Special Scoop



85 พรรษา พระมหาราชินี
Long Live Her Majesty Queen Sirikit
พระราชประวัติ

จากครอบครัวที่อบอุ่นและมีเกียรติ พลเอกพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร) กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร ได้ให้กำเนิดโอรสและธิดาคือ

1. หม่อมราชวงศ์ กัลยาณกิติ์ กิติยากร

2. หม่อมราชวงศ์ อดุลกิติ์ กิติยากร

3. หม่อมราชวงศ์หญิง สิริกิติ์ กิติยากร

4. หม่อมราชวงศ์หญิง บุษบา กิติยากร

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ในเขตปทุมวัน จังหวัดพระนคร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ทรงพระกรุณาพระราชทานนามว่า “สิริกิติ์” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เป็นศรีแห่งกิติยากร”

เนื่องจากประเทศไทยเพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย พระบิดาซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก มียศเป็นพันเอกหม่อมเจ้านักขัตร มงคล กิติยากร ได้ออกจากราชการทหาร โดยรัฐบาลแต่งตั้งให้ไปรับราชการในตำแหน่งเลขานุการเอกประจำสถานทูตสยาม ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ จึงต้องอยู่ห่างไกลพระบิดามารดาตั้งแต่เยาว์วัย จนถึง 2 ขวบ ในปลายปี พ.ศ. 2477 พระบิดาทรงลาออกจากราชการกลับประเทศไทย จึงได้อยู่รวมกันฉันท์ครอบครัว ณ ตำหนักปากคลองผดุงกรุงเกษม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เริ่มเรียนชั้นอนุบาลในปี พ.ศ. 2479 ตอนอายุ 4 ขวบ ที่โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาด เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาลุกลามถึงประเทศไทย พระนครจึงถูกโจมตีทางอากาศบ่อย ทำให้การเดินทางไม่สะดวกและไม่ปลอดภัย จึงได้ย้ายไปเรียนที่โรงเรียนเซ็นต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์ ถนนสามเสน ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เดินไปโรงเรียนก็ได้ เรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้เรียนเปียโน ซึ่งเรียนได้ดี และเร็วเป็นพิเศษ เรียนภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสด้วย

หลังจากสงครามสงบแล้ว นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้แต่งตั้งให้พระบิดาเป็นรัชทูตวิสามัญ และอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำสำนักเซ็นต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ พระบิดาจึงพาครอบครัวทั้งหมดไปด้วยในกลางปี พ.ศ. 2489

ระหว่างอยู่อังกฤษ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ตั้งใจเรียนเปียโน ภาษาอังกฤษ และฝรั่งเศส แต่อยู่ไม่นาน พระบิดาทรงย้ายไปประเทศเดนมาร์ก และประเทศฝรั่งเศส ซึ่งท่านได้ตั้งใจเรียนเปียโนเพื่อเตรียมสอบเข้าวิยาลัยดนตรีที่มีชื่อเสียงของกรุงปารีส

ขณะอยู่ปารีสในปี พ.ศ. 2491 ครอบครัวกิติยากร ได้รับเสด็จ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งทรงศึกษาอยู่ที่เมืองโลซานน์ (Lausanne) ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์นั้น โปรดเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโรงงานทำรถยนต์ในกรุงปารีสหลายครั้ง เพื่อทอดพระเนตรรถยนต์พระที่นั่งแทนคันเดิม ซึ่งทรงใช้มานาน โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส พร้อมครอบครัว เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงประทับที่สถานทูตไทย ทำให้ครอบครัวกิติยากรเป็นที่คุ้นเคยต่อพระยุคลบาท และต้องพระราชอัธยาศัย

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2491 นอกเมืองโลซานน์ ต้องประทับรักษาพระองค์ในสถานพยาบาล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้หม่อมหลวงบัวพาพระธิดาทั้งสอง คือ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ และหม่อมราชวงศ์บุษบา เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทเยี่ยมอาการเป็นประจำทุกวันที่โรงพยาบาลในตำบลเมอร์เซส จนอาการประชวรทุเลาลง เสด็จกลับพระตำหนักได้

