Special Scoop
ผู้ร้ายข้ามแดน ... จนมุมแต่ไม่จนตรอก!“Catch Me … If You Can!”

ผมได้รับการสอบถามจากหลายท่านเกี่ยวกับกฎหมายของการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกาว่ามีคดีอะไรที่เข้าข่ายมีกฎระเบียบที่ทางการยึดถือปฏิบัติอย่างไรและมีการเลือกปฏิบัติหรือเปล่าโดยเฉพาะในหลายคดีมีผู้ต้องหาที่ยังลอยนวลอยู่ได้ในประเทศไทยหรือประเทศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันนี้

ถึงแม้ว่าตำรวจท้องที่เชอรีฟหรือซีตี้โปลิสจะไม่ได้รับรู้หรือเรียนถึงรายละเอียดต่างๆมากนักเพราะส่วนใหญ่ทางตำรวจที่มีหน้าที่จัดการในเรื่องนี้คือ U.S. Marshall, F.B.I, D.E.A., หรือ I.C.E. เพราะเป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลางติดต่อระหว่างประเทศส่วนในทางประเทศไทยก็มีหลายหน่วยที่เกี่ยวข้องเช่น ส.น.ง.ตำรวจแห่งชาติผ่านไปทางกระทรวงการต่างประเทศกระทรวงมหาดไทยสนง อัยการสูงสุดส.น.ง.ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกองปราบปรามD.S.I.เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตามผมได้พยายามหาข้อมูลเพื่อให้แฟนคอลัมน์ได้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของกฏหมายฉบับนี้โดยสังเขป

ทางประเทศไทยนั้นเรามีพระราชบัญญัติการส่งผู้ร้ายข้ามแดนพ.ศ. 2551 (2008) ซึ่งรวมยอดต่อจากฉบับเดิมในปีพ.ศ. 2472 (1929) ปัจจุบันประเทศไทยมีสนธิสัญญา (Extradition Treaty) การส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับ14ประเทศได้แก่อังกฤษ, แคนาดา, ออสเตรเลีย, มาเลเซีย, ฟิจิ, เบลเยี่ยม, อินโนนีเซีย, ฟิลิปปินส์, สหรัฐอเมริกา, จีน, เกาหลีใต้, ลาว, บังคลาเทศและกัมพูชาและยังมีสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องคดีอาญาอื่นๆเรียกว่าTreaty on Mutual Assistance in Criminal Matters กับประเทศต่างๆอีก12ประเทศได้แก่สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, นอร์เวย์, อินเดีย, จีน, เกาหลีใต้, โปแลนด์, ศรีลังกา, ออสเตรเลียและเบลเยี่ยมแต่ถ้าประเทศที่ไม่มีสนธิสัญญาก็จะถือหลักถ้อยทีถ้อยปฎิบัติต่างตอบแทน (Reciprocity)

โดยทั่วๆไปหลักการของการยื่นคำร้องส่งผู้ร้ายข้ามแดนต้องมีลักษณะดังนี้

1. ต้องเป็นความผิดที่กฎหมายไทยกำหนดโทษจำคุกไว้ไม่ต่ำกว่า1ปีคือความผิดของผู้ร้ายต้องเป็นความผิดทางอาญาร้ายแรง (Felony) ที่สามารถลงโทษได้ทั้งในประเทศที่ร้องขอและประเทศที่รับคำร้องขอด้วย (Double Criminality)

2. ต้องไม่ใช่คดีที่ศาลของประเทศผู้ร้องขอได้พิจารณาและพิพากษาให้ปล่อยหรือได้รับโทษแล้วในความผิดที่ร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนสรุปว่าจะต้องไม่พิจารณาพิพากษาลงโทษบุคคลเดียวกันในความผิดที่กระทำในครั้งเดียวกันเป็นซ้ำสอง (Double Jeopardy)

3. ต้องมิใช่ความผิดที่มีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือการขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นตามความจริงที่มีวัตถุประสงส์เพื่อที่จะเอาตัวไปลงโทษอย่างที่มีลักษณะทางการเมืองหรือเนื่องมาจากการขัดแย้งทางการเมืองเป็นต้นเหตุ

สำหรับข้อตกลงการส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ทางสหรัฐฯทำกับประเทศไทยนั้นก็มีลักษณะคล้ายกันตามข้อ1-3เพิ่มเติมว่าข้อกล่าวหาต้องไม่เกี่ยวกับเรื่องคดีทางทหาร (The offense is not exclusively military in nature)

คำร้องในการขอให้จับผู้ร้ายข้ามแดนนั้นประเทศผู้ร้องขอต้องรับรองหมายจับพร้อมรายละเอียดของที่มาของการตั้งข้อหา (Probable Cause) ผู้ต้องหาได้เข้าร่วมสู่กระบวนการพิจารณาคดีหรือเปล่ามีคำรับรองถึงการตัดสินของศาลประกอบการร้องขอหรือเปล่าคดีต้องไม่หมดอายุความเป็นต้น

