Special Scoop



You Can’t Judge a Book by Its Cover! อย่าตัดสินหนังสือจากหน้าปก

เป็นสำนวนภาษาอังกฤษ ที่มีความหมายลึกซึ้งว่าเราจะพิจารณาหนังสือจากหน้าปกเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูที่ด้านในหรือเนื้อหา (contents) ด้วย คืออย่าจำกัดค่าของของสิ่งนั้นด้วยสิ่งที่เห็นจากภายนอก เช่นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา ผมรู้สึกอยากไปดูทอล์คโชว์ของ “น้องเบสท์ อรพิมพ์ รักษาผล” นักพูดชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ที่มีค่าตัวครั้งละไม่น้อยกว่า 3 หมื่นบาท มีคิวยาวตลอดปี นักพูดคนนี้มีอายุเพียง 30 ปี และได้รับเชิญมาพูดที่ลอสแอนเจลิสในหัวข้อ “เกิดอีกสิบชาติ ก็ไม่เจอมหาราชที่ชื่อภูมิพล” นึกในใจว่าเธอต้องมีดีแน่นอน

แต่ทำไมกระแสแอนตี้ต่อต้านเธอค่อนข้างรุนแรงจากชาวอีสานที่ประเทศไทย วิจารณ์กล่าวหาเธอ ที่ต่อว่าคนอีสานไม่รักในหลวง จนเธอต้องออกทีวีมาขอโทษคนอีสานในที่สุด โดยเบสท์พูดว่า “ในวันที่ไม่มีอะไรปกป้องเราได้เลย นอกจากความตั้งใจดีที่ทำมา” ผมได้พิจารณาศึกษาดูแล้ว น้องเบสท์ไม่มีเจตนาอย่างที่ถูกกล่าวหา แต่ในทางตรงกันข้าม เธอพยายามเล่าเรื่องต่างๆ ของพ่อหลวงที่พวกเราอาจจะไม่เคยได้ยินได้เห็นได้ฟัง มาเปิดเผยต่างหาก

ผมจึงตัดสินใจไปฟังการพูด ร่วมกับชาวไทยในแอลเอร่วมพันคนในคืนนั้น แต่มีบางคนไม่อยากไป บ้างบอกว่าจะไปฟัง “เด็กเมื่อวานซืน” มาสอนเรื่องจงรักภักดีที่พวกเขารู้ ๆ หรือมีกันอยู่แล้วทำไม บ้างก็มีอคติในใจอยู่แล้วโดยเฉพาะคนอีสานบางส่วนที่ฟังเขาเล่าต่อกันว่าเธอดูถูกคนอีสาน ก็เลยไม่อยากไปฟัง… เป็นที่น่าเสียดายที่พวกเขาเหล่านั้นไม่ยอมเปิดใจรับฟังกันให้ชัด ๆ ว่าเด็กอย่างน้องเบสท์ที่เปี่ยมด้วยความจงรักภักดีต่อพ่อหลวง เดินสายพูดถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์มากว่า 10 ปี จะมีเจตนาอันใดที่จะพูดแบบนั้นกับชาวอีสาน ผมจึงขออนุญาตนำสาระที่ผมประทับใจ เนื้อหาของบางช่วงบางตอนมาเล่าสู่กันฟังจากการพูดในวันนั้น

น้องเบสท์ นางสาวอรพิมพ์ รักษาผล อายุ 30 ปี เป็นคนใต้ เกิดที่จังหวัดชุมพร เธอเป็นหนึ่งในนักพูดขวัญใจชาวไทยที่มีฉายาหลาย ๆ อย่าง เช่น นักพูดร้อยศพ นักพูดล่าความกตัญญู นักพูดของพระราชา เธอเริ่มพูดตั้งแต่อายุ 13 ปี ล่ารางวัลนักพูดผู้สร้างแรงบันดาลใจมาแทบทุกเวที ได้แชมป์นับสิบและรางวัลอื่น ๆ เช่น เยาวชนดีเด่นแห่งชาติปี 2549 เยาวชนดีเด่นสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี 2545 รางวัลนักเรียนพระราชทานลูกกตัญญูดีเด่นแห่งชาติ 2551 และวิทยากรดีเด่นระดับชาติ เป็นต้น และรางวัลที่สูงสุดในชีวิตและประทับใจที่สุดคือ ถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร. 9 เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ที่มีเพชรประดับ 9 เม็ด ในการประกวดสุนทรพจน์ โดยได้มีการเตรียมตัวศึกษามากว่า 1 เดือน พูดได้อย่างดีเยี่ยม ชนะใจกรรมการ โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ของพระองค์ท่าน

