Special Scoop



คุณลักษณะของผู้นำที่ดี เพื่อองค์กรที่เข้มแข็ง

ช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้ ชุมชนไทยจะมีโอกาสเลือกผู้นำชุมชนในตำแหน่งนายกสมาคมและชมรมต่าง ๆ ซึ่งการสรรหาหรือเลือกบุคคลนั้น จะต้องมีความพร้อมทั้งวุฒิภาวะ Maturity และภาวะผู้นำ Leadership ซึ่งเราจะดูกันตรงไหน อย่างไรนั้น จึงเป็นที่มาของบทความนี้

"วุฒิ" หมายถึง ภูมิรู้ ความเจริญ การศึกษา การเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และความเป็นผู้ใหญ่ ส่วน "ภาวะ" หมายถึงสถานการณ์ ความมี ความเป็น ความปรากฏ รวมความหมายโดยสรุปคือ… ผู้ที่สามารถตัดสินใจในสถานการณ์ ในกรอบเวลาขณะนั้น โดยใช้ความรอบรู้ของตัวเอง มีคุณภาพพร้อมในด้านบุคลิกภาพและพฤติกรรมทางอารมณ์

บุคลิกภาพประการหนึ่งที่แสดงออกถึงการเป็นผู้นำที่มีวุฒิภาวะคือ ความตระหนักในความรับผิดชอบ เช่น ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับเลือกเข้ามาเป็นผู้แทน ความรับผิดชอบต่อสมาชิกและองค์กร ต่อเงินทองของผู้บริจาค ต่อสังคม เป็นต้น

สังคมไทยเริ่มก่อตัวกันในแคลิฟอร์เนียตั้งแต่ปี 1960 จนกระทั่งปี 1999 ผู้นำชุมชนไทยก็สามารถเรียกร้องอาณาเขตระหว่างถนน Western Avenue กับ Normandie Avenue ในนครลอสแอนเจลิส ให้ทางซิตี้ตั้งเป็นเขต เรียกว่า "Thai Town" แต่กลับไม่บอกกับพ่อค้า นายทุน เจ้าของธุรกิจคนไทยให้มากว้านซื้อที่ดินเลย ผลก็คือ ผู้ประกอบการร้านค้าและธุรกิจไทยเรา จึงเป็นได้เพียงแค่ “ผู้เช่า” แต่กลับทำความเเจริญให้เจ้าของที่ ที่เป็นชาวอามีเนี่ยน ชาวเกาหลี ต่างมาเก็บค่าเช่า เอาเปรียบคนไทยเราอย่างมาก เรามีร้านไทยเป็นสิบ ๆ แห่ง แต่มีเจ้าของที่ดินที่เป็นคนไทยจริง ๆ แค่ 3 รายเท่านั้น ประชากรของไทยก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งพอจะประเมินได้กว่า 200,000 คน ที่อาศัยอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียโดยเฉพาะเลยทีเดียว

ชุมชนไทยเรามีองค์กรสำคัญเก่าแก่หลายสิบองค์กร แต่ทำไมคนไทยเรายังหาความเข้มแข็ง รวมตัวกันเป็นกระบอกเสียงให้กับพวกเราไม่ได้มากเท่าที่ควร หลายองค์กรพยายามที่จะหาวิธีในการพัฒนาภาวะผู้นำของผู้บริหารองค์กรในทุกระดับให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะให้ผู้นำเหล่านั้นเป็นผู้ผลักดันความสำเร็จให้เกิดขึ้นกับองค์กร

จากการวิจัยของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ในเรื่องภาวะผู้นำนั้น ก็ยืนยันว่าองค์กรที่ประสบผลสำเร็จนั้น เป็นผลมาจากการที่ผู้บริหารของเขามีภาวะผู้นำ และสามารถนำองค์กร นำคน ให้ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้

