Special Scoop



โรคทางจิต…ที่ควรรู้ (Mental Illness Awareness)

มีโอกาสเข้าอบรมตำรวจในหัวข้อ Mental Illness หรือการป่วยทางจิต จากความผิดปกติทางจิตใจนี้ ทำให้หูตาสว่างขึ้นเยอะ ทำไมคดีสะเทือนขวัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นในระยะหลังๆ นี้ ล้วนเป็นบุคคลที่มีปัญหาทางจิตทั้งสิ้น เพียงแต่จะอยู่ในระดับไหนเท่านั้นเอง และคนที่จิตใจแปรปรวน คุมสติไม่ได้ มีพฤติกรรมผิดแผกเหล่านี้ นับวันก็ยิ่งมีมากขึ้น ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง ก็ไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้มาก ไม่เข้าใจว่าพฤติกรรมที่ เขา/คนร้าย กระทำมาอย่างต่อเนื่อง บ่งบอกถึงอะไร

ครูผู้สอนเป็น Doctor of Psychology หมอจิตแพทย์ที่มีความชำนาญกว่า 25 ปี คนไทยส่วนใหญ่ยังชอบเหมารวมๆ ว่า คนที่มีพฤติกรรมหรือบุคลิกที่ผิดแผกแตกต่างจากคนทั่วไป รวมถึงผู้ที่มีความเครียด วิตกกังวล และซึมเศร้าว่า เป็น “โรคจิต” ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน อาจจะเรียกจากความเคยชินต่อปาก แต่มีผลอย่างมากกับคนเหล่านั้น เพราะถูกตีตราเป็นผู้ป่วยจิตเวช ให้ดูน่าเกลียดน่ากลัว ไม่เป็นที่ยอมรับ เป็นอุปสรรคเพราะความแตกต่าง ลำบากในการบำบัดรักษา ซึ่ง “โรคจิต/วิกลจริต” หรือ “Psychosis” เป็นโรคชนิดหนึ่ง ไม่แตกต่างอะไรกับโรคเบาหวาน ความดัน ที่ต้องควบคุมด้วยยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการวินิจฉัยและการบำบัดต้องใช้เวลา บางครั้งต้องทานยาตลอดชีวิต

เราต้องถือว่า พวกเขาเหล่านั้นเป็น “ผู้ป่วย” ควรให้ความเมตตากับเขาเหมือนกับคนป่วยโรคอื่นๆ สถิติที่น่าสนใจที่อาจารย์เอามาบอกให้ฟัง ที่ไม่เคยทราบมาก่อน คือ 1 ใน 4 ของคนในสังคม มีปัญหาทางโรคจิต/ประสาท รวมถึงชุมชนไทยที่อเมริกาด้วย และเนื่องจากโรงพยาบาลบำบัดรักษาโรคทางจิตถูกปิดอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งทางรัฐปัดความรับผิดชอบของผู้ป่วยเหล่านี้รวมถึงผู้ต้องหามาให้ทางเคาน์ตี้ดูแล จึงทำให้คุกแอลเอเคาน์ตี้ เป็นโรงพยาบาลผู้ป่วยโรคทางจิตที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ การที่ผู้ต้องหากระทำผิดร้ายแรงก็ดี หรือไม่ร้ายแรงก็ดี ทำให้เข้าออกคุกจากข้อหาต่างๆ ตามคำสั่งศาล แต่อาจถูกรอลงอาญาปล่อยตัวบ้าง หรือ การปล่อยตัวก่อนกำหนดเพราะคุกแออัดมาก และงบประมาณที่ได้นั้นไม่เพียงพอ ทำให้ประชากรเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องหรือต่อเนื่อง บางคนถูกปล่อยให้กลับเข้าสู่ชุมชนทั้งๆ ที่ยังอยู่ในสภาพที่แย่มาก มาก่อคดีสะเทือนขวัญครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้ประชาชนและเด็กๆ ต้องมาตายเป็นจำนวนมาก

สถิติ ที่ควรตระหนัก ณ ปัจจุบัน

• 500,000 คน - 1.5 ล้านคน ที่มีปัญหาทางจิตในแคลิฟอร์เนีย ยังไม่ได้รับการรักษาและดูแลจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเลย

• 1/3 ของประชากรที่ติดคุก เป็นคนมีปัญหาทางจิต

• 1/3 ของผู้ต้องสงสัย ถูกตำรวจใช้กำลังเกินเหตุ ในการควบคุมตัวโดยไม่จำเป็น เพราะต่างคนต่างไม่เข้าใจในการปฏิบัติซึ่งกันและกัน สื่อกันไม่รู้เรื่อง ตำรวจก็เรียนวิชาใน

