Special Scoop



ยูเนสโก ยกย่อง “หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต” บุคคลสำคัญของโลก ปี 2563-2564 ตอนจบ

เมื่อออกจากถ้ำสาริกา จังหวัดนครนายก แล้ว พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้ธุดงค์ไปพำนักบำเพ็ญเพียรที่ถ้ำสิงโต เขาพระงาม จังหวัดลพบุรี อยู่ระยะหนึ่ง

จำพรรษากรุงเทพฯ

ในปี พ.ศ. 2457 พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ได้นิมนต์ให้พระอาจารย์มั่นไปจำพรรษาในกรุงเทพฯ เพื่อให้การอบรมด้านวิปัสสนากรรมฐานแก่พระสงฆ์ สามเณร และฆราวาส ณ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ท่านได้เลือกเอาวัดสระปทุมเป็นที่จำพรรษา เพราะเป็นวัดที่สงบสงัดดี เดินไปวัดบรมนิวาสทุกวันพระ หรือวันธรรมสวนะ ฟังท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ เทศน์ พอหลังจากฟังเทศน์แล้ว ท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ขอศึกษาธรรมปฏิบัติกับท่าน ตลอดระยะเวลาพรรษา

พระอาจารย์มั่นพิจารณาว่าควรจะไปแนะนำสั่งสอนธรรมปฏิบัติที่ท่านได้รู้ ได้เห็นมา เพียรพยายามมาร่วม 20 ปี แก่ผู้ที่ควรแก่การปฏิบัติให้ได้รู้ ซึ่งเป็นธรรมที่ยากนักจะรู้ได้ จะได้แนะนำกันต่อๆ ไป จึงได้ลาท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ กลับไปจังหวัดอุบลราชธานี

ใครหนอจะเป็นผู้ควรแก่การสั่งสอน

ในปี พ.ศ. 2458 พระอาจารย์มั่นพักจำพรรษาที่วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี วันหนึ่งท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งเป็นครูสอนนักเรียนวิชาสามัญมาหลายปีแล้ว ได้ยินกิตติศัพท์ว่า ท่านอาจารย์มั่น เป็นพระนักปฏิบัติที่เคร่งครัดมาก ใคร่ที่จะได้ศึกษาธรรมปฏิบัติด้วย หลังจากเลิกสอนนักเรียนแล้ว จึงไปนมัสการพระอาจารย์มั่นที่วัดบูรพา ซึ่งเป็นเวลา 1 ทุ่ม เห็นท่านกำลังเดินจงกรมอยู่

หลังท่านเดินจงกรมเสร็จ จึงพากันขึ้นไปบนกุฏิ อาจารย์สิงห์กราบ แล้วพระอาจารย์มั่นได้พูดขึ้นว่า “เราได้รอเธอมานานแล้ว อยากจะพบและต้องการชักชวนให้ปฏิบัติธรรมด้วยกัน” อาจารย์สิงห์ถึงกับตกตะลึง เนื่องจากได้ตั้งใจมาหลายเวลาแล้วที่จะขอมาพบกับท่าน เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ปฏิบัติธรรมด้วย จึงรีบตอบว่า “กระผมอยากจะปฏิบัติธรรมกับท่านมานานแล้ว”

พระอาจารย์มั่น อธิบายให้ฟังว่า “การบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์นั้น จักต้องปฏิบัติกัมมัฏฐาน คือพิจารณา ตจปัญจกกัมมัฏฐาน เป็นเบื้องแรก เพราะเป็นหนทางพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงตรัสรู้ธรรม ด้วยการปฏิบัติอริยสัจจธรรม 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” (ตะจะปันจะกะกำมัดถาน คือ กรรมฐานเบื้องต้น ที่มีหนังเป็นที่คำรบห้า กำหนดพิจารณาอวัยวะ 5 อย่าง คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นอารมณ์ ให้เห็นตามความเป็นจริงว่าเป็นสิ่งปฏิกูล) ท่านก็แนะนำวิธีนั่งสมาธิ นำนั่งสมาธิราว 1 ชั่วโมง อาจารย์สิงห์ก็เกิดความสงบ แล้วจิตสว่างไสวขึ้นทันที เป็นการอัศจรรย์ยิ่ง และท่านยังได้อธิบายถึงวิธีพิจารณากาย โดยใช้กระแสจิตพิจารณา จนเป็นที่พอใจแล้ว อาจารย์สิงห์ก็ได้ลากลับ