จุดเริ่มที่ทำให้เธอพูดถึงพ่อหลวง ร. 9 บนเวทีต่าง ๆ เพราะเธอได้รับการปลูกฝังตั้งแต่แด็กในเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบัน โดยการดูข่าวในพระราชสำนักตามคุณพ่อคุณแม่ทุกวัน จากถ้วยรางวัลที่เป็นที่สุดของรางวัลชีวิต ประกอบกับการไถ่บาปที่เคยอกตัญญูต่อพ่อแม่มา ด้วยการพูดเทิดพระเกียรติ เธอจึงได้ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลของพระองค์ จนลึกซึ้งและซาบซึ้ง สามารถถ่ายทอดเป็นคำพูดที่ออกมาจากใจ ให้ผู้ฟังได้ทราบถึงพระราชกรณียกิจกว่า 4,000 โครงการของพระองค์ เธอสามารถสร้างพลังแห่งความจงรักภักดีได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ้งและเศร้าใจทั้งน้ำตาด้วยความอาลัย แต่สามารถสร้างความปิติที่เราได้เกิดมาเป็นพสกนิกรของพระองค์อย่างหาที่เปรียบมิได้ น้องเบสท์มีพรสวรรค์ (Gifted) ในการใช้ภาษาสื่อสาร เธอเป็นคนรุ่นใหม่ที่เก่ง พูดเก่งชัดถ้อยชัดคำอย่างน่าทึ่ง น้ำเสียงหนักแน่น ด้วยพลังช้างสารจนผู้ฟังอิน และคล้อยตามได้อย่างเข้าใจและลึกซึ้ง แถมยังขับร้องเพลงได้อย่างไพเราะ แต่พอลงจากเวทีแล้ว เธอเป็นคนอ่อนโยน เสียงอ่อนหวานนิ่มนวล ใครเห็นใครก็รัก เป็นคนละคนกันเลยเจากเมื่อตอนอยู่บนเวที

ที่สำคัญที่สุดในการมาพูดที่แอลเอครั้งนี้ที่ทำให้ผมประทับใจอีกอย่างหนึ่งคือ เธอไม่ขอรับค่าตัวแต่อย่างใด เพียงเธอต้องการมาเหยียบแผ่นดินที่พระองค์ท่านประสูติ และมาพบกับพี่น้องชาวไทยในต่างแดนต่างหาก เธอได้รับเชิญให้ไปพูดในหลายประเทศ แต่เธอปฎิเสธไป มีแต่ที่แอลเอและประเทศสเปนเท่านั้น

น้องเบสท์ได้เล่าว่า เธอเกิดมาในครอบครัวชาวประมงคนชุมพร ที่มีฐานะดีมีเงิน ถูกสปอยล์ (Spoil) ตามใจมาตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยพิษเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง 2540 ทำให้ครอบครัวล้มละลาย ฝืดเคือง เธอเริ่มก้าวร้าวกับพ่อแม่ อกตัญญู บอกไม่อยากเป็นลูกพ่อ พ่อต้องหนีออกจากบ้าน กว่าจะกลับบ้านอีกครั้งเพราะโดนโจรปล้นขณะออกเรือ โจรขู่จะฆ่าถ้าไม่กราบ (ตีนกู) เขาไม่ยอมกราบ แต่ลั่นวาจาว่าถ้ารอด จะขอกลับไปกอดลูก แล้วก็รอดมาได้อย่างปาฏิหาริย์… ครั้งหนึ่งน้องเบสท์เคยเอาเงินโยนใส่หน้าแม่ด้วยความไม่พอใจเสียอีก จนวันหนึ่งแม่ประสบอุบัติเหตุตอนขับมอเตอร์ไซค์ไปรับเธอที่สถานีรถไฟชุมพร สมัยที่เธอเรียนมัธยมที่ราชบุรีและนั่งรถไฟกลับบ้าน ขาแม่ถูกทิ่มและถูกมอเตอร์ไซค์อีกคันลากไถไป จนแม่ต้องเข้าโรงพยาบาล อาการสาหัส เมื่อเธอไปเยี่ยม แม่กลับร้องไห้และขอโทษที่แม่ไม่ได้ไปรับเบสท์ เธอเกิดความสงสารแม่ สำนึกได้ โดยที่แม่อาการปางตาย แต่ก็ยังเป็นห่วงเบสท์ เธอจึงเปลี่ยนมาเป็นคนดี เธอปฏิญาณว่าจะไม่ทำไม่ดีกับพ่อแม่อีก ผมเปรียบสถานการณ์เช่นนี้เหมือนสุภาษิต ที่ว่า “ไม่เห็นโรงศพ ไม่หลั่งน้ำตา”


