Special Scoop
จดหมายจากตำรวจไทย!

วันนี้ขอเขียนเรื่องเบา ๆ หน่อย ผมได้รับจดหมายทางอีเมล์ในหัวข้อ จดหมายจากตำรวจไทย พ.ต.ท. อนุศักดิ์ ศักดาวัชรานนท์ (รองโต้ง) ตามเนื้อหาดังนี้:

“สวัสดีครับคุณคิด

ผมขออนุญาตแนะนำตัวก่อนนะครับ. ผมชื่อ. พันตำรวจโท อนุศักดิ์. ศักดาวัชรานนท์. ตำแหน่งรองผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ (S.W.A.T.) ตำรวจภูธรภาค4. ดูแลพื้นที่ 12 จังหวัดทางภาคอีสานเหนือ( ขอนแก่น อุดร หนองคาย เลย ร้อยเอ็ด สกลนคร ฯลฯ) ผมได้มีโอกาสอ่านบทสัมภาษณ์ของคุณคิด ในหนังสือคู่สร้างคู่สม ก็รู้สึกทึ่งและนับถือจริงๆ ขออนุญาตเข้าเรื่องแล้วกันครับ. ถ้าหากผมจะขออนุญาตเดินทางไปศึกษาดูงานตำรวจ Sheriff ที่คุณคิดทำงานอยู่จะได้หรือไม่ครับ อาจจะขอดูงานสายตรวจรถยนต์ จราจรและชุด S.W.A.T. โดยอาจจะขอติดตามไปชมการปฏิบัติงานในแต่ละวันด้วย. ไม่ทราบว่าจะพอมีโอกาสเป็นไปได้หรือเปล่าครับ. ซึ่งก่อนที่ผมจะมาอยู่ตำแหน่งนี้ ผมทำงานด้านสายตรวจ จราจร สืบสวน มาก่อนและมีโอกาสได้รับการอบรมหลักสูตร Crowd Control จากวิทยากรที่มาจาก USA โดยได้นำความรู้ที่ได้อบรมไปใช้ในช่วงปี 53-55. ซึ่งผมคิดว่าการที่ได้ไปดูงานที่คนไทยที่เป็นตำรวจในอเมริกา. น่าจะพูดคุยและทำความเข้าใจได้มากกว่าครับ.

ผมหวังว่าคุณคิดคงจะให้โอกาส ตำรวจไทยคนนี้ได้เดินทางไปศึกษาหาความรู้และจะได้นำกลับมาใช้ในเมืองไทยต่อไป

ขอบพระคุณจากใจตำรวจไทยแดนอีสานครับ


พ.ต.ท. อนุศักดิ์ฯ (Tony)”

ผมก็ได้ให้คำแนะนำ ตลอดจนการร่างจดหมายที่ต้องส่งให้หน่วยงานต้นสังกัดของ ส.น.ง. เชอรีฟ ก่อนที่จะมาดูงานได้ รองโต้งยังบอกว่า ส่วนที่พัก “ต้องขอรบกวนพักบ้านพี่ หรือถ้าพี่ไม่สะดวก ก็ขอราคาประหยัดสุดครับ (ตำรวจไทยงบน้อย...อิอิ)” ซึ่งผมคิดว่าอย่างไรก็ต้องพยายามให้รองโต้งมาดูงานให้ได้ และคงเป็นงบส่วนตัว หลวงเลยไม่ให้มาพักที่โรงแรม ก็เลยบอกไม่มีปัญหา ถ้าไม่รังเกียจบ้านเล็ก ๆ ก็มาพักบ้านผมได้ เพราะนายตำรวจไทยคนนี้อายุแค่ 38 ปี เป็นตำรวจมาตั้งแต่ปี 1996 รุ่น 50 ทำมา 17 ปี มีความรู้จบปริญญาโทด้วย แต่ไปอยู่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ ภาค 4 ขอนแก่น เป็นครูฝึกตำรวจอีก คิดว่าท่านคงจะมีวิสัยทัศน์ไกลที่อยากจะมาศึกษาเรียนรู้หาความรู้กับเชอรีฟอเมริกา คิดว่าน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะได้พาชมหน่วยงานต่าง ๆ ของเชอรีฟ และอธิบายเหตุผลถึงการคัดเลือกคน การฝึก การปฏิบัติงานของตำรวจที่นี่ที่ต่างกับตำรวจไทยโดยสิ้นเชิง เริ่มตั้งแต่การรับคนมาเป็นตำรวจ จนจบมาปฏิบัติหน้าที่ และแล้วทาง ส.น.ง.เชอรีฟก็ให้ความกรุณาจัดโปรแกรมอนุมัติให้ผมร่วมพาชมหน่วยงานต่าง ๆ เมื่อวันที่ 14-15 พฤษภาคมที่ผ่านมา เช่น สถานีตำรวจในเมืองเซอริโต๊ส, เรือนจำของแอลเอเค้าน์ตี้ (Men’s Central Jail), S.W.A.T. (Special Weapons and Tactics), สถานีตำรวจ Marina Del Ray ซึ่งมีตำรวจน้ำรวมอยู่ด้วย

