Special Scoop



นักธุรกิจไทย ไม่ต้องเรียนรู้อย่างล้มลุกคลุกคลานอีกแล้ว !

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส โดยท่านกงสุลใหญ่ธานี แสงรัตน์ ร่วมกับ สมาคมนวดไทยและสปาแห่งสหรัฐอเมริกา มีความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะพัฒนาคุณภาพของธุรกิจนวดและธุรกิจอื่นๆ มาโดยตลอด ตั้งแต่การให้ความรู้ด้านธุรกิจ ด้านกฎหมายภาษี การป้องกันภัยจากเหล่ามิจฉาชีพ

โดย ในวันพฤห้สบดีที่ 16 พฤศจิกายน 2560 นี้ เวลา 9:30 -15:00 น. ณ สถานกงสุลใหญ่แอลเอ ขอเชิญชวนทุกท่านมาเข้ารับฟังการบรรยาย กระบวนการ และปัญหาเมื่อมีการถูกตรวจสอบย้อนหลัง จากไออาร์เอส (IRS Audit) แล้วยังแถมท้ายช่วงบ่ายโมง จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ คนรับโทรศัพท์ 911 ของ LAPD มาพบปะกับธุรกิจไทย มาฟังบรรยาย พร้อมคำถามคำตอบไขข้อข้องใจได้ฟรีจากเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยตรง โอกาสดีๆ แบบนี้ต้องรีบมาเรียนรู้ จะได้ไม่เสียใจในภายหลังนะครับ…

Learning the Hard Way เป็นวลีภาษาอังกฤษที่มีความหมายว่า การเรียนรู้โดยประสบการณ์ที่ไม่สุนทรีย์นัก หรือ การเรียนรู้บางสิ่งด้วยความยากลำบาก จากการกระทำถูกๆ ผิดๆ (Trial and Error) กระทำการใดๆ อย่างถูกบ้าง ผิดบ่อย ตะกุกตะกัก เหมือนมีอุปสรรคขวากหนาม ต่างจาก…การเรียนรู้โดยการไปโรงเรียน เรียนจากตำราเรียน จากการศึกษาค้นคว้า และค้นหาจากการอ่าน เป็นต้น

การประกอบธุรกิจก็เช่นกัน ผู้ประกอบการอาจไม่ได้เรียนมาทางบริหาร ธุรกิจโดยตรง บ้างก็ผันตัวเองจากลูกจ้าง เก็บหอมรอมริบ เพื่อเป็นเจ้าของธุรกิจเอง บ้างก็มีเงินก้อนมาลงทุนทันที ฯลฯ ฉะนั้นความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ในการทำธุรกิจในสหรัฐอเมริกา ด้วยการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ความไม่พร้อม หรือจากการตัดสินใจที่ผิด เพราะขาดข้อมูลที่ถูกต้อง ที่ผมพอจะสรุปได้ คือ

1. ความผิดพลาดที่เกิดจากความไม่สันทัดกับภาษาที่ใช้ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการสนทนา และภาษากฎหมาย คนไทยส่วนใหญ่ที่ทำธุรกิจไม่ได้ศึกษากฎหมายเบื้องต้นของการทำธุรกิจในเมืองที่จะทำธุรกิจต่างๆ อย่างถ่องแท้ เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาใช้การปกครองแบบระบบกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยให้แต่ละรัฐเป็นผู้ออกกฎหมายเอง รวมถึงเมืองต่างๆ ด้วย กล่าวคือ เขาอนุญาตให้รัฐและเทศบาลเมืองต่างๆ ออกกฎหมายเพื่อการใช้จัดระเบียบกับธุรกิจในท้องถิ่นของตัวเอง ในขณะเดียวกันรัฐบาลกลางจะกำกับดูแลกฎหมายหลักๆ เช่น ภาษีอากรต่างๆ (ภาษีเงินได้ ดูแลโดยหน่วยงานสรรพากรกลาง Internal Revenue Service, IRS) กฎหมายอิมมิเกรชั่น กฎหมายในเรื่องสิทธิมนุษยชน กฎหมายค่าจ้างแรงงาน เพื่อควบคุมสมทบอีกขั้นหนึ่ง ฉะนั้นเนื่องจากการไม่เข้าใจในภาษา หรือภาษากฎหมาย จึงไม่ได้ศึกษาตัวบทกฎหมายที่ใช้กับธุรกิจอย่างถ่องแท้ เพียงคิดและแค่ขอใบอนุญาตเพื่อมาประกอบการ มีใบอนุญาตเก็บภาษี (Seller’s Permit) และการจ่ายแรงงานขั้นต่ำ ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น แต่เนื่องจากระบบภาษีของประเทศสหรัฐฯ เป็นระบบที่ให้เกียรติผู้เสียภาษี (Honor System: A system of payment or examination that relies solely on the honesty of those concerned.) ให้ผู้เสียภาษีแจ้งยอดรายได้กับทางราชการเพื่อใช้ในการเสียภาษีการขาย ภาษีเงินได้ และภาษีอื่นๆ ซึ่งเป็นระบบที่ให้ผู้ประกอบการมีความซื่อสัตย์ในการแจ้งตามยอดจริง แต่บางรายกลับเห็นเป็นช่องโหว่ในการโกง เพื่อหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง จนเป็นที่มาของปัญหาที่ติดตามมาในภายหลังเมื่อถูกตรวจสอบ (Audits) จนต้องถูกปรับย้อนหลัง บวกดอกเบี้ย และเงินภาษีที่หลบหลีกไปแบบทวีคูณ จนบางรายต้องปิดร้านไปในที่สุด เสียดายที่สั่งสมสร้างชื่อเสียง สร้างฐานลูกค้ามาตั้งหลายๆ ปี หน่วยราชการเหล่านี้เห็นว่า การตรวจร้านไทยที่ใด ก็พบเจอความผิดคล้ายๆ กัน จึงมีการสรุปว่า ต้องตรวจอย่างถี่ เพื่อให้การกระทำที่ผิดกระจายในวงกว้างจะสามารถหยุดได้ ดังที่เป็นข่าวในขณะนี้

