ซุปเปอร์แพท
ปิยะพัชรี ศิลปี



กัญชาให้คุณ หรือโทษ จะ ดี หรือ ร้าย? (ตอนที่ 1)

มีเพื่อนสาว ไลน์มาถามเกี่ยวกับเรื่องกัญชาที่กำลังโด่งดังแพร่หลายมาสักระยะหนึ่งแล้ว ว่า จะมีคุณประโยชน์จริงหรือไม่เพียงใด เพราะตัวเธอเองเคยเป็นมะเร็งมาก่อน ก็เลยเข้าไปหาข้อมูลจากอากู๋ และได้ข้อความที่น่าสนใจ จึงขอนำมาฝากและเผื่อแผ่ถึงคุณๆแฟนคลับไทยแอลเอด้วย เพื่อเป็นความรู้ให้ไปคุยกันในวงสนทนา บทความยาวหน่อยจึงต้องแบ่งเป็น 2 ตอน ติดตามอ่านกันนะคะ (เครดิต ไทยรัฐออนไลน์)

ไม่กี่วันมานี้มีกระแสเรื่องการปลูกกัญชาถูกกฎหมายในประเทศไทย โดยขออนุญาตใช้พื้นที่ในเขตทหาร 5,000 ไร่ ใน จ.สกลนคร แต่ไปๆ มาๆ ทาง อย. ออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้มีการอนุญาตให้ผลิต จำหน่าย หรือครอบครองกัญชา ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และไม่เคยอนุญาตให้ปลูกในพื้นที่สกลนครดังกล่าว

ตอนนี้มีแค่ 'มหาวิทยาลัยรังสิต' แห่งเดียวที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้มีการครอบครองกัญชาเพื่อใช้ในโครงการศึกษาวิจัยที่จะพัฒนาสารสกัดจากกัญชาไปใช้ในประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น

เอาเป็นว่าเรื่องนี้จะมีความคืบหน้ายังไงก็คงต้องติดตามกันต่อ แต่สำหรับในต่างประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย กัญชาถูกมองในฐานะพืชสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งในการแพทย์และใช้ผสมลงในอาหาร กินได้แบบไม่ผิดกฎหมาย

วันนี้ ไทยรัฐออนไลน์ เลยหาข้อมูลเกี่ยวกับกัญชาที่น่าสนใจมาฝากกัน

1. กัญชา VS กัญชง

กัญชา (cannabis) เป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้า ต้นสูงประมาณ 2-4 ฟุต ใบแตกเป็นแฉกคล้ายใบสัมปะหลังหรือใบละหุ่ง ริมใบทุกแฉกมีลักษณะเป็นจักๆ ใบหนึ่งมีราว 5-8 แฉก ในก้านเดียวกัน ออกดอกตามง่ามกิ่งก้าน จัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522

ในกัญชามีสารเคมี cannabinoids อยู่จำนวนหนึ่ง โดยสารเคมีกลุ่มนี้มีสารสำคัญที่เชื่อว่าออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทเรียกว่าสาร THC ฤทธิ์ของกัญชาเมื่อเสพเข้าสู่ร่างกาย จะแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็วภายใน 2-3 นาที และจะออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทได้สูงสุดถึง 1 ชั่วโมง อาการโดยทั่วไปจะเซื่องซึมลงอย่างช้าๆ แต่บางรายก็ลดลงอย่างรวดเร็ว

ส่วน กัญชง หรือ เฮมพ์ (HEMP) เป็นพืชชนิดย่อยของกัญชา มีลักษณะทางกายภาพคล้ายกัญชามาก แต่สิ่งแตกต่างคือ กัญชงจะมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอลหรือ THC ในปริมาณที่ต่ำกว่ากัญชา สารตัวนี้จะเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ซึ่งก็ถือว่า กัญชง เป็นสารเสพติดเช่นกัน

2. โทษของกัญชา

ผู้เสพกัญชาจะมีอาการเคลิ้มจิต ในขั้นต้นๆ มักจะเป็นอาการกระตุ้นประสาท เกิดอาการวิตกกังวลและหวาดระแวง ต่อมาก็มีอาการเคลิ้ม จากนั้นมักจะมีปฏิกิริยาที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน เดี๋ยวหัวเราะลั่นเดียวสงบ ส่วนอาการอื่นๆ ที่พบคือ รู้สึกล่องลอย ปากแห้ง สับสน อยากอาหาร ชีพจรเพิ่มขึ้น ตาแดงขึ้น หากเสพเป็นประจำจะทำให้สุขภาพเสื่อมลง ได้แก่ โรคหลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ ทางเดินหายใจอักเสบ ตะคริว ท้องร่วง

3. ประโยชน์ของกัญชา

ว่ากันว่าสาร THC ในกัญชามีสรรพคุณช่วยลดอาการปวด มีเรื่องเล่าว่าพระนางเจ้าวิคทอเรียแห่งประเทศอังกฤษ ทรงเคยใช้สารสกัดจากกัญชารักษาพระอาการปวดก่อนมีประจำเดือน

นอกจากนี้ สารสกัดจากกัญชายังใช้เป็นยารักษาโรคอีกหลายอย่าง เช่น บรรเทาอาการปวดผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย, ใช้รักษาโรคต้อหิน, กระตุ้นความอยากอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเอดส์, แก้อาเจียนสำหรับผู้ป่วยที่ให้คีโม, ช่วยรักษาโรคลมชัก, บรรเทาอาการทางเดินอาหารอักเสบ เป็นต้น

4. กัญชารักษามะเร็ง

มีผลงานการวิจัยในวารสาร เจอร์นัล ออฟ คลินิคัล อินเวสติเกชัน (Journal of Clinical Investigation) ของสหรัฐฯ ฉบับเดือนเมษายน 2552 ระบุว่า กิลเลอร์โม เวลาสโก นักวิจัยของมหาวิทยาลัยคอมพลูเทนส์ ในกรุงมาดริด ประเทศสเปนและคณะ ค้นพบว่า สารสำคัญในกัญชามีฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งสมองได้

ทีมนักวิจัยได้ทดลองนำสาร THC ที่สกัดได้จากกัญชา ฉีดให้หนูทดลองที่เป็นมะเร็งในสมองชนิดเดียวกับในคน พบว่ากลุ่มเซลล์มะเร็งบริเวณดังกล่าวค่อยๆ ลดลง จากนั้นได้ทดลองกับผู้ป่วยอาสาสมัคร 2 ราย ที่เป็นเนื้องอกในสมองขั้นรุนแรง โดยการให้สาร THC เข้าไปในสมองโดยตรง และเมื่อตรวจชิ้นเนื้อเยื่อจากบริเวณดังกล่าวเปรียบเทียบกัน พบว่ามีการทำลายเซลล์เนื้องอกเพิ่มมากขึ้น

หน้ากระดาษหมดแล้ว ติดตามตอนต่อได้ในฉบับหน้า

พบกันวันเสาร์นี้ที่งานการกุศลรวบรวมทุนยกช่อฟ้า สร้างโรงทานให้กับวัดสุทธาวาส

Angel’s Tea Dance ตั้งแต่เวลา บ่าย 3 โมง –สามทุ่ม ที่ 11300 Glenoaks Blvd., Pacoima

ด้วยความปรารถนาดีจาก Super Pat (323)702-0788