Special Scoop
สุขภาพจิตดีต้องเริมที่ตัวเองก่อน และขยายไปสู่บุคคลอื่นอย่างมีสติ

วันนี้ขออนุญาตเล่าเรื่องเบาๆ แต่มีสาระมากๆ เพราะมีโอกาสเข้าอบรมในโครงการความรู้ด้านสุขภาพจิตและกฎหมายสำหรับชุมชนไทยในต่างแดนเมื่อวันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมาที่สถานกงสุลใหญ่แอล.เอ.โดยมีลูกสาวอลิสา (น้องสา) เป็นคนประชาสัมพันธ์โฆษณาชักชวนบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าต้องมาร่วมการอบรมนี้ให้ได้เพราะน้องสาได้เข้าอบรมในวันแรกคือวันศุกร์ที่ 11 แล้วประทับใจมาก

โดยมีแพทย์หญิงดุษฎีจึงศิรกุลวิทย์ (จิตแพทย์) คุณสุภาวดีนวลมณี (นักจิตวิทยา) จากกรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุขและ ดร.อุทัยอาทิเวช (อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ) จากสำนักงานอัยการฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศที่อุตส่าห์นั่งเครื่องบินมากว่า 20 ชั่วโมงเพื่อมาให้ความรู้กับพวกเราตามนโยบายของกรมการกงสุลกระทรวงการต่างประเทศที่ได้เห็นความสำคัญจัดงบการอบรมให้กับพวกเราที่อยู่ต่างประเทศผ่านทางสถานกงสุลต่างๆ ในหลายประเทศส่วนรายละเอียดปลีกย่อยคงจะมีหนังสือพิมพ์หลายฉบับได้เขียนให้ได้อ่านกัน

ตามโปรแกรมเวลาเริ่ม 9.00 – 17.00 น. ผมก็มาก่อนสัก 10 นาทีปรากฎว่าขึ้นไปถึงห้องอบรมก็ไม่เห็นใครสักคนนึกว่าเรามาผิดงานเสียแล้วแต่พอสัก 9.20 น. ก็เริ่มทยอยกันมารวมกันประมาณ 23 คนกว่าการอบรมจะเริ่มได้ก็เกือบ 9.30 น. แล้วบางท่านก็บอกผมว่านี่มันไทยไทม์นะคุณคิดอย่าซีเรียสเลยส่วนผมเองกลับคิดว่าเมื่อเรามาอยู่ประเทศอเมริกาต้องรู้ว่าการตรงต่อเวลาเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นสิ่งบ่งบอกสะท้อนถึงการมีระเบียบวินัยของชุมชนการบริหารเวลาและยังให้เกียรติกับผู้จัดรวมทั้งวิทยากรซึ่งเขามารอพวกเราตั้งแต่เช้าแล้ว

ตอนสมัยเรียนตำรวจที่โรงเรียนเชอรีฟของแอล.เอ.ถ้าใครมาเข้าเรียนสายจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตามคุณต้องออกไปวิ่งกลางสนามวิ่งไปตะโกนไปถึงความสำคัญของการจัดเวลาร้องให้อายชาวบ้านว่า “I am a late comer” แล้วเขียนรายงานส่งถึงความสำคัญของการตรงต่อเวลาก่อนที่จะอนุญาตให้เข้าห้องเรียนครูฝึกบอกว่าถ้าเรามีพาร์ตเนอร์ที่ต้องการความช่วยเหลือจากคุณคุณจะมาสายได้ไหม บางครั้งอาจจะหมายถึงความเป็นความตายได้ถ้าต้องต่อสู้กับผู้ร้ายดังนั้นตำรวจจึงถูกฝึกให้มีนิสัยในการจัดการบริหารเวลาไว้เป็นอันดับแรกๆ ครูให้ท่องทุกวัน “Be Prepared and Be on Time”