จากนั้นมา อาจารย์สิงห์พยายามนั่งสมาธิทุกวัน จนเกิดความเย็นใจเกิดขึ้นเป็นลำดับ วันหนึ่งขณะที่ท่านกำลังสอนนักเรียนอยู่ มองเห็นเด็กนักเรียนเป็นโครงกระดูกนั่งอยู่เต็มห้อง พยายามขยี้ตาดูก็เห็นเป็นเช่นนั้น จนเกิดความสังเวชใจขึ้นเป็นอย่างมาก เกิดความเบื่อหน่ายต่อสังขารเป็นอย่างยิ่ง ธรรมดาปฏิภาคนิมิตต้องเกิดในขณะหลับตาอยู่ในฌานจริงๆ แต่ท่านกลับเห็นทั้งหลับตาและลืมตา

หลังจากนั้นท่านได้ลาออกจากการเป็นครู เพราะเกิดความรู้ในพระพุทธศาสนา ได้เห็นความจริงแล้ว ภายหลังต่อมา พระอาจารย์สิงห์ก็จัดกลด อัฐบริขาร ออกธุดงค์ติดตามท่านอาจารย์มั่น ไปทุกหนทุกแห่ง เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม จนกระทั่งได้เห็นอรรถธรรม

ตามหาพระกรรมวาจาจารย์

พระอาจารย์มั่นได้คิดถึงพระกรรมวาจาจารย์ของท่าน คือ พระครูสีทา ชยเสโน จะให้อาจารย์ของท่านได้รับแสงสว่างแห่งธรรมนี้ที่ท่านได้พบกับความจริงแห่งการปฏิบัติแล้ว วันหนึ่งจึงเข้าไปนมัสการที่วัด และขอโอกาสที่จะเล่าความจริงแห่งการปฏิบัติธรรมถวาย เล่าสิ่งที่ท่านได้ประสบมาในขณะที่ท่านบำเพ็ญกัมมัฏฐานอยู่ที่ถ้ำไผ่ขวาง น้ำตกสาริกา ท่านพระอาจารย์สีทา ชยเสโน ได้ชื่นชม และปรารภถึงพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ว่าศิษย์ของเราองค์นี้นับว่าเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีมากเหลือเกิน เพราะได้เห็นธรรมที่แท้จริงแล้ว ไม่ลืมครูบาอาจารย์

กลับบ้านเกิดพบมารดา

พระอาจารย์มั่นได้ตั้งใจไว้ว่าจะโปรดโยมมารดาด้วยธรรมทั้งหลายที่รู้มา จึงเดินทางไปที่บ้านคำบง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี มารดาดีอกดีใจมาก เพราะท่านได้จากไปเสียนาน ท่านเล่าถึงการเดินทางธุดงค์ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนได้แสงสว่างแห่งธรรมให้ฟัง และพูดถึงการปฏิบัติ โดยขอร้องให้โยมมารดาพยายามปฏิบัติจิต อันเป็นทางแห่งความพ้นทุกข์ มารดาให้ความสนใจทำตามคำแนะนำทุกประการ และจิตก็เป็นไปได้ตามจริงที่เกิดขึ้น ได้รับความเย็นใจ มีศรัทธาแก่กล้า และในภายหลังจึงได้ลาลูกหลานออกบวชเป็นชี โดยมีท่านอาจารย์เสาร์บวชให้ ที่ถ้ำผากูด จังหวัดนครพนม และเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม

พระอาจารย์มั่นก็ชมว่ามารดามีความเพียรแก่กล้า บำเพ็ญกัมมัฏฐานตามคำแนะนำมาหลายปี ท่านได้แนะนำวิธีสุดท้าย คือ การบำเพ็ญวิปัสสนาญาณให้เกิดความแก่รอบของญาณ จนมีความรู้ความสามารถทวนกระแสจิตเข้าถึงซึ่งฐิติภูตัง และเจริญต่อไปจนเป็นการพอ โดยการอบรมเป็นอินทรีย์ บังเกิดความรู้แจ่มแจ้ง ตัดความสงสัยแล้วโดยสิ้นเชิง และได้ออกอุทานต่อหน้าพระอาจารย์มั่นว่า “เราหายสงสัยแล้ว เราจะไม่มาเกิดอีกแล้ว” ท่านอาจารย์มั่นได้บอกแก่โยมมารดาว่า “บัดนี้อาตมภาพได้ทดแทนบุญคุณของคุณโยมหมดแล้ว เป็นการทดแทนที่ได้สิ้นสุดลงเป็นการสุดท้าย”

