Special Scoop



เจริญอายุวัฒนมงคล 98 ปี หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร ชีวิตนี้เพื่อพระพุทธศาสนา และความสันติสุขของโลก

สวัสดีปีใหม่ พ.ศ. 2561 ในศุภวาระขึ้นปีใหม่นี้ ผู้เขียนและครอบครัว ดีสมเลิศ-ฉัตรประภาชัย ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก ได้โปรดอำนวยพรให้ท่านผู้อ่านและครอบครัว มีความสุข สมหวัง ในสิ่งที่ปรารถนา สุขภาพพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ มีสติในการดำเนินชีวิต ขอให้บุญรักษา เทวดาคุ้มครอง พระรัตนตรัยปกป้องท่านและครอบครัวด้วยเทอญ

ในวันอาทิตย์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2561 นี้ เป็นวันเจริญอายุวัฒนมงคล 98 ปี (พรรษา 77) ของ พระธรรมมงคลญาณ หรือ พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล เถาบุญญนนท์วิหาร และประธานผู้ก่อตั้งสถาบันพลังจิตตานุภาพ มาครบ 20 ปี มี 203 สาขา ทั่วไทย และทั่วโลก มีลูกศิษย์ทั้งในประเทศไทยและต่างแดนมากมาย ในการประสิทธิ์ประสาทความรู้ วิชาครูสมาธิ และหลักธรรมในพระพุทธศาสนา แก่ชาวไทย และชาวต่างชาติทั่วโลก ทั้งในอเมริกาเหนือ คือ สหรัฐอเมริกา และแคนาดา

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานน้ำสรง ผ้าไตร และพานพุ่มดอกไม้ แด่ พระธรรมมงคลญาณ เนื่องในพิธีมหามงคลนี้ ในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2561 เวลา 09.30 น. ณ อุโบสถชั้น 2 วัดธรรมมงคล

ผู้เขียนในฐานะศิษย์คนหนึ่ง จึงอยากแสดงมุทิตาจิต โดยการค้นหาประวัติของพระอาจารย์หลวงพ่อ เพื่อมาเผยแพร่ให้ท่านผู้อ่าน ชาวไทยในแอลเอ และเมืองต่างๆ ได้อ่าน เรียนรู้ถึงชีวิต ชีวประวัติของท่าน ตั้งแต่เด็กจนถึงร่มกาสาวพัสตร์ และได้ก่อตั้งสถาบันพลังจิตตานุภาพในแอลเอ ในเท็กซัส และในประเทศแคนาดา และการได้มาซึ่งพระพุทธรูปหยกเขียวที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อมาอยู่คู่บ้านคู่เมืองประเทศไทย ประดิษฐานอยู่ที่วัดธรรมมงคล สุขุมวิท ซอย 101

การอ่านและศึกษาชีวประวัติของหลวงพ่อ เพื่อความเป็นศิริมงคลในชีวิตของเรา ได้เห็นความเป็นอยู่ในประเทศไทยสมัยเกือบหนึ่งร้อยปีก่อน เห็นชีวิตคือการต่อสู้ของหลวงพ่อ อ่านเพื่อเป็นแนวทางและกำลังใจให้เรารู้ถึงความอดทนในการสู้ชีวิต ดังที่ท่านพระอาจารย์หลวงพ่อพูดว่า เราต้องต่อสู้ชีวิตตั้งแต่ออกจากครรภ์มารดาแล้ว...