ประเด็นที่น้องเบสท์พูด 4 ข้อที่ประทับใจผมคือ :

1) ทุกคนต้องมีหน้าที่ ที่ตัวเองต้องทำให้ดีที่สุด สำหรับในหลวงคือบำบัดทุกข์ บำรุงสุข และท่านมุ่งมั่นโดยตรัสว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ซึ่งท่านได้ดูแลพสกนิกรของพระองค์มาตลอดระยะเวลา 70 ปี โดยไม่มีวันหยุดเลย

2) ชีวิตของทุกคนต้องมีเป้าหมายว่าจะทำอะไรบ้าง มีโรดแม็ปที่ชัดเจนดัง เช่นโครงการต่างๆ ของพระองค์ ที่ท่านได้ พยายามทำเพื่อพสกนิกรของท่านอย่างต่อเนื่อง

3) ต้องมีความกตัญญูต่อพ่อแม่ ความกตัญญูไม่ใช่ข้าวของเงินทอง แต่เป็นการอยู่เคียงข้าง มีเวลาให้พ่อแม่ เช่น ในหลวงต้องเสด็จหาสมเด็จย่า อาทิตย์ละ 5 วัน ทานข้าวเย็น ความกตัญญูคือการให้เวลาและหาเวลา

4) ต้องมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์


ซึ่งสามข้อแรกเกี่ยวกับปรัชญาการดำเนินชีวิตของแต่ละคน เธอก็จะเปรียบเทียบเกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่พระองค์ท่านทำให้พสกนิกรของท่าน

น้องเบสท์สรุปช่วงสุดท้ายได้อย่างดีที่ว่า พ่อหลวงประพาสประเทศอเมริกาปี 2503 และ 2510 ประพาสประเทศเวียดนามปี 2502 และหลังสุดคือ ประเทศลาวในปี 2537 (แค่เพียงไม่กี่ชั่วโมง) นั่นคือครั้งสุดท้ายที่ท่านเสด็จประพาสต่างประเทศ ด้วยเหตุที่ท่านตรัสว่า ท่านไม่อยากจะไปไหน หากประชาชนของท่านยังไม่มีความสุขสบาย ฉะนั้นพวกเราควรทำตามทั้ง 4 ข้อ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในสวรรคาลัย

ขอแสดงความยินดีกับความสำเร็จของคณะผู้จัด ขอขอบพระคุณสมาคม องค์กรต่างๆ ที่นำน้องเบสท์ คุณอรพิมพ์ รักษาผล มาแสดงทอล์คโชว์ในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้คนไทยในต่างแดนได้รับทราบและรู้จักพ่อหลวงของพวกเราได้ดีขึ้น สมกับหัวข้อที่ว่า “เกิดอีกสิบชาติ ก็ไม่เจอมหาราชที่ชื่อภูมิพล”

สุดท้ายนี้ผมขอจบด้วยคติเตือนใจ ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง” จะมีสุขภาพที่แข็งแรง จิตใจผ่องใสนะครับ


โชคดีครับ
คิด ฉัตรประภาชัย