ถ้าไม่มีการแก้ไขในข้อนี้ ธุรกิจของคนไทยก็จะถูกตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง และอาจจะปิดตัวเองลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าไม่ปฎิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายของบ้านเมืองนี้

2. ความผิดพลาดที่เกิดจากวัฒนธรรมหรือความเชื่อที่แตกต่างกับประเทศสหรัฐฯ กรมสรรพากรในประเทศทางเอเชียจะเก็บภาษีแบบประเมินและเหมา คือถ้าเจ้าหน้าที่มาเยี่ยม ตรวจบริษัท หรือร้านคุณ เขาจะบอกคุณว่า ควรเสียภาษีในปีนี้เท่าไหร่ ทางร้านก็จ่ายตามที่บอก เจ้าหน้าที่จะออกใบเสร็จฯ หรือเข้ากระเป๋าใครบ้างนั้น พ่อค้าไม่สนใจ อยากจะให้เรื่องจบๆ ไป ความแตกต่างอีกประการ คือวัฒนธรรมของประเทศสหรัฐฯ นั้น เจ้าหน้าที่จะไม่รับสินบน ไม่ขอค่าน้ำร้อนน้ำชา ส่วนใหญ่จะทำตามกฎหมาย และปฏิบัติตามอำนาจที่ได้รับมอบหมาย ปัญหาคอร์รัปชั่นมีน้อย ซึ่งผิดกับประเทศอื่นๆ ที่มีการคอร์รัปชั่น โดยการกระทำเป็นกระบวนการ และเอื้อประโยชน์กัน ตั้งแต่ระดับผู้ใหญ่จนถึงระดับล่าง รับกันตามธรรมเนียม ที่คนเก่าทำไว้ ผู้ใหญ่ก็ “เอาหูไปนา เอาตาไปไร่”

ถ้าไม่มีการแก้ไขในข้อนี้ โดยการศึกษาขนบธรรมเนียมการปฎิบัติงานของหน่วยงาน และการทำงานของเจ้าหน้าที่หน่วยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ตลอดจนการรู้ถึงสิทธิผู้เสียภาษีที่ควรจะได้รับแล้ว ธุรกิจก็จะเติบโตได้ยาก

