Special Scoop



ปณิธานปีใหม่ ๒๕๖๐/ 2017… New Year’s Resolutions

ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ ก็จะเข้าสู่ปีระกา (ไก่) แล้ว เราได้ตั้งปณิธานไว้แล้วหรือยัง หรือมีเวลามานั่งทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดปีที่ผ่านมาไหม

ปณิธานหมายถึง สิ่งที่คุณต้องการทำ (ไม่ใช่แค่คิดจะทำ) เป็นเป้าหมายที่วางไว้ ว่าจะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้สำเร็จลุล่วง ซึ่งมีประโยชน์ต่อตนเอง ก่อให้เกิดพลังจิตที่จะกำหนดความคิดและการกระทำของตัวเอง

ปณิธานปีใหม่จึงควรเป็นสิ่งดีงาม มีประโยชน์ เป็นสิ่งที่คุณต้องการจะทำ เพื่อชีวิตที่มีความสุขยิ่งขึ้น ทั้งสุขกายและสบายใจ

ประวัติที่มาของปณิธาน… ปณิธานมีมานานแล้วสมัย 562-605 B.C. เริ่มจากชาวบาบิโลเนีย (Babylonia) อยู่ทางด้านตะวันออกของประเทศซีเรีย ชาวบาบิโลเนียจะเริ่มต้นปีใหม่ของพวกเขาด้วยการชำระหนี้และคืนข้าวของที่ขอยืมมา ตามที่สัญญาไว้กับเทพเจ้า ต่อมาทุก ๆ ปีชาวโรมันก็สัญญากับเทพเจนัส (Janus) เทพเจ้าแห่งการเริ่มต้น ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของชื่อเดือน January (มกราคม) การตั้งปณิธานปีใหม่เลยถือปฏิบัติกันมาเรื่อยจนถึงปัจจุบัน และเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก เพราะมันทำให้มีการดำเนินชีวิตอย่างมีจุดหมาย ทำทีละอย่าง ไม่มีใครจะเริ่มวิ่งได้โดยไม่หัดเดินเสียก่อน

จากการสำรวจพบว่า 88% ของผู้ที่ตั้งปณิธานปีใหม่ไว้ แล้วล้มเหลว ทั้ง ๆ ที่มีจำนวนถึง 52% ที่เริ่มต้นได้ดี แต่กลับมาตกม้าตายตอนหลัง ด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น ใจร้อน จะรีบ ๆ ทำโดยไม่มีความอดทน ทำรวบรัดรีบร้อนโดยไม่มีการประเมินผล ไม่มีคนคอยให้กำลังใจบ้าง บางคนก็ตั้งความหวังหรือเป้าหมายที่สูงเกินไป และไม่สมจริง (Unrealistic) เป็นต้น และในตอนท้าย ผมจะสรุปว่า ปณิธานในปีใหม่ของผมคืออะไร

ทั้งนี้และทั้งนั้น การตั้งปณิธานควรมีความหมายและมีความท้าทายอยู่บ้าง ที่จะนำมาซึ่งความตื่นเต้น อยากจะทำ เนื่องจากคนเรามีความจำกัดในเวลาและความพยายาม แต่ผลสุดท้าย จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง

วลีของท่าน Malcolm X (นักต่อสู้ชาวอัฟริกัน-อเมริกัน 1925-1965) กล่าวว่า Usually when people are sad, they don't do anything; they just cry over their condition. But when they get angry, they bring about a change!

แปลได้ว่า: ตามปกติเมื่อคนเราเศร้า จะไม่ทำอะไรเลย นอกจากร้องไห้คร่ำครวญ แต่เมื่อคนเราโกรธ จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง

เมื่อวานนี้ลูกสาวของผม ดร. อลิสา บอกให้พ่อดูสารคดีชื่อ Minimalism "A Rich Life with Less Stuff" - การใช้ของน้อยชิ้น แต่ให้คุณค่ามาก สารคดี Minimalism เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นจากคน 2 คน ที่มีอายุราว 30-35 ปี นาย Joshua Millburn กับนาย Ryan Nicodemus เขาเรียกตัวเองว่าเป็น Minimalists คือผู้ที่ปฏิบัติตนในการอยู่อย่างมีความหมายหรือพอเพียงนั่นเอง มีผู้ติดตามเขาในโซเชียลมีเดียกว่า 4 ล้านคน มีหนังสือ และเคยออกรายการโทรทัศน์มากมาย

