Special Scoop
ลูกค้าพิเศษ ที่ปฏิเสธไม่ได้!

ผมได้รับการสอบถามจากร้านอาหารหลายแห่งเกี่ยวกับข้อกฎหมายการนำสัตว์เลี้ยงซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นสุนัข เข้ามาในธุรกิจของท่าน แล้วเจ้าของร้านก็มีสิทธิ์จะถูกฟ้องร้อง เรียกค่าเสียหายได้ จากกฎหมายในหมวดของ Americans with Disabilities Act (ADA) หากคุณปฏิเสธในการเข้ามาใช้บริการของลูกค้ากับเพื่อนที่แสนรู้ของเขา กฎหมายของรัฐบาลกลาง(ADA under federal law) ที่คุ้มครองคนพิการทั่วประเทศอเมริกา ระบุว่าถ้าองค์กรหรือธุรกิจของท่านเปิดบริการให้สาธารณะชนเข้าไปได้แล้ว คุณจะต้องอนุญาตคนพิการที่นำสัตว์ (service Animals) เข้าไปในสถานที่ที่คุณให้ลูกค้าอื่นเข้าได้ทุกแห่ง รวมถึงสถานที่ที่เปิดให้ประชาชนเข้าได้ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม แท๊กซี่ รถรับส่ง (shuttles) ตลาด ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล โรงภาพยนตร์ สถานฟิตเนส และสปา สวนสาธารณะ และสวนสัตว์ เป็นต้น

บางคนอาจจะนึกว่า คนพิการ ตาบอด หูหนวก เท่านั้น ที่ส่วนใหญ่จะใช้สุนัขในการช่วยนำทาง แต่หารู้ไม่ว่าผู้ที่พิการทางจิตใจมีมากกว่า คนพิการทางร่างกายที่ต้องนั่งรถเข็นเสียอีก คนที่เป็นโรคชัก (Seizure) ก็สามารถหาสัตว์เลี้ยงมาช่วยบรรเทาความลำบากในการดำรงชีวิตได้ และเป็นการบำบัดจิตใจ (Emotional support)

สัตว์เหล่านี้ไม่ถือว่าเป็นสัตว์เลี้ยงเพียงอย่างเดียว แต่เป็นสัตว์ที่ทำงาน (Service animals are working animals, not pets) ฉะนั้นอย่าเข้าไปอุ้ม ทักทาย ก่อนได้รับอนุญาตจากเจ้าของเสียก่อน บางคนเขาไม่ยอม ถ้าให้ดีก็ดูเฉยๆดีกว่า ซึ่งบางครั้งอาจเป็นสุนัขตัวเล็กๆ น่ารักก็ตาม แต่สัตว์เขาจะรักเจ้าของเพียงคนเดียว คุณควรให้ความสะดวกแก่บุคคลที่เข้ามากับสุนัขเหมือนกับลูกค้าอื่นๆ

คำถามที่คุณสามารถสอบถามลูกค้าได้ เช่น

1. ถามว่าสัตว์เลี้ยวของคุณเป็น Service Animal หรือเปล่า และได้รับการฝึกมาช่วยคุณอย่างไร แต่ไม่สามารถถามว่าเจ้าของเป็นคนพิการประเภทไหน ไม่สามารถบังคับเพื่อขอดู ID สำหรับสัตว์เลี้ยง ส่วนใหญ่สัตว์นี้จะมีเสื้อใส่ หรือมี tag ที่บ่งบอก

2. คุณไม่สามารถคิดค่าบริการเพิ่มกับลูกค้าพิเศษนี้ได้ เกินกว่าที่คุณคิดลูกค้าปกติ ในกรณีที่เป็นโรงแรม คุณคิดค่าเสียหายจากลูกค้าทั่วไปได้อย่างไร คุณก็สามารถคิดค่าเสียหายจากทรัพย์สินที่สัตว์เลี้ยงของเขาทำเสียหายได้