มาเข้าเรื่องการอบรมต่อ เริ่มจากดร.อุทัยได้บรรยายถึงปัญหาของคนไทยในต่างประเทศซึ่งแต่ละประเทศก็มีปัญหาที่แตกต่างกันไป เช่น ประเทศเยอรมันนีที่มีสตรีไทยไปแต่งงานกับชาวเยอรมันมากเป็นอันดับ 3 ( อันดับ 1 เป็นคนเยอรมันแต่งกันเอง อันดับ 2 เป็นชาวโปแลนด์) ในประเทศเขาสถิตินี้ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสตรีไทยมีเสน่ห์เป็นที่ต้องการของผู้ชายทั่วโลกเลย ดร. อุทัย บอกเน้นให้คนไทยที่อยู่ต่างแดนได้กลับไปซื้อที่ดินที่ เมืองไทยที่มีทุกอย่างพร้อม อย่างไรก็ตามหากภรรยาไทยต้องการไปซื้อที่ดินในเมืองไทยเพื่อปลูกบ้านหลังเกษียณหรือปลูกเรือนหอก็ตามถ้าเราอยากใส่ชื่อสองคนก็แนะนำว่าต้องให้สามีเซ็นหนังสือระบุว่าเงินที่นำมาซื้อเป็นสินส่วนตัวของภรรยาไทยเท่านั้นจึงจะใส่สองชื่อได้ส่วนภรรยาไทยและบุตรก็มีสิทธิ์ถือ 2 สัญชาติคือถือพาสปอร์ต 2 เล่มได้เหมือนกับประเทศอเมริกาซึ่งรัฐบาลไทยไม่มีนโยบายที่จะมา “ราวี” เอาพาสปอร์ตไทยคืนจากเรา ดร.อุทัย กล่าวว่า ยกเว้นประเทศเดนมาร์กซึ่งถ้าคนไทยจะได้สัญชาติเขา เขาต้องให้ยกเลิกสัญชาติไทยเท่านั้นประเทศเดนมาร์กรู้สึกจะหวงแหนสัญชาติของเขามากเพราะมีการให้สวัสดิการเลี้ยงดูตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่โดยเฉพาะการดูแลด้านการศึกษาสุขภาพและการเลี้ยงดูตอนชราเป็นต้น

ทางสำนักงานอัยการของท่านยังได้เปิดเว็บไซต์ใช้งบประมาณไป 4 ล้านบาท ที่คุ้มค่าคนไทยทั่วโลกสามารถเข้าไปค้นหาข้อมูล ที่มีประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว(www.humanrights.ago.go.th)ซึ่งมีคำถามคำตอบจากปัญหาต่างๆของคนไทยในต่างแดนที่มีผู้สอบถามไปเป็นจำนวนหลายสิบคำถามมีข้อมูลที่น่าสนใจ ลองเข้าไปค้นหาดูนะครับ

ส่วนเรื่องถ้าคิดจะเข้าประเทศไทยและจะอยู่เกิน 30 วันก็ให้เข้าโดยใช้พาสปอร์ตไทยออกโดยพาสปอร์ตไทยถ้าอยู่ไม่เกิน 30 วันก็ให้เข้าโดยใช้พาสปอร์ตอเมริกันเข้าและออกโดยพาสปอร์ตอเมริกันเช่นเดียวกัน ตม.เมืองไทยไม่ขัดข้องเพราะท่านรู้ว่าเราเป็นคนไทยที่ถือสองสัญชาติ…No Problem! ครับ

มาถึง พญ.ดุษฎี กับคุณสุภาวดีก็มีประสบการณ์มากมาย คุณหมอป้อบอกว่าจบแพทย์ศาสตร์จุฬาไปอยู่ในชนบทจังหวัดนครราชสีมา 7 ปีก่อนที่จะมาเป็นผู้อำนวยการกรมสุขภาพจิตในกรุงเทพฯดูแลเรื่องเด็กผู้ใหญ่คนพิการที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตกว่าหมื่นราย พวกเราถูกให้แยกเป็นกลุ่มๆกลุ่มละ 7-8 คนมาถกกันถึงปัญหาต่างๆในครอบครัวหรือกับคู่ครองแล้วมาสรุปถึงปัญหาต่างๆ หลังจากนั้นคุณหมอได้แนะวิธีเทคนิคต่างๆเช่นให้เลิกใช้ประโยคที่ขึ้นต้นด้วย “แก”หรือ“You-Messages” แล้วให้หันมาใช้ “ฉัน”หรือ “I-Messages” แทนจะทำให้การสื่อสารมีความเป็นมิตรภาพมากขึ้นเพราะเราเอาใจเราหรือความรู้สึกของเรามาพูดไม่ได้กล่าวติกล่าวโทษใคร ไม่มีความอคติเพราะการมองโลกในแง่ดีมองคนในแง่ดีคนก็อยากจะพูดคุยด้วยและยอมฟังเราในการมีส่วนแก้ปัญหาด้วยกัน พญ.ดุษฏี ให้นึกว่าทำปากให้เล็กจุ๋มจิ๋มหูโตๆตามองให้กว้างๆสรุปคือฟังคนอื่นมากๆ พูดน้อยๆ และมองไกลๆ

คุณหมอยังบอกว่าการทำร้ายกันทางจิตใจ“Emotional”มันร้ายกว่าการทำร้ายร่างกายหลายสิบเท่าการเยียวยารักษาก็ลำบากเพราะต้องใช้เวลาเป็นนานปีคนที่โดนจะจดจำแต่สิ่งที่เขาถูกกระทำเป็นบาดแผลในหัวใจเลย

