Special Scoop



รสนิยมแบรนด์เนม แต่ก๊อป… รึเปล่า?

มีโอกาสได้เปลี่ยนหน้าที่ เพราะทำงานด้านสายตรวจมา 15 ปีอยู่กับโรงพัก ถึงเวลาที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมา แต่สังขารที่แก่ลง เมื่อมีโอกาสเข้ามา โดยมีหัวหน้าหน่วยอี่นมาชักชวนให้ไปร่วมงานด้วย ก็เลยตัดสินใจไปเลย เพราะถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง เราก็ไม่มีโอกาสได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ฉะนั้น ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงคือโอกาสที่ดีที่จะเปิดหูเปิดตาในสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน วันนี้ก็เลยอยากให้มารู้จักหน่วยงานใหม่ที่ผมได้โอนมาอยู่

Community Partnerships Bureau เป็นหน่วยงานกลางที่ตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนต่าง ๆ กับ สำนักงานเชอริฟ โดยเฉพาะตำรวจที่รักษาความสงบในพื้นที่ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนต่าง ๆ เรียกว่า Community Policing หรือตำรวจชุมชน เพื่อป้องกันและยับยั้งอาชญากรรมต่าง ๆ ในชุมชน เข้าใจในปัญหาและจุดอ่อนต่าง ๆ โดยการที่มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้และถึงการใช้กฎหมาย การปรับปรุงและส่งเสริมให้ความแข็งแรงกับสถาบันครอบครัว โรงเรียน ชุมชน โดยความร่วมมือกับผู้รักษากฎหมายจากหน่วยงานต่าง ๆ ด้วยการร่วมทำกิจกรรม รับทราบปัญหา และแลกเปลี่ยนแนวทางแก้ไขของชุมชนต่าง ๆ

โปรแกรมต่าง ๆ ประกอบด้วย Community Policing Teams หน่วยเฉพาะกิจสานสัมพันธ์ชุมชน, Youth Intervention and Prevention Through The Vital Intervention and Directional Alternatives (VIDA) Academy หลักสูตรการเรียนการแทรกแซง เพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าสู่วงจรอาชญากร, Public Trust Program การส่งเสริมเพื่อความไว้วางใจของประชาชนกับตำรวจ, Homeless Response Team หน่วยเฉพาะกิจดูแลคนไร้ที่อยู่, และ Intellectual Property Laws หน่วยดูแลทรัพย์สินทางปัญญา ประกอบด้วย Counterfeit and Piracy Enforcement (CAPE) หน่วยปราบปรามสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งผมมีโอกาสได้เข้าอบรมกับตัวแทนบริษัทต่าง ๆ ถึงการสังเกตสินค้าปลอม การใช้กฎหมายบังคับ ทำความรู้จักกับตัวแทนผู้ชำนาญการของยี่ห้อดังต่าง ๆ ถึง 8 ช.ม. เนื่องจากการปลอมแปลงสินค้าดัง ๆ มีทุกชนิด ตั้งแต่ เหล้า บุหรี่ นาฬิกา กระเป๋า น้ำหอม เครื่องสำอางค์ จนกระทั่ง คอมพิวเตอร์ ฮาร์ดไดรฟ์ (Hand Drive) ยาต่าง ๆ ถุงลมนิรภัยของรถยนต์ (Air Bags) มีเงินหมุนเวียนในกลุ่มมิจฉาชีพนี้นับเป็นพัน ๆ ล้านเหรียญต่อปี โดยเจ้าหน้าที่ไม่รู้ว่าเงินกำไรนี้ถูกไปใช้ทำอะไร

Counterfeit คือการปลอมแปลงขายของเทียม หรือคล้ายของจริง เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้า (Infringement) เช่น ขายกระเป๋ากุชชี่ หลุยส์ วิตตอง หรือ ชาแนล โดยใช้เครื่องหมายการค้าของเขาโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่สำคัญถ้าคุณนิยมใช้ของปลอม คุณอาจจะเป็นผู้สนับสนุนพวกมิจฉาชีพ มาเฟีย รวมไปถึงผู้ก่อการร้าย เพราะเงินที่ได้จากผลกำไรถูกฟอกส่งออกนอกประเทศ หรือ ส่งเสริมตลาดมืดในการทำสินค้าผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง

อีกประการหนึ่ง พวกมิจฉาชีพเหล่านี้ไม่มีการเสียภาษี ทั้งภาษีการขาย (Sales Tax), ภาษีนำเข้า (Import Tax), ภาษีเงินได้ (Income Tax), ภาษีแรงงาน (Payroll Tax) หรือภาษีอื่น ๆ เหมือนผู้ขายที่ขายของถูกกฎหมายทั่ว ๆ ไป ถือเป็นผู้เอาเปรียบชุมชน

กฎหมายที่จะถูกจับดำเนินคดี

Penal Code 350 (PC) เป็นคดีอาญาที่มีองค์ประกอบคือ เป็นผู้ประกอบการที่มีการผลิต (Manufacture) หรือผู้ที่มีสินค้าไว้ในครอบครอง ปลอมแปลงเครื่องหมายการค้าที่มีการจดทะเบียน (Trade Mark) ซึ่งขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลกลาง United States Patent and Trade Mark Office (USPTO) หรือกับเลขาธิการของรัฐ (Secretary of State) เพื่อจัดจำหน่าย หรือตั้งใจมีไว้จำหน่าย ในกรณีที่มูลค่าสินค้าต่ำกว่า $950 ถือเป็นลหุโทษ (Misdemeanor) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน $5,000 ถ้าราคาขายปลีกรวมกันเกิน $950 เป็นคดีร้ายแรง (Felony) คือ Grand Theft ต้องระวางโทษจำคุก 2- 3 ปี ปรับไม่เกิน $250,000 และถ้าผู้กระทำผิดประกอบการในรูปบริษัทต่าง ๆ ค่าปรับก็จะเพิ่มถึง $500,000

ตำรวจยังสามารถตั้งข้อหาอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การฟอกเงิน รับของโจร หลีกเลี่ยงการเสียภาษีจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอีก และทางผู้ประกอบการบริษัทใหญ่ ๆ เช่น Rolex, Gucci, Louis Vuitton, Chanel, Coach, Hello Kitty, เครื่องสำอางค์ดัง ๆ, DVD, CD, บุหรี่ เหล้า ล้วนมีบริษัทนักสืบที่คอยเป็นผู้รักษาประโยชน์ให้ โดยผู้บริโภคสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่

Investigative Consultants 310-978-4554 หรือ Crimes Stopper 800-222-8477 อาจจะได้รับรางวัลโดยไม่ต้องบอกชื่อ ที่อยู่ วันหน้าจะเล่าคดีที่หน่วยเฉพาะกิจได้ทำการจับกุมให้ฟัง

ฉะนั้น ใครที่คิดจะขายของปลอมก็เลิกเสียเถิดครับ โทษหนักอาจติดคุก หลังจากถูกยึดสินค้า และยังค่าปรับอีกต่างหาก


โชคดีครับ
คิด ฉัตรประภาชัย