ประวัติ

พระธรรมมงคลญาณ หรือ พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร เดิมชื่อ วิริยังค์ บุญฑีย์กุล เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2463 (ค.ศ.1920) ปีวอก แรม 13 ค่ำ เดือนอ้าย ณ สถานีรถไฟปากเพรียว จังหวัดสระบุรี เป็นบุตรขุนเพ็ญภาษชนารมย์ และ นางมั่น บุญฑีย์กุล เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนพี่น้อง 7 คน คือ

1. นางกิมลั้ง ชูเวช

2. นายฑีฆายุ

3. นายสุชิตัง

4. นายสัจจัง

5. พระธรรมมงคลญาณ (วิริยังค์)

6. นายไชยมนู

7. นางสายมณี ศรีทองสุข

เนื่องจากงานราชการของบิดาในตำแหน่งนายสถานีรถไฟ (Station Manager) ครอบครัวต้องย้ายติดตามไปด้วยตามถิ่นฐานต่างๆ


ย้ายถิ่นฐานไปบ้านใหม่สำโรง

เมื่อครั้งบิดาย้ายไปประจำอยู่ ณ สถานีรถไฟบ้านใหม่สำโรง อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ครอบครัวบุญฑีย์กุล ได้พบกับ พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ พระอาจารย์ฝ่ายกรรมฐาน ซึ่งเป็นศิษย์ของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตฺตเถระ ซึ่งพระอาจารย์กงมา มาสร้างวัดป่าสว่างอารมณ์ที่บ้านใหม่สำโรงในขณะนั้น ด.ช.วิริยังค์ จึงมีโอกาสติดตามบิดา มารดา ไปวัดบ้าง


เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดสุปัฏนาราม

เมื่อบิดาได้มีคำสั่งให้ย้ายไปปฏิบัติราชการที่สถานีรถไฟวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ด.ช.วิริยังค์ จึงได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนมีชื่อเสียงของอุบลฯ คือโรงเรียนวัดสุปัฏนาราม ได้เรียนรู้ด้านกีฬา การสมัครเป็นลูกเสือชาวบ้าน ได้เข้าโบสถ์ ฟังธรรมในวันพระ แต่การฟังธรรมไม่ได้เป็นที่สนใจสำหรับเด็กที่ยังชอบเล่น ชอบเที่ยว สนุกสนาน ตามประสา

ถ้าหนีการฟังเทศน์ จะถูกเฆี่ยนด้วยหวาย และถ้าหนีโรงเรียน จะถูกเฆี่ยนด้วยไม้

ทุกบ่ายโมงวันพระ ครูปุ่น ครูประจำชั้น จะนำเด็กๆ เข้าอุโบสถ ฟังพระธรรมเทศนา นักเรียนต้องสงบเสงี่ยมเรียบร้อย สวดมนต์ตามครู รู้แต่ว่าฟังเทศน์เอาบุญ แต่ไม่เข้าใจพระธรรมเทศนาแต่อย่างใด แต่การฟังหลายครั้งหลายครา ครั้งแล้วครั้งเล่า ก็เข้าถึงธรรมะที่พระเทศน์ จนเข้าห้วงหัวใจว่า…

“ใครทำกรรมดี ก็มาเกิดที่ดี มีความสุข… ใครทำกรรมชั่ว ไปเกิดในที่ไม่ดี มีความทุกข์”

ทำให้เกิดความกลัว และละอายต่อบาป

การแสดงธรรมให้เด็กเป็นนิจ ก็จะฝังเข้าสู่ใจเด็กสักวัน


ชีวิตเฉียดตาย

ถึงคราวปิดเทอม ด.ช.วิริยังค์ จึงได้กลับไปอยู่บ้าน ซึ่งขณะนั้นที่บ้านกำลังทำสวนอยู่ใกล้แม่น้ำมูล วันหนึ่งจึงไปหัดว่ายน้ำกันกับเพื่อนๆ ว่ายจนไกลออกไปในขณะที่เพื่อนว่ายเข้าฝั่งกันแล้ว ด.ช.วิริยังค์ ก็ได้เจอะเจอสัตว์ประหลาด หัวหางเหมือนปลา ยาว 6 เมตร ด้วยความตกใจสุดขีด มือไม้อ่อน จนร่างจมดิ่งลงไปอยู่ก้นคลอง หมดความรู้สึกไปชั่วระยะหนึ่ง หายใจไม่ได้ แต่พอรู้สึกตัวในชั่ววูบ ยันเท้าขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จนพ้นน้ำได้อย่างอัศจรรย์ พวกเด็กๆ และผู้ใหญ่บนฝั่ง มองไปยังสัตว์ประหลาด ล้วนเรียก ด.ช.วิริยังค์ ซึ่งได้จมดิ่งหายไป ทุกคนต่างเอะอะโวยวายนึกว่าตายไปแล้ว

