Special Scoop
เล่าเรื่อง "ลิฟวิ่ง ทรัสต์ (Living Trust)" ตอนที่ 4

ฉบับนี้เป็นตอนสุดท้ายแล้วค่ะสำหรับการเล่าเรื่องลิฟวิ่ง ทรัสต์ รวมถึงการตอบคำถามข้อข้องใจ ที่คุณผู้อ่านอาจจะมีแบบเจาะลึกว่า เอ... ทำพินัยกรรมน่าจะสะดวกกว่า ถูกกว่าหรืออาจจะฟรี เพราะฉันไม่มีทรัพย์สินเยอะแยะมากมายอะไรขนาดนั้นจริงมั๊ยนะ? แต่ก่อนอื่น ต้องเล่าต่อให้คุณได้อ่านจนจบถึงขั้นตอนสำคัญท้ายที่สุดของการทำลิฟวิ่ง ทรัสต์ค่ะ

ภายหลังจากการจัดตั้งกองทุนลิฟวิ่ง ทรัสต์ และคุณได้มอบหมายหรือแต่งตั้งบุคคลเพื่อให้เป็น ผู้จัดการกองทุนแล้วการทำงานยังไม่จบเพียงเท่านี้ค่ะ เพราะคุณมีความจำเป็นที่จะต้อง จัดการโอนถ่ายกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่างๆที่คุณได้ระบุไว้ในกองทุน ให้กับผู้จัดสรรกองทุน ของคุณด้วย อย่าเพิ่งตกใจไปนะคะกับกระบวนการในช่วงนี้ เพราะการที่คุณต้องโอนถ่ายกรรมสิทธิ์ ไม่ได้หมายความว่าผู้จัดสรรกองทุนของคุณจะมีสิทธิ์และได้ผลประโยชน์ไปในทรัพย์สินกองทุน ของคุณไปโดยปริยายนะคะ ขั้นตอนที่คุณต้องจัดการถ่ายโอนให้ผู้จัดสรรกองทุนนี้มีประโยชน์ และบทบาทสำคัญเพื่อเป็นการป้องกัน/หลีกเลี่ยงไม่ให้ศาลต้องเข้ามาจัดการกับกองทุน หรือเข้ากระบวนการโพรเบทเท่านั้นนั่นแหละค่ะ ขั้นตอนสำคัญของการถ่ายโอนนี้ คุณจะต้อง เตรียมและนำเอา โฉนดที่ดินเอกสารกรรมสิทธิ์ (Deeds) ต่างๆที่คุณมีมาเตรียมจำแนก และให้รัฐฯบันทึกไว้ในสารระบบ (Record)ให้เรียบร้อย บัญชีเงินฝากต่างๆ สต๊อก และพันธบัตร ก็ต้องได้รับการถ่ายโอนด้วยเช่นกันนะคะ การถ่ายโอนทรัพย์สินให้ผู้จัดการกองทุนนี้ ค่าใช้จ่ายไม่มากค่ะ เพียงแต่ต้องใช้เวลาและการทำเอกสารเยอะพอสมควร (จะมากหรือน้อย ก็แล้วแต่ปริมาณทรัพย์สินของคุณค่ะ) สำหรับท่านที่มีบ้าน/ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ใดๆที่อยู่ต่างรัฐฯ การถ่ายโอนอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ให้เข้ามาอยู่ในกองทุนก็จะช่วยหลีกเลี่ยงกระบวนการโพรเบท ในรัฐฯ นั้นๆด้วยค่ะ ดิฉันต้องขอเน้นย้ำอีกสักครั้งนะคะ สำหรับความสำคัญในการเลือกบุคคล ให้เป็นผู้จัดการกองทุนของคุณ เพราะมาถึงตอนสุดท้ายนี้แล้ว คุณคงจะนึกภาพออกได้อย่างชัดเจน ว่าผู้จัดการกองทุนจะเป็นบุคคลที่จัดสรร จัดการกับทรัพย์สินทั้งหมดตามที่คุณต้องการจริงๆ ดังนั้นหากคุณเลือกบุคคลที่ไม่ถูกต้องหรือผิดพลาดไป บุคคลนี้สามารถปรับเปลี่ยนและนำเอา ผลประโยชน์เข้าสู่ตัวเองได้ค่ะ ในบางกรณีที่ความไม่ยุติธรรมเช่นนี้อาจเกิดขึ้น กระบวนการโพรเบท ที่ได้รับการคุ้มครอง/จัดการโดยตรงจากศาลจึงเป็นทางเลือกที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าค่ะ

