ซุปเปอร์แพท
ปิยะพัชรี ศิลปี



สร้างสรรค์ความสุขกับเพื่อนๆ อย่างไร?

สวัสดีค่ะ สังเกตุมั้ยคะว่า พวกเราที่เกษียนแล้ว มีเวลามากกว่าเดิม ทำให้ได้ใช้เวลาพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงมากขึ้น พากันไปเที่ยว พักผ่อน สังสรรค์ ปาร์ตี้ ทานอาหารกันบ่อยๆ และทุกครั้งที่เจอะเจอกัน จะมีเรื่องพูดคุยกันมากมาย ร้อยแปดพันเรื่อง มาดาม เป็นคนชอบอ่านค้นคว้าสิ่งดีๆ มีประโยชน์ให้กับตัวเอง เพื่อพัฒนาให้ทันสมัยก้าวไกลไปกับโลก และเวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว Self Lernerนั่นเอง วันนี้ได้อ่านพบข้อความที่จะนำมาแบ่งปันและนำไปปฎิบัติให้สังคมเรามีคุณภาพที่ดีขึ้น ตามมาอ่านกันดู...

“9 เรื่องอย่าพูด เมื่อพบปะสังสรรค์”

เมื่อมีงานพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง พยายามหลีกเลี่ยงการพูดคุยเรื่องต่างๆดังต่อไปนี้

1.เรื่องความเจ็บไข้ได้ป่วย

ทั้งของเราและของเพื่อน แค่ถามถึงนิดหน่อยพอเป็นมารยาทก็พอ แล้วก็เปลี่ยนเรื่องคุยเป็นเรื่องที่น่าสนุกรื่นรมณ์ดีกว่า อย่าพยายามขยี้เสียจนคนฟังเริ่มรู้สึกว่าจะเริ่มป่วยตามเราไปด้วย หรือบางคนก็คุยแข่งกันว่า ใครจะป่วยมากโรคกว่ากัน ใครจะป่วยหนักกว่ากัน คนที่ไม่ป่วยก็พลอยจะป่วยไปกับเราด้วย หรือคนที่เขาได้ยิน พาลจะรำคาญเดินหลบๆหนีไปทางอื่นก็มี เพราะไม่อยากได้รับรู้เรื่องพวกนี้

2.เรื่องความรวยความจนระหว่างกัน

อย่ามาพบปะกับเพื่อนๆเพื่อจะมาอวดความร่ำรวยของตน หรือมองความยากจนของเพื่อนๆ เป็นเรื่องน่าเวทนาสงสาร

เพื่อนกันไม่มีรวยไม่มีจนครับ เพื่อนคือเพื่อน อย่ามาคุยโม้โอ้อวดความร่ำรวยความยากจนข่มกัน เพราะที่เราคบกันมาได้ตั้งแต่สมัยประถม มัธยม ไม่มีเรื่องรวยจนมาเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้น พยายามหลีกเลี่ยงเรื่องพวกนี้นะครับ ลำพังรถที่เราขับไป สร้อย แหวน นาฬิกาที่เราขนใส่ไป แบบอลังการงานสร้าง มันก็บีบหัวใจเพื่อนมากพอดูแล้วละครับ

3.เรื่องความทุกข์ยาก อดอยากแร้นแค้น

เจอหน้ากันควรจะคุยเรื่องรื่นรมณ์ สนุกๆเป็นมงคลกับชีวิต มากกว่าความรันทดหดหู่จากความยากจนแสนเข็ญของใครคนใดคนหนึ่งในกลุ่ม จะทำให้บรรยากาศเศร้าสร้อยไปเปล่าๆ

ถ้าจะช่วยเหลือเพื่อนที่ลำบากตกทุกข์ได้ยากกัน ก็ค่อยๆคุยกันนอกรอบดีกว่าไปคุยกันในงานสังสรรค์