ลูกศิษย์ออกธุดงค์ติดตามหาพระอาจารย์

หลังออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้ออกธุดงค์เพื่อไปติดตามหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ซึ่งขณะนั้นจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำภูผากูด อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม (ปัจจุปันคือจังหวัดมุกดาหาร) ระลึกถึงคราวที่ท่านอยู่ที่ถ้ำสาริกาที่ได้ทราบภายในญาณว่า ท่านอาจารย์เสาร์ของท่านปรารถนาปัจเจกโพธิ จึงตั้งใจจะอยู่จำพรรษากับหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ที่ถ้ำภูผากูดนี้ เพื่อสนทนาธรรมแลกเปลี่ยนอุบายแก้ไขจิตภาวนาซึ่งกันและกัน หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ได้พิจารณาถึงอริยสัจและตัดเสียซึ่งความสงสัยได้อย่างเด็ดขาด จนรู้แจ้งเห็นจริงซึ่งธรรมอันสูงสุด ณ ถ้ำภูผากูดแห่งนี้

ต่อมาพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต จึงได้ออกธุดงค์วิเวกไปพำนักตามสถานที่ต่างๆ ใน พ.ศ. 2461-2468 ในเขตจังหวัดเลย จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย จังหวัดสกลนคร จังหวัดนครพนม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งการวิเวกในครั้งนี้ได้เริ่มเทศนาอบรมธรรมปฏิบัติจิตภาวนาให้แก่พระภิกษุ สามเณร และฆราวาสญาติโยมจนมีคณะศิษย์ติดตามมากมาย

เนื่องจากท่านมีญาณ (หูทิพย์ ตาทิพย์ ปรจิตตวิชา รู้ทั้งจิตสัตว์ จิตมนุษย์) สามารถรู้อุปนิสัยของบุคคล ท่านจึงเลือกสอนบุคคลที่ควรแก่การสอน บุคคลใดไม่มีนิสัยที่จะพึงปฏิบัติให้เกิดผล ท่านก็ไม่สอนให้เสียเวลา ท่านใช้เวลาสอนพระภิกษุสามเณร มากกว่าฆราวาสเป็นส่วนใหญ่ เพราะท่านมีอุดมคติในใจของท่านว่า พระภิกษุสามเณรถ้าหากสอนให้ได้ผลดีแล้ว พระภิกษุสามเณรแม้องค์เดียว ก็สามารถสอนฆราวาสได้นับร้อยนับพัน ในกาลต่อมา ท่านได้อบรมสั่งสอนลูกศิษย์ให้บรรลุธรรมสูงสุดเป็นจำนวนมาก จนได้รับขนานนามว่า พระอาจารย์ใหญ่แห่งวงศ์พระกรรมฐานวัดป่า

เป็นเจ้าอาวาสครั้งแรกและครั้งเดียว

ปี พ.ศ. 2471 ออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์มั่นมาพักอยู่วัดสระปทุม พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ได้แต่งตั้งให้พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ ท่านจำใจรับตำแหน่ง เพราะเห็นแก่พระอุบาลีฯ ซึ่งกำลังอาพาธ ท่านจึงเดินทางสู่ภาคเหนืออย่างขัดไม่ได้ เมื่อได้รับอาราธนาเชิงบังคับเช่นนั้น

ท่านเดินทางไปที่เชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2472 และจำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดร้างมาแต่เดิม มาสถาปนาเป็นวัดธรรมยุตขึ้น สมัยท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ดำเนินงานปรับปรุงวัดแล้ว จึงพยายามที่จะหาพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิทั้งทางปริยัติและปฏิบัติ ให้มาเป็นสมภาร เพื่อวางรากฐานคณะธรรมยุตขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่

พระอาจารย์มั่นได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระครูวินัยธร และพระอุปัชฌาย์ ได้เพียง 1 พรรษา ท่านก็ล้มเลิกความตั้งใจที่จะเป็นเจ้าอาวาสต่อไป จึงได้สละตำแหน่งเจ้าอาวาสและพระอุปัชฌาย์ ทิ้งสมณศักดิ์ไว้ที่วัดเจดีย์หลวง บอกว่ายศถาบรรดาศักดิ์ไม่เหมาะกับหลวงปู่ เพราะเป็นผู้รักสงบ แล้วจึงออกธุดงค์วิเวก มุ่งปฏิบัติธรรม ตามป่าเขาต่อไป

