไปถึงการเขียนบัตรสนเท่ห์ เขียนโจมตีทางเว็บไซต์ด้วย
สาเหตุของการเป็นคนที่ชอบใส่ร้าย ได้แก่
1. เป็นคนอิจฉา ริษยา เห็นคนอื่นได้ดีแล้วมีความรู้สึกไม่พอใจ เกิดรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ อยากจะเป็นหรืออยากจะมีเหมือนกับคนอื่น
2. เคยเป็นคนที่ล้มเหลวมาก่อน คนที่ชอบใส่ร้ายผู้อื่นมักเป็นคนขี้น้อยใจ เพราะรู้สึกว่าตนเองต่ำต้อยกว่าผู้อื่นอยู่เสมอ ด้วยสาเหตุที่เคยล้มเหลวในชีวิตมาก่อน เช่น เคยสอบตกหรือสอบไม่ผ่านมาก่อน เคยไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตการทำงาน มีชีวิตแต่งงานที่ล้มเหลว เมื่อเห็นคนที่ดีกว่าหรือประสบความสำเร็จมากกว่า จึงทำให้รู้สึกเจ็บปวด ทนไม่ได้จนหาทางกลั่นแกล้งใส่ร้ายเพื่อให้คนๆ นั้นล้มเหลวเหมือนอย่างกับที่ตัวเองเคยประสบมา
3. เป็นคนมีปมด้อย ไม่ว่าจะเป็นปมด้อยเรื่องความรู้สึก เช่น ขาดความรักเพราะมาจากครอบครัวที่แตกแยกไม่อบอุ่น พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน หรืออาจเป็นคนที่มีปมด้อยทางร่างกาย เช่น โดนล้อตั้งแต่เด็กๆว่าอ้วน พูดไม่ชัด ติดอ่าง พิการ ไม่หล่อ ไม่สวย หรือมีปมด้อยทางสติปัญญา เช่น เรียนไม่เก่ง สอบตกๆ หล่นๆ ทำให้เกิดความฝังใจว่าตนเองด้อยกว่าผู้อื่น จึงทำให้เกิดมีนิสัยอิจฉาริษยาชอบใส่ร้ายป้ายสีคนที่ดีกว่าตนเองเพื่อความสะใจอยู่เสมอ
มารู้จักคนขี้อิจฉากันว่ามีพฤติกรรมอย่างไร มาเช็กลิสต์แต่ละข้อไปพร้อมกัน แบบข้อดังต่อไปนี้หรือไม่อย่างไร
1. ชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น หากคุณเป็นคนชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เช่น เพื่อนสอบได้คะแนนได้มากกว่า คนอื่นได้เงินเดือนเยอะกว่า หรือแม้แต่เห็นเพื่อนในเฟซบุ๊ก ใช้ชีวิตหรูหรากินอยู่เที่ยวสบาย แล้วรู้สึกไม่พอใจ ออกอาการเบะปากมองบน และเกิดความกระวนกระวาย ว่าทำไมเราไม่ได้ไม่มีแบบนั้นบ้าง นั่นแหละหมายความว่า เป็นคนเข้าข่ายขี้อิจฉาแล้ว เพราะอย่างไรก็ดีเราควรพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี และพัฒนาปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น ดีกว่าเอาเวลาไปอิจฉาตาร้อนคนอื่น
2. ชอบเอาชนะ มาถึงข้อที่สองที่จะทำให้รู้ได้ว่า คุณเป็นคนขี้อิจฉาหรือไม่ นั่นก็คือ คุณต้องสำรวจตัวเองว่าเป็นคนชอบเอาชนะคนอื่นด้วยมั้ย กล่าวคือเมื่อใดก็ตามที่คุณเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นแล้ว ความอยากจะเอาชนะ หรือความอยากมีอยากได้ให้เหนือกว่า มันก็จะพุ่งพล่านขึ้นมาด้วยเช่นกัน ดังนั้นถ้าคุณมีอาการแบบนี้ ที่รู้สึกว่าไม่ได้แล้วถ้าใครมีฉันก็ต้องมี โดยไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนของตัวเอง แบบนั้นก็เรียกได้ว่าคุณเข้าข่ายเป็นคนขี้อิจฉาอีกระดับหนึ่งแล้วล่ะ
3. มองคนอื่นในแง่ลบ ชอบวิจารณ์และนินทา นอกจากลักษณะข้างต้นแล้ว สิ่งต่อไปที่ค่อนข้างการันตี ถึงไฟความอิจฉาในตัวคุณได้เป็นอย่างดี ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องการเป็นคนช่างเม้าท์ และมักมองคนอื่นในแง่ลบ โดยในที่นี้ยังหมายถึงการพูด ในเชิงวิจารณ์หรือดูถูกอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนซื้อรถคันใหม่แล้วโพสต์ลงในโซเชียล ซึ่งนั่นก็เป็นความภาคภูมิใจของเขา แต่คุณกลับไม่ได้รู้สึกยินดีและแถมยังหมั่นไส้อีก จึงเอาเรื่องดังกล่าวมาวิจารณ์ในทำนอง กู้เงินมาซื้อรึเปล่า? เงินพ่อแม่ล่ะสิ? เป็นต้น