หลังจากนั้นแต่ละกลุ่มก็จะหาข้อสรุปใน 5 สิ่งที่ชุมชนไทยควรทำและ 5 สิ่งที่ไม่ควรทำซึ่งข้อสรุปจากการลงคะแนนของชั้น โดยเป็นมติจากการลงคะแนนเสียงของผู้เข้าร่วมอบรมในวันที่ 12 กรกฎาคม

สามอันดับแรกที่อยากให้ชุมชนไทยควรทำ :
1.สนับสนุนเด็กรุ่นใหม่ให้มีบทบาทในสังคมไทย (13เสียง)
2.รวมกลุ่มวิชาชีพในการช่วยเหลือและแก้ปัญหา (11เสียง)
3.สนับสนุนสุขภาพกายและใจให้องค์กรเข้าช่วยเหลือ (9เสียง)

สามสิ่งที่ไม่ควรทำและได้คะแนนมากที่สุด:
1.ไม่ลืมให้เวลาตัวเองและครอบครัว (16เสียง)
2.อย่าวางเฉยในกิจกรรมส่วนรวม (15เสียง)
3.ไม่แบ่งแยกแบ่งสีขจัดสัญลักษณ์แห่งความขัดแย้ง (10เสียง)

ปัญหาส่วนใหญ่ของคนในกลุ่มก็มีความคล้ายคลึงกันในเรื่องการสื่อสารกันในครอบครัวการสร้างความหวังที่มากเกินไปกับลูกหลานจนไม่คำนึงถึงความเห็นของเขาที่ต้องจำใจตอบสนองพ่อแม่เช่นการอยากเห็นลูกเรียนสูงๆ เป็นหมอทนายความวิศวกรโดยตัวอย่างเช่นลูกนั้นอยากแค่เป็นครูซึ่งเขามีความสุขมากกว่าอีกทั้งการให้เวลากับลูกๆเพียงวันละ 15 นาทีเพื่อฟังปัญหาหรือเล่าเหตุการณ์กิจกรรมที่เขาทำซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำควรชมให้มากๆก่อนที่จะติเขา

ผมขอสรุปถึงโครงการนี้ซึ่งเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์เป็นอย่างมากแต่เสียดายการประชาสัมพันธ์ที่ยังไม่แพร่กระจายครอบคลุมได้ทั่วถึงโดยเฉพาะคำโฆษณาที่บอกว่า “สำหรับคนไทยที่มีปัญหาเครียดคิดไม่ตกวิตกจริต”ฟังแล้วใครอยากจะยอมรับและเข้ามาอบรมดังนั้นควรโฆษณาว่าเป็นการอบรมเพื่อป้องกันปัญหาทางสุขภาพจิตเสียมากกว่า ซึ่งสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ และนำไปแบ่งปันผู้อื่นได้อีกด้วย

ต่อมาคือเวลาและสถานที่ที่จัดในวันเสาร์-อาทิตย์น่าจะดีกว่าและถ้าหากจัดที่วัดไทยในนครลอสแองเจลิสหรือสถานที่อื่นๆ ที่มีที่จอดรถสะดวกก็จะมีผู้อยากมาฟังมากขึ้นเช่นเข้าไปจัดในไทยทาวน์จัดที่ไทยแลนด์พลาซ่าก็ได้

ต่อมาควรจะจัดให้บ่อยขึ้นโดยหาวิทยากรไทยจากท้องถิ่นที่เป็นจิตแพทย์นักจิตวิทยาที่เป็นคนไทยซึ่งผมเชื่อแน่ว่าเรามีแน่นอนเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายแต่ก็ยังคงเชิญวิทยากรจากเมืองไทยปีละครั้งก็จะดีเพราะคนไทยมีเป็นแสนในแอล.เอ.มากันแค่ 2 วันสัก 50 คนนับว่าน้อยมากครับการติชมเสนอแนะเป็นความเห็นส่วนตัวของผมแต่ต้องขอชมอธิบดีกรมการกงสุลที่มีวิสัยทัศน์ที่ไกลในการช่วยเหลือชุมชนไทยในต่างแดนให้มีสุขภาพจิตที่เข้มแข็งแล้วจัดงบมาให้ในโครงการนี้

ขอขอบพระคุณท่านกงสุลใหญ่ เจษฎา กตเวทิน กงสุล บรรณา วังวิวัฒน์ ตลอดจนวิทยากรทุกๆท่าน และเจ้าหน้าที่อื่นๆที่ประสานให้พวกเราได้เข้าอบรมในโครงการนี้ แถบยังได้รับประทานอาหารไทยเลิศรส เครื่องดื่ม กันตลอดรายการเป็นอย่างสูงครับ


โชคดีครับ
คิด ฉัตรประภาชัย