ซุปเปอร์แพท
ปิยะพัชรี ศิลปี



อันตรายจาก แก๊งคอลเซ็นเตอร์

แก๊ง "คอลเซ็นเตอร์" คืนชีพ คนถูกหลอกพุ่ง ตำรวจเตือนอย่าหลงเชื่อ ตั้งสติก่อนโอน

สวัสดีค่ะ วันนี้มาคุยกันถึงเรื่องที่เป็นประเด็นร้อนแรงเป็นไวรัลที่ทำให้คนสูญเสียทรัพย์สินที่เก็บออมมาทั้งชีวิต ถึงกับฆ่าตัวตายก็มี นั่นคือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่แพร่หลาย เป็นภัยอันตรายร้ายแรง สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจให้แก่หลายๆ ประเทศ...

นั่นคือ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” (Call Center) หรือขบวนการต้มตุ๋น ใช้โทรศัพท์หลอกให้เจ้าของบัญชีโอนเงิน หรือดูดเงินออกไปจากบัญชี ที่ผ่านมามีคนไทยต้องตกเป็นเหยื่อมากมาย สูญเสียเงินมหาศาล โดยเฉพาะผู้สูงอายุ

เป็นภัยร้ายแรงใกล้ตัว ที่เราได้ยินมานานแต่ส่วนมากเป็นข่าวจากเมืองไทยแต่ปัจจุบันอาละวาดมาถึงชุมชนไทยในอเมริกาแม้กระทั่งสถานกงสุลใหญ่แอลเอยังแจ้งเตือนมา มาดามจึงนำบทความที่ไปค้นคว้ามาจากอินเตอร์เน็ท มาเตือนให้มีสติ อย่าหลงเชื่ออะไรง่ายๆ มารู้จักวิธีการต้มตุ๋น เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อพวกมิจฉาชีพ

แก๊งคอลเซนเตอร์มีมาอย่างยาวนาน พัฒนารูปแบบกลโกงไปตามยุคสมัย โดยลักษณะกลโกงที่ใช้คือจะสุ่มเบอร์เพื่อโทรศัพท์ไปหาเหยื่อ หรือส่งข้อความ SMS โดยแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ หรือองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้ดูน่าเชื่อถือ จากนั้นก็จะสร้างเรื่องหลอกลวงให้เหยื่อหลงเชื่อ โดยเป้าหมายคือ "นำเงินเหยื่อออกจากบัญชีด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง" เราจึงต้องรู้ให้ทันกลโกงมิจฉาชีพ โดยข้ออ้างที่มิจฉาชีพมักใช้หลอกเหยื่อมีดังนี้

1. บัญชีเงินฝากถูกอายัด / เป็นหนี้บัตรเครดิต อ้างที่มิจฉาชีพนิยมใช้มากที่สุด คือหลอกว่าเหยื่อถูกอายัดบัญชีเงินฝากและเป็นหนี้บัตรเครดิต เพราะเป็นเรื่องที่สามารถสร้างความตกใจและง่ายต่อการชักจูงเหยื่อให้โอนเงิน

ปัจจุบันพบว่า มิจฉาชีพจะอ้างว่าเป็นพนักงานธนาคาร บอกข้อมูลได้ถูกต้อง แล้วแจ้งว่าเรามีหนี้บัตรเครดิต หากเหยื่อปฏิเสธก็จะบอกว่าอาจเป็นมิจฉาชีพที่ปลอมบัตรเครดิตเราแล้วเอาไปใช้ จากนั้นก็จะแนะนำให้รีบแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ ซึ่งมักอยู่ไกล เช่นต่างจังหวัด แต่ถ้าเหยื่อไม่สะดวกเดินทางก็จะอาสาว่าจะติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ ซึ่งก็จะส่งสายโทรศัพท์ไปให้ตำรวจตัวปลอม