ในกรณีที่ต้องการให้ประเทศที่ถูกร้องขอให้ควบคุมตัวผู้ร้ายข้ามแดนทันทีนั้นก็สามารถทำได้ (Provisional Arrest) แต่ประเทศที่ร้องขอต้องยื่นหลักฐานเอกสารประกอบภายใน30วันหลังจากผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวไว้มิฉะนั้นศาลก็สามารถมีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้ร้ายดังกล่าวได้

ต้องเข้าใจว่าสนธิสัญญานั้นเป็นสัญญาที่ทำกันระหว่างประเทศที่มีอิสรภาพของสองประเทศเขาสามารถที่จะเจรจาทำความเข้าใจตามสัญญาเป็นรายๆไปและสัญญานี้จะมีข้อตกลงที่แตกต่างกันระหว่างประเทศของทั้งสองคู่สัญญาได้ยกตัวอย่างประเทศเม็กซิโก, แคนาดา, มาเก๊าและประเทศในยุโรปจะไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาประเทศสหรัฐฯหากโทษของคดีที่ผู้ร้ายถูกกล่าวหามีโทษถึงขั้นประหารชีวิตนอกจากอัยการสหรัฐจะรับรองว่าอัยการจะไม่เสนอขอให้ศาลลงโทษประหารชีวิตเมื่อผู้ต้องหาถูกตัดสินว่าผิดในคดีนั้นๆ

โดยทั่วไปในประเทศสหรัฐอเมริกาขาจะไม่รับคำร้องในการขอจับผู้ร้ายข้ามแดนในประเทศนี้ถ้า เป็นคดีการเมืองที่มีต้นเหตุจากความขัดแย้งกันหรือในกรณีเป็นคดีเกี่ยวข้องกับคดีทางทหาร (Military and Political Offenses) ส่วนในเรื่องสัญชาตินั้นประเทศสหรัฐฯไม่คำนึงว่าผู้ต้องหาจะเป็นสัญชาติใดโดยอ้าวอิงว่าเป็นบุคคลใช้คำว่า (Persons) แทนในสนธิสัญญาร่วม

และสุดท้ายเรื่องค่าใช้จ่ายประเทศผู้ร้องขอต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายต่างๆในการดำเนินเรื่องเช่นถ้าผู้ต้องหาคัดค้านการส่งตัวกลับประเทศผู้ร้องขอก็ต้องตั้งทนายแก้ต่างร่วมถึงค่าการแปลเอกสารต่างๆตลอดจนค่าใช้จ่ายในการเดินทางของเจ้าหน้าที่และผู้ร้ายของประเทศผู้ร้องขอ

คดีตัวอย่างที่สหรัฐฯร้องขอให้ประเทศไทยจับผู้ต้องหาสำคัญของทางการสหรัฐฯเช่นนายวิคเตอร์โตเจวิชบูชหรือรู้จักกันในนาม“วิคเตอร์บูช”ข้อหาสมคบค้าอาวุธสงครามในขณะเดียวกันการขอตัวผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อมาดำเนินคดีในประเทศไทยเช่นคดีนายราเกซสักเสนาผู้ต้องหาคดียักยอกทรัพย์คดีนักศึกษาไทยฆ่าแล้วหนีไปอยู่ประเทศอังกฤษคดีฝรั่งแคนาดาฆ่าหั่นศพสาวไทยใส่กระเป๋าเดินทางและหลบหนีข้ามประเทศอนึ่งหากทางการใดต้องการตัวผู้ร้ายข้ามแดนอย่างเร่งด่วนและไม่ต้องการผ่านกระบวนการตามสนธิสัญญาที่ทำกันไว้ก็สามารถขอร้องให้ประเทศปลายทางที่ถูกร้องขอให้ยกเลิกวีซ่าที่เข้าประเทศเขาทางอิมมิเกรชั่นก็สามารถไปควบคุมตัวและส่งต่อให้ประเทศที่เจ้าตัวอยู่ได้เลยถ้ามีหลักฐานการกระทำผิดคดีอาญาร้ายแรงจะถูกระบุเป็นบุคคลไม่พึงปรารถนาในประเทศเขา

ผมก็ขอสรุปว่าเมื่อโลกไม่มีพรมแดนถ้าคุณกระทำผิดในคดีอาญาร้ายแรงแล้วหนีไปอยู่ต่างประเทศอย่าคิดว่าคุณจะหนีได้ตลอดรอดฝั่งคุณอาจจะหนีเงื้อมือกฎหมายได้แต่คุณก็ไม่สามารถหนีกฎแห่งกรรมได้แน่นอน


โชคดีครับ
คิด ฉัตรประภาชัย