4. ไม่ชอบหน้าใครแบบไม่มีเหตุผล อันนี้ค่อนข้างเข้าข่ายมีปัญหาทางสุขภาพจิตหน่อยแล้ว เพราะการที่จะไม่ชอบหน้าใครได้ มันต้องมีเหตุผลกันบ้าง ไม่ใช่อ้างว่าก็ไม่ชอบหน้า เลยรู้สึกขัดหูขัดตาไปซะหมด ไม่ว่าเขาคนนั้นจะทำอะไร ซึ่งมันก็จะนำมาสู่การนินทาอีกเช่นเคย แสดงว่ามีอาการหนักแล้ว จึงอยากจะเตือนและเรียกสติไว้ว่า ลดทิฐิลงบ้าง หมั่นสร้างมิตรดีกว่าสร้างศัตรู
วิธีจัดการกับความอิจฉา คือ ลดทิฐิ เคารพตัวเอง พอใจในสิ่งที่ตัวเองมี ทำตัวเองให้ดีก่อน ซื้อของขวัญเป็นรางวัลให้ตัวเองบ้าง พัฒนาปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ขยันทำงานและเก็บเงิน
เมื่อเกิดความอิจฉา ริษยามากๆ ก็จะหาเรื่องใส่ร้าย ป้ายสีคนอื่น เพื่อให้ตัวเองดูดี
เมื่อโดนใส่ร้าย ป้ายสี ควรจะทำอย่างไร
1. ถ้ามีโอกาสควรชี้แจงความจริง ถ้าเป็นกรณีที่ถูกใส่ร้ายในเรื่องร้ายแรงถึงขั้นทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง เช่น ถูกใส่ร้ายว่าโกงหรือทุจริตในหน้าที่การงานทั้งๆ ที่บริสุทธิ์ ถูกใส่ร้ายว่าเป็นเมียน้อยหรือเป็นชู้ ถ้ามีโอกาสก็ควรหาวิธีชี้แจงความจริงโดยใช้วิธีทางกฎหมายเพื่อป้องกันและยืนยันความบริสุทธิ์ของเรา
2. นิ่งและทำใจ ถ้าเป็นการโดนใส่ร้ายในเรื่องที่ไร้สาระ หรือเป็นกรณีที่ไม่สามารถหาทางแก้ตัวได้ ควรอยู่นิ่งๆ และทำใจวางเฉย ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะทำได้ยากมาก จึงแนะนำว่าถ้าใจไม่สามารถนิ่งได้ควรทำดังนี้
3. หาคนระบาย อาจเป็นคนในครอบครัว คนรัก คนที่ไว้ใจ เพื่อนสนิท เพราะถึงแม้คนเหล่านี้อาจจะช่วยแก้ปัญหาให้เราไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็รับฟังและช่วยให้กำลังใจ ปลอบประโลมใจให้เราคลายความเครียดลงไปได้บ้างไม่มากก็น้อย
4. พึ่งพาศาสนา วิธีนี้เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถช่วยบำบัดให้ใจที่สับสนและเกิดบาดแผลจากการถูกใส่ร้ายดีขึ้นได้ เพราะบทบัญญัติของทุกศาสนานอกจากสอนเราว่าการใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งที่ชั่วร้ายผิดบาปแล้ว ในขณะเดียวกันก็ยังสอนให้เราให้อภัยคนที่ให้ร้ายต่อเราอีกด้วย
เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้มีประสบการณ์จากการถูกใส่ร้ายป้ายสีในระดับที่รุนแรงถึงเรื่องที่ไม่เป็นความจริงเลยแม้แต่น้อยจากคนที่แสดงตนว่ามีธรรมะ สวดมนต์เป็นชั่วโมง หลงตัวเองอย่างสุดๆ คนๆนี้เป็นผู้หญิงใจร้าย โหด จิตใจต่ำช้า ด้อยค่าคนอื่น จนต้องวิ่งหนีออกจากวงรัศมีเลวทราม ต่ำช้า แต่ในที่สุด เค้าก็จะแพ้ภัยตัวเองแน่นอน
ดังนั้น จึงอยากจะฝากทุกคนไว้ว่า การใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่นนั้น เป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจ น่าชิงชัง และถือเป็นภัยที่ก่อให้เกิดความเสียหายที่สามารถทำลายชีวิตและชื่อเสียงของผู้อื่นได้ ทั้งๆ ที่คนที่เราไปใส่ร้ายเขานั้นอาจเป็นคนดี เป็นคนบริสุทธิ์ จะอย่างไรก็ตาม เรามีสิทธิอะไรไปทำร้ายคนอื่น เพราะฉะนั้นใครที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ก็อยากให้หยุดและเลิกเสียเถิด เพราะสุดท้ายสิ่งร้ายที่เราทำไว้จะย้อนกลับมาทำลายตัวเราเองไม่วันใดก็วันหนึ่งอย่างแน่นอน
โดย ดร.แพง ชินพงศ์ / เผยแพร่: 15ม 2557 โดย: MGR Online
แบ่งปันความสุขมากับรูปภาพ ของงานฉลองวันพ่อ มาให้ทุกๆคนมีความสุขไปด้วย
ด้วยรักและปรารถนาดี จาก Super Pat (323)702-0788