2. บัญชีเงินฝากพัวพันกับการค้ายาเสพติดหรือการฟอกเงิน เมื่อมิจฉาชีพหลอกถามข้อมูลจากเหยื่อแล้วพบว่าเหยื่อมีเงินในบัญชีเป็นจำนวนมาก จะหลอกเหยื่อต่อว่าบัญชีนั้น ๆ พัวพันกับการค้ายาเสพติดหรือติดปัญหาการฟอกเงิน จึงขอให้เหยื่อโอนเงินทั้งหมดมาตรวจสอบ

3. เงินคืนภาษี ข้ออ้างคืนเงินภาษีจะถูกใช้ในช่วงที่มีการยื่นภาษีและมีการขอคืน โดยมิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรแจ้งว่า เหยื่อได้รับภาษีคืนเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะต้องยืนยันรายการและทำตามคำบอกที่ตู้เอทีเอ็ม แต่แท้จริงแล้วขั้นตอนที่มิจฉาชีพให้เหยื่อทำนั้นเป็นการโอนเงินให้กับมิจฉาชีพ

4. โชคดีรับรางวัลใหญ่ มิจฉาชีพจะอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทหรือตัวแทนองค์กรต่าง ๆ แจ้งข่าวดีแก่เหยื่อว่า เหยื่อได้รับเงินรางวัลหรือของรางวัลที่มีมูลค่าสูง เมื่อเหยื่อหลงเชื่อ จะหลอกเหยื่อให้โอนเงินค่าภาษีให้

5. หลอกขอข้อมูลส่วนตัว มิจฉาชีพอาจอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน หลอกด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น อัพเดทข้อมูลส่วนตัว หรืออาจหลอกให้สมัครงานออนไลน์ เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวสำคัญ เช่น วัน/เดือน/ปีเกิด เลขที่บัตรประชาชน ก่อนนำไปใช้ในทางทุจริต

6. โอนเงินผิด หลอกว่าโอนเงินผิดเข้าบัญชีของเหยื่อ ขอให้โอนเงินคืน เมื่อเหยื่อตรวจสอบยอดเงินและพบว่ามีเงินโอนเข้ามาจริง จึงรีบโอนเงินนั้นไปให้มิจฉาชีพ โดยที่ไม่รู้ว่าเงินที่โอนเข้ามานั้น เป็นเงินที่มิจฉาชีพหลอกมาจากเหยื่อรายอื่นให้โอนมาให้เรา เพื่อใช้บัญชีเราเป็นที่พักเงิน หรือเป็นเงินที่ได้มาอย่างผิดกฎหมาย


วิธีป้องกัน

1. มีสติทุกครั้งเมื่อรับสายโทรศัพท์ที่ไม่คุ้นเคย หรือหากมีการอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานใด ไม่แน่ใจ ให้รีบวางสาย แล้วติดต่อไปยังหน่วยงานที่อ้างถึง อ้างถึงใครให้สอบถามคนนั้น (ควรค้นหาเบอร์โทรติดต่อกลับเอง)

2. ไม่โลภ หากมีคนบอกว่าเราได้รับรางวัล หรือได้ส่วนลดพิเศษเกินจริง ควรเอะใจไว้ก่อนว่าเป็นไปได้หรือไม่

3. ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญ แม้ผู้ติดต่อจะอ้างว่าเป็นหน่วยงานราชการหรือสถาบันการเงิน

4. ติดตามข่าวสารกลโกงเป็นประจำ เพื่อรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมกลโกง

5. หากมีคนโอนเงินผิดบัญชีมาที่บัญชีเรา ไม่ควรโอนเงินคืนเองควรสอบถาม call center หรือสาขาของธนาคารที่เรามีบัญชีอยู่ให้ดําเนินการตรวจสอบรายละเอียด หากตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่ธนาคารแล้วเป็นเงินที่โอนผิดบัญชีมาจริง ให้เรายินยอมให้ธนาคารดําเนินการโอนกลับไปยังบัญชีต้นทางต่อไป