Special Scoop
เล่าเรื่อง "ลิฟวิ่ง ทรัสต์ (Living Trust)" ตอนที่ 3

ฉบับที่แล้วเกริ่นนำให้คุณได้ทราบเสียก่อนว่าให้คุณผู้อ่านติดตามถึงเนื้อหาแบบเจาะลึกในตอนที่ 3 ของลิฟวิ่ง ทรัสต์ซึ่งข้อมูลก็ต่อเนื่องกันจริงๆค่ะ เพราะฉบับนี้ดิฉันจะขอเริ่มเล่าเรื่องให้อ่านกันต่อไปเลยว่า การที่คุณได้จัดทำกองทุนลิฟวิ่ง ทรัสต์ไว้ขึ้นมานั้น จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่จะได้รับทรัพย์สินตกทอดจากคุณ (Beneficiaries) อย่างมากเลยจริงๆ พวกเขาเหล่านั้นจะไม่ต้องเสียเงินและเวลาในการว่าจ้างทนาย และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการสื่อสารกับกระบวนการของ Probate Court และที่สำคัญก็เพราะการทำงาน ของลิฟวิ่ง ทรัสต์ ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของศาลข้อมูลส่วนตัวของผู้ที่จะได้ ผลประโยชน์ ตกทอด จากคุณจึงจะไม่ถูกดึงไปกลายเป็นข้อมูลสาธารณะขึ้น Public Record อีกด้วยล่ะค่ะ นอกจากนี้พวกเขายังจะได้รับข้อมูลเรื่องการแบ่งสรรทรัสต์อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงยังมีสิทธิ์ที่จะได้รับสำเนา ของเอกสารลิฟวิ่ง ทรัสต์เพื่อนำมาเก็บไว้ได้ด้วย

ตอนนี้คุณอาจจะเริ่มเกิดคำถามขึ้นมาในใจ หรืออาจจะเริ่มคิดตั้งแต่ตอนแรกแล้วว่า ถ้าอย่างนั้น ใช้พินัยกรรม(Will) ไปเลยไม่ดีกว่าหรือ เพราะคุณก็สามารถเขียนมันขึ้นมาได้เอง จัดการทรัพย์สิน หลักทรัพย์ เจาะจงทุกอย่างไว้ตามความต้องการได้ไม่ต่างอะไรกับการทำกองทุนลิฟวิ่ง ทรัสต์ ที่น่าจะมีกระบวนการจัดทำและค่าใช้จ่ายสูงกว่าการทำพินัยกรรม แต่หากคุณผู้อ่านยังจำกันได้อยู่ พินัยกรรมของคุณที่ได้จัดทำไว้ หากคุณสิ้นชีวิตลง ศาลจะต้องได้รับคำร้อง (Petition) จากบุคคลที่คุณเขียนระบุไว้ให้เป็นผู้ดำเนินการ/ผู้จัดการมรดก (Executor) ตามพินัยกรรมของคุณ ศาลจะแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้อง (ญาติพี่น้อง คู่สมรส บุตร รวมถึงเจ้าหนี้) ให้ทราบถึงกำหนดการวันเพื่อ พิจารณา/ไต่สวน (Hearing) หลังจากนั้นผู้จัดการมรดกของคุณ จึงจะได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ จากศาล ข้อมูลรายการทรัพย์สิน หลักทรัพย์ และหนี้สินที่คุณมี ศาลก็จะได้รับข้อมูลเหล่านี้ทั้งหมด แล้วจึงจะแจ้งให้เจ้าหนี้ (Creditors) ของคุณได้ทราบเพื่อให้ดำเนินการเรียกร้องสิทธ์ในจำนวนเงิน ที่คุณติดค้างไว้ได้ต่อไป กระบวนการ Probate นี้จะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อศาลอนุญาติให้ดำเนินการจัดสรร ทรัพย์สินกองสุดท้ายให้เรียบร้อยหมดไป ซึ่งโดยสรุปแล้ว พินัยกรรมของคุณนั้นไม่สามารถ ทำงานได้ด้วยตนเองค่ะ ต้องผ่านศาล Probate ที่มีค่าใช้จ่ายและระยะเวลาการทำงาน จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับปริมาณ มูลค่าของทรัพย์สินที่คุณมี ความซับซ้อนของการถ่ายโอนทรัพย์สิน และรวมถึงจำนวนของเจ้าหนี้ที่คุณมีอีกด้วย ที่สำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือผู้ที่จะไรับมรดกตกทอดจากคุณ จะไม่มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์ หรือหลักทรัพย์เหล่านั้นได้ทันที หากกระบวนการในชั้นศาลยังไม่สิ้นสุดค่ะ