ธุดงค์ 12 ปี ในภาคเหนือ

การเดินทางธุดงค์เพื่อหาความสงบและวิเวก ท่านอาจารย์มั่นมุ่งตรงไปทางอำเภอพร้าว ผ่านป่าดงมืดครึ้ม เดินไปค้างแรมไปตามทาง เมื่อเห็นว่าเป็นที่สงบสงัดดี ก็พักอยู่นาน เพื่อปรารภความเพียร ถึงถ้ำเชียงดาว ปี พ.ศ. 2473 บำเพ็ญสมณธรรม ตามตีนเขา ปากถ้ำ จนถ้ำลึก กำหนดพิจารณาถึงสังขารทั้งหลายว่า เป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้น ดับไป การพิจารณาอยู่อย่างนี้ ด้วยความมีสติกำหนด ไม่ปล่อย กำลังของปัญญาก็รวมจุด เกิดเป็นพลังใหญ่ รู้สึกถึงอดีตอะไรมากทีเดียว พร้อมทั้งเข้าใจวิธีการแก้ไขในขณะที่เกิดความหลงอยู่ในสมถะ

หลังจากนั้น ท่านเดินธุดงค์ตามภูเขา ที่มีทั้งอากาศชุ่มชื้น ฝนตกมาก หนาวจัด อีกยังสัตว์ร้าย แต่การปฏิบัติรู้สึกปลอดโปร่ง และได้ความละเอียดทางใจมาก เพราะเหตุว่าอยู่องค์เดียว ไม่ต้องสอนใคร พูดกับพวกชาวเขาก็ไม่รู้เรื่องกัน อยู่วิเวกอย่างดีที่สุด เดินทางผ่านป่าดงกว้าง มีสิงสาราสัตว์ ผ่านหมู่บ้านเป็นที่ราบบ้าง ป่าไม้ใหญ่บ้าง กระทั่งปี พ.ศ. 2475 ท่านอาจารย์มั่นได้กลับมาจำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวงในเมืองเชียงใหม่อีกครั้ง เพื่อแนะนำการปฏิบัติในทางจิตใจให้ทั้งพระภิกษุ สามเณร และอุบาสก อุบาสิกา จนได้ความสงบทางใจกัน

ครั้นเมื่อออกพรรษา ท่านเดินธุดงค์ด้วยความประสงค์จะไปให้ไกล จึงตัดไปทางจังหวัดเชียงราย ได้ข้ามขุนเขาไปอย่างทุรกันดารที่สุด บำเพ็ญธุดงค์กัมมัฏฐาน ถึงจะลำบากเหน็ดเหนื่อยก็หาได้เป็นอุปสรรคอะไรไม่ ยิ่งทำให้ท่านให้รับผลแห่งความบริสุทธิ์ยิ่งๆ ขึ้นไป ต่อมาท่านบำเพ็ญเพียร ธุดงค์กลับไปยังอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีภูมิทำเลเป็นสถานที่มีภูเขาเรียงรายอยู่ทั่วไป เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรทางใจ ท่านจึงเดินธุดงค์วกเวียนอยู่ในอำเภอนี้หลายปี

จึงปรากฏว่า ในปีราว พ.ศ. 2478 มีพระอาจารย์ที่เคยเป็นศิษย์ของท่านทางภาคอีสานเป็นจำนวนไม่น้อย ที่ไม่เจอท่านมาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว ได้พากันเดินทางมาพบท่านที่เชียงใหม่ด้วยความยากลำบาก หลังจากเสาะหาท่านอยู่หลายปี และเมื่อได้ข่าวว่าท่านอยู่ที่อำเภอพร้าว จึงพากันไปหา เพื่อจะได้พบ และฟังธรรมเทศนาของท่าน ท่านเองก็คิดจะได้ปรับความเข้าใจในเรื่องปฏิบัติทางใจให้มีความละเอียด และในสิ่งที่จะต้องปรับปรุงที่ยังบกพร่องอยู่ให้เต็มพร้อม และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะการปฏิบัติจิตใจ จะต้องศึกษาให้รอบคอบ

พอรู้ว่าศิษย์จะเดินทางมา และศิษย์นั้นอาจจะมีความสำคัญในอนาคต เป็นกำลังให้แก่พระพุทธศาสนา ท่านจะเอาใจใส่พิเศษ เพื่อให้เกิดผลทางใจ ท่านจะถือโอกาสไปคอยรับการมาทีเดียว จึงปรากฏว่า คณะศิษย์ของพระอาจารย์มั่นในขณะนั้น มีความสามารถมาก เป็นที่เคารพนับถือจากพุทธบริษัทโดยทั่วไป