การป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยไว้ก่อน (Officer Safety)

ผู่ป่วยทางจิตนี้ จะถูกจำแนกออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้

1. เป็นเหยื่อของพวกอาชญากร (Victimization)

2. เป็นผู้กระทำผิดเสียเอง (Criminalization)

3. เป็นบุคคลที่ไม่มีงานทำ (Unemployment)

4. เป็นบุคคลไร้ที่พักพิง (Homelessness)


พฤติกรรมที่เราควรสังเกตว่า ผู้ป่วยมีอาการทางจิตที่ไม่ปกติ คือ

1) ผู้ป่วยมีบุคลิกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่

2) ผู้ป่วยมีการรับรู้ที่ผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่ เช่น ผู้ป่วยมักบ่นว่า ได้ยินเสียงแว่วๆ ในหู เพียงคนเดียว เห็นภาพหลอน หรือมีอาการพูดคนเดียวเพียงลำพัง หรือเป็นเรื่องเป็นราว มีคนกำลังติดตามจะฆ่า หรือทำร้ายตน หรือมีพวกผีสาง/ ปีศาจ จะมาเอาตัวไป

3) ผู้ป่วยไม่สามารถรับรู้อาการป่วยของตนหรือไม่ ส่วนใหญ่อาการข้อ 1 และ 2 นั้น คนรอบข้างสามารถรับรู้ได้ แต่ผู้ป่วยเองไม่สามารถรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ยอมรับการรักษา เป็นโรคจิตเภท สกิทโซฟรีเนีย (Schizophrenia) ซึ่งมีผลพวงที่อาจเกิดขึ้นตามมา หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ ไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะ

1. คิดฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตัวเอง (Suicidal/Self-Harming)

2. มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรงขึ้น (Activated/Aggressive)

3. พูดไม่รู้เรื่อง ไร้สาระ พูดเป็นเรื่องเป็นราวโดยมีเหตุผลหรือไม่มีก็ตาม (Making Sense/Not making sense)

4. เครียดมาก กระวนกระวาย หดหู่ซึมเศร้า (Elevated/Anxious/Depressed)

อาจารย์ย้ำถึงการติดต่อสื่อสาร หรือการวางลักษณะท่าทีในการปฎิบัติกับผู้ป่วยเหล่านี้ในตอนแรกนั้น มีความสำคัญเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่มาของการฝึกอบรมตำรวจทุกนายเพื่อให้

- รับรู้และยอมรับว่าผู้ต้องหา/ผู้ป่วย เป็นโรคทางจิต (Recognize)

- ใช้ยุทธศาสตร์วิธีในการตอบโต้ที่นุ่มนวลก่อน โดยไม่ใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะการไม่ชักปืนข่มขู่ ควรทำการปฎิบัติอย่างละมุนละม่อม ท่วงท่าการยืนที่แสดงความเป็นมิตร การตอบรับ ตอบสนอง (Respond/React) เพราะผู้ป่วยเหล่านี้เขาคิดว่าแพ้ไม่ได้ คือสัญชาตญาณการรักษาตัวรอดปลอดภัย (Self-Preservation)

- หาสถานที่ที่ผู้ป่วยเหล่านี้สามารถรับการบำบัดรักษาได้ (Referral/Resources)

อย่างไรก็ดี แหล่งที่มาของปัญหาก็มีอยู่มากมาย ซึ่งขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมการดำรงชีพของแต่ละคน แต่ละครอบครัว ที่จะรับกับปัญหาได้หรือไม่ อย่างไร แต่พอสรุปได้ คือ

1) จากการพึ่งพายาเสพติด (Drugs addiction) เพื่อลดความเครียด หาทางออกในทางที่ผิด และมีผลข้างเคียงมากมายตามมา รวมถึงการติดเหล้า กัญชา ยาบ้า ยาไอซ์ โคเคน เป็นต้น

2) ปัญหาจากความสัมพันธ์ต่างๆ สามีภรรยาเลิกกัน หรือแฟนเลิกรากัน เลยคิดสั้นจะประชดอีกฝ่ายหนึ่ง (Relationships)

3) ปัญหาการเงิน ตกงาน บิลเยอะ มีหนี้นอกระบบ ทำให้เครียดจัด (Money)