3. ถึงแม้ว่าคุณไม่สามารถจะห้ามลูกค้าพิเศษนี้เข้าร้านได้ แต่ก็มีข้อยกเว้น เช่น ในกรณีสุนัขเห่าไม่หยุด และเจ้าของของสัตว์ไม่สามารถควบคุมได้ หรือสุนัขมีท่าทีว่าจะทำร้ายร่างกายทำให้ความปลอดภัยของลูกค้าอื่นลดลง ก็สามารถให้ออกจากร้านได้ ต้องระวังนะเพราะสัตว์เลี้ยงพวกนี้ได้รับการฝึกเป็นอย่างดี ก็คงมีน้อยที่จะดุดันหรือบังเอิญเจอคู่อริเก่าก็เป็นไปได้

4. ในกรณีที่ 3 คุณควรจะให้โอกาสลูกค้าว่าถ้าเขาควบคุมสัตว์เลี้ยงของเขาไม่ได้ ก็ขอให้ลูกค้าสั่งอาหารกล่องกลับบ้านทานที่บ้านจะดีกว่า หรือให้เอาสัตว์เลี้ยงไว้ข้างนอกร้านก็ได้

5. ธุรกิจหลายประเภท อาจจะมีกฎหมายของรัฐหรือของซิตี้ว่าด้วยการห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาในสถานบริการชนิดต่างๆ ในสถานที่เฉพาะแห่ง แต่ถ้าเป็นสัตว์เลี้ยงพิเศษที่อยู่กับคนพิการมี กฎหมายของรัฐบาลกลางคุ้มครองอยู่ ซึ่งคุณจะต้องยึดถือปฏิบัติเหนือกว่ากฎหมายท้องถิ่น หรือของรัฐ

6. เจ้าของไม่ต้องให้บริการพิเศษกับสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ เช่น ไม่ต้องให้อาหารหรือสถานที่ให้อยู่เป็นพิเศษในระหว่างมาใช้บริการ

7. ถ้าคุณจะอ้างว่า ลูกค้าคนอื่นแพ้ขนสัตว์ (Allergies) หรือคุณกลัวสุนัข แพ้กลิ่นตัว ก็ไม่สามารถจะใช้เป็นข้ออ้าง ที่จะปฏิเสธลูกค้าพิเศษนี้เข้าร้านได้

8. ถ้าคุณละเมิดกฎหมาย ADA นี้ คุณอาจจะต้องเสียค่าทนาย ค่าชดเชย ค่าทำขวัญ ในกรณีที่ลูกค้าฟ้อง เหมือนกับในกรณีที่คุณมีสถานที่ที่คนพิการเข้าไม่ถึงนะครับ

รายละเอียดอื่นๆหรือข้อสงสัยต่างๆ ก็สามารถสอบถามได้ที่ ADA เบอร์โทรศํพท์ 800-514-0301 หรือ www.ada.gov


เรื่องที่สองวันนี้ก็เกิดกับเจ้าของร้านอาหารไทยบอกว่าเป็นสมาชิกหอการค้าไทย (ไม่เป็นสมาชิกผมก็ช่วยเสมออยู่แล้ว) ที่โดนเซลส์แมนบริษัทขายเครื่องรูดบัตรเครดิตหลอก (รู้เท่าไม่ถึงการณ์) เข้ามาในร้านแล้วสอบถามว่าร้านคุณเสียค่าบริการในการดำเนินเรื่องเก็บเงินกับลูกค้าที่ใช้บัตรเครดิตผ่านเครื่องบัตรเครดิตเท่าไร เจ้าของร้านก็บอกว่า 2%-3% เซลส์แมนก็บอกว่าเขามีบริษัทที่จะคิดค่าบริการที่ถูกกว่า แค่ 1.7% อะไรทำนองนั้น แต่ต้องใช้เครื่องของเขา จากการเซ็นต์สัญญาดังกล่าวโดยไม่ได้อ่าน เซลส์แมนบอกว่าเซ็นต์ไปก่อนและติดตั้งเครื่องให้เสร็จ ซึ่งเจ้าของร้านมารู้ภายหลังว่า ต้องจ่ายค่าเช่าเครื่องนี้เดือนละ $75 เป็นเวลา 4 ปี และจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมอื่นๆอีก ที่บอกไว้ 1.7% หลังจากรู้ตัวอีกทีมันไม่ใช่แน่แล้ว เซลส์แมนก็ไม่ติดต่อกลับมาอีก ถึงแม้จะโทรตามกี่ครั้งก็ตาม เครื่องเครดิตการ์ดก็เป็นการถูกขายทอดให้กับอีกบริษัทหนึ่งซึ่งได้ซื้อสัญญาต่อจากบริษัทของนายเซลส์แมนคนนี้ บริษัทใหม่บอกว่าจะไม่รับผิดชอบ เขาจะต้องเก็บค่าเช่าเครื่องทุกเดือนมิฉะนั้นก็จะไปฟ้องร้องเพราะคุณได้เซ็นต์สัญญาเช่าไว้เรียบร้อย โดยส่งสำเนาสัญญาที่คุณเซ็นต์ไว้มาให้ดู เจ้าของร้านถามผมว่าจะทำอย่างไร อันนี้ก็ยากตามคำโบราณที่ว่า อ้อยเข้าปากช้างแล้ว จะให้คลายออกได้ง่ายได้อย่างไร?