รวมเวลาอยู่ภาคเหนือบำเพ็ญสมณธรรมนานถึง 12 ปี อาศัยอยู่ในเขตอำเภอพร้าว อำเภอเชียงดาว อำเภอแม่ริม อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอแม่สาย อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย

ดินแดนล้านนาจึงเป็นพื้นที่ที่บอกเล่าเรื่องราวของหลวงปู่มั่นได้อย่างดี เนื่องจากท่านเป็นพระมหาเถระรุ่นบุกเบิกที่ได้เดินทางขึ้นมาเผยแพร่วัตรปฏิบัติคณะธรรมยุติกนิกาย และในธุดงควัตรปฏิบัติแบบพระป่ากรรมฐาน ท่านได้แนะนำให้ชาวบ้านแสดงตนเป็นพุทธมามกะ และสอนให้เข้าใจในหลักเหตุผลแห่งความจริง โดยสอนเน้นว่า “คุณธรรมนั้นมีความสำคัญยิ่งนัก”

วัดถ้ำดอกคำ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์

ในปี พ.ศ. 2477-2478 พระอาจารย์มั่นได้ธุดงค์มาถึง ถ้ำดอกคำ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันคือวัดดอกคำ ถือว่าเป็นสถานที่มงคลสูงสุดที่ พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้มาพักบำเพ็ญเพียรภาวนา และได้บรรลุธรรมชั้นสูงสุด คือ อรหันตผล ณ ถ้ำดอกคำ ตำบลน้ำแพร่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่

จากล้านนามากรุงเทพฯ ก่อนกลับอีสาน

พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสีได้อยู่กับพระอาจารย์มั่นอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ได้พยายามที่จะอาราธนาให้ท่านกลับภาคอีสาน เพื่อจะได้แนะนำธรรมปฏิบัติแก่คณะสงฆ์ ซึ่งศิษย์ของท่านจำนวนมากไม่สามารถตามมาหาท่านที่เชียงใหม่ได้ และยังไม่ปรากฏว่ามีนักบวชชาวเหนือสนใจและตั้งใจปฏิบัติธรรมกับท่านอาจารย์อย่างจริงจังแม้แต่องค์เดียว พระอาจารย์มั่นกลับมาจำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวง และอำเภอพร้าวอีกครั้งในปี พ.ศ. 2481-2482 เพื่อสงเคราะห์ชาวเชียงใหม่ เมื่อหลังออกพรรษา ศิษย์คนโปรด คือเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ (ครั้งเป็นสามเณรได้มาอยู่กับพระอาจารย์มั่น ที่วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี) เข้าไปกราบอาราธนาให้เดินทางกลับภาคอีสาน

พระอาจารย์มั่นโดยสารรถไฟมาถึงกรุงเทพฯ ได้พักอยู่ที่วัดบรมนิวาส ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ผู้ที่ขอร้องท่านให้ไปอยู่เชียงใหม่ก็ได้มรณภาพไปแล้ว จึงได้พบกับท่านสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาสแทน ซึ่งสมเด็จพระมหาวีรวงศ์นี้ ก็มีความเลื่อมใสในตัวของท่านอาจารย์มั่นมาก เนื่องจากได้เคยอยู่ร่วมกันที่วัดบรมนิวาสครั้งก่อน ได้เห็นจริยวัตรของท่าน และท่านเจ้าคุณอุบาลีฯ ก็ได้กล่าวสรรเสริญไว้มาก จึงถือโอกาสสนทนาธรรมปฏิบัติเป็นการส่วนตัวตลอดเวลา และยังได้ทำประโยชน์ แนะนำธรรมปฏิบัติแก่พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ในครั้งนี้

เดินทางกลับอีสาน

พระอาจารย์มั่นจึงเดินธุดงค์ไปยังภาคอีสาน จังหวัดนครราชสีมา พักอยู่วัดป่าสาลวัน ซึ่งขณะนั้นพระอาจารย์สิงห์เป็นเจ้าอาวาสอยู่ ศิษย์ขั้นพระเถระ เป็นศิษย์รุ่นแรกของท่าน หลังจากนั้น ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ได้จัดเสนาสนะถวายพระอาจารย์มั่นเพื่อจำพรรษาที่วัดป่าโนนนิเวสน์ จังหวัดอุดรธานี ใน พ.ศ. 2483-2484 เพื่อขอคำแนะนำทางจิต และเพื่อความมั่นคงของคณะสงฆ์ ท่านจึงเปิดโอกาสให้พระภิกษุสามเณรเข้าศึกษาและปฏิบัติอยู่กับท่านได้ จึงหลั่งไหลกันเข้ามามอบตัวเป็นศิษย์กันมาก เกิดพลังคณะสงฆ์ขึ้น ในช่วง 3 ปีนี้ ถือเป็นการฟื้นฟูคณะธรรมยุติครั้งยิ่งใหญ่ที่จังหวัดอุดรธานี จนถึง จังหวัดหนองคาย และจังหวัดนครพนม ถือเป็นพระคุณของท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ที่ท่านมีสายตาอันยาวไกลเพื่อหมู่คณะ ด้วยความพยายามอย่างยิ่งเป็นเวลาหลายปี กว่าจะอาราธนาให้พระอาจารย์มั่นกลับภาคอีสานได้