ประวัติของนาย Joshua โดยสังเขป อายุ 32 ปี เกิดที่เมือง Dayton, Ohio เป็นผู้บริหารระดับสูง แต่เมื่อมารดาของเขาเสียชีวิตเมื่อปี 2009 และเขาต้องหย่ากับภรรยาที่แต่งงานอยู่กินกันมาได้ 6 ปี ในเวลาอันไร่เรี่ยกัน (เดือนเดียวกัน) ทำให้เขาหวนคิดขึ้นมาว่า อาชีพของเขาที่เป็นผู้อำนวยการบริหารร้านกว่า 150 แห่ง มีเงินเดือนถืง 6 หลัก มีทุกอย่างที่เขาต้องการนั้น ไม่ได้ช่วยเขาได้เลยในด้านจิตใจ เขาร้องไห้เสียใจที่แม่ต้องจากไป คร่ำครวญว่าทำไมไม่ได้ใช้เวลาอยู่กับแม่ให้มากกว่านี้

เขาได้รับโทรศัพท์ฝากข้อความจากแม่ในขณะที่เขาอยู่ในที่ประชุม แม่บอกว่า "นี่แม่นะ แม่มีอะไรจะต้องบอกลูก โทรหาแม่ด้วย" ซึ่งภายหลัง เขาได้รีบไปหาแม่ที่เข้าโรงพยาบาล แม่บอกว่า แม่เป็นมะเร็งปอดขั้นที่ 4 ไม่มียาอะไรที่รักษาแม่ได้ และแล้วแม่ก็ได้เสียชีวิตในที่สุด Joshua โกรธและเสียใจมาก ไม่วายภรรยาก็มาขอหย่าในเดือนเดียวกันอีก เขาเลยตัดสินใจเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในชีวิต จึงเป็นที่มาของการเป็น Minimalist ผู้บุกเบิกที่สำคัญ

ส่วนนาย Ryan Nicodemus อายุ 35 ปี เป็นเพื่อนสนิทกับนาย Josh ตั้งแต่เรียน เกรด 5 ที่ Ohio เกิดที่เมือง Knoxville, Tennessee ประสบผลสำเร็จสูงในอาชีพของเขาเช่นเดียวกัน มีเงินเดือน 6 หลักเหมือนกัน แต่ถูกเลย์ออฟ ปลดออกจากงาน ในปี 2009 ได้มาเจอ Josh ซึ่งต่างคนก็มีมรสุมชีวิตเข้ามา ทั้งสองมาจากครอบครัวที่พ่อแม่หย่ากันตั้งแต่เด็ก Ryan ยังเสพยา เหล้า บุหรี่ จนเขารู้ว่า Josh เพื่อนเก่าแก่ 25 ปี ประสบมรสุมชีวิต แม่ตาย เมียขอหย่าในเดือนเดียวกัน แต่ทำไมเห็น Josh มีความสุขเหลือเกิน เลยต้องขอคุยกับ Josh ถามเขาตรง ๆ แบบเพื่อนสนิทว่า "Why (the hell) are you so happy?" คุยกัน 20 นาที ถึงบางอ้อเลย

Ryan เคยพยายามทำตาม "American Dream” ทื่ทุก ๆ คนปรารถนา คือมีครบทุกอย่าง มีอาชีพดี มีรถ (ซื้อรถใหม่ทุก 3 ปี) มีคอนโดมิเนียม ประสบความสำเร็จทุกอย่าง แต่ทำไมเขาทุกข์มาก อยู่เพื่อเงินเดือน คอยแต่รอ ๆ ว่าเมื่อไหร่เงินเดือนจะออก เพื่อจะได้จ่ายบิล ซึ้อสิ่งของต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นของไม่จำเป็น แต่ทำทุกอย่างเพื่อที่เขา (คิดว่า) จะค้นเจอความสุข แต่แล้วสิ่งเหล่านั้นกลับทำให้การหาความสุขยิ่งไกลออกไปทุกที ๆ การมีสิ่งของมากมาย เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องเสียง โทรศัพท์ การไปทานข้าวร้านหรู ๆ ดูหนัง ดูละคร ท่องเที่ยว ทำให้เขาดูดีจากภายนอก แต่ข้างในของเขานั้น เขาทุกข์มาก ๆ มีหนี้สินรุงรัง ทำงานหนักเพื่อมาจ่ายบิล เศร้าใจและเหนื่อยกาย ติดยาเสพติด เพื่อคลายเครียดชั่วคราว และเพียง 20 นาที เพื่อน Josh ได้พูดให้เขาฟังว่า เขาต้องอยู่แบบมี Meaningful Life คือมีชีวิตที่อยู่อย่างมีความหมาย จัดการกับของที่เขาไม่ต้องการออกไป เก็บข้าวของใส่กล่องให้หมด "Packing Party" กับทุกอย่างที่เขามี ข้าวของที่สะสมหามากว่า 20 ปี ถูกเก็บใส่กล่อง ของเหล่านี้ไม่สามารถทำให้เขามีความสุขได้เลย เขาจึงขายทอดตลาด บริจาคสิ่งของทุกอย่างที่ไม่จำเป็น พยายามปลดหนี้ทั้งหมด