ในส่วนของการดูงานที่สถานีตำรวจเชอรีฟเมืองเซอริโต๊สนั้น รองโต้งได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมากกับความพร้อมของอุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน หัวหน้าสถานี Captain Swensson ตอบคำถามรองโต้งทุกคำถาม รองโต้งยังบอกว่า การทำงานของตำรวจไทยนั้น มีเรื่องให้ทำเยอะ แต่ไม่มีงบให้มาเป็นค่าใช้จ่าย นายตำรวจเลยต้องหาเงินมาจุนเจือลูกน้อง เช่น ค่าอาหาร น้ำมัน โรงแรม ในกรณีไปสืบเสาะนอกพื้นที่ ผมพาขับรถไปออกตรวจพื้นที่ พอน้ำมันรถหมด ผมก็ขับไปที่เติมปั๊มของซีตี้ที่จัดไว้ให้รถของซิตี้ได้เติม มีบัตรเติมที่ให้กับตำรวจทุกนาย รองโต้งบอกว่า ถ้าเป็นเมืองไทยก็คงจะเติมกันจนหมดปั๊ม ผมบอกว่าที่นี่ตำรวจจะมีการตรวจสอบประวัติเป็นอย่างดี มีการทดสอบความน่าเชื่อถือ โดยใช้เครื่องจับเท็จ Polygraph หรือเรียกว่า Lie Detector Test ตอนมาสมัครเป็นตำรวจ ถ้าสอบไม่ผ่านตรงนี้ก็ไม่ต้องไปไหนต่อเลย เมืองไทยเราไม่มี

รองโต้งประทับใจอาสาสมัครพลเรือนที่แต่ละโรงพักมีมากถึง 30-40 คน พลเมืองเหล่านี้เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในเมือง มีความรักและหวงแหนเมืองของเขา มีทั้งนักเรียน คนที่เกษียณแล้วก็มี หนุ่มใหญ่เล็กก็มี พวกเขาต้องการช่วยเหลือตำรวจในเรื่องจราจรในกรณีที่ต้องปิดถนน เมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือเป็นหูเป็นตาให้ตำรวจ และประชาชนไปตรวจเยี่ยมบ้านที่เจ้าของไปพักร้อน เป็นต้น ทางเมืองมีรถสีขาวให้ขับที่เขียนไว้ข้างประตูว่า Volunteers on Patrol พวกเขาทำฟรีโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนแต่อย่างไร อันนี้ไม่รวมถึงอาสาสมัครเข้าเป็นตำรวจที่ ต้องไปเรียน สอบ เหมือนตำรวจ จึงจะมีสิทธิ์ปฏิบัติหน้าที่เหมือนตำรวจทุกอย่าง มีดาว และปืนติดตัว ได้รับเงินเดือนปีละ $1 (30 บาทไทย) ที่เมืองไทยไม่มีพลเมืองที่อยากจะมาร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับตำรวจ เพราะว่าภาพลักษณ์ของตำรวจไทยที่นับวันจะหดหู่จนประชาชนไม่อยากจะยุ่งหรือเจอเลย เพราะเจอทีไรมีแต่เจอดาวไถ