เมื่อบิดามารดาได้ยินเสียงเอะอะชุลมุน พอรู้เรื่อง ร้องไห้วุ่นวายใจ ยังเห็นสัตว์ประหลาดลอยน้ำอยู่ จึงหาคนช่วยพายเรือออกไปช่วยลูก แต่ในขณะนั้นกำลังพ้นภัยขึ้นมาจากก้นคลอง และว่ายน้ำกลับมาแล้ว บิดามารดาโผเข้าอุ้มกอด ดีใจที่ลูกรอดตายมาได้ นี่แหละหนาความรักของบิดามารดาที่ลูกควรเทิดทูนเหนือสิ่งอื่นใด


ชีวิตเด็กวัดครั้งแรก

จบชั้นประถม พออ่านออกเขียนได้ เมื่ออายุ 11 ขวบ ปี พ.ศ. 2474 (ค.ศ.1931) บิดามารดาจึงส่งไปอยู่วัดกลาง (วัดนารายณ์มหาราช ในปัจจุบัน) จังหวัดนครราชสีมา เพื่อฝากเป็นศิษย์เจ้าอาวาสวัดกลาง หรือ ท่านอาจารย์ปลัดตา ที่คุ้นเคยกับทางครอบครัว ท่านปลัดตาเอ็นดูรักใคร่ ด.ช.วิริยังค์ มาก ที่เป็นเด็กขยัน ประหยัด เรียบร้อย สะอาด และซื่อสัตย์มาก เพราะถูกฝึกจากบิดามารดามา

ในสมัยนั้น พ่อแม่จะนำเด็กไปฝากเป็นเด็กวัด เพราะวัดเป็นสถานที่และแหล่งศึกษาอบรมที่ดีที่สุดเพื่อลูกหลานจะได้ดี เป็นใหญ่เป็นโตในภายภาคหน้าได้ ชีวิตเด็กวัดยากลำบาก ต้องพึ่งตัวเอง ต้องอดทน ที่นั่นมีเด็กวัดอยู่สิบกว่าคน

ด้วยความเป็นเด็กมีสมองเฉลียวฉลาด และมีความมุมานะในการเรียนบาลีไวยากรณ์อย่างมาก จึงเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว แต่ด้วยกฎระเบียบที่เคร่งครัด กอปรกับการถูกเพื่อนๆ เด็กวัดที่โตกว่ากลั่นแกล้งอยู่เสมอ เช่น ให้เลียขี้ไก่บ้าง ถูกเด็กโตใช้ขี่คอเดินไกลบ้าง ให้หามของหนักจากป่าไกลๆ บ้าง ถูกใส่ความในเรื่องไม่จริงบ้าง จึงทำให้ ด.ช.วิริยังค์ เริ่มท้อแท้

ครั้งหนึ่งออกบิณฑบาตไปยังหมู่บ้านอื่นกับพระอาจารย์ปลัดตาหลายวัน เพื่อหาข้าวเปลือก ข้าวสาร พริก เกลือ เพื่อเก็บเป็นเสบียงคลังให้พระ เณร และเด็กวัด พักบ้านละคืนสองคืน คืนหนึ่งพระปลัดตาจำวัดอยู่บนศาลา ด.ช.วิริยังค์ นอนใต้ศาลาวัด เช้านั้นมีคนมาทำบุญกันมากมาย เสร็จแล้วชาวบ้านก็แยกย้ายกันกลับบ้าน มีคุณป้าวัย 60 เอ็นดู ด.ช.วิริยังค์ มาก จึงชวนไปเที่ยวบ้านเธอ แต่ ด.ช.วิริยังค์ ต้องไปขออนุญาตท่านปลัดตาก่อน ซึ่งติดพักกลางวันคุยกับสมภารวัดนั้นอยู่