เป็นครั้งแรกที่ Ryan รู้สึกว่าเขาเริ่มมีอิสรภาพ เปี่ยมด้วยความสุขโดยไม่มีสิ่งของต่าง ๆ มากมายที่ไม่จำเป็นเลย เหลือแต่สิ่งที่จำเป็นเท่านั้น Josh เริ่มแนะนำว่า เราต้องมาสำรวจตัวเองว่า วัน ๆ เราทำอะไรบ้าง เช่น โดยเฉลี่ยแล้ว วันหนึ่ง ๆ คนเราตรวจโทรศัพท์มือถือ 150 ครั้ง เช็ค FB, IG, Line ดูโทรทัศน์อีก แถมเราหาสตางค์มาก็เพื่อจ่ายหนี้ อีกยังซื้อของเข้าบ้านเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่รู้จักจบสิ้น เราก็ยังไม่มีความสุข

สิ่งสำคัญที่ควรไว้แก่การดูแลรักษาอย่างจำเป็น คือ

1. Health - สุขภาพของเราสำคัญที่สุด มีอินชัวรันซ์ในกรณีเจ็บป่วย

2. Relationships - ความสัมพันธ์กับผู้อื่น

3. Growth - ความก้าวหน้าใน 1 ปี 3 ปี 5 ปี เราจะเดินไปทางไหน จะมีความสุขในชีวิตหรือเปล่าและแค่ไหน

4. Contribution – การมีส่วนร่วม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่น ช่วยเหลือในชุมชนที่เราอยู่ ชุมชนจะแข็งแรงไม่ได้ถ้าเราไม่มีคนศรัทธาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ให้และสละเวลา กำลังกาย ใจ และปัจจัย กับองค์กรที่ก่อประโยชน์ต่อส่วนรวม

ฉะนั้น การตั้งปณิธานของคุณ จะเป็นเป้าหมายของคุณที่เป็นหรือดูสมจริง เช่น บางคนบอกจะลดน้ำหนักสัก 5 กก. แต่ก็ไม่ลดการกิน ไม่เพิ่มการออกกำลังกาย คุณก็จะเข้ากลุ่ม 88% ที่ล้มเหลวนะครับ


ปณิธานของข้าพเจ้าคือ

1) จัดการขาย บริจาค สิ่งของในบ้านที่ไม่ได้ใช้ และไม่จำเป็นออกไปให้หมด โดยจะเริ่มจากตู้เสื้อผ้า ห้องนอน ห้องครัว ห้องน้ำ โรงรถ เป็นต้น บางครั้งก็ยังงงอยู่เลย พวกเราส่วนใหญ่มาเริ่มชีวิตในอเมริกาด้วยกระเป๋าเพียง 2 ใบ (บางคนเอามาเพียงใบเดียวด้วยซ้ำไป) แต่ตอนนี้มีสิ่งของ (Stuff) เต็มบ้าน บางคนต้องไปเช่าที่เก็บของอีก จึงเกิดเป็นธุรกิจขนาดใหญ่อีกอย่างหนึ่งในอเมริกา คือการรับฝากของ (Storage Rental)

2) หยุดใช้เครดิตการ์ด สำนวนที่ว่า ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง ต้องเปลี่ยนเป็น ไม่จำเป็น ไม่ซื้อ ต้องเข้าใจคำว่า "Want" กับ "Need" ซึ่งแน่นอน Want คือความอยาก ความต้องการ คือ กิเลส ตรงข้ามกับคำว่า Need ที่แปลว่า สิ่งจำเป็น เช่นอยากซื้อรถใหม่ มีกระเป๋าถือแบรนเนมส์ (Brand Names) เพื่อให้เหมือนคนอื่นเขา อย่าเป็นพวก "รสนิยมสูง รายได้ต่ำเลย" คนบางคนใส่เพชร ทอง กระเป๋าหรู เหมือนตู้ทอง เพชร เคลื่อนที่ แต่กระเป๋ากลวง บางคนเคยจนมาก่อน ตอนนี้ก็เลยต้องซื้อแก้แค้นความอยาก บางคนใส่นาฬิกาโรเล็กซ์ทองเรือนละ 3 หมื่นเหรียญ แต่ใส่ ๆ ไปก็บ่นว่าไม่น่าซื้อเลย กลัวถูกโจรมาจี้ปล้นอีก เอาเงินไปทำอย่างอื่นดีกว่า บางคนหาเงินเท่าไหร่ ก็ไม่พอใช้ เพราะมีนิสัยซื้อไปเรื่อย แต่ไม่ได้คิดถึงตอนเราไม่มีอะไรเลย เรายังอยู่กันอย่างมีความสุขได้อย่างไร ต้องคิดทบทวนและกลับไปสู่จุดเดิมดีกว่า สิ่งของต่าง ๆ ไม่ช่วยให้เรามีความสุขอย่างถาวรได้เลย