1. คงต้องเขียนจดหมายอย่างเป็นทางการ เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบริษัทใหม่ ที่บอกว่าเขาซื้อสัญญาเช่าซื้อกับบริษัทของนายเซลส์แมนคนนี้เพื่อขอยกเลิกสัญญา ส่งคืนเครื่องชาร์ตเครดิตการ์ดกลับคืนไป อาจจะมีการต่อรองค่าเสียหายให้เขาไป ยังดีกว่าต้องมานั่งจ่ายเดือนละ $75 อีก 4 ปี

2. ฟ้องศาลย่อย (small claims) กับนายเซลส์แมนที่หลอกเรา ซึ่งคุณมีพยานบุคคล พยานเอกสาร หรือลูกค้ารายอื่นๆที่โดนแบบเดียวกันก็เอาไปศาลด้วย ต้องบอกกับผู้พิพากษาว่า บริษัทนี้มีค่าบริการค่าธรรมเนียมอื่นๆ โดยที่ไม่ได้บอกเรา ซึ่งบวกเข้าไปแล้ว ก็มากกว่า 1.7% ที่เขาสัญญาว่าเราต้องเสียซึ่งมันถูกกว่าปกติ ภาษาอังกฤษคุณก็ไม่แข็งแรงซึ่งเซลส์แมนคนนี้ก็คงจะอ้างว่า ทุกอย่างระบุไว้แล้วในสัญญาซึ่งคุณไม่ได้อ่านเอง ก่อนที่จะเซ็นต์ให้เขาไปต่างหาก อันนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้พิพากษาว่า จะเชื่อถือใครมากกว่า

3. ฉะนั้นก่อนจะเซ็นต์สัญญาอะไร ต้องอ่านให้เข้าใจ ไม่รู้ก็ถามผู้รู้ให้ช่วยแปลให้ เซ็นต์สัญญาวันอื่นก็ได้ ถ้ามี Deal ที่ดี มันก็ต้องมีโอกาสอีกในภายหน้า อย่าหลงเชื่อเซลส์แมนว่ามีโปรโมชั่นแค่วันนี้วันเดียว อันนี้ต้องระวังเป็นพิเศษ ประเภท ลด แลก แจก แถม ต้องคิดไว้ก่อนว่า มันมีวาระซ่อนเล้นแน่นอน ไม่มีใครอยากขายของขาดทุน เจ๊งแน่ๆ

4. ตรวจสอบชื่อเสียงของบริษัทได้ที่ BBB.COM (Better Business Bureau) หรือ RipoffReport.com ว่ามีคนเคยมีปัญหากับบริษัทนี้ใหม? หรือ Yelp.com เพื่อตรวจสอบชื่อเสียงและปัญหาที่เกิดกับลูกค้าอื่นๆ ซึ่งตอนนี้มาแรงเพราะมีคนเข้าไปใช้และให้ข้อมูลเยอะมาก


โชคดีครับ
คิด ฉัตรประภาชัย