ดิฉันขออธิบายเพิ่มเติมในเรื่องบุคคลสำคัญที่จะมีบทบาทอย่างมากในกองทุนลิฟวิ่ง ทรัสต์ของคุณ และบุคคลนั้นก็คือผู้จัดสรรกองทุนหรือ Trustee ค่ะ ในตอนที่ 1 เคยเล่าโดยคร่าวๆถึงกองทุนลิฟวิ่ง ทรัสต์ ว่าตัวคุณเองสามารถสร้างมันขึ้นมาได้เองและเป็นผู้จัดสรร จัดการ ยกเลิกเพิกถอนได้ตามความพึงพอใจ ในขณะที่คุณยังมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าหากคุณมีความจำเป็นที่จะระบุเจาะจงบุคคลหนึ่งบุคคลใดให้เป็น ผู้จัดสรรกองทุนในขณะที่คุณยังมีชีวิตอยู่ คือทำงานไปด้วยกัน (ในชีวิตจริงดิฉันยังไม่เคยได้รู้จักกับกรณีนี้ เป็นการส่วนตัวหรอกนะคะ) แต่ในภาพยนต์หลายๆเรื่องคุณอาจจะเคยเห็นเจ้าของบริษัทยักษ์ใหญ่ อายุมาก ที่ต้องมีทนายประจำตระกูลหรือบริษัทเพื่อจัดการกับเรื่องสัพเพเหระต่างๆ ก็คงจะคล้ายกัน กับกรณีนี้นั่นล่ะค่ะ การเลือกบุคคลเพื่อที่จะเป็นผู้จัดสรรกองทุนให้คุณนั้น มีความสำคัญมากค่ะ เพราะเมื่อคุณสิ้นชีวิตลง บุคคลนี้ (อาจมีมากกว่า 1บุคคล เพื่อเป็น Co-Trustees ก็ได้) จะเป็นตัวละครสำคัญในการบริหารทรัพย์สิน ที่คุณมีตกทอดไว้ คุณอาจจะเลือกคู่สมรส บุตร ผู้ร่วมงาน/หุ้นส่วนในทางธุรกิจ เพื่อนสนิท หรือเจ้าหน้าที่จากสถาบันที่ได้รับการยอมรับ มีชื่อเสียง และจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายรัฐแคลิฟอร์เนีย เช่น ทนายความ ให้เป็น Trustee ผู้จัดสรรกองทุนลิฟวิ่งทรัสต์ของคุณก็ได้ค่ะ

เพราะทรัพย์สิน หลักทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ที่คุณต้องการนำมารวมไว้ในกองทุนลิฟวิ่ง ทรัสต์ มีค่าสำหรับคุณ และเป็นการสั่งสมมาทั้งชีวิตด้วยกำลังของคุณเอง คุณเลือที่จะจัดสรรสิ่งเหล่านี้ เพื่อให้ตกทอดไปสู่คนที่คุณรัก ดังนั้นคุณจำเป็นต้องไตร่ตรองให้ดีๆค่ะ ในการเลือกบุคคลให้เป็น ผู้จัดสรรกองทุนนี้ เช่น หากคุณเลือกที่จะให้บุตรคนหนึ่งคนใดของคุณเป็นผู้จัดสรรทรัพย์สิน แล้วบุตรคนนี้มีปัญหากับบุตร หรือญาติพี่น้องที่เกี่ยวข้องกับกองทุนคนอื่นๆ ของคุณหรือไม่ หรือถ้าหากคุณเลือกคู่สมรส หุ้นส่วนทางธุรกิจ เพื่อนสนิทให้เป็นผู้จัดสรรกองทุน คุณต้องคิดให้รอบคอบ และรอบด้านเลยค่ะว่าการแต่งตั้วเลือกสรรบุคคลนี้จะไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ ทั้งส่วนตนและส่วนรวม ส่วนถ้าหากคุณจะเลือกสถาบัน เจ้าหน้าที่ หรือทนายความ คุณก็ต้องมั่นใจนะคะ ว่าบุคคลนี้จะมีความสามารถและมีประสบการณ์มากพอที่จะจัดการบริหารทรัพย์สินตามที่คุณต้องการได้

ฉบับหน้า ตอนที่ 4 จะเป็นตอนสุดท้ายที่ดิฉันจะสรุปเรื่องราวของลิฟวิ่ง ทรัสต์ให้คุณได้อ่าน รวมถึงตอบคำถามที่อาจจะยังค้างคาใจคุณผู้อ่านอยู่ หากไม่อยากรอ โทรศัพท์สอบถามกันเข้ามาได้ค่ะ ที่เบอร์ (323)518-2746 อีเมล ployn@kolawoffice.com หรือหากคุณผู้อ่านอยากจะนัดพบ ปรึกษาโดยตรงกับทนายความ ก็ติดต่อเข้ามาได้เช่นกันค่ะ การขอแนวทางและคำปรึกษาเรื่องลิฟวิ่ง ทรัสต์ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆค่ะ