ขออนุญาตนำบทวิเคราะห์จากหลาย ๆ แห่งมาประกอบประยุกต์ ให้เราพอสรุปการเลือกสรรหาบุคคลที่จะมาเป็นผู้แทนของพวกเราได้ ดังนี้

1) ผู้นำที่ดีต้องเป็นผู้มีวิสัยทัศน, Vision มีสติปัญญา ต้องเป็นคนที่มองเห็นภาพในอนาคตที่คนอื่นมองไม่เห็น และเมื่อมองเห็นภาพอนาคตนั้นแล้ว ก็ต้องกำหนดเป้าหมายและแผนงานในการไปสู่เป้าหมายนั้นได้อย่างชัดเจน มีกำหนดระยะบรรลุถึงเป้าหมาย ไม่ใช่แค่ฝันเฟื่องเพียงอย่างเดียว ผู้นำจะต้องมีคนศรัทธาและมีบารมี

ศรัทธา, Faith หมายถึง การมีสติรู้ตัว ควบคู่กับปัญญาเสมอ ซึ่งไม่ใช่การสร้างภาพหรือสร้างสถานการณ์โดยคนที่อยู่ล้อมรอบตัวเรา แต่เป็นการสร้างขึ้นด้วยตัวของเราเป็นผู้ลงมือ เริ่มด้วยการคิดดี พูดดี กระทำดี ตลอดจนผลงานที่ปรากฏ ในการได้ช่วยเหลือคนอื่น เพราะกว่าจะได้บารมีมานั้น คุณต้องสร้างความศรัทธาให้เกิดขึ้นเสียก่อน โดยผู้อื่นเป็นผู้มอบให้

บารมี, Prestige ความดีที่สั่งสมมา เสมือนมีอิทธิพลในการสร้างความเชื่อมั่นให้สมาชิกในกลุ่มได้ และสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้คนรอบข้างเหมือนมีความผูกพันต่อองค์กร

พระพุทธเจ้าสั่งสอนให้คนมี "ปัญญา" เนื่องจากปัญญาเป็นที่มาของเหตุและผล ในการพิจารณาไตร่ตรอง ควรไม่ควร เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เป็นต้น

ผู้นำหรือหัวหน้าจะมีบทบาทที่ต้องทำให้ครบ เป็นผู้นำทาง ผู้จัดการ ครู พี่เลี้ยง ผู้ประสานงาน ผู้แก้ปัญหา ผู้สนับสนุน ผู้คุ้มครองสมาชิก และนำพาองค์กรสู่ความเจริญก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป และที่สำคัญที่สุดคือ เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดต่อองค์กรอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง โดยไม่ทำความเสียหายต่อองค์กรที่ตนได้รับเลือกเข้ามาทำหน้าที่อีกต่างหาก แบบว่าหมดวาระแล้ว คนก็ยังให้ความศรัทธาอยู่

2) ผู้นำที่ดีจะต้องมีทีมทำงานที่ดี สมานสามัคคี, Cooperation สามารถชักจูงหรือชี้นำบุคคลอื่นให้ปฏิบัติงานสำเร็จตามเป้าหมาย บรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ผู้นำจะต้องเป็นคนมีความเฉลียวฉลาด, Intelligence มีระดับความรู้และสติปัญญาโดยเฉลี่ย สูงกว่าบุคคลที่สนับสนุนให้เขาขึ้นมาเป็นผู้นำ เพราะผู้นำจะต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ ต้องมีวุฒิภาวะทางสังคมและใจกว้างรับฟังความเห็นของผู้ร่วมงาน ผู้นำควรมีความสนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว กับข่าวที่เกิดขึ้นในสังคม ต้องมีความเชื่อมั่นในตนเอง และมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้เกิดผลสำเร็จ, Social Maturity and Achievement Drive มีทักษะในการสื่อสารกับลูกทีม, Communication สามารถทำงานร่วมกัน เห็นถึงความสามารถของแต่ละคนเพื่อมาประยุกต์เข้ากับกิจกรรมที่จะทำ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่มีการทำตัวเด่นเพียงคนเดียว หรือรับแต่ชอบ ไม่ยอมรับผิด