3. ความผิดพลาดที่ชอบอยู่แบบตัวใครตัวมัน ไม่ยุ่งกับใคร แบบที่ว่า “ไม่ปวดฟัน จะไม่หาหมอฟัน” ข่าวในสังคมก็ไม่อ่าน หรือติดตาม แถมไม่มีตัวแทน หรือองค์กรสมาคมต่างๆ มาเป็นกระบอกเสียงในการเรียกร้องสิทธิประโยชน์ในการทำธุรกิจเหมือนกับชุมชนอื่นๆ เช่น เกาหลี เวียดนาม หรือจีน ที่พวกเขามีตัวแทนแทบทุกระดับในรัฐบาล ได้รับเลือกเป็นนักการเมือง เป็นตัวแทนให้ความช่วยเหลือคนของเขา เสนอแก้ไขกฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวยกับธุรกิจของพวกเขา เป็นต้น พวกเราไม่ค่อยจะยอมจ่ายค่าที่ปรึกษาทางกฎหมาย หรือนักบัญชีที่เป็น CPA ที่จะชี้แนะในการทำธุรกิจแบบได้มาตรฐาน แต่กลับทำกันเองโดยการบอกต่อกัน และการเข้าใจแบบผิดๆ (คนทำบัญชี เป็นแค่ bookkeeper อาจไม่มีความรู้พอที่จะแนะนำเมื่อถูกตรวจสอบ)

ผลเสียหายอีกด้านหนึ่งคือ เราไม่มีแผนในการปรับปรุงตัวสินค้า หรือการสร้างมูลค่าสินค้าให้โดดเด่นกว่าสินค้าอื่นๆ ของคู่ค้า เช่น อาหารไทย นวดไทย เจ้าของส่วนใหญ่ไม่กล้าปรับราคา ถึงแม้ว่าต้นทุนจะสูงขึ้น เพราะไม่มีแผนการตลาดในการพัฒนาอาหาร หรือมองถึงผลประโยชน์ที่ได้จากการทานอาหารไทย หรือนวดไทยเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น ไม่ค่อยจะเล็งเห็นถึงเรื่องพัฒนาการนำเสนอจานอาหารที่น่ารับประทาน แต่กลับเป็นรสชาติที่ทำตามใจคนทาน จนเอกราชของรสชาติอาหารผิดเพี้ยนไปจากอาหารไทยก็มี ยกตัวอย่างเช่น ร้านอาหารญี่ปุ่นที่นับวันจะพัฒนาเพิ่มรสชาติหลากหลายสารพัดเมนู การจัดอาหารที่ออกจากครัวอย่างน่ารับประทาน มีการพัฒนาเมนูอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่า ร้านญี่ปุ่นเป็นร้านอาหารที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ลูกค้ายอมจ่ายด้วยราคาที่แพง ในขณะที่ร้านนวดไทย ต้องเผชิญสารพันปัญหา จากความถี่ที่คนร้ายเข้าปล้นจี้ จากลูกค้าไม่ดี จากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าตรวจจับพนักงานนวด และร้านนวดที่ไม่มีใบอนุญาตที่ถูกต้อง แล้วยังโดนร้านนวดไทยด้วยกัน หรือร้านนวดชาวจีน ตัดราคากันอย่างดุเดือด จนรายรับไม่พอกับค่าใช้จ่ายที่จะทำธุรกิจต่อไป หลายร้านถึงกับต้องปิดตัวเอง หรือประกาศขายกันเป็นแถวอย่างน่าเสียดาย

ถ้าไม่มีการแก้ไขในข้อนี้ เราคงจะยกระดับคุณภาพและราคาอาหารหรือธุรกิจนวดได้ยาก สมาคมที่ไม่เข้มแข็ง ผู้นำที่ขาดคุณสมบัติ ประสบการณ์และความรู้ ไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย

4. ความผิดพลาดจากการบริหารจัดการทางการเงิน ธุรกิจไทยส่วนใหญ่มีเงินลงทุนไม่มาก สรุปคือ สายป่านไม่ยาวพอที่จะมีทุนสำรองพร้อมที่จะขาดทุนในกรณีลูกค้าลดน้อยลง ไม่สามารถเพิ่มฐานของลูกค้าได้ และเนื่องจากขาดความรู้ในการจัดการกับยอดรายรับ-รายจ่ายอย่างถูกต้อง บางครั้งหมดโอกาสที่จะเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากรัฐบาลหรือธนาคาร เพราะขาดเอกสารการดำเนินการ ที่พอจะให้เขาเชื่อว่าธุรกิจของเราจะมีอนาคต ทำกำไรให้กับตัวเองและจ่ายหนี้สินคืนธนาคารได้ เราจึงใช้ระบบขึ้นแชร์กันเองบ้าง กู้นอกระบบโดยยอมจ่ายดอกเบี้ยราคาแพงลิบลิ่วบ้าง และถ้าธุรกิจไม่ดีขึ้นในระยะสั้น ก็ไม่มีเงินจ่ายคืนเขา หรือสู้กับค่าใช้จ่าย หรือค่าเช่าได้ ซึ่งบางครั้งการเงินเป็นผลพวงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ หรือกับรัฐบาลใหม่อีกด้วย