สำหรับคู่แต่งงานสามี-ภรรยาหรือ Domestic Partners กองทุนลิฟวิ่ง ทรัสต์จะมีความสะดวก กับคุณค่ะ เพราะกองทุนนี้สามารถรวบรวมทรัพย์สินทั้งก่อนและหลังจดทะเบียนเอาไว้ได้ ไม่ว่าคุณต้องการที่จะนำทรัพย์สินมารวมกันหรือแยกกันก็ตามกองทุนนี้จะเอื้อประโยชน์ให้คุณ ได้บ่งชี้ ได้วางแผนบริหารจัดการทรัพย์สินของทั้งคู่ภายในเอกสาร/กองทุนร่วมกันเพียงกองทุนเดียว (หมายเหตุ* ถึงแม้ว่าคู่ที่มีการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันแบบ domestic partners จะได้รับสิทธิ์ส่วนใหญ่ ของแต่ละตัวบุคคลเท่าเทียมกันกับคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ตามกฎหมายของ Federal Tax Law คู่ชีวิตที่อยู่กินกันแบบ domestic partners จะไม่ได้รับผลประโยชน์ในเรื่องของภาษี (Tax Benefits) เหมือนหรือเท่ากันกับคู่สมรสที่ถูกต้องตามกฎหมายค่ะ) เอาล่ะตอนนี้ถึงเวลาที่ต้องอธิบายแบบเจาะลึกสักนิดให้คุณผู้อ่านได้เห็นภาพชัดๆในเรื่องของ ข้อแตกต่างระหว่างกองทุนลิฟวิ่ง ทรัสต์และพินัยกรรม ซึ่งดิฉันขออธิบายแบบเป็นข้อๆไปเลยนะคะ

1) ค่าใช้จ่าย ในการทำลิฟวิ่ง ทรัสต์สูงกว่าการทำพินัยกรรมค่ะ อย่างไรก็ดีหากคุณยังจำได้ถึง ตอนที่ 1 และ 2 สำหรับบุคคลที่ไม่มีความจำเป็นหรือจะได้รับประโยชน์ในการทำกองทุนลิฟวิ่ง ทรัสต์เพราะเมื่อคุณเทียบค่าใช้จ่ายกับความซับซ้อนในเรื่องการวางแผนบริหารทรัพย์สิน/อสังหาริมทรัพย์ เพื่อหลีกเลี่ยงกระบวนการโพรเบทในชั้นศาลแล้ว คุ้มค่ามากค่ะ แต่ถ้าคุณไม่ได้มีการจัดเก็บ และปริมาณทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์ที่ซับซ้อน ใช้พินัยกรรมแล้วผ่านกระบวนการโพรเบท น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าค่ะ

2) ความซับซ้อน ของเอกสารและกฎต่างๆ ที่ต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพราะอยากชี้แจง ให้คุณได้ทราบถึงในกรณีที่คุณต้องการเงินกู้เพื่อซื้อบ้าน/ที่ดิน คุณอาจต้องวางแผนเผื่อไว้ค่ะ เพราะสถาบัน/ผู้ให้เงินกู้(Lenders)อาจแจ้งให้คุณนำอสังหาริมทรัพย์ที่คุณต้องการซื้อนำมาเก็บไว้ในกองทุนทรัสต์ออกมาจากกองทุนก่อนที่จะยอมให้คุณกู้เงินค่ะ

3) ลิฟวิ่ง ทรัสต์ ไม่สามารถนำมาใช้ ทดแทนพินัยกรรม ได้ค่ะ แต่สามารถนำมาใช้เป็น ส่วนหนึ่งของกองทุนทรัพย์สิน เพื่อให้คุณเอาไว้ใช้ชี้แจงได้ในพินัยกรรมของคุณ (Pour Over Provision)

การทำกองทุนลิฟวิ่ง ทรัสต์จะมีประโยชน์มากค่ะสำหรับคุณผู้อ่านที่มีการวางแผนการดำเนินชีวิต และมีทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์รวมกันจำนวนมากและมูลค่าสูง กองทุนนี้จะช่วยลดความซับซ้อน ของสถานการณ์และระยะเวลาในการถ่ายโอนทรัพย์สินภายหลังที่คุณไม่สามารถจัดการกับมันได้อีกตามความต้องการของคุณที่ได้กำหนดไว้ในเอกสารกองทุนหรือพินัยกรรม หากคุณยังไม่มั่นใจว่ากรณีของคุณนั้นจะเหมาะสมกับการทำลิฟวิ่ง ทรัสต์ พินัยกรรม หรือควรทำ ทั้งสองอย่าง ดิฉันขอแนะนำว่าให้คุณผู้อ่านลองขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย จะดีที่สุดค่ะ หากคุณอยากจะโทรศัพท์หรือ ส่งอีเมลมาลองปรึกษาดูก็ได้นะคะที่ ployn@kolawoffice.com โทรศัพท์ (323)518-2746ปรึกษาฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆค่ะ