พ.ศ. 2485-2487 พระอาจารย์มั่นจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคก-นามน จังหวัดสกลนคร แนะนำการปฏิบัติจิตขั้นสูง มีพระอาจารย์จำนวนมากได้มารวมตัวกัน พระอาจารย์มั่นได้แสดงข้อวัตรปฏิบัติตื้นลึกหนาบางของความเสื่อมความเจริญ จนเป็นที่ยอมรับและนับถือ เชื่อมั่นกันเป็นเวลานานตราบจนปัจจุบัน

การเดินธุดงค์ครั้งสุดท้าย

ใน พ.ศ. 2488 มีผู้ติดตามพระอาจารย์มั่นมากมายในการธุดงค์เดินทางไกลข้ามภูเขาครั้งนี้ ซึ่งท่านมีอายุได้ 75 ปีแล้ว แต่ยังเดินอย่างกระฉับกระเฉงว่องไวได้อย่างสบาย ผ่านภูเขา ภูพาน พบชาวบ้าน ชาวเขา การขึ้นลงภูเขาทำให้ล่าช้าในการเดินทาง จนถึงบ้านหนองผือ สถานที่สัปปายะ ที่ท่านได้จำพรรษาถึง 5 ปี

ภูมิประเทศของบ้านหนองผือนี้ เหมาะแก่การทำความเพียรมาก เพราะเป็นที่ไกลต่อการคมนาคม ผู้ที่จะเข้าไปในหมู่บ้านนี้ ต้องเดินทางจากถนนใหญ่ 3 ถึง 4 ชั่วโมงจึงจะถึงวัดป่า ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร เป็นผู้มาเริ่มต้นก่อสร้าง พร้อมชาวบ้านหนองผือนาในเพื่อถวายท่าน ก่อนหน้าที่พระอาจารย์มั่นจะมาอยู่ประมาณ 10 ปี นับว่าองค์ท่านอยู่พักที่สถานที่แห่งนี้เป็นเวลานานที่สุดในชีวิตสมณเพศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488-2492

จึงมีคณะพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่เคยเป็นศิษย์ท่านมาแต่เดิม เข้ามาศึกษาหาข้อปฏิบัติ ฟังธรรมเทศนา มาบำเพ็ญทาน ทั้งภาคใต้ และภาคเหนือ ต่างก็ทยอยกันมาเข้านมัสการทุกๆ วันไม่ขาดสาย แทบทุกวัน ทั้งๆ ที่ถนนหนทางก็ไม่สะดวก แสนยากลำบาก และแสนกันดาร บ้างแพ้อากาศ ก็หามีความท้อถอยไม่ ยอมสละชีวิตเข้ามาหาท่านอย่างน่าอัศจรรย์

และในช่วงปัจฉิมวัยนี้ ท่านได้พำนักอยู่ ณ วัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร (หรือวัดป่าภูริทัตตถิราวาส ในปัจจุบัน) ติดต่อกันถึง 5 พรรษา ท่านได้ทุ่มเทสอนอุบายธรรมเพื่อการหลุดพ้นให้รู้แจ้งเห็นจริงตามอริยสัจ แก่ลูกศิษย์ คณะสงฆ์ และฆราวาส ญาติโยมทั้งหลาย ตราบจนวาระสุดท้าย โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ชื่อเสียงร่ำลือไปทั่ว มีประชาชนนับถือทั่วประเทศ เป็นยุคสมัยที่องค์ท่านได้อบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ ทั้งพระทั้งฆราวาสมากที่สุด จนได้มีครูบาอาจารย์องค์สำคัญๆ ที่เป็นศิษย์ท่านจำนวนมาก จึงนับเป็นมงคลสถานที่สำคัญยิ่ง