พอพาไปเยี่ยมเรือนจำของเค้าน์ตี้แอลเอที่ดาวน์ทาวน์ รองโต้งเห็นอาหารของผู้ต้องหาแล้วบอกว่า ดีมาก ๆ มีแซนวิช นม แอปเปิ้ล ท่านบอกว่าที่เมืองไทยผู้ต้องหาต้องหากินเอง ญาติต้องฝากเงินมาให้ซื้อกัน มิฉะนั้นตำรวจในโรงพักก็ต้องไปหามาให้ผู้ต้องหากินเอง อด ๆ อยาก ๆ ตามสภาพ

รองโต้งเห็นโรงพักสะอาด ไม่มีคนจุ้นจ้านเหมือนโรงพักไทย เลยอธิบายว่า ส่วนใหญ่ประชาชนจะโทร 911 เข้ามาแจ้งเหตุ ทางเราก็จะไปหาภายใน 3 นาที ถ้าเป็นเรื่องด่วน หรือประมาณ 20 นาทีถ้าเป็นเรื่องแจ้งความธรรมดาของสถานีเชอรีฟทั้ง 23 แห่ง มีระบบตรวจสอบการทำงานของสายตรวจผ่านทางคอมพิวเตอร์ที่ติดมากับรถวิทยุทุกคัน ตั้งแต่เวลารับเหตุ เวลาไปถึงสถานที่เกิดเหตุ เวลาจบเรื่อง มีเวลากำกับการทำงานทั้งสิ้น จะมาอู้จอดอยู่กับที่นาน ๆ ไม่ได้ เพราะทางสถานี และหัวหน้าสถานีจะรู้ทันที

ได้พาชมหน่วยปฏิบัติการพิเศษ Special Enforcement Bureau ซึ่งเป็นหน่วยหลักที่มี S.W.A.T. ทีมอยู่ มาจากคำว่า Special Weapons And Tactics ซึ่งคล้ายกับที่เมืองไทย อรินทราช (Arintaraj) แต่ความพร้อมและอุปกรณ์ที่ต่างกันเหมือนฟ้ากับดิน รองโต้งเห็นอุปกรณ์แล้วอยากขอไปใช้กับตำรวจไทย แต่กลัวจะโดนขโมยเสียก่อนที่จะได้ใช้ ( หน่วย S.W.A.T. นี้ได้เข้าไปช่วยเหลือสามีภรรยาไทยที่โดนโจรบุกเข้าไปในอพาร์ทเม้นท์ และหนีเอาชีวิตเข้าไปอยู่ในห้องน้ำ โดยหน่วยนี้ต้องปีนบันไดช่วยนำตัวเอาลงมาก่อนที่จะทำการวิสามัญอ้ายโจรร้ายที่ขโมยรถจี้รถ( Carjacking) หนีมาถึงบ้านคนไทย แล้วจะยิงกับเชอรีฟ ) ที่สุดท้ายไปจบที่สถานีเมือง Marina Del Ray ซึ่งเป็นเมืองที่มีบ้านของคนชั้นกลาง และชั้นสูงอยู่ มีท่าจอดเรือส่วนตัวกันเต็มไปเลยต้องมีเรือของเชอรีฟไปตรวจความสงบเรียบร้อย

ผมได้หยุดงานไปสองวัน แต่คิดว่ามันคุ้มค่าเพราะผมหวังว่ารองโต้งคงจะได้นำวิชาความรู้ที่ได้ประสบมาไปปรับปรุงการปฏิบัติงาน และสร้างสรรค์พัฒนา เพิ่มศรัทธาและหลักกาของตำรวจไทยให้กลับคืนมาบ้าง สมกับคำวลีที่ว่า “ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทย ทำไม่ได้!”

ขอบคุณคุณมาลินี พวงบานเย็น, คุณอารี และคุณสมศักดิ์ เสวตสมบูรณ์ ชาวเซอริโต๊สที่ให้การสนับสนุนและมาทักทายผมนะครับ


โชคดีครับ
คิด ฉัตรประภาชัย