3) ผู้นำจะต้องสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมงานได้ Motivation สามารถกระตุ้นให้ทีมงานมีความต้องการที่จะประสบผลสำเร็จได้ เหมือนกับนาย Jack Welch อดีต CEO ของ GM ได้ใช้คำว่า Energize คือการทำให้คนอื่นมีพลังในการทำงานอยู่เสมอ

4) ต้องมีเจตคติที่ดีเกี่ยวกับมนุษยสัมพันธ์, Human Relations Attitudes ผู้นำที่ประสบผลสำเร็จนั้น เขาต้องยอมรับอยู่เสมอว่า งานที่สำเร็จนั้นมีคนอื่นช่วยทำ ไม่ใช่เขาทำเอง ความสำเร็จในการเป็นผู้นำนั้น ขึ้นอยู่กับความร่วมมือกับผู้อื่น และการติดต่อกับบุคคลอื่นในฐานะที่เขาเป็นบุคคล ไม่ใช่ตำแหน่งที่มีหัวโขนที่เขาให้ใส่

5) ผู้นำต้องยอมรับและประเมินผลดัชนีย์ความสำเร็จ (Success Indicator) ขององค์กรอยู่ตลอดเวลา สามารถปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ได้ผลสัมฤทธิ์ของงานที่เกิดขึ้นในขณะปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะผลงานก่อนเข้ารับตำแหน่งและหลังหมดวาระว่าเป็นอย่างไร เช่น จำนวนสมาชิกที่ยังศรัทธา ยอมจ่ายค่าสมาชิกทุก ๆ ปี มีสมาชิกเพิ่มขึ้นจากเดิมไหม เงินที่ผู้บริจาคให้ก่อนและหลังวาระแต่งตั้งเป็นอย่างไร มีการพัฒนาทีมงานที่พร้อมมารับหน้าที่ผู้นำต่ออย่างไร สุดท้ายที่สำคัญในความรับผิดชอบ คือความโปร่งใสในตำแหน่งหน้าที่ ความรับผิดชอบต่อสมาชิกและสาธารณชนโดยพร้อมให้การตรวจสอบได้ อย่าให้คนพูดได้ว่า เข้ามาเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง (Hidden Agenda)

6) มีแผนการพัฒนา ปรับปรุงอย่างไร ให้องค์กรมีความเข้มแข็งขึ้น Strategic Planning ทั้งสมาชิก การคลัง และอื่น ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ในระยะเวลาที่วางกรอบไว้อย่างชัดเจน

ขอสรุป… การเลือกผู้นำที่ดีนั้น ต้องมีความพร้อมทั้งวุฒิภาวะ การศึกษา การงาน ประสบการณ์ ความเสียสละต่อส่วนรวม สามารถดูจากผลงานในอดีต ซึ่งล้วนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการนำความสำเร็จมาสู่องค์กรนั้น ๆ ได้ มีการนำหลักธรรมาภิบาลมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นผู้นำที่ดีมีประสิทธิภาพ พร้อมยอมเสียสละเวลา ทุนทรัพย์ เพื่อรับใช้สังคม ซึ่งมิได้หาได้ง่ายอย่างที่คิดนะครับ


ขออนุญาตนำคติเตือนใจจากหลวงพ่อคูณ พระราชวิทยาคม “กูให้มึง”

“ยิ่งเอามันยิ่งอด ยิ่งสละให้หมด มันยิ่งได้

กูไม่เคยยินดี ยินร้ายกับในลาภยศ สรรเสริญ

เงินเป็นทาสกู กูไม่ยอมเป็นทาสเงิน”


โชคดีครับ

คิด ฉัตรประภาชัย