Special Scoop
สิทธิ์ในการได้รับใบเขียวจากการทำงาน

บทความแปลเริ่มต้นจากอาทิตย์นี้เป็นต้นไป เราจะเปลี่ยนโฟกัสมาสักนิดนึงค่ะ ที่ว่าแค่นิดเดียวก็เพราะ เราจะยังคุยเรื่องการย้ายถิ่นฐานถาวรเหมือนเดิม แต่จะไม่ใช่การใช้สิทธิ์ผ่านทางสมาชิกในครอบครัวที่ถือสัญชาติอเมริกันอีกแล้วแต่จะเป็นการใช้สิทธิ์ผ่านทางผู้ว่าจ้างในสหรัฐฯแทน (Employment Based / EB) สำหรับการได้รับใบเขียวจากการทำงานผ่านผู้ว่าจ้างนั้นมี 3 ประเภท ดังต่อไปนี้ค่ะ

1) Employment Based 1 (EB-1) บุคคลที่มีความสามารถ ประสบการณ์ทำงานและวุฒิการศึกษาขั้นพิเศษ ตัวอย่างเช่น ศาสตราจารย์หรือผู้ทำการทดลองที่ที่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงผู้บริหาร นักธุรกิจหลายเชื้อชาติ โดยบุคคลในกรณีพิเศษดังกล่าวนี้จะต้องไม่ใช่บุคคลที่ถือสัญชาติอเมริกันอยู่แล้ว

2) Employment Based 2 (EB-2) บุคคลที่มีระดับการศึกษาในระดับขั้นสูง หรือบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญงาน/ความรู้เฉพาะทางตามข้อกำหนดของรัฐบาลสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น บุคคลที่จบการศึกษาขั้นปริญญาโทขึ้นไป หรืออาจเป็นบุคคลที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีแต่มีประสบการณ์การทำงานมากกว่า 5 ปี ในงานสายเดียวกัน

3) Employment Based 3 (EB-3) ลำดับนี้หมายรวมถึง

- บุคคลที่มีความเชี่ยวชาญสามารถ (Professional Workers) ที่โดยส่วนใหญ่จะจบการศึกษาระดับปริญญาตรี

-บุคคลที่มีทักษะประสบการณ์ (Skilled Workers) โดยบุคคลจะมีประสบการณ์ทำงาน หรือได้รับการเทรนฝึก/สอนให้มีความเชี่ยวชาญในสายงานหนึ่งสายงานใดเป็นระยะเวลา 2 ปีขึ้นไป

- บุคคลในสายงานที่ไม่มีความจำเป็นต้องได้รับการฝึกหรือประสบการณ์ในการทำงาน (Unskilled Workers) บุคคลเหล่านี้อาจได้รับการฝึก/สอนงาน หรือมีประสบการณ์ทำงานในระยะเวลาที่ต่ำกว่า 2 ปี


สำหรับในเรื่องของการทำเรื่องสมัครขอรับใบเขียวผ่านทางผู้ว่าจ้างนั้น แบบ EB-2 และ EB-3 มีขั้นตอนเหมือนๆกันค่ะ ซึ่งโดยสรุปๆแล้วก็คือผู้ว่าจ้างในสหรัฐฯนั้นจะต้องยอมรับว่าบุคคลที่ทางผู้ว่าจ้างต้องการจะทำเรื่องขอรับสถานะให้นั้นได้ทำงานอยู่แล้วกับตน หรือกับทางบริษัทจริงผ่านสถานะวีซ่าชั่วคราวเพื่อการทำงาน หรือ วีซ่า H-1B หรืออีกในกรณีหนึ่งก็คือผู้ว่าจ้าง/บริษัทในสหรัฐฯมีความต้องการจะว่าจ้างบุคคลที่มีสิทธิ์จะได้รับใบเขียวในอนาคต

ในกรณีของการดำเนินเรื่องเพื่อรับใบเขียวจากผู้ว่าจ้างในสหรัฐฯนั้น ลำดับขั้นตอนมีความคล้ายคลึงกันมากกับการขอรับสิทธิ์จากสมาชิกในครอบครัวค่ะ ที่คล้ายคลึงกันก็เพราะผู้ว่าจ้างในสหรัฐฯจะถือเป็น "ผู้ยื่นขอ/ Petitioner" ส่วนบุคคลที่จะได้รับสิทธิ์และรับจ้างก็จะถือเป็น "ผู้ได้รับสิทธิ์/Beneficiary" นั่นเองค่ะ


ขั้นตอนการยื่นเรื่องแบบ EB-2 และ EB-3 นั้น จะแบ่งเป็น 3 ขั้นตอนจำง่ายๆดังนี้ค่ะ
ขั้นที่ 1 ยื่นขอเอกสารที่ชื่อว่า PERM Labor Certification
ขั้นที่ 2 ยื่นแบบฟอร์ม I-140 (Skilled Worker Petition)
ขั้นที่ 3 การเปลี่ยนสถานะวีซ่า หรือการออกใบเขียวจากสถานฑูต/สถานกงสุลฯ

คุณจะเห็นได้ว่า 3 ขั้นตอนจำง่ายๆที่กล่าวไปข้างต้นจำง่ายจริงค่ะ แต่การดำเนินเรื่องในแต่ละขั้นตอนจะมีความละเอียดซับซ้อนต่างกันไปตามแต่ละกรณี ดังนั้นแล้ว โดยส่วนใหญ่การยื่นเรื่องขอใบเขียวเพื่อการทำงานไม่ว่าจะเป็นในแบบไหน จึงมีความจำเป็นต้องปรึกษาทนายความหรือผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายค่ะ บริษัทใหญ่ๆจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีทนายความประจำบริษัทและก็จะเป็นผู้ดำเนินเรื่องเหล่านี้ในการว่าจ้างพนักงานที่อยู่นอกประเทศสหรัฐฯ บทความแปลที่คุณกำลังอ่านกันนี้จึงเป็นเพียงแค่การให้ความรู้และเนื้อหาโดยสรุปเท่านั้น คุณไม่สามารถนำไปใช้เพื่อเป็นแนวทางในการยื่นเรื่องขอใบเขียวผ่านทางผู้ว่าจ้างด้วยตัวคุณเองได้นะคะ

ฉบับหน้าเราจะมาคุยกันต่อถึงลำดับขั้นตอนทั้ง 3 ในการทำเรื่องขอสถานะ EB-2 และ EB-3 โดยละเอียดแยกตามแต่ละหัวข้อนะคะ ส่วนคุณๆที่สงสัยว่าทำไมดิฉันถึงข้ามเรื่องของ EB-1 ไปซะเฉยๆ ดิฉันไม่ได้ลืมหรอกนะคะ แต่ตั้งใจจะเขียนแปลถึงเรื่อง EB-1 เป็นกรณีสุดท้าย ส่วนเหตุผลว่าทำไมนั้น คุณต้องติดตามอ่านกันต่อไปค่ะ