สมเด็จพระราชชนนี (สมเด็จย่า) ได้รับสั่งขอให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ อยู่ศึกษาต่อที่โรงเรียนประจำ Pensionnat Riante Rive ที่เมืองโลซานน์ ที่มีชื่อเสียงในการสอนวิชาพิเศษแก่กุลสตรี คือ ภาษา ศิลปะ ดนตรี ประวัติวรรณคดี และประวัติศาสตร์

ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 รัฐบาลในนามของประชาชนทั่วประเทศ กราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์ต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เดินทางกลับไปศึกษาต่อที่เมืองโลซานน์

ความเป็นมาก่อนงานหมั้นคือ หม่อมเจ้านักขัตรมงคล ย้ายไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ทำให้ในหลวงภูมิพลท่านต้องทรงเดินทางกว่า 600 กิโล กว่าที่จะได้ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ในแต่ละครั้ง หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระราชนิพนธ์เพลง Blue Day และอาทิตย์อับแสง (เพลงพระราชนิพนธ์ลำดับ 8) เมื่อวันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ขณะประทับแรมบนภูเขาในเมืองดาวอส (Davos) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิรินิพนธ์คำร้องทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย

หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ทรงขับร้องเพลง Blue Day และเพลงพระราชนิพนธ์ Dream of Love Dream of You หลังพระกระยาหารค่ำ ในงานเลี้ยงฉลองวันคล้ายวันเกิดครบ 17 ปี ของหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2492 ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะพระราชทานพระธำมรงค์หมั้นในวันนั้น โดยมีพระราชกระแสรับสั่งในขณะที่ทรงมอบว่า “สิ่งนี้เป็นของสำคัญยิ่งและเป็นที่ระลึกด้วย”

เมื่อพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงหมั้น หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2492 ประชาชนชาวไทยจึงพากันตื่นเต้นยินดี ที่พระคู่หมั้นมีพระสิริโฉมงดงาม มีพระปรีชาสามารถ

จนเสด็จนิวัตพระนคร จึงมีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 ณ วังสระปทุม ได้ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เป็นสมเด็จพระราชินี และในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เป็นวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงรับเฉลิมพระบรมนามาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และท่านทรงสถาปนาเฉลิมพระยศสมเด็จพระราชินี เป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี”

อีก 1 เดือนถัดมา คือ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2493 ทั้งสองพระองค์ เสด็จกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพราะแพทย์กราบบังคมทูลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พักรักษาพระองค์อีกระยะหนึ่ง และในปี พ.ศ. 2494 สมเด็จพระนางเจ้าฯ มีพระประสูติกาล สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ณ เมืองโลซานน์ เมื่อเจริญพระชันษาได้ 7 เดือน ทั้ง 3 พระองค์จึงเสด็จนิวัตประเทศไทย ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และต่อมาได้ประสูติกาล

• สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าวิชราลงกรณ์ฯ ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร หรือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 องค์ปัจจุบัน

• สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิรินธร เทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

• และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ฯ อัครราชกุมารี

รวมพระโอรสและพระธิดา 4 พระองค์ และได้แปรพระราชฐานไปพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เป็นที่ประทับถาวร

ในปี พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จออกทรงพระผนวช และแต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งปวงลุล่วงเรียบร้อย เมื่อทรงลาผนวชแล้ว จึงทรงพระกรุณาสถาปนาพระอิสริยยศ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” มีความหมายว่า “พระบรมราชินี ผู้เป็นที่พึ่งของประชาชน” นับเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระองค์ที่ 2 ของประวัติศาสตร์ชาติไทย


พระราชกรณียกิจ

สมเด็จพระบมราชินีนาถ ได้ร่วมเสด็จพระราชดำเนิน และทรงปฏิบัติภารกิจนานัปการทั้งในฐานะ “พระผู้เป็นที่พึ่งของปวงชนชาวไทย” และในฐานะ “คู่บุญคู่พระราชหฤทัย” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงแบ่งเบาพระราชภารกิจ

- เยี่ยมราษฎรในชนบท ทั่วภูมิภาค ตั้งแต่การคมนาคมยังไม่สะดวก

- เยี่ยมทหารปฏิบัติการสู้รบตามชายแดน และฐานปฏิบัติการต่างๆ

- พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนการศึกษาแก่เยาวชนจากครอบครัวยากจน รวมทั้งรับนักเรียนไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ โดยให้บิดามารดาของเด็กมีความรู้เพื่อประกอบอาชีพหรืออาชีพเสริม

- ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบพื้นบ้านมาทำประโยชน์ เช่น หัตถกรรมจักสานของโครงการหุบกะพง โครงการจักสานย่านลิเพา และทำเครื่องปั้นดินเผาในภาคใต้

- ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

- ส่งเสริมความรักชาติ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การรักษาศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น และประเทศ การรู้จักรักษาสุขภาพอนามัย การรู้จักพัฒนาตนเอง การให้ความสำคัญของการศึกษา

- ก่อตั้งและขยายโรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดาร

- ส่งเสริมการค้นคว้า ทดลอง และวิจัยหาพันธุ์พืชใหม่ๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจ พืชสมุนไพร

- ส่งเสริมการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกหรือการชลประทาน

- และอื่นๆ อีกมากมาย


พระราชเกียรติคุณ

องค์กรเอฟเอโอ (Food and Agriculture Organization of the United Nations - FAO) ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญซีเรส (Ceres Medal) เทิดพระเกียรติ ในฐานะที่ทรงยกฐานะของสตรี ให้มีระดับสูงขึ้น และทรงเป็นผู้ให้ “ให้โดยไม่เลือกที่รัก มักที่ชัง”

มหาวิทยาลัยทัฟส์ (Tufts University) แห่งรัฐแมสซาชูเซ็ทส์ สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยธรรมในฐานะที่ทรงยกระดับการครองชีพของประชาชน และช่วยบรรเทาทุกข์ของเด็กๆ ในหมู่ผู้ลี้ภัย

สหพันธ์เด็กแห่งนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลบุคคลดีเด่นด้านพิทักษ์เด็ก

สถาบันเอเชียโซโซตี้ แห่งกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลด้านมนุษยธรรม

มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าของโลก สดุดีเทิดพระเกียรติในฐานะบุคคลดีเด่นด้านอนุรักษ์สัตว์ป่า

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ แห่งอังกฤษ ทูลเกล้าฯ ถวาย สมาชิกภาพกิตติมศักดิ์ ซึ่งสถาบันแห่งนี้ เคยมอบให้แต่เฉพาะผู้ที่เป็นแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นเป็นที่รู้จักระดับโลกเท่านั้น

และยังมีมหาวิทยาลัยและสถาบันอื่นๆ อีกมากมายที่ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาและรางวัลกิตติคุณแด่พระองค์ท่าน

นับได้ว่า เป็นบุญของชาติและประชาชนชาวไทย ที่มีสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เพียบพร้อมด้วยคุณลักษณะแห่งรัตนนารีโดยแท้ พระองค์มิได้ทรงเป็นพระบรมราชินีที่มีสิริพระโฉมเป็นเลิศเท่านั้น หากแต่ยังทรงพระปรีชาเชี่ยวชาญในกิจการต่างๆ ซึ่งปรากฏผลเป็นที่ประจักษ์แก่ปวงชนโดยตลอด ทรงยึดมั่นในพระบวรพระพุทธศาสนา พระคุณธรรม พระปัญญาคุณ และพระเมตตากรุณาคุณ ซึ่งทรงดำรงไว้มั่นคงตลอดมา ล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมให้พระเกียรติคุณขยายขจรไปทั่วประเทศและนานาประเทศทั่วโลก อาจกล่าวได้ว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ของชาติไทย เป็นพระบรมราชินีนาถที่ทรงได้รับการสรรเสริญพระเกียรติคุณจากนานาประเทศอย่างกว้างขวางยิ่งกว่าพระบรมราชินีพระองค์อื่นใดในโลก

และเนื่องในวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2560 นี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำขวัญวันแม่ ดังนี้...

“สอนให้ลูก เรียนรู้ สู้ปัญหา

พัฒนา ด้วยตน จนเติบใหญ่

เพราะคนแกร่ง จะก้าว ได้ยาวไกล

เพื่อมาเป็น กำลังไทย ให้แข็งแรง”

คอลัมน์เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องจากผู้เขียนและครอบครัวน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้ เพื่อให้ชาวไทยในสหรัฐอเมริกาและทุกมุมโลกได้อ่านพระราชประวัติ ร่วมสดุดีเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดินไทย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ


ขอพระองค์ทรงพระเจริญ มีพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน


ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

ลีนา ดีสมเลิศ และครอบครัว