คุณป้าเกลี้ยกล่อมว่า รู้จักดีกับท่านปลัดตา ด้วยการรับรองและรับปากอย่างดีจากคุณป้า จึงไปถึงบ้านเธอ เลี้ยงดูข้าวปลาอาหารให้กินอิ่ม และเมตตาให้เงิน 1 บาทซึ่งมากโข เพราะสมัยนั้น ก๋วยเตี๋ยวชามละ 3 สตางค์ และกลับมาส่งที่วัดตอนเย็น พระปลัดตาโกรธมากที่ไม่บอกกล่าว เตรียมตอกไว้หวดแล้ว แม้กระทั่งโยมป้าขอโทษแทน ที่นำพาไปเช่นนั้นเอง เธอนั่งร้องห่มร้องไห้อยู่ ในขณะที่ ด.ช.วิริยังค์ ถูกเฆี่ยน ร้องจนเสียงหมด กางเกงขาดกระจายไปกับเส้นตอก

จากนั้น เด็กซื่อจึงกลายเป็นเด็กขรึม คบเด็กเกเร จากเด็กเชื่อฟัง กลายเป็นดื้อรั้น จึงอยากคิดหนี...

กลับมาเป็นเด็กวัด ถวายการนวดแก่พระปลัดตา พระปลัดตาจึงถามว่าอยากได้เงินเท่าไหร่ ด.ช.วิริยังค์ ตอบว่า 1 บาท ท่านใจดี บอกให้ 1 บาท 50 สตางค์

จนวันหนึ่ง ติดรถออกไปเที่ยวเล่น แต่คิดไม่อยากกลับวัดแล้ว ด้วยความเป็นเด็ก ถูกเพื่อนๆ เด็กโตกลั่นแกล้งเสมอๆ ชีวิตเด็กวัดก็ลำบาก ท้อแท้ จึงคิดหนี เพราะมีเงินแล้ว นั่นคือการต่อสู้ชีวิตตั้งแต่ยังเยาว์วัย ด้วยเงินที่มีอยู่เพียง 6 สลึง จนเงินหมด ต้องหาเศษอาหารทาน ก็ยังไม่อิ่ม หาที่หลับนอนตามบันไดโรงหนัง ตามชายทุ่ง ป่าละเมาะบ้าง นอนข้างๆ จอมปลวกบ้าง เดชะบุญ เด็กน้อยได้ถูกตามตัวอย่างพลิกแผ่นดินโดยเพื่อนเด็กวัด จนกลับไปวัดได้หลังจากหนีไปสิบกว่าวัน

เมื่อกลับมา สำนึกผิด จึงเริ่มกลับตัว พยายามทำดี เลิกคบคนไม่ดี ตั้งใจเรียนบาลีไวยากรณ์กับท่านปลัดตา สมกับความรักความเมตตาที่ท่านมีให้เสมอมา

แต่อย่างไรก็ดี ท่านปลัดตาก็ยังคงสั่งให้คนคอยประกบ ด.ช.วิริยังค์ ตลอดเวลา กลัวว่ายังอาจจะคิดหนีอยู่อีกหรือเปล่า ซึ่งจริงๆ ด.ช.วิริยังค์ ก็ไม่ได้คิดเช่นนั้นเลย พระปลัดตาคิดจะส่งกลับบ้าน ก็คงกระไรอยู่ ทำให้ต่างไม่สบายใจกัน