มรณภาพ

หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เริ่มอาพาธหนักในช่วงฤดูแล้งของปี พ.ศ. 2492 จนตลอดในพรรษานั้น อาการอาพาธก็ไม่ทุเลาลง แต่กลับเป็นมากขึ้น องค์ท่านได้เปรยกับคณะลูกศิษย์เสมอๆ ว่า “การป่วยอาพาธครั้งนี้ เป็นการป่วยครั้งสุดท้าย” พอออกพรรษาปีนั้น คณะศิษยานุศิษย์จึงออกเดินทางอาราธนาองค์หลวงปู่มั่นจากวัดป่าบ้านหนองผือ เพื่อพักอาพาธที่วัดป่าบ้านกลางโนนภู่ 10 วัน แล้วนำท่านขึ้นรถเพื่อมาพัก ณ วัดป่าสุทธาวาส

ท่านได้มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ 11 เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2492 เวลา 02:23 น. สิริรวมอายุได้ 79 ปี 57 พรรษา และคณะศิษย์ได้ร่วมจัดงานประชุมเพลิงเพื่อเป็นการถวายการกตัญญูกตเวทีของบรรดาศิษยานุศิษย์เป็นครั้งสุดท้าย ณ วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ในวันที่ 31 เดือนมกราคม พ.ศ. 2493

ศิษย์ของหลวงปู่มั่นซึ่งเป็นที่รู้จักและเคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนมีมากมาย เช่น

1. หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม ขุนพลเอกแห่งกองทัพธรรมกรรมฐานภาคอีสาน

2. หลวงปู่ดูลย์ อตุโล บิดาแห่งการภาวนาจิต

3. หลวงปู่ชอบ ฐานสโม ผู้ได้รับคำชมจากหลวงปู่มั่นกลางที่ชุมนุมสงฆ์ว่า “ให้ทุกองค์ภาวนาให้ได้เหมือนท่านชอบสิ ท่านองค์นี้ภาวนาไปไกลลิบเลย”

4. หลวงปู่หลุย จันทสาโร อริยสงฆ์แห่งจังหวัดเลย

5. หลวงปู่ขาว อนาลโย อริยสงฆ์แห่งวัดถ้ำกลองเพล สหธรรมิกของหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่แหวน และหลวงปู่ตื้อ

6. หลวงปู่ฝั้น อาจาโร อริยสงฆ์ผู้เปี่ยมไปด้วยกำลังญาณ

7. หลวงปู่แหวน สุจิณโณ อริยสงฆ์แห่งล้านนา

8. หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ อริยสงฆ์ผู้งามหมดจดทั้งภายนอกและภายใน

9. ท่านพ่อลี ธัมมธโร ศิษย์คนสำคัญที่หลวงปู่มั่นกล่าวชมเชยว่าเป็นผู้มีพลังจิตสูง เป็นผู้เด็ดเดี่ยวอาจหาญ เฉียบขาด ถึงพร้อมด้วยศีลด้วยธรรม

10. หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม อริยสงฆ์ผู้เข้มขลังด้วยอำนาจกำลังสมาธิ

11. หลวงปู่สิม พุทธาจาโร อริยสงฆ์ผู้เปี่ยมด้วยความเมตตา

12. หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน พระผู้สงเคราะห์โลก ผู้ประกาศว่าชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย

13. หลวงปู่จูม พันธุโล เสาหลักสำคัญแห่งวงการธรรมยุตไทย

14. หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ เพชรน้ำเอกแห่งพระป่ากรรมฐานสายอีสาน

15. หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท อริยสงฆ์ผ้าขี้ริ้วห่อทองของหลวงปู่มั่น

16. หลวงปู่ชา สุภัทโท ผู้ก่อตั้งวัดป่านานาชาติ ประกาศพุทธธรรมให้ขจรขจายในหมู่ภิกษุทั้งไทยและต่างประเทศ

17. หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี อริยสงฆ์แห่งวัดหินหมากเป้ง

18. หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ อริยสงฆ์แห่งวัดหนองแซง

19. หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ อริยสงฆ์ผู้ใฝ่การธุดงค์

20. หลวงปู่บุดดา ถาวโร อริยสงฆ์ผู้เป็นเพชรแท้แห่งจังหวัดสิงห์บุรี

21. หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป ผู้เป็นประทีปธรรมแห่งเมืองอุดร

22. หลวงปู่วัน อุตฺตโม อริยสงฆ์ผู้สงบเงียบและมีศีลวัตรปฏิบัติอันงดงาม

23. หลวงปู่หล้า เขมปัตโต อริยสงฆ์รุ่นสุดท้ายที่ได้อุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่มั่นในวาระสุดท้าย

24. หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร อริยสงฆ์แห่งเมืองหลวง ผู้ปักธงพุทธศาสนาไปทั่วโลก

ยังมีครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงอีกมากมาย และยังมีอริยบุคคลอีกจำนวนไม่น้อย รวมนับเป็นจำนวนหลายร้อยที่เป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่นซึ่งสำเร็จธรรม แต่มิได้เปิดเผยตัวให้สาธารณชนรู้จัก

หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร ศิษย์องค์สุดท้าย

ลูกศิษย์อุปัฏฐากองค์หลวงปู่มั่นรูปสุดท้ายที่ยังมีชีวตอยู่ในปัจจุบัน คือ พระพรหมมงคลญาณ วิ. (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) ในปีนี้ (พ.ศ. 2563) อายุครบ 100 ปี เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล สุขุมวิท 101 เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนั้น พ.ศ. 2484 เป็นพระสงฆ์บวชใหม่ แต่รบเร้าพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ที่กำลังสร้างวัดทรายงามที่จังหวัดจันทบุรี จะขอให้ท่านพาไปหาหลวงปู่มั่นมาตลอด เพราะได้ยินกิตติศัพท์ตั้งแต่เป็นสามเณร

จนกระทั่งออกพรรษาในปี พ.ศ. 2484 พระอาจารย์กงมา จึงพาเดินเท้าจากจังหวัดจันทบุรีไปบ้านเกิดของพระอาจารย์กงมา ที่บ้านโคก จังหวัดสกลนคร ที่หลวงปู่มั่นมาพักจำพรรษาอยู่ ใช้เวลาเดินทาง 3 เดือนถึงบ้านโคกในปี พ.ศ. 2485 หลวงปู่มั่นมาดักรอต้อนรับ และพูดว่า “สองลูกศิษย์อาจารย์มา…ช้างเผือกมาแล้ว ตัวแม่เรียกว่าตัวช้าง ตัวลูกเป็นช้างเผือก แม่ก็มาแล้ว ลูกก็มาแล้ว” หลวงพ่อวิริยังค์ได้รับเลือกเป็นผู้อุปัฏฐากใหม่ทันที ในคืนแรกก็ได้ถวายการบีบนวด หลวงปู่มั่นตื่นเช้ามา บอกหลวงพ่อวิริยังค์ที่กำลังบีบนวดยังไม่ได้หลับนอนว่า ท่านมีนิมิตดี “ได้รองเท้าใหม่คู่หนึ่ง รองเท้าคู่นี้แปลก ไม่มีแหว่งเว้าตรงกลางเหมือนกับรองเท้าทั่วฯ ไปเลย”

หลวงพ่อวิริยังค์ได้ถวายการอุปัฏฐาก ปี พ.ศ. 2485-2488 รวม 4 ปี จดข้อธรรมะหลวงปู่มั่นไว้ทั้งหมด ซึ่งภายหลังเอาให้หลวงปู่มั่นดู ท่านบอกใช้ได้ และกลายเป็นหนังสือมุตโตทัยทุกวันนี้ และท่านเป็นพระอริยสงฆ์องค์เดียวที่องค์หลวงปู่มั่นส่งไปเผยแผ่ธรรมะในเมืองหลวง คือ กรุงเทพฯ นั่นเอง

ปัจจุบัน หลวงพ่อวิริยังค์ ประธานมูลนิธิ สถาบันพลังจิตตานุภาพ ก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2540 เปิดสอนหลักสูตรครูสมาธิแก่บุคคลผู้สนใจมาเป็นเวลา 22 ปี มี 280 สาขาทั่วประเทศไทย และสร้างวัดรวม 15 แห่ง และได้เปิดสอนวิชาสมาธิที่ประเทศแคนาดามา 20 ปี พร้อมสร้างวัด 6 แห่ง ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกา มีสำนักงานใหญ่ในแอลเอ เปิดสอนหลักสูตรครูสมาธิภาคภาษาไทยและอังกฤษ และล่าสุด ที่ประเทศออสเตรเลียเพิ่งดำเนินการเปิดเมื่อปีที่แล้ว


ขอน้อมกราบ… องค์พ่อแม่ครูอาจารย์ หลวงปู่มั่น ภูริทัตตมหาเถระ

ลีนา ดีสมเลิศ

แหล่งอ้างอิง: เว็บหลวงปู่มั่น หลวงตาทองคำ หลวงตามหาบัว หลวงพ่อวิริยังค์ และอื่นๆ