ซุปเปอร์แพท
ปิยะพัชรี ศิลปี



เข้าใจ “การทำบุญ” แค่ไหน

สวัสดีค่ะ พบกันอีกแล้วทุกสัปดาห์

เนื่องจากพวกเราชาวไทยที่อาศัยอยู่ในแดนไกลนี่จะเป็นพุทธศาสนิกชนเสียส่วนมาก เราจึงมีความสัมพันธ์กับวัดไทย ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจและประกอบพิธีทางศาสนา แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ถึงแก่นแท้ของการทำบุญ ดิฉันอยู่ในจำนวนนั้นด้วย จึงพยายามหาความรู้ เรื่อง การทำบุญทุกชนิดที่มีมากมายจนบางครั้งก็เหมือนกับว่า ถมไม่เต็มสักที จากการที่มีรายได้ประจำทุกเดือน แต่การทำบุญมีมากขึ้น เพราะ มีการสร้างวัดเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทั้งๆที่อยากทำบุญทุกครั้งที่มีคนบอกบุญมา แต่ก็จนปัญญา ไม่สามารถทำได้หมดทุกวัด ทำให้เกิดความไม่สบายใจ กลัวจะเป็นบาป คงมีหลายๆคนที่มีความรู้สึกอย่างดิฉัน จึงได้นำบทความนี้มาให้อ่านเพื่อความเข้าใจ เรื่อง ของการทำบุญ ตามนี้ค่ะ

บุญ หมายถึง อะไร ? คำว่า “บุญ” มาจากภาษาบาลีว่า “ปุญญะ” แปลว่า การกระทำความดี เครื่องชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ กำจัดสิ่งเศร้าหมองหรือ “กิเลส” ให้ออกจากใจ ลด ละ เลิก ความโลภ ความเห็นแก่ตัว อันเป็นต้นเหตุของความทุกข์


ทำบุญ คือทำอะไร

—————–

คนส่วนมาก พอพูดว่า “ทำบุญ” ก็จะเข้าใจดิ่งไปทางเดียวว่า คือ ใส่บาตร ใส่ซอง ใส่ตู้ บริจาค หรือมิเช่นนั้นก็คือ เอาอาหารไปถวายพระ เสร็จแล้วก็บอกว่า “ไปทำบุญมา”

นั่นคือ “ทำบุญ” ตามความเข้าใจของคนทั่วไป

ความเข้าใจเช่นนี้ เป็นเหยื่ออันโอชะให้หลายสำนักยกเอาการ “ทำบุญ” ขึ้นมาชักชวนผู้คน มิหนำซ้ำยังชี้ชวนให้เข้าใจไปว่า การทำบุญแบบที่เข้าใจกันนี่แหละคือเนื้อตัวหัวใจของพระพุทธศาสนา

ใครนับถือพระพุทธศาสนา ทำบุญแบบนี้แหละพอแล้ว ทำให้เยอะๆ ยิ่งดี

ใส่บาตร ใส่ซอง ใส่ตู้ บริจาคค่านั่นค่านี่ เท่านี้แหละพอแล้ว

จะปฏิบัติอะไรต่อไปอีกก็เอา แต่ว่าใส่บาตร ใส่ซอง ใส่ตู้ บริจาคค่านั่นนี่โน่นต้องทำก่อน

เมื่อใส่ซอง ใส่ตู้ บริจาคค่านั่นนี่โน่นแล้ว ต่อจากนั้นจะปฏิบัติอะไรหรือไม่ทำอะไร ก็ไม่สนใจที่จะแนะนำชักชวนอีกแล้ว

เห็นได้ชัดว่า เป็นการเชิญชวนให้ทำบุญเพื่อประโยชน์ของผู้เชิญชวนโดยแท้

ทำบุญแบบที่ว่ามานี่ คำพระท่านเรียกว่า “ทานมัย” (ทาน-นะ-ไม) แปลว่า “บุญที่สำเร็จด้วยการให้”

ผมเรียกเอาเองว่า “ทำบุญควักกระเป๋า” เพราะผู้ทำจะต้องมีอะไรอยู่ในกระเป๋าก่อนจึงจะสามารถทำบุญแบบนี้ได้

โปรดทราบว่า คนเราทำบุญได้ถึง ๑๐ วิธี

…………………………………………..

๑ ทาน ให้ปันสิ่งของของตนแก่ผู้อื่น (เรียกเพื่อจำง่ายว่า ทำบุญให้ทาน)

๒ ศีล ควบคุมการกระทำและคำพูดให้เรียบร้อย (ทำบุญถือศีล)

๓ ภาวนา อบรมบ่มจิตใจให้สงบและรู้แจ้งเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง (ทำบุญภาวนา)

๔ อปจายนะ อ่อนน้อมถ่อมตน มีสัมมาคารวะ รู้จักเคารพกราบไหว้ (ทำบุญไหว้พระ)

๕ เวยยาวัจจะ ช่วยขวนขวายรับเป็นภารธุระในกิจการที่ถูกที่ควร (ทำบุญช่วยงาน)

๖ ปัตติทาน แบ่งส่วนบุญ หรืออุทิศส่วนบุญ คือเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น (ทำบุญแบ่งบุญ)

๗ ปัตตานุโมทนา อนุโมทนาส่วนบุญ คือยินดีในความดีของผู้อื่น (ทำบุญโมทนา)

๘ ธัมมัสสวนะ ฟังธรรมคำสั่งสอน ศึกษาหาความรู้ในทางความดี (ทำบุญฟังเทศน์)

๙ ธัมมเทสนา แสดงธรรม สั่งสอนธรรม ให้วิชาความรู้ (ทำบุญให้ธรรม)

๑๐ ทิฏฐุชุกรรม ทำความคิดความเห็นให้ถูกให้ตรง ไม่เห็นผิดเป็นชอบ (ทำบุญเห็นถูก)

…………………………………………..

จะเห็นได้ว่า ทำบุญควักกระเป๋าเป็นเพียง ๑ ใน ๑๐ เท่านั้น

อีก ๙ วิธีไม่ต้องควักกระเป๋าก็ทำได้สบายๆ

น่าสังเกตว่า คนชักชวนทำบุญมักจะชักชวนกันแค่ทำบุญควักกระเป๋าเท่านั้น

บุญอื่นอีก ๙ วิธีแทบจะไม่มีใครชักชวนใคร

แทบจะไม่มีใครเอ่ยถึงด้วยซ้ำ

ถ้าเป็นไปได้ หาโอกาสทำบุญให้ครบทุกวิธีก็จะเป็นการดี

สำหรับนักบอกบุญ พยายามชักชวนคนให้ทำบุญวิธีอื่นๆ ให้ครบทุกวิธีกันบ้างก็จะเป็นการดี

ชักชวนคนให้ทำบุญควักกระเป๋ามากเท่าใด

ก็ควรชักชวนคนให้ทำบุญวิธีอื่นๆ มากเท่านั้น


***เครดิต บทความนี้ให้กับ พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๙ มกราคม ๒๕๖๕

๑๘:๕๙