ถ้าไม่มีการแก้ไขในข้อนี้ คนไทยจะหมดโอกาสดีๆ ในการเข้าหาถึงแหล่งเงินเพื่อมาขยายกิจการได้

5. ความผิดพลาดทางการใช้ทักษะส่วนตัวในด้านการสังเกตและพร้อมเรียนรู้เพื่อที่จะปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เราไม่ค่อยสนใจโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นการแพร่กระจายข่าวกันได้อย่างรวดเร็วในยุคนี้ ที่มีผลต่อธุรกิจเป็นอย่างมากในการที่ผู้บริโภคจะศึกษาข้อมูล ชื่อเสียงของร้านก่อนที่เขาจะเข้าใช้บริการ เช่นการใช้ Yelp ของลูกค้า หาข้อมูลการบริการ การตอบโต้จากเจ้าของธุรกิจ ในกรณีที่เกิดการเขียนตำหนิจากลูกค้าที่มาใช้บริการ บางร้านไม่สนใจที่จะเข้าเช็คดูว่าร้านได้สักกี่ดาว… หรือ การใช้ Groupon, Living Social คูปองเพื่อช่วยส่งเสริมการขาย แนะนำธุรกิจด้วยราคาส่วนลด เพื่อดึงดูด potential customers… การบริการรับ-ส่งอาหาร Ubereats.com โดยใช้ “Uber EATS Delivers Fast” ซึ่งเรา outsource ไม่ต้องมีคนขับส่งอาหารประจำของเราเองอีกแล้ว…

เหล่านี้เป็นหนึ่งในเหตุผลต่างๆ ที่ธุรกิจเรายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ควรเน้นการทำธุรกิจที่แตกต่างจากคู่แข่งเสมอ คิดนอกกรอบ สรรหาสิ่งใหม่ๆ ที่ทำให้ผู้บริโภคตื่นเต้น อยากลอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ บริษัท Apple ที่ออก IPhone มากี่รุ่นๆ ก็มีคนแย่งกันซื้อตลอด เพราะมีสิ่งใหม่ๆ มาสนองความต้องการของลูกค้า

ถ้าไม่มีการแก้ไขในข้อนี้ ธุรกิจก็มีแต่จะตามหลังคู่แข่งในเชิงรับ แทนที่จะทำการตลาดแบบเชิงรุก

6. ความผิดพลาดที่ขาดพันธมิตรทางธุรกิจ (Business Strategic Alliance) คือรูปแบบของการเข้าร่วมกันตั้งแต่สองบริษัทขึ้นไป มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาร่วมกัน แลกเปลี่ยนเทคโนโลยี แลกเปลี่ยนความรู้และทักษะในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนการสนับสนุนเอื้อเฟื้อที่ดีงามต่อกันและกันในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advance) ในการร่วมสร้างการบริการให้ดีขึ้น ร่วมกับการใช้ทรัพยากรเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ทางกระทรวงพาณิชย์ ก็พยายามสนับสนุน “ครัวไทย สู่ครัวโลก” มีความพยายามโปรโมทให้ร้านอาหารไทยมาสมัคร เพื่อให้ได้การรับรองเป็นร้านที่ได้มาตรฐานจากกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ โดยออกใบประกาศนียบัตร “Thai Select” นี่ก็เป็นตัวอย่างในการสร้าง Alliance ในการพัฒนาคุณภาพของอาหารไทยให้ได้มาตรฐาน เพียงเรายังขาดการอบรมการสอนแบบบูรณาการอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นรสอาหาร การปรับปรุงการนำเสนออาหาร การปรับปรุงการตบแต่งร้าน การอบรมการบริหารลูกค้าสัมพันธ์ เพื่อการยกระดับธุรกิจร้านอาหารไทยอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญหลังจากได้รับใบรับรองแล้ว ร้านเขาจะขายดีขึ้นได้อย่างไร ถ้าไม่พัฒนาทั้งระบบ รวมถึงการตลาดเชิงรุกในการขยายฐานลูกค้าไปยังชุมชนต่างๆ

ถ้าไม่มีการแก้ไขในข้อนี้ ธุรกิจไทยก็ไม่สามารถเติบโตได้ เท่าที่ควร มีเพียงส่วนน้อยที่ประสบผลสำเร็จที่มีการขยาย ออกไปได้หลายสาขา

Knowledge is Power… ความรู้คือพลัง และภูมิคุ้มกัน


แล้วพบกันนะครับ
โชคดีครับ
คิด ฉัตรประภาชัย