หลายสัปดาห์ต่อมา พระปลัดตาตัดสินใจส่ง ด.ช.วิริยังค์ ออกไปอยู่อำภอนอกเมือง ที่วัดบ้านนอก หมู่บ้านสีมุม ซึ่งห่างไกลจากจังหวัดออกไปมาก ทำให้ ด.ช.วิริยังค์ ต้องเสียใจ หลั่งน้ำตา เพราะต้องจากที่นั่นไป


ชีวิตเด็กวัดครั้งที่สอง

เมื่อพระอาจารย์ปลัดตาฝากฝัง ด.ช.วิริยังค์ แก่สมภารที่วัดบ้านนอก ท่านสมภารให้ความอบอุ่นอย่างไม่เคยได้รับมาก่อน โดยให้นอนอยู่ใกล้กับท่าน ให้ใช้สอยสิ่งของทุกอย่างได้ตามต้องการ ทุกอย่างราบรื่นดี มีความสุข แต่ไม่ได้เรียนอะไรเลย มีแต่ท่องสวดมนต์ไปทุกๆ วัน ท่านสมภารเลยให้สอนเด็กอื่นๆ อ่านเขียน

วันหนึ่ง มาเจอแม่บ้านที่ท่านสมภารให้ความเกรงใจอยู่มาก เธอมีฐานะร่ำรวย รัก ด.ช.วิริยังค์ มากๆ รักเหมือนลูก จึงไปมาหาสู่กับที่บ้านแม่บ้าน พ่อบ้าน และลูกๆ ของครอบครัวนั้นด้วยอย่างสนิทสนม หากที่วัดไม่มีอาหารเย็น ก็มากินที่บ้านแม่บ้านได้ตลอด ทำให้หายคิดถึงบ้านได้

แต่ภายในปีเดียวกันนั้น บิดาได้เดินทางเพื่อมารับกลับบ้าน เห็นว่าไม่ได้เรียนรู้อะไร อยู่ไปอนาคตก็มืดมน ทั้งที่ ด.ช.วิริยังค์ ว่าจะบวชเรียน และขออยู่ที่นั่นไปตลอด บิดาค้านว่า บวชแล้วสึกกลางคัน จะทำมาหากินไม่ทันคนอื่น

เมื่อต้องไปลาแม่บ้าน เธอสะอึกสะอื้น โผเข้ากอด ขอให้อยู่บวชเรียนที่นั่น หรือถ้าต้องการสึก ก็จะแบ่งสมบัติที่มีอยู่ให้ ไม่ให้เดือดร้อน ต่างคนต่างหลั่งน้ำตา จะทำอย่างไรได้ จึงจำใจลาแม่บ้านและครอบครัวพี่น้องนั้น จากไปด้วยความอาลัยอย่างสุดซึ้ง

ด.ช.วิริยังค์ อยากจะเรียนแต่ภาษาบาลีอย่างเดียว ฤาจะกลับไปหาพระอาจารย์ปลัดตา… แต่แล้ว บิดาจึงพากลับบ้าน


ชีวิตเด็กบ้านนอก

ไอ้ไหม และไอ้เขียว เพื่อนคู่ทุกข์คู่ยากของ ด.ช.วิริยังค์ เป็นวัวสองตัว หลังอาหารเช้า พวกเด็กๆ อายุเพียง 12-13 ปี ทั้งหญิงและชาย พากันเดินต้อนวัวควายไปหาอาหาร คือหญ้า ทุกคนถือมีดด้ามยาว ปลายมีดป้านๆ ใช้แทนเสียมได้ พ่อแม่จะจัดข้าวห่อด้วยใบตอง มีกับข้าว ของแห้ง น้ำพริกกับปลาร้าสับ ให้ผูกไว้ที่เอว สำหรับมื้อกลางวัน ส่วนผักไปหาเองตามทาง