4.เรื่องความบาดหมางแต่ครั้งอดีต

อย่าเอามาคุยกันในงานเลี้ยงพบปะสังสรรค์กัน เพราะที่แล้วก็แล้วไป อย่าเที่ยวไปฟื้นฝอยหาตะเข็บ มันไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นหรอก เดี๋ยวพาลเสียบรรยากาศหรือกลับมาผิดใจกันอีก บางทีอาจจะลืมไปแล้วก็ได้ พอเอากลับมาคุยกันอีกครั้ง ก็ต้องกลับมาเถียงกันอีก ว่าใครเป็นคนผิดกันแน่ ทีนี้ละยาวเลย

5.เรื่องความผิดพลาดของคนในครอบครัว

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเราหรือของเพื่อน ก็พยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงจะดีกว่า เพราะเรื่องมันผ่านมาแล้ว และเป็นเรื่องที่ไม่น่าภาคภูมิใจอะไรด้วย เช่นเรื่องลูกเพื่อนติดยา ครอบครัวเขาเคยล้มละลาย การหย่าร้างที่เจ็บปวด เป็นต้น

6.เรื่องความความอ้วน ความดำ ความแก่ ความโทรม ความเหี่ยวฯ

ไม่ว่าของเราหรือของเพื่อน ฟังยังไงก็ไม่รื่นหู เหมือนพูดจาหยาบคายใส่กันยังไงไม่รู้ เรื่องอื่นมีตั้งมากมายที่คุยแล้วสนุกกว่าตั้งเยอะ คุยเรื่องพวกนั้นดีกว่าไหม

7.เรื่องความเชื่อ ศาสนา ความศรัทธา

พยายามหลีกเลี่ยงอย่าคุยกันเรื่องพวกนี้เด็ดขาด เพราะเรามีความเชื่อ ความศรัทธาที่อาจต่างกันโดยสิ้นเชิง คุยกันยังไงก็คุยกันไม่รู้เรื่อง เดี๋ยวจะพาลขัดใจบาดหมางกันเปล่าๆ แม้การนับถือที่ต่างศาสนากัน ถ้าใจไม่กว้างพอก็อย่าได้พูดคุยกันเรื่องศาสนาที่นับถือต่างกันเด็ดขาด ขนาดศาสนาเดียวกัน แต่ถ้าอยู่กันคนละข้าง เห็นกันคนละขั้ว ก็อย่าเอามาพูดคุยกันในงานพบปะสังสรรค์จะดีกว่า เพราะอาจทำให้ความเห็นแย้งขยายวงใหญ่โตได้

8.เรื่องนินทาว่าร้ายคนอื่น

เริ่มตั้งแต่นินทาผู้นำ ผู้บริหารในบ้านเมือง ต่อด้วยคนในสังคม ตามมาด้วยคนในที่ทำงาน แล้วหันไปที่คนในครอบครัวเพื่อน แล้วก็วกกลับมาที่คนในครอบครัวตัวเอง พอเริ่มนินทาหมดแล้ว ไม่รู้จะนินทาใคร ท้ายที่สุดก็เริ่มหันมานินทาคนในวงสนทนากันเองนั่นละ ที่นี้ก็วงแตกละซิ

เปลี่ยนจากนินทา เป็นชื่นชมคนทำอะไรดีๆบ้าง น่าฟังกว่ากันเยอะ

9.เรื่องที่ค่อนข้างดราม่าของเพื่อนคนใดคนหนึ่งในกลุ่ม

ฟังแล้วเหมือนนิยายน้ำเน่าเดิมๆ ประเภท เมียมั่ว ผัวร้าย แม่ยายบ้า พ่อตาเจ้าชู้ ปู่ซ่า ย่าติดคุก ลูกติดยา อาม่าขี้โขมย ฯลฯ ฟังแต่ละเรื่องปวดหัวข้างเดียว จนกลับมามึนที่บ้านต่อ พาลนอนไม่หลับไปโน่นเลย

กลายเป็นการไปพบปะสังสรรค์ที่เครียด หดหู่ เหนื่อยที่สุดในชีวิต แทนที่จะมีความสุข สนุกสนานรื่นรมณ์

พบปะสังสรรค์คราวหน้า พยายาม ที่จะไม่สนทนาพูดคุยกับเพื่อนๆในเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นนี้

ขอบคุณบทความดีจาก ดร.พนม ปีย์เจริญ

ด้วยรักและปรารถนาดีจาก มาดาม SP. (323)702-0788