4) ตกงาน หางานไม่ได้ (Unemployed) จะโทษทุกๆ คนว่าไม่ให้ความยุติธรรม หรือรังเกียจเขา หรือกำลังถูกเจ้านายดำเนินการสอบวินัย

5) ปัญหาจากเด็กหรือลูก หลังสามี-ภรรยาเลิกรากัน เด็กจะอยู่กับใคร เยี่ยมได้เมื่อไร เครียดเลย (Child Custody)

6) ปัญหาการอยู่คนเดียว โดดเดี่ยวเดียวดาย ไม่มีใครคุยด้วย หาทางออกไม่ได้ มีความขัดแย้งในตัวเอง (Loner)


แหล่งให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชม. คือ

Los Angeles County, Department of Mental Health ฉุกเฉิน หรือ ไม่ฉุกเฉินก็ได้ 24 hours/ 7 days 1-800-854-7771

ข้อควรปฏิบัติเมื่อต้องเรียกตำรวจมาระงับเหตุที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกในครอบครัวหรือบุคคลที่รู้จัก ที่มีโรคทางจิต ในกรณีฉุกเฉิน

1) โทร 911 โดยไม่ให้ผู้ป่วยรู้ว่า จะโทรเรียกตำรวจ เพราะเขาอาจจะกลัวและคิดประทุษร้ายต่อเรา บอกตำรวจว่าคนๆ นั้นเป็นโรคทางจิต (Mental Health Crisis) บอกตำรวจว่าเขาเป็นโรคอะไร เช่น Schizophrenia โรคจิตเภท สกิทโซฟรีเนีย หรือเกิดภาพหลอน เก็บตัว ไม่ยุ่งกับใคร โรค Bipolar (ไบโพลาร์) โรคสองบุคลิก เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เป็นต้น ทานยาอะไรอยู่ หมอรักษาคือใคร ที่ไหน เบอร์โทรศัพท์ เพื่อให้ตำรวจสายตรวจทราบก่อนที่จะไปถึงที่เกิดเหตุ เพื่อการปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง ตำรวจเชอริฟมีทีมผู้เชี่ยวชาญในการประเมินช่วยเหลือคนเหล่านี้โดยเฉพาะ ตลอด 24 ชม. เรียกว่า Crisis Intervention Team (CIT) บอกโอเปอเรเตอร์ที่รับสายว่า บ้านมีอาวุธอะไรไหม ปืนสั้น/ยาว อยู่ที่ไหน ผู้ป่วยรู้และถือไว้หรือเปล่า

2) อยู่ในความสงบ ตำรวจก็ไม่อยากที่จะใช้กำลังถ้าไม่จำเป็น ตำรวจต้องรักษาความปลอดภัยให้กับตนเองและสมาชิกในครอบครัวของท่าน

3) ตำรวจจะนำส่งโรงพยาบาลเพื่อให้รับการบำบัด หรืออาจใช้สิทธิ์บังคับ ควบคุมตัว ส่งโรงพยาบาล เพื่อดูอาการสัก 72 ชั่วโมงก็ได้ (5150 Involuntary Evaluation) ถ้าคิดว่าผู้ป่วยจะทำร้ายตัวเองและผู้อื่นได้ คนป่วยทางจิตมิใช่เป็นคนโง่ เพียงแต่เขาขาดการดูแลเอาใจใส่เยียวยาอย่างถูกต้อง แต่กลับมีความคิดวางแผนเตรียมการในการลงมือทำการอะไรได้เสมอ เพียงแต่ผู้ปกครองหรือพ่อแม่ ไม่สามารถดูแลพวกเขาเหล่านี้ได้อีกต่อไปเพราะไม่มีความรู้เฉพาะทาง

4) บอกชื่อ วัน เดือน ปีเกิด ของผู้ป่วย

5) ทำตาม 911 โอเปอเรเตอร์สั่ง เขาจะให้คำแนะนำเบื้องต้นก่อนที่ตำรวจจะมาถึง

Find Help, Find Hope! หาหนทางช่วยเหลือ เพื่อความหวัง! ต้องเข้าใจว่า ตำรวจไม่ใช่เป็นนักสังคมสงเคราะห์ (Social Workers) หรือเป็นจิตแพทย์/พยาบาล (Medical Responders) หน้าที่ตำรวจคือการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มิให้ผู้ป่วยทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น ไม่ก็ส่งต่อให้โรงพยาบาลและแพทย์เป็นผู้บำบัดครับ


โชคดีครับ

คิด ฉัตรประภาชัย