เด็กๆ เดินเล่นกันตามประสา เป็นขบวน เดินชั่วโมงกว่าก็ถึงทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ ที่คนจากหลายหมู่บ้านเอาวัวควายมาปล่อย ให้กินหญ้า จำนวนเป็นร้อยตัว ต่างคนต่างมีเกราะทำด้วยปล้องไม้ไผ่ มัดไว้ที่คอของวัวควาย ต่างก็จำเสียงเกราะของวัวควายตนเองได้ แล้วเด็กๆ ทั้งหลายก็นั่งกินข้าวกลางวันกันอย่างสนุกสนาน และวิ่งเล่นกัน

พอตะวันคล้อย ต่างก็ต้อนวัวควายกลับบ้าน เด็กๆ จะหาผักที่มีอยู่ในป่า ติดมือไปเป็นอาหารเย็น สำหรับ ด.ช.วิริยังค์ พอวัวเข้าคอก ก็ไปอาบน้ำที่ลำคลอง เช่นเดียวกับเด็กอื่นๆ แล้วกลับมาทานอาหารเย็น นี่คือความเป็นอยู่ในวันๆ

พอถึงหน้าทำนา วัวควายจะอยู่ในนากว่าสามเดือน เด็กๆ จะอยู่บ้าน ไม่ก็อยู่ในทุ่งนา อยู่ในกระต๊อบมุงหญ้า อยู่ชั่วคราว ตอนเช้าพ่อไถนา แม่ดำนา กลางวันแม่หุงข้าว พ่อไปหาปลา ปู กุ้ง เด็กๆ ก็ไปช่วยเก็บผัก ตามประสา

เมื่อถึงเวลาถางป่าทำไร่ เด็กๆ ก็จะช่วยพ่อแม่ ชาวบ้านก็จะมาช่วยเหลือกันและกัน ใครจะถางไร่ ก็จะมีชาวบ้านมาช่วย ไม่ได้จ้างกัน เพราะเงินหายาก ต่างออกแรงช่วยกัน เพราะต่างไว้ใจกัน ไม่เอาเปรียบกัน ช่วยกันจนกว่าไร่แต่ละคนจะถางเสร็จ เกิดความสามัคคี และมีความสุขมากในหมู่บ้าน

เมื่อเก็บผลิตผลได้ ก็หาบจากไร่มาบ้าน เพื่อทานบ้าง ขายบ้าง พวกเด็กๆ ก็มีหน้าที่หาบไปขายที่ตลาด มีแตงโมบ้าง ข้าวโพดบ้าง มะเขือบ้าง


มีแววเป็นพ่อค้า

ด.ช.วิริยังค์ จะเดินหาบแตงโม และผลิตผล ไปขายที่ตลาดอำเภอสีคิ้ว เป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร เมื่อไปถึงตลาด ลูกค้าจะมารุมล้อมอุดหนุนเป็นพิเศษ หาบมาไม่ถึงชั่วโมงก็จะขายหมดทุกครั้ง แต่คนอื่นอยู่กันตั้งแต่เช้าถึงบ่ายหนึ่งบ่ายสอง คนสงสัยว่า ด.ช.วิริยังค์ มีอะไรดี เวลาพี่ชายมาขายแทน จนถึงบ่ายก็ยังขายไม่หมด ด.ช.วิริยังค์ จึงต้องรับภาระหาบของที่หนักไปขายที่ตลาดตลอดเวลา ด้วยการเดินทางไปกลับ วันละ 8 กิโลเมตร

(โปรดติดตามตอนต่อไป...)


ขอให้หลวงพ่อสุขภาพแข็งแรง…

ขอให้หลวงพ่อสุขภาพแข็งแรง…

ขอให้หลวงพ่อสุขภาพแข็งแรง…

- ศิษย์รุ่นดาวดึงส์ รุ่น 2 - ศูนย์ทิพย์ วัดป่าธรรมชาติ แอลเอ USA

เรียบเรียงโดย ลีนา ดีสมเลิศ