3) ศึกษาฝึกเรียนสมาธิ เพื่อให้การกระทำของเราตั้งอยู่ด้วยสติ และปัญญา มิฉะนั้น เราจะตกเป็นเหยื่อของประเทศทุนนิยมอย่างอเมริกานี้ เพราะบริษัทต่าง ๆ มอมเมาเราทุกวัน ตั้งแต่ทีวี อีเมล ไลน์ มีการโฆษณาสินค้าชวนเชื่อ ให้เรารีบไปหาซื้อ เป็นการเสพที่ไม่มีวันจบสิ้น ถ้าเราไม่รู้จักการยับยั้งชั่งใจ (อุเบกขา) กับความสุขเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ชั่วขณะหนึ่ง ก็ไม่มีทางเจอความสุขที่แท้จริง

4) อยู่อย่างพอเพียง ตามพระราชดำริของ ร. 9 บางคนอยู่คนเดียวมีบ้าน 3-4 ห้องนอน ทำความสะอาดไม่ได้ สุดท้ายก็ทุกข์อีก บางคนมีรถ 3-4 คัน ผมเองก็มีนาฬิกา 24 เรือน ถูกบ้างแพงบ้าง แต่ก็ซื้อสะสมมากว่า 30 ปี โดยสวมใส่จริง ๆ ตอนนี้ ไม่ถึง 5 เรือนที่ชอบ ซื้อโดยไม่ได้คิดการณ์ไกล ซื้อเพราะ (หลง) ชอบ โดยไม่จำเป็นเลย ต้องกลับมาถามว่า ของเหล่านั้นหรือแต่ละชิ้นนั้น มัน “Spark Joy” ไหม คือดูแล้วจุดประกายความสุขจริง ๆ ไหม ถ้าไม่ ก็ต้องขายทอดขายทิ้ง หรือบริจาคให้คนอื่นนำไปใช้ประโยชน์ได้ จะดีกว่าไหม

5) ชำระหนี้ทุก ๆ เดือน และจะไม่เพิ่มหนี้ใหม่อีกเด็ดขาด มีอิสรภาพในการอยู่อย่างมีความสุข ไม่กังวล ไม่มีหนี้สินมากมาย การไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ บางคนเป็น ส.ว. แล้ว (60 ปีขึ้นไป) แต่ยังมีหนี้สินมากมาย ได้ยินบางคนพูดว่า “ต้องหมั่นพูดกับตัวเองเสมอว่า ป่วยไม่ได้ ตายไม่ได้ หยุดไม่ได้” เป็นทาสของเงิน คือทำงานทุกอย่างเพื่อหาเงินใช้หนี้ แล้วจะมีความสุขอย่างไร พอป่วยก็เอาเงินที่หามาได้ ไปจ่ายค่าหมอ

ดังที่ท่าน องค์ดาไลลามะเทศน์ว่า “มนุษย์เป็นสิ่งที่แปลกที่สุดในโลก เขายอมเสียสละสุขภาพ เพื่อหาเงิน… แล้วก็สละเงิน เพื่อให้ได้สุขภาพคืนมา เขาห่วงอนาคตมาก จนไม่มีความสุขกับปัจจุบัน ผลคือ เขาไม่ได้อยู่ทั้งปัจจุบันและอนาคต เขาอยู่เหมือนจะไม่มีวันตาย และสุดท้าย เขาก็ตายไป โดยไม่ได้มีชีวิตอยู่จริง”

สรุป ชีวิตเป็นของคุณ การบริหารจัดการกับชีวิตก็อยู่ที่คุณ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะสามารถพาท่านสู่ความสุข โชคดีมีชัยกับปณิธานของคุณเอง ขอให้เป็น 12% ที่ทำได้ คนฉลาดคือคนที่เอาความบกพร่องของคนอื่นมาเป็นบทเรียนให้ตัวเอง


สวัสดีปีใหม่ 2017
โชคดีครับ
